อาการโรคสะเก็ดเงิน ยาสระผมโรคสะเก็ดเงิน สาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน


600 ผู้ชม


อาการโรคสะเก็ดเงิน ยาสระผมโรคสะเก็ดเงิน สาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน

 

 

 

'โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน' (Psoriatic arthritis)


โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน พบในเพศหญิงบ่อยกว่าเพศชาย มักพบช่วงอายุ 20-40 ปี เป็นโรคที่มีอาการข้ออักเสบ ร่วมกับผื่นผิวหนังสะเก็ดเงิน แต่ความรุนแรงของอาการทางข้อไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของอาการทางผิวหนัง และอาจพบอาการทางผิวหนังนำมาก่อนระยะเวลาหนึ่งก่อนจะมีอาการทางข้อก็ได้


อาการผื่นผิวหนังสะเก็ดเงินจะพบรอยโรคที่ผิวหนัง เล็บ และหนังศีรษะ ผื่นผิวหนังมีลักษณะเป็นตุ่ม หรือปื้นสีแดง ขอบเขตชัดเจน มีสะเก็ดขาวคลุม เมื่อขูดสะเก็ดนี้ออกจะมีจุดเลือดซึม มักพบบริเวณที่มีการเสียดสี เช่น ข้อศอก เข่า ก้นกบ และหนังศีรษะ รอยโรคที่เล็บจะพบที่เล็บมือบ่อยกว่าเล็บเท้า ลักษณะเล็บเป็นหลุม สีเล็บเปลี่ยนเป็นเหลือง ใต้เล็บหนา เปราะ มีการแยกยกตัวของเล็บ บริเวณปลายเล็บ และอาการบริเวณหนังศีรษะจะมีรังแค


อาการข้ออักเสบมักพบที่ข้อปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อใหญ่ครั้งละ 2-3 ข้อ แบบไม่สมมาตร มีอาการข้ออักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน เป็นๆ หายๆ  และบางครั้งอาจพบนิ้วอักเสบส่งผลให้นิ้วมือ นิ้วเท้าบวมอักเสบดูคล้ายไส้กรอก นอกจากนั้นอาจพบการอักเสบของข้อกระดูกสันหลังร่วมด้วยได้ ส่งผลให้มีอาการปวดหลัง ฝืดตึงข้อในตอนเช้า


โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม มีการศึกษาพบว่าสัมพันธ์กับยีน HLA B27 ร่วมกับปัจจัยกระตุ้นจากภายนอก เช่น การติดเชื้อ ยา สารเคมีบางชนิดและความเครียด ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ กระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังเกิดการแบ่งตัวเร็วมากกว่าปกติ จึงทำให้เกิดรอยโรคที่ผิวหนัง และเล็บ นอกจากนั้นภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติยังกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของข้อต่างๆ โดยอาการกำเริบเป็นระยะ ในระยะยาวส่งผลให้เกิดการทำลายข้อ เกิดการติดผิดรูป ทำให้ใช้งานไม่ได้ ซึ่งหากได้รับการรักษาที่เหมาะสมสามารถป้องกันการผิดรูปได้


การวินิจฉัยใช้ข้อมูลจากการซักประวัติ และตรวจร่างกายเป็นสำคัญ การตรวจภาพรังสีใช้เพื่อการวินิจฉัยแยกโรค ในกรณีที่อาการไม่ชัดเจน และใช้ในการประเมินความรุนแรงของโรค การตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมไม่ใช้ในการวินิจฉัยเนื่องจากมีความผิดปกติได้ในหลายตำแหน่ง ดังนั้นหากตรวจพบ HLA B27 ให้ผลบวกหมายความว่ามีโอกาสเกิดอาการข้อกระดูกสันหลังอักเสบได้มากกว่าในกลุ่มที่ตรวจไม่พบ แต่การตรวจ HLA B27 ผลลบไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นโรค การรักษาในเบื้องต้นจำเป็นต้องมีความเข้าใจว่าโรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง สามารถให้การรักษาบรรเทาอาการ และป้องกันการเกิดการทำลายข้อได้ ดังนั้นจำเป็นต้องรับการรักษารับประทานยาสม่ำเสมอ ติดตามอย่างต่อเนื่องระยะเวลานาน


การรักษาแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่


1. การรักษาอาการทางผิวหนัง โดยการใช้ครีม หรือขี้ผึ้งเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นที่ผิวหนังช่วยลดการกำเริบของโรคได้ และยาทาภายนอกเพื่อรักษา ซึ่งมีหลายประเภทเหมาะกับแต่ละระยะ จำเป็นต้องมีการปรับเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย นอกจากนั้นยังมีการรักษาโดยการอาบรังสี จากแสงแดด หรือแสงไฟยูวี แต่จำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวังผลข้างเคียง


2. การรักษาข้ออักเสบ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ยารับประทานเพื่อบรรเทาอาการ ปวด อักเสบข้อ ใช้ในช่วงสั้น ๆ เป็นระยะเมื่อมีอาการ และยาอีกกลุ่มเป็นยาที่ให้เพื่อปรับเปลี่ยนการดำเนินของโรค ปรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ แต่ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ช้า หลังจากรับประทานไปประมาณ 4-6 สัปดาห์จึงจะเริ่มเห็นผล อีกทั้งยังจำเป็นต้องรับประทานต่อเนื่องระยะยาว ปรับลดขนาดยาลงเมื่ออาการของโรคดีขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องติดตามการรักษาเป็นระยะเพื่อปรับขนาดยา และตรวจเลือดเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยา


3. การออกกำลังกาย กายภาพบำบัดด้วยตนเองเพื่อป้องกันการติดผิดรูปของข้อ และเพิ่มความแข็งแรง ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายในช่วงเช้าจะช่วยลดอาการฝืดตึงข้อ ส่งผลให้เคลื่อนไหวได้สะดวกมากยิ่งขึ้น


ลักษณะของโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินมีอาการเรื้อรังเป็นๆ หายๆ หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ทำให้มีรอยโรคที่ไม่พึงประสงค์ที่ผิวหนัง เล็บ และหนังศีรษะ นอกจากนั้นหากมีอาการทางข้อที่ลุกลามอาจส่งผลให้ข้อติดผิดรูป ลำบากในการใช้งานในกิจวัตรประจำวัน แต่หากได้รับการรักษาจะทำให้รอยโรคจางลง จนถึงหายสนิทได้ และไม่มีอาการปวดข้อสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ถึงแม้การรักษาจะต้องใช้ระยะเวลานาน แต่ก็ส่งผลดีในระยะยาว

 

แหล่งที่มา : thaihealth.or.th

อัพเดทล่าสุด