โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจมีโรคอะไรบ้าง ทางเดินหายใจมีความสัมพันธ์กับคนสูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่อย่างไร
โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ และจากการสูบบุหรี่
โรคที่เกิดจากการอักเสบเยื่อบุของหลอดลม ทำให้เยื่อบุหลอดลมบวม และมีเสมหะอุดหลอดลม ผู้ป่วยบางรายหลอดลมบวมมากและมีเสมหะมาก ทำให้เกิดลักษณะเหมือนโรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบในเด็กเป็นโรคที่พบไม่บ่อย มักพบร่วมกับการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนอื่นด้วย เช่น ไข้หวัด ไซนัสอักเสบ หรือปอดอักเสบ
สาเหตุของการเกิดโรค
สาเหตุของโรคหลอดลมอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เป็นต้นเหตุ ได้แก่ อะดิโนไวรัสไรโนไวรัส ฟลูไวรัส บางรายอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มัยโคพลาสมา หรือ คลามัยเดีย ส่วนน้อยที่อาจเกิดจากการแพ้ หรือการระคายเคืองต่อสารบางอย่างที่สูดดมจนทำให้หลอดลม เกิดการอักเสบ ผู้ที่ทำงานกับสารระคายเคืองเช่น ฝุ่น สารเคมี มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าปกติ
ปัจจัยสำคัญของการเกิดโรค
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคหลอดลมอักเสบ คือ การสูบบุหรี่ หรือผู้ที่อยู่กับคนที่สูบบุหรี่ ผู้ป่วยโรคกรดในกระเพาะไหลย้อน ผู้ที่มีโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ มีโอกาสเป็นโรคหลอดลมอักเสบมากขึ้น
อาการของโรค
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดลมอักเสบจะมีอาการ ไอ และมีเสมหะ อาการไอถือเป็นอาการที่สำคัญที่สุดของโรคนี้ เสมหะอาจจะมีสีเหลืองหรือเขียว ผู้ป่วยอาจมีไข้หรือไม่มีไข้ร่วมด้วยก็ได้ ถ้ามีไข้ มักจะไม่มีไข้สูง บางรายจะมีอาการหายใจลำบาก
ผู้ป่วยที่เป็นหวัด เริ่มด้วยอาการครั่นเนื้อครั่นตัว น้ำมูกไหล แสบคอ เมื่อโรคดำเนินต่อไปรู้สึกแน่นหน้าอก มีเสมหะในคอ และเริ่มเกิดอาการไอ แสดงว่าเป็นโรคหลอดลมอักเสบ รวมทั้งผู้ที่เป็นหวัด แล้วมีอาการไอ และมีเสมหะเรื้อรังนานเกิน 7 วัน
โรคหลอดลมอักเสบมักจะหายได้เองใน 7-10 วัน ผู้ป่วยส่วนหนึ่งประมาณร้อยละ 20-30 หายภายใน 2-3 สัปดาห์ อย่างไรก็ดีพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ใช้เวลาเป็นเดือน จึงจะหายจากโรคหลอดลมอักเสบ โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่จัดมาเป็นเวลานาน
การรักษา
การรักษาโรคหลอดลมอักเสบนี้ ส่วนใหญ่จะรักษาตามอาการที่เป็นในขณะนั้น เช่น การให้รับประทานยาละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม หรือ ยาลดไข้ เนื่องจากโรคส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ ในกรณีผู้ป่วยเด็ก ไม่นิยมให้ยาแก้ไอ เพราะอาจทำให้เสมหะค้างในหลอดลมจนกลายเป็นโรคอื่นๆ ที่รุนแรงอย่าง เช่น โรคปอดอักเสบ หรือโรคหลอดลมโป่งพองได้ให้ผู้ป่วยพักผ่อนอย่างพอเพียง ดื่มน้ำมากๆ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ที่ระคายต่อหลอดลม หากตรวจพบว่าโรคหลอดลมอักเสบนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ ยาใหม่ที่ใช้ได้ผลดีชื่อ Telithromycin ซึ่งเป็นยาที่จัดอยู่ในกลุ่ม ketolides จากการศึกษาวิจัยในระยะหลัง พบว่าเกิดปัญหาเชื้อดื้อยาน้อยมาก
การปฏิบัติระหว่างการรักษา
แนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นมากๆ อาจเป็นน้ำผลไม้หรือน้ำผึ้งผสมมะนาว เพื่อช่วยให้ชุ่มคอและเสมหะเหนียวน้อยลง ยาขับเสมหะหรือยาละลายเสมหะอาจมีประโยชน์ในรายที่มีเสมหะมากไม่ควรให้ยาในกลุ่มแอนติฮีสตามีนและยากดอาการไอ เพราะอาจทำให้เสมหะเหนียวคั่งค้างอยู่ในหลอดลมทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและโรคปอดอักเสบตามมา ผู้ป่วยที่มีอาการไอรุนแรงควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว ซึ่งอาจต้องใช้ยาขยายหลอดลมหรือยาอื่นที่เหมาะสมต่อไป ในเด็กเล็กหรือผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือหดเกร็งทำให้ไอเอาเสมหะออกมาได้ไม่ดี อาจต้องช่วยเคาะปอดหรือดูดเสมหะเพื่อระบายเสมหะ
แหล่งที่มา : thaigoodview.com