โครงกระดูกมนุษย์โบราณ ภาพโครงกระดูกมนุษย์ โครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์


902 ผู้ชม


โครงกระดูกมนุษย์โบราณ ภาพโครงกระดูกมนุษย์ โครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
โครงกระดูกมนุษย์: ความหมายที่ต้องทบทวน
นัทธมน ภู่รีพัฒน์พงศ์
"หากจะตั้งคำถามขึ้นมาถามกันสักข้อหนึ่งว่า โครงกระดูกมนุษย์เป็นโบราณวัตถุหรือไม่ คุณคิดว่าจะตอบคำถามนี้อย่างไรและด้วยเหตุผลเช่นไร..."
เป็นเวลาอันยาวนานที่นักวิชาการหรือผู้ที่ศึกษาวิชาโบราณคดีส่วนใหญ่มักมองว่า โครงกระดูกเป็นโบราณวัตถุ มุมมองเช่นนี้น่าจะเกิดจากสาเหตุ 2 ประการคือ ความคุ้นเคยต่อการศึกษาโบราณวัตถุที่ได้ถูกปลูกฝังมาตลอด 4 ปีในมหาวิทยาลัย กับอีกประการหนึ่งคือ การที่โครงกระดูกถูกกำหนดให้เป็นโบราณวัตถุเพื่อให้อำนาจคุ้มครองแก่รัฐตามกฎหมายของประเทศ
สี่สิบห้าปีของการเรียนการสอนในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ความรู้ที่เราได้ร่ำเรียนกันมาล้วนแต่เกี่ยวข้องกับข้าวของเครื่องใช้ต่างๆของคนโบราณทั้งสิ้น ดังนั้นมุมมองที่นักศึกษาโบราณคดีได้ทำความรู้จักและคุ้นเคยมาตลอดระยะเวลา 4 ปีของการเรียนโบราณคดีก็คือ มุมมองในแบบที่เรามองโบราณวัตถุ แต่ในความเป็นจริงแล้วธรรมชาติของโครงกระดูกนั้นแตกต่างจากโบราณวัตถุอื่นๆอย่างสิ้นเชิง การติดยึดอยู่กับภาพหรือมุมมองที่ใช้มองโบราณวัตถุ แล้วนำมุมมองเดียวกันนี้มาใช้กับโครงกระดูกนั้นเอง ที่ทำให้การศึกษาโครงกระดูกในประเทศไทยยังไม่พัฒนาไปไกลเท่าที่ควร จนกระทั่งกลายเป็นความรู้ที่บิดเบี้ยวและก่อให้เกิดผลิตผลที่ทำลายตัวเอง ดังเช่นการอนุรักษ์หลุมขุดค้นเพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม อันเป็นแหล่งเสื่อมโทรมและด้อยพัฒนาทางวิชาการโบราณคดีไปในเวลาเดียวกันด้วย
ส่วนความหมายของโครงกระดูกที่กฎหมายกำหนดให้เป็นโบราณวัตถุนั้น ก็เป็นไปเพื่อเอื้อต่อการมอบอำนาจให้แก่รัฐในฐานะผู้คุ้มครองและมีหน้าที่จัดการโดยตรง เป็นความหมายทางสังคม หาใช่ความหมายในทางวิชาการไม่
แม้ตัวบทกฎหมายจะกำหนดว่าโครงกระดูกเป็นโบราณวัตถุ และผู้ที่ฝ่าฝืนล่วงละเมิดนั้นจะมีความผิดมากน้อยเพียงไรก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น แหล่งโบราณคดีหลายแห่งที่ถูกลักลอบขุด พร้อมกับโครงกระดูกจำนวนมากที่ถูกทำลายไป ได้พิสูจน์ให้เราเห็นว่าความเป็นโบราณวัตถุตามกฎหมายของโครงกระดูกนั้นไม่ได้มีความหมายหรือคุณค่าอะไรในสายตาประชาชนเลย
ถ้าอย่างนั้นแล้ว เราจะมายืนยันความเป็นโบราณวัตถุของโครงกระดูกไปเพื่ออะไรกัน…
การสร้างความเข้าใจในความหมายของโครงกระดูกอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการน่าจะเป็นทางเลือกใหม่ ในการลดอัตราการทำลายหลักฐานประเภทนี้ลงได้ การใช้กฎหมายเป็นวิธีการควบคุมอย่างหนึ่งก็จริงอยู่ แต่การให้ความรู้และทัศนคติที่ถูกต้องจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและช่วยให้กฎหมายนั้นศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น และในทางกลับกันกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมนั้นก็จะต้องสอดคล้องกับหลักความจริงด้วย นั่นหมายความว่าเราจะต้องหยิบยกความถูกต้องตามหลักวิชาการขึ้นมานำหน้ากฎหมาย จึงจะส่งผลให้กฎหมายนั้นประสบผลสำเร็จในการบังคับใช้จริงได้ 
การที่กฎหมายกำหนดให้โครงกระดูกเป็นโบราณวัตถุ เท่ากับเป็นการบิดเบือนความจริงเพื่อให้สอดคล้องกับตัวบทกฎหมาย และในที่สุดก็ไม่สามารถส่งผลบังคับใช้ได้จริง ดังที่เราพบเห็นตัวอย่างกันอยู่ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
จะเป็นการดีกว่าหรือไม่ ถ้าเราเลิกยึดติดอยู่กับความเป็นโบราณวัตถุที่กฎหมายกำหนด แล้วหันมาใส่ใจในคุณค่าและความหมายทางวิชาการที่แท้จริงของโครงกระดูกแทน เพราะในท้ายที่สุดแล้วความเข้าใจอย่างแท้จริงเท่านั้นที่จะทำให้ผู้คนได้ตระหนัก และมองเห็นคุณค่าในการช่วยกันปกป้องรักษาหลักฐานเหล่านี้ไว้…มิใช่หรือ
ดังนั้นในทัศนคติของผู้เขียน โครงกระดูกมนุษย์ย่อมไม่ใช่โบราณวัตถุอย่างแน่นอน แต่เพื่อความเข้าใจอย่างแท้จริงของคุณเอง กรุณาอย่าเพิ่งเชื่อตามข้อความที่เขียนไว้ข้างต้น แต่โปรดอ่านและพิจารณาเนื้อความในย่อหน้าต่อๆไป หากท้ายที่สุดความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งและความตระหนักรู้ในความหมายที่แท้จริงของโครงกระดูกได้บังเกิดขึ้นในมโนสำนึกของคุณเองแล้ว นั่นย่อมหมายความว่าบทความนี้ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้วเช่นกัน
ตามรอยวิธีคิด
โครงกระดูกมนุษย์เป็นหลักฐานทางโบราณคดีประเภทหนึ่งซึ่งได้ถูกขุดค้นพบเป็นจำนวนมากในแหล่งโบราณคดีทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์, กึ่งก่อนประวัติศาสตร์ และแม้แต่แหล่งที่มีอายุล่วงเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์จำนวนมากมายหลายแห่งในประเทศไทย
นอกจากโครงกระดูกมนุษย์แล้ว ยังมีข้าวของเครื่องใช้โบราณอื่นๆอีกมากมายหลายประเภทที่ถูกค้นพบ เมื่อกฎหมายเข้ามาควบคุมและบอกว่าสิ่งเหล่านี้คือ สมบัติอันล้ำค่าของชาติ จึงจำเป็นที่จะต้องกำหนดคำสักคำหนึ่ง ซึ่งจำกัดความสิ่งอันเป็นวัตถุโบราณทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน
ด้วยเหตุนี้คำว่า "โบราณวัตถุ" จึงถูกกำหนดขึ้นในความหมายของ "สังหาริม ทรัพย์ ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน..." ดังนั้นจึงเป็นอันแน่นอนว่า โครงกระดูกมนุษย์ถูกกำหนดให้เป็นโบราณวัตถุตามคำนิยามของกฎหมาย
ความหมายของโครงกระดูกมนุษย์ในแง่ของโบราณวัตถุนั้น เป็นความหมายที่ "คน" สร้างขึ้น เพื่อเหตุผลในการคุ้มครองป้องกัน และกำหนดบทลงโทษในกรณีที่มีผู้ฝ่าฝืน ขุดค้น เคลื่อนย้ายหรือทำลายให้โครงกระดูกได้รับความเสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ หากแต่ความหมายในแง่ของวิชาการที่แท้จริงของโครงกระดูกนั้นเล่า คงไม่มีใครที่จะกำหนดหรือนิยามได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ นอกจากตัวของโครงกระดูกนั้นๆเอง
กระดูกเป็นเนื้อเยื่อที่สามารถเติบโต เปลี่ยนแปลงปรับปรุงรูปทรง และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอหรือเสียหายได้ ดังนั้นกระดูกจึงมีชีวิต ร่างกายของเราเติบโตสูงใหญ่ขึ้นก็เพราะกระดูกเติบโตขยายขนาดเพิ่มมากขึ้นทั้งทางด้านกว้าง ยาว และหนา นอกจากนี้กระดูกยังไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวในร่างกาย หากยังทำงานสัมพันธ์กับกล้ามเนื้อและข้อต่อที่อยู่บริเวณเดียวกัน รวมไปถึงเส้นเลือดและเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นหากออกแรงมากและอย่างสม่ำเสมอในอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง กล้ามเนื้อถูกใช้งานหนัก กระดูกในส่วนนั้นก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย หรือหากเกิดเป็นโรคบางอย่างที่ส่งผลต่อกระดูก ก็จะทำให้กระดูกเกิดการเปลี่ยนแปลงได้
ด้วยความที่กระดูกสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาในช่วงชีวิตของคนเราเช่นนี้ หากจะกล่าวว่าโครงกระดูกเป็นโบราณวัตถุ เหมือนอย่างที่ภาชนะดินเผาหรือเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆเป็นโบราณวัตถุแล้วละก็ คงจะเป็นการขัดกับหลักความจริงอย่างยิ่งทีเดียว


เมื่อขุดค้นพบโบราณวัตถุไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม สิ่งที่เรามักจะให้ความสนใจก็คือ ข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุชิ้นนั้นๆที่ถูกทำขึ้น เป็นต้นว่า ประเภทของวัสดุ, ขั้นตอนหรือกระบวนการผลิต, หน้าที่การใช้งาน, แหล่งผลิต, รวมไปถึงการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของชุมชนโดยผ่านวัตถุเหล่านั้น ด้วยประเด็นของการศึกษาโบราณวัตถุ อันมุ่งเน้นไปในแง่ของเทคนิควิธีการผลิตและหน้าที่ทางสังคม ซึ่งมนุษย์เป็นผู้กำหนดขึ้นนี้เอง ที่ได้สะท้อนให้เราเห็นความหมายของโบราณวัตถุว่าเป็นวัตถุทางวัฒนธรรม 
คำว่า "โบราณวัตถุ" หากจะคิดตามความหมายของคำก็คือ สิ่งของโบราณที่เคลื่อนที่ได้ โครงกระดูกที่เราขุดค้นพบในปัจจุบัน จะถือว่าเป็นวัตถุสมัยโบราณที่เคลื่อนย้ายได้ก็จริงอยู่ หรือถ้าจะมองว่าเป็นโบราณวัตถุ เพราะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องในพิธีกรรมการฝังศพก็อาจเป็นได้ การมองเช่นนี้เท่ากับเป็นการตีความหมายของโครงกระดูกในฐานะที่เป็นวัตถุทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้วโครงกระดูกเป็นอะไรได้มากกว่านั้น
หากเราจะลองย้อนมองดูที่ตัวของเรา และนึกถึงกระดูกที่อยู่ภายใต้ผิวหนัง และกล้ามเนื้อในร่างกายของเราแล้ว เราจะตระหนักได้ว่าธรรมชาติของกระดูกนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่วัตถุที่อยู่นิ่งๆ แต่ทำหน้าที่เสมือนเป็นอวัยวะอย่างหนึ่งในร่างกายของเรา ขณะที่เราเคลื่อนไหวร่างกาย กระดูกไม่ได้ถูกกระทำ (เหมือนวัตถุอื่นๆที่ไม่มีชีวิตซึ่งจะเป็นตัวที่ถูกกระทำเสมอ) ตรงกันข้ามกระดูกกลับเป็นตัวกระทำให้การเคลื่อนไหวนั้นๆเกิดขึ้น และในทางกลับกันการเคลื่อนไหวนั้นๆก็ส่งผลกลับมายังกระดูก ทำให้กระดูกเกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการดำรงชีวิตของผู้เป็นเจ้าของ 
ขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราไม่อาจแยกส่วนระหว่างกระดูกกับร่างกายและชีวิตของเราอย่างไร เมื่อเราทำการศึกษาโครงกระดูกของคนที่ตายไปแล้ว เราก็ไม่อาจมองข้ามปฏิสัมพันธ์ของกระดูกที่มีต่อชีวิตของผู้เป็นเจ้าของอย่างนั้นเช่นเดียวกัน
การที่เราจะมองเห็นความหมายที่ลงลึกไปกว่าความเป็นวัตถุทางวัฒนธรรมของโครงกระดูกได้นั้น สิ่งสำคัญที่เราจะต้องทำความเข้าใจก็คือ เราไม่สามารถนำมุมมองที่เราใช้ศึกษาโบราณวัตถุประเภทอื่นๆมาใช้กับโครงกระดูกได้ ทั้งนี้เพราะเราไม่ได้ศึกษาโครงกระดูก ในความหมายของวัตถุทางวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว หากแต่มุ่งเน้นทำความเข้าใจกับลักษณะทางกายภาพ และการเปลี่ยนแปลงของร่องรอยต่างๆ ที่ปรากฏลงบนกระดูก ซึ่งจะทำให้เราสามารถมองย้อนกลับไปเห็นภาพชีวิตของคนๆหนึ่ง ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆในอดีตได้ หรือจะพูดให้ง่ายเข้าก็คือ เราไม่ได้ศึกษาโครงกระดูกในสภาวะที่ไร้ชีวิตแล้วเท่านั้น หากยังจะต้องมองลึกเข้าไปถึงความมีชีวิตที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความตายนั้นอีกด้วย
ในการศึกษาโบราณวัตถุโดยทั่วไป มักจะเริ่มต้นจากการพยายามหาคำตอบเกี่ยวกับวัตถุนั้นๆ แล้วนำข้อมูลที่ได้มาแปลความหมาย หรือสร้างภาพของชุมชนโดยรวมขึ้นมา แต่การศึกษาเรื่องราวของคนในอดีตนั้น มีมิติหรือความลึกเกินกว่าที่จะใช้มุมมองหรือสายตาเช่นเดียวกับที่มองโบราณวัตถุอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งของที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ เพราะฉะนั้นนอกจากข้อมูลพื้นฐานทั่วไปของโครงกระดูกแล้ว เรายังจะต้องคิดต่อไปอีกด้วยว่า ขณะที่เขายังมีลมหายใจอยู่นั้น เขาใช้ชีวิตอย่างไร และมีสภาพความเป็นอยู่ดีเลวเพียงใดด้วย ในทางกลับกันหากเรามองโครงกระดูกในมุมมองเดียวกับโบราณวัตถุประเภทอื่นๆ ก็คงจะไม่พบอะไรมากไปกว่าเพศ อายุและส่วนสูง เหมือนกับการมองภาพนิ่งที่ให้รายละเอียดได้แต่เพียงโครงสร้างภายนอกเท่านั้น แต่ไม่อาจมองเข้าไปเห็นร่องรอยของชีวิตหรือภาพเคลื่อนไหวใดๆภายใต้กองกระดูกเหล่านั้นเลย
จากวันนั้นจนถึงวันนี้
การศึกษาโครงกระดูกมนุษย์เริ่มต้นเป็นครั้งแรกที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี โดยได้ทำการขุดค้นเมื่อปี พ.ศ.2504 และศึกษาวิเคราะห์โครงกระดูกทั้งหมดโดย ศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ซึ่งริเริ่มการศึกษาวิเคราะห์โครงกระดูกจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทยเป็นท่านแรก นอกจากนี้ยังมีแพทย์หญิงเพทาย ศิริการุณ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และศาสตราจารย์ J.B. Jogensen หัวหน้าห้องปฏิบัติการมานุษยวิทยากายภาพ ประเทศเดนมาร์ก ร่วมทำการศึกษาด้วย
เวลาล่วงผ่านมาเกือบ 4 ทศวรรษกับโครงกระดูกมนุษย์ที่ได้ทำการศึกษาไปแล้วกว่าพันโครง จากแหล่งโบราณคดีกว่า 20 แห่งทั่วประเทศ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีโครงกระดูกอีกหลายร้อยหลายพันโครง ที่ได้ถูกทำลายไปพร้อมกับข้อมูลมากมายมหาศาล อย่างที่ไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้
ตลอดระยะเวลาอันยาวนานของการศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ในประเทศไทย ความก้าวหน้าของกระบวนการในการศึกษา ตลอดจนแรงสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนในการผลิตบุคลากร เพื่อที่จะพัฒนาให้การศึกษาทางด้านนี้เจริญรุดหน้าขึ้นนั้น แทบจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ ในขณะที่กระแสของความไม่เข้าใจและอัตราการทำลายหลักฐานทางโบราณคดีประเภทนี้นั้น ลุกลามและรุนแรงจนไม่อาจยับยั้งได้ ไม่ว่าจะโดยประชาชนทั่วไปหรือแม้แต่รัฐเองก็ตาม
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการทำลายแหล่งข้อมูลมากกว่า 80% ของความรู้ทางโบราณคดีทั้งหมดในประเทศไทยก็คือ การลักลอบขุดค้นอย่างผิดกฎหมาย ในการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุเพื่อจะนำออกจำหน่ายนั้น สิ่งที่จะเป็นผลพลอยเสียอย่างแน่นอนไม่ว่าจะเป็นแหล่งโบราณคดีที่ไหนก็ตาม นั่นคือโครงกระดูกมนุษย์ถูกทำลายเสมอมา จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนเองเมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนโบราณคดีอยู่นั้น ได้บังเอิญไปพบเห็นชาวบ้านลักลอบขุดหาของเก่าประเภทพวก หม้อ, ไห, เครื่องประดับต่างๆ ส่วนโครงกระดูกคนนั้นถูกนำไปกองๆไว้เหมือนเป็นขยะที่ไม่มีใครต้องการ ซ้ำร้ายยังเผาให้เสียอีกด้วย ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ก็เพราะชาวบ้านเห็นว่ากระดูกคนตายนั้นเป็นวัตถุอย่างหนึ่ง จะต่างกับหม้อไหจานชามก็ตรงที่ของเหล่านี้ขายได้ แต่กระดูกไม่มีใครรับซื้อเท่านั้น
ส่วนรัฐเองซึ่งมีอำนาจจัดการโดยตรงก็ไม่อาจสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้ประชาชนเห็นคุณค่าของกระดูกคนโบราณมากไปกว่าความเป็น "โบราณวัตถุ" ที่เอามาตั้งโชว์แล้วทำเงินได้ หรือแม้แต่การที่จะของบประมาณในการศึกษาขุดค้นแหล่งโบราณคดีสักแห่ง ก็ยังจำเป็นต้องเสนอจุดมุ่งหมายเพื่อการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง หรือ Site museum มิฉะนั้นเงินก็มาไม่ถึง
อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า เราไม่ได้เพียงแต่จะศึกษาโครงกระดูกเฉพาะข้อมูลเบื้องต้น เช่น เพศ, อายุเมื่อตาย และส่วนสูงเท่านั้น หากยังจะต้องวิเคราะห์ไปถึงร่องรอยต่างๆที่ปรากฏอยู่บนกระดูกด้วย การขุดค้นที่ไม่นำโครงกระดูกขึ้นจากดินนั้น เป็นอุปสรรคของการศึกษาวิเคราะห์โครงกระดูกอย่างมาก เนื่องจากผู้ทำการศึกษาจะสามารถวิเคราะห์ได้เฉพาะข้อมูลเบื้องต้นทั่วไปเท่านั้น แต่ไม่อาจจะทำผลการวิเคราะห์นั้นให้สมบูรณ์ได้ และยังไม่อาจตรวจสอบผลการศึกษานั้นๆในภายหลัง ซึ่งอาจเกิดจากความผิดพลาดในการวิเคราะห์และตีความในครั้งแรกได้อีกด้วย เนื่องจากการปล่อยให้โครงกระดูกที่อยู่ในสภาพถูกขุดเปิดเรียบร้อยแล้ววางอยู่ในดินเป็นเวลานาน ก็เท่ากับปล่อยให้กระดูกถูกทำลายโดยความชื้นทั้งจากน้ำใต้ดินและอากาศ, เกลือในดิน และความร้อนจากแสงแดด กระบวนการการผุพังเสียหายของโครงกระดูกอันเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆเหล่านี้จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วินาทีแรกที่ทำการขุดเปิดโครงกระดูกขึ้นมา และจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆตามระยะเวลาที่ผ่านไป โดยที่ไม่อาจมีมาตรการหรือวิธีการใดๆมายับยั้งและป้องกันได้
ดังนั้นถึงแม้ว่าการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมนั้น จะเป็นความสำเร็จอย่างงดงามของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและได้รับผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประเภทนี้ แต่ในทางวิชาการโบราณคดีแล้ว กลับเป็นการทำลายแหล่งข้อมูลที่มีคุณค่ามหาศาล เป็นความบกพร่องของนักวิชาการที่ไม่สามารถสร้างคุณค่าในงานวิชาการได้อย่างสมบูรณ์ และท้ายที่สุดเป็นความล้มเหลวของการศึกษาวิชาการโบราณคดีไทย
ในเมื่องานวิชาการโบราณคดีไม่สามารถดำเนินไปได้โดยอิสระและเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างแท้จริง แต่กลับต้องอิงอยู่กับผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มบางพวกอย่างนี้แล้ว ยังจะหาหนทางและแนวโน้มในการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาและปฏิบัติงานโบราณคดีให้เจริญก้าวหน้าได้โดยวิธีใด
การทำลายแหล่งข้อมูลทางโบราณคดีต่างๆเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับโครงกระดูกมนุษย์เท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงหลักฐานทุกประเภท สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะการศึกษาที่ลงลึกเฉพาะด้านในปัจจุบันยังไม่ได้รับความสนใจและมีการพัฒนาให้แพร่หลายมากเพียงพอ ทั้งการศึกษาวิเคราะห์โครงกระดูก, ภาชนะดินเผา, เครื่องมือโลหะ, กระดูกสัตว์, เมล็ดพืช ฯลฯ ทำให้มุมมองในการศึกษาวิเคราะห์หลักฐานเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ หรือคุณลักษณะที่แท้จริงของหลักฐาน ซึ่งเป็นผลให้การแปลความหมายของหลักฐานนั้นขาดมิติหรือความลึก และให้ภาพรวมของชุมชนเฉพาะด้านกว้าง แต่ไม่สามารถลงลึกเข้าไปในรายละเอียดของชีวิตผู้คนในอดีตได้
การทำความเข้าใจในธรรมชาติของหลักฐานแต่ละประเภทนั้น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาวิชาการโบราณคดี ทั้งนี้เพราะมุมมองที่ลึกซึ้งจะช่วยให้ผู้ทำการศึกษาสามารถตั้งคำถามและค้นหาประเด็นที่น่าสนใจใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาวงการศึกษาทางด้านโบราณคดีให้เจริญก้าวหน้าขึ้นด้วย ความรู้ความเข้าใจในคุณค่าทางวิชาการอย่างแท้จริงของหลักฐานต่างๆนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการพัฒนาองค์ความรู้ในการศึกษาวิเคราะห์หลักฐานเฉพาะประเภทอย่างจริงจัง ซึ่งในที่สุดเมื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาแปลความรวมกันแล้ว เราก็จะได้ทราบเรื่องราวของชุมชนโดยรวมที่มีมิติทั้งในแง่มุมที่กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น
นอกจากนี้แล้วหน้าที่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของนักวิชาการโบราณคดี คือการเผยแพร่ข้อมูลและสร้างความเข้าใจหรือทัศนคติที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของหลักฐานทางโบราณคดีในแง่ของแหล่งความรู้ที่มีคุณประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ไม่ใช่ในความหมายของโบราณวัตถุที่ตีราคาได้
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน โครงกระดูกมนุษย์ได้ถูกทำลายลงเป็นจำนวนมาก และคงจะยังเป็นเช่นนี้ต่อไป หากเราไม่ยอมทบทวนข้อผิดพลาดในอดีต และพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ส่วนรวมให้เห็นคุณค่าของโครงกระดูกในฐานะที่ครั้งหนึ่งในอดีต กระดูกเหล่านี้เคยเป็นส่วนประกอบของร่างกายคนซึ่งมีชีวิต มีลมหายใจแบบเราๆท่านๆ การศึกษาโครงกระดูกจะไม่ก่อให้เกิดมุมมองที่กว้างไกล ลึกซึ้ง และเป็นประโยชน์ต่อวิชาความรู้ในแขนงนี้เลย หากเราไม่สามารถมองทะลุผ่านความเป็นวัตถุของกระดูกแห้งๆไร้ชีวิต ไปสู่ภาพของคนที่มีชีวิต มีเลือดเนื้อ เคลื่อนไหว และทำกิจกรรมเพื่อความอยู่รอดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่นเดียวกับคนเราในปัจจุบันขึ้นมาได้
เมื่อได้อ่านมาจนถึงย่อหน้าสุดท้ายนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าคุณคงมีคำตอบสำหรับคำถามในบรรทัดแรกของบทความนี้อยู่ในใจเรียบร้อยแล้ว แต่ส่วนที่จะตอบว่าอย่างไรนั้นคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ด้วยเพราะคำตอบนั้นย่อมขึ้นอยู่กับเหตุผลและวิจารณญาณของแต่ละคนซึ่งอาจแตกต่างกันไป แต่มุมมองและความหมายที่แท้จริงในการศึกษาโครงกระดูกนั้นต่างหาก คือสิ่งที่เราทุกคนควรตระหนักรู้และเข้าใจร่วมกัน
"…ก่อนที่จะพลิกอ่านหน้าต่อไป หรือปิดจดหมายข่าวฉบับนี้ลง ขอฝากคำถามหนึ่งให้คุณได้ตอบตัวเองว่า วันนี้คุณได้เข้าใจความหมายของโครงกระดูกมนุษย์มากขึ้นแล้วหรือยัง"

  


แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด