ต้นกำเนิด สุลต่านสุไลมาน ประวัติราชวงศ์จักรี เชื้อสายราชวงศ์จักรี


901 ผู้ชม


ต้นกำเนิด สุลต่านสุไลมาน ประวัติราชวงศ์จักรี เชื้อสายราชวงศ์จักรี

 

สุลต่านสุไลมานกับราชวงศจักรี


ในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ ๑๖ เป็นช่วงที่ฮอลันดาและโปรตุเกสกำลังล่าเมืองขึ้นอยู่แถวหมู่เกาะชวา และเขตใกล้เคียง จึงเกิดการรบราฆ่าฟันกันตามเมืองต่างๆระหว่างฝรั่งผู้รุกรานกับชาวเมืองเจ้าของถิ่น เมืองสาเลห์(Saleh) หรือสเลมานบนฝั่งแม่น้ำปรากาก็เป็นเมืองหนึ่งที่ตกอยู่ในภาวะจลาจล ถูกถล่มด้วยปืนใหญ่และธนูไฟจนวอดวาย
ดะโต๊ะโมกอล (ว่ากันว่าเป็นผู้นำของเมือง) จึงพาครอบครัวและบริวารลงเรือสำเภา ลี้ภัยออกสู่ทะเลจีนใต้ รอนแรมข้ามทะเลมาขึ้นฝั่ง ณ ชายหาดเขาหัวแดง ใกล้เมืองสทิงพระ ตกประมาณพ.ศ. ๒๑๔๗ ในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ แล้วตั้งประชาคมมุสลิมขึ้นตรงนั้นอย่างสงบ ไม่มีการขัดแย้งกับชาวเมืองที่อยู่มาก่อน ปักหลักอยู่ยาวนานจนมีผู้คนอพยพมาอาศัยอยู่มากขึ้น ในที่สุดก็พัฒนาขึ้นมาเป็นเมืองท่าปลอดภาษี มีเรือสำเภาแวะเข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันคับคั่ง
บทบาทของดะโต๊ะโมกอลได้รับการสนับสนุนจากอาณาจักรศรีอยุธยาด้วยดี พระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น "ข้าหลวงใหญ่" ของสยาม ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ต่อมาคือท่านสุไลมานบุตรชายคนโต มีหน้าที่ปกครองดูแลรักษาความสงบของพื้นที่ตั้งแต่ตอนล่างของนครศรีธรรมราช มาจดเขตปัตตานี ครอบคลุมครึ่งล่างของเมืองตรัง ปะเหลียน พัทลุง และสงขลา นอกจากนี้ก็ต้องเก็บส่วยสาอากรส่งถวายพระเจ้าแผ่นดินที่กรุงศรีอยุธยา ท่านสุไลมานก็ได้ทำหน้าที่นี้เรียบร้อยด้วยดีมาตลอด
ต่อมาเกิดการยึดอำนาจขึ้นในกรุงศรีอยุธยาหลังพระเจ้าทรงธรรมเสด็จสวรรคต พระเชษฐาธิราชพระราชโอรสองค์ใหญ่ถูกเจ้าพระยากลาโหมจับสำเร็จโทษ แล้วตั้งพระอาทิตยวงศ์พระอนุชาซึ่งยังเด็กแค่ ๙ ขวบขึ้นนั่งบัลลังก์ ตัวเองเป็นผู้สำเร็จราชการ ทางเจ้าเมืองปัตตานีซึ่งเป็นประเทศราชเห็นเป็นจังหวะดีที่จะแข็งเมืองไม่ยอมเป็นประเทศราชอีกต่อไป จึงส่งทัพเรือมาตีข้าหลวงใหญ่แห่งเขาหัวแดง แม้ว่าท่านสุไลมานสู้รบป้องกันเมืองไว้ได้แต่บ้านเมืองก็เสียหายมากเอาการ ท่านก็เลยปรับปรุงกำลังพลให้แข็งแกร่งขึ้นเพื่อป้องกันตัวจากศึกครั้งต่อไป ทำให้กรุงศรีอยุธยาเริ่มจับตามองท่านอย่างไม่ไว้ใจนัก 
เหตุร้ายในอยุธยาดำเนินต่อไปเมื่อถึงคราวพระอาทิตยวงศ์ถูกสำเร็จโทษบ้าง แล้วเจ้าพระยากลาโหมขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ปราสาททองเสียเอง ทรงกวาดล้างฝ่ายที่ไม่ยอมร่วมมือไปเป็นจำนวนมาก ท่านสุไลมานไม่เห็นด้วยกับการกระทำนี้ ประกอบกับท่านเคยจงรักภักดีกับพระเจ้าทรงธรรมมาแต่เดิม จึงตัดสินใจแข็งเมือง ประกาศสถานภาพ "รัฐสุลต่าน" ขึ้นมา มีกำลังพลเข้มแข็งพอจะต่อต้านการปรามปรามจากกรุงศรีอยุธยาอยู่ได้ จนตลอดรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง 
ต้นกำเนิด สุลต่านสุไลมาน ประวัติราชวงศ์จักรี เชื้อสายราชวงศ์จักรี
สุลต่านสุไลมาน
สุลต่านสุไลมานได้ครองตำแหน่งพระราชาธิบดีแห่งพัทลุงอยู่นานจนสิ้นพระชนม์ในอีก ๒๖ ปีต่อมา บาดหลวงเดอ ชัวสี ที่เดินทางมาเจริญพระราชไมตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เรียกท่านว่า Sultan Negeri Singora หรือพระเจ้าสงขลา
อย่างไรก็ตาม เมื่อขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระนารายณ์ก็ไม่ได้นิ่งนอนพระทัยในเรื่องนี้ ทรงส่งกองทัพมีพระยารามเดโชเป็นแม่ทัพมาปราบปราม ใช้กลยุทธจุดไฟเผาที่ตีนเขาให้ระส่ำระสายก่อนแล้วจึงใช้กองเรือบุกโจมตีในเวลากลางคืน เมื่อสุลต่านมุสตาฟาบุตรสุลต่านสุไลมานพ่ายแพ้แก่อยุธยา รัฐสุลต่านก็จบสิ้นลง กลับคืนสู่ความเป็นหัวเมืองของกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง
เมื่อเปลี่ยนราชวงศ์จากปราสาททองเป็นบ้านพลูหลวง พระเพทราชามิได้วางตัวเป็นปรปักษ์ต่อเชื้อสายสุลต่านสุไลมาน แต่ว่าทรงมอบตำแหน่งเจ้าเมืองพัทลุงให้บุตรชายอีกคนหนึ่งของสุลต่านได้ครองอีกครั้ง ดำรงตำแหน่งพระยาจักรี( ฮุสเซน)
เชื้อสายของพระยาจักรีสืบสายเป็นขุนนางไทยมาจนถึงสมัยธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนใหญ่ได้ดำรงตำแหน่งพระยาราชบังสัน หรือพระยาราชวังสัน มีอำนาจหน้าที่ทางด้านทัพเรือ หนึ่งในจำนวนนี้คือพระยาราชวังสัน(หวัง)ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ท่านตั้งเคหสถานอยู่ติดวัดหงษ์รัตนาราม ในคลองบางกอกใหญ่ ฝั่งธนบุรี 
พระยาราชวังสัน(หวัง)และคุณหญิงชูภรรยาเอกมีธิดา ๓ คน หนึ่งในจำนวนนี้ชื่อเพ็ง ได้สมรสไปกับพระยานนทบุรี(จันท์)เจ้าเมืองนนทบุรี คุณหญิงเพ็งมีธิดาชื่อเรียม 
ต่อมาคุณเรียมได้ถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายใน เป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ท่านเป็นเจ้าจอมมารดาของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าทับ กรมหลวงเจษฎาบดินทร์ ซึ่งเมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๒ แล้วก็ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติด้วยความเห็นชอบของ "อเนกมหาชนนิกร สโมสรสมมุติ" คือจากที่ประชุมกันของขุนนางผู้ใหญ่และพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๓ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ - พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนเจ้าจอมมารดาเรียมต่อมาก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระศรีสุลาไลย
ชื่อนี้ สันนิษฐานว่า "สุลาไลย" เป็นการแผลงคำจาก "สุไล" ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงชื่อสุลต่านสุไลมาน ต้นตระกูลเดิมของเจ้าจอมมารดาเรียม เพราะคำศัพท์ไทยรุ่นเก่ามีการแผลงทำนองนี้อยู่ อย่างชื่อ พิมพิลาไลย มาจาก พิมพิไล ซึ่งหมายถึงรูปงาม
ถึงแม้ว่าพระราชโอรสในสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มิได้มีพระองค์ใดได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้า และมิได้ครองราชย์สืบต่อมา แต่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์จักรีเริ่มแต่รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ล้วนสืบเชื้อสายจากสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทั้งสิ้น 
ทั้งนี้เพราะพระราชินีในรัชกาลที่ ๔ สมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ เดิมคือหม่อมเจ้ารำเพย พระธิดาในพระองค์เจ้าศิริวงศ์ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระเทพศิรินทรฯจึงทรงเป็นพระนัดดา หรือ " หลานปู่" ในสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ และทรงเป็น "เหลนทวด" ในสมเด็จพระศรีสุลาไลย
พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเทพศิรินทรฯ คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน
เชื้อสายของสุลต่ายสุไลมานจึงเกี่ยวข้องกับราชวงศ์จักรี ผ่านทางสมเด็จพระศรีสุลาไลย และสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยประการนี้ 

แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด