ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์เป็นศิลปะสมัยใด ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ การขโมยทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์


3,251 ผู้ชม


ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์เป็นศิลปะสมัยใด ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ การขโมยทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์

 

 จากทับหลังนารายณ์ : การลักลอบค้าโบราณวัตถุข้ามชาติ

โดย : ผศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช
เป็นเวลากว่าทศวรรษ ที่ข่าวคราวด้านวัฒนธรรมโบราณคดี โดยเฉพาะเรื่องทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ติดอันดับเป็นข่าวหน้าหนึ่งอย่างต่อเนื่องของหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ จากนั้นเรื่องราวด้านนี้ก็เงียบหายไปเหมือนไฟไหม้ฟาง มาบัดนี้ก็มีข่าวดังอีกครั้ง (นอกเหนือจากเรื่องทับหลังจริงหรือปลอม) ซึ่งเป็นข่าวที่น่าสลดใจสำหรับพุทธศาสนิกชนชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง คือ การจับกุมผู้ลักลอบขโมยและตัดเศียรพระพุทธรูปในจังหวัดพระนครศรี อยุธยาและมีการขยายผลพบเครือข่ายการค้าโบราณวัตถุข้ามชาติซึ่งโบราณวัตถุส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศกัมพูชา คำถาม คือ ทำไมต้องเป็นโบราณวัตถุของเขมร?
การลักลอบค้าโบราณวัตถุไม่ใช่เรื่องใหม่เลยสำหรับนักโบราณคดี ตำรวจ ผู้สนใจเรื่องมรดกวัฒนธรรม ตลอดจนนักค้าของเก่า การค้าโบราณวัตถุนั้นมีมานานแล้ว ดังเห็นได้จาก พ.ร.บ.โบราณสถานฯ ฉบับ พ.ศ.2504 ก็มีการกำหนดบทลงโทษในเรื่องนี้แล้ว เมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว การค้าโบราณวัตถุ มี 2 ประเภทใหญ่ คือ การค้าภายในประเทศ และการค้าข้ามชาติ
การค้าภายในประเทศน่าจะพัฒนามาจากการติดต่อกับตะวันตกช่วงสมัยอาณานิคม มีการรับเอาค่านิยมในการสะสมของเก่า ซึ่งในระยะแรกจะอยู่ในชนชั้นสูงและแวดวงข้าราชการ โดยเฉพาะมหาดไทยและกลาโหม ของเก่า เช่นพระพิมพ์ พระพุทธรูป หรือประติมากรรมในศิลปะเขมร จะเป็นของกำนัลสำหรับบรรดาเจ้านายทั้งหลาย การสะสมของเก่านั้น นอกเหนือจากการเก็บเพราะสนใจและเพื่อเป็นสิริมงคลแล้ว ยังแสดงถึงรสนิยมอันศิวิไลซ์ของผู้สะสมอีกด้วย เพราะในต่างประเทศนั้นมีแต่เฉพาะบรรดาเศรษฐีที่สามารถจะสะสมของล้ำค่าเช่นนี้ได้ ต่อมามีบรรดาเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นมากมายในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ การสะสมโบราณวัตถุก็สามารถใช้แสดงสถานภาพของตนได้
เมื่อความต้องการของเก่ามีเพิ่มขึ้น ก็เริ่มเกิดกระบวนการร้านค้าของเก่า พ่อค้าคนกลาง ช่างซ่อมแซมและทำเลียนแบบ กลุ่มคนท้องถิ่นที่ชำนาญในเรื่องการลักลอบขุด และชาวบ้านที่เป็นมือสมัครเล่น แหล่งโบราณคดีที่ถูกทำลายมีทั้งแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์
แหล่งที่เป็นเป้าหมายนั้นขึ้นอยู่กับความนิยมเฉพาะช่วงเวลา เช่น ช่วง พ.ศ.2515 นั้น หม้อเขียนสีบ้านเชียงมีราคาสูงมาก แหล่งโบราณคดีแถบลุ่มแม่น้ำสงครามจึงถูกทำลายอย่างยับเยิน เรื่องนี้โด่งดังถึงขนาดถูกบรรจุไว้ในตำราเรียนวิชาโบราณคดีเบื้องต้นในประเทศสหรัฐอเมริกาทีเดียว
ลูกปัดแก้วสีต่างๆ จากอู่ทองเป็นที่ต้องการในฐานะเรื่องรางของขลัง ผลคือเมืองโบราณอู่ทองถูกขุดเป็นหลุมบ่อจนพรุนทั้งพื้นที่ เป็นต้น
ส่วนการค้าขายโบราณวัตถุข้ามชาตินั้น น่าจะเริ่มปรากฏอย่างเข้มข้นในช่วงหลังสงครามเวียดนาม
กระบวนการนี้ก็ไม่แตกต่างจากการค้าภายในประเทศนัก คือมีคนไทยเป็นกำลังสำคัญ และเป็นมืออาชีพในการลักลอบขุดค้นทำลาย
ข้อแตกต่างที่ชัดเจนจากการค้าขายภายในประเทศเห็นจะเป็นเม็ดเงินที่มากกว่า ของที่ค้ามีขนาดใหญ่กว่า และมีเครือข่ายซับซ้อนจากต่างประเทศ ทั้งจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชีย ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย
ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในหมู่นักสะสมของเก่าว่าเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าโบราณวัตถุผิดกฏหมาย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการค้าทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งถูกโจรกรรมไปจากประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2508 แล้วเมื่อ พ.ศ. 2516 ทับหลังฯถูกส่งไปขายที่สหรัฐอเมริกา พบครั้งหลังสุดที่สถาบันศิลปะชิคาโก
นัยสำคัญของทับหลังอยู่ที่ว่ามีกระบวนการค้าโบราณวัตถุที่ผิดกฎหมาย อย่างมีตัวตนแล้วตั้งแต่ครั้งนั้น มีการกะเทาะโบราณวัตถุ ออกจากโบราณสถานแล้วเคลื่อนย้ายมาที่จังหวัดพระนครศรี อยุธยา และทำเลียนแบบอย่างเป็นเรื่องเป็นราวดังเป็นข่าวหน้าหนึ่งเมื่อเร็วๆนี้ 
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยเมื่อประมาณสามสิบกว่าปีมาแล้ว ได้ย้อนกลับมาเกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านในปัจจุบัน ผิดกันแต่เพียงว่าขณะนั้นชาวต่างชาติเป็นผู้กระทำการ คนไทยเป็นผู้ส่งเสริม
คราวนี้คนไทยเป็นผู้กระทำ และมีชาวเขมรเป็นกำลังสำคัญ ดังรายงานเรื่อง "แก๊งค้าของเก่าคืนชีพ : ช่องโหว่ที่กรมศิลป์ละเลย" ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 
ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา นับแต่เราได้ทับหลังฯคืนมา ความนิยมในศิลปะเขมรมีมากขึ้น ทำให้เกิดขบวนการลักลอบค้าขายโบราณวัตถุจากกัมพูชาเป็นทวีคูณ
อาจกล่าวได้ว่า ความต้องการนักสะสมทั้งส่วนบุคคลและสถาบันเอกชน ที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน มีส่วนทำให้เกิดการประเมินค่าของโบราณวัตถุเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ดังนั้นจึงมีคนจำนวนหนึ่งพร้อมที่จะเสี่ยงทำผิดกฎหมาย เป็นที่น่าสังเกตว่าคนเหล่านี้มักจะไม่ใช่คนในชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นๆ ในขณะเดียวกัน บทลงโทษของการกระทำผิดต่อทรัพย์แผ่นดิน ก็ไม่รุนแรงเท่ากับการค้ายาเสพติดหรือลักรถยนต์ ซึ่งมักถูกวิสามัญฆาตกรรม ประกอบกับมีช่องว่างในการดำเนินงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมได้หมดทั้งประเทศ อีกทั้งไม่มีกฎหมายหรือการดำเนินงานร่วมมือระหว่างประเทศอย่างจริงจังในการปกป้องทรัพยากรทางวัฒนธรรมในหมู่ประเทศเพื่อนบ้าน จึงทำให้กระบวนการลักลอบค้าโบราณวัตถุเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมีระบบเครือข่ายที่ซับซ้อน

ย้อนกลับมาสู่คำถามที่ว่า "ทำไมจึงต้องเป็นโบราณวัตถุจากเขมร?" แทนที่จะเป็นของประเทศอื่นๆ ผู้เขียนคิดว่ามีหลายประเด็นที่น่าพิจารณา คือ
ประการแรก สถานการณ์การเมืองภายในประเทศกัมพูชาที่ยังไม่มั่นคงมีส่วนเอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติการลักลอบค้าโบราณวัตุเป็นอย่างยิ่ง เชื่อว่าบุคคลสำคัญที่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำครั้งนี้น่าจะเป็นคนที่มีสี ไม่จากฝ่ายรัฐบาลเองก็เป็นเขมรแดงหรือกระทั่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเอง นอกจากนี้ความยากจนของประชาชนในประเทศก็มีส่วนทำให้เกิดมือสมัครเล่นมากมายขึ้นมาสนับสนุน ดังจะเห็นได้จากการนำของเก่าขนาดเล็กมาขายตามสถานที่ท่องเที่ยวในกัมพูชาทั่วไป เช่น เขาพระวิหาร นครวัด-นครธม
ประการที่สอง ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมาย หรือการควบคุมเกี่ยวกับโบราณวัตถุสถานของประเทศกัมพูชา อีกทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านโบราณคดีในกัมพูชาก็อยู่ระหว่างการฟื้นฟู มีการอบรมนักโบราณคดีและภัณฑารักษ์ โดยความช่วยเหลือจากต่างประเทศมากมาย นอกจากนี้หลังจากการสำรวจที่ได้กระทำไว้ไม่มากนักเมื่อหลายสิบปีก่อน โดยสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ ก็ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนโบราณสถานโบราณวัตถุเลย ทำให้ไม่อาจทราบว่าโบราณสถานทั้งหมดมีจำนวนเท่าไร อายุเท่าไร มีอะไรบ้าง จึงมีเรื่องที่น่าเศร้าใจยิ่งเกิดขึ้นเสมอ เช่น มีการรื้อปราสาทเล็กเกือบทั้งหลังจำนวนหลายต่อหลายแห่งในบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา และทำการขนย้ายโบราณวัตถุออกมาหลายระลอกเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว
กล่าวคือ ในประเด็นที่หนึ่งและสองเป็นช่องโหว่ที่สำคัญสำหรับการดำเนินการค้าโบราณวัตถุข้ามชาติ ผ่านเข้าทางชายแดนตะวันออกประเทศไทย ในจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว 
ประการที่สาม ผลจากการรณรงค์เรื่องทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ และการประชาสัมพันธ์เรื่องการท่องเที่ยวปราสาทเขมรในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นปราสาทพนมรุ้งหรือพิมาย รวมทั้งเอกสารตีพิมพ์เกี่ยวกับศิลปะเขมร ที่เพิ่มขึ้นในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา ทำให้ศิลปกรรมเขมรมีราคาสูงขึ้นในตลาดค้าขายโบราณวัตถุ และเป็นที่ต้องการของนักสะสมทั้งภายในและภายนอกประเทศ จากคำสารภาพของผู้ต้องหาที่ถูกจับได้ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่รายงานในหนังสือพิมพ์ข่าวสดได้ให้การว่ามีใบสั่งตรงที่ได้รับมาว่าต้องการโบราณวัตถุศิลปเขมร มีการระบุประเภทศิลปกรรมอย่างชัดเจน นับเป็นการยืนยันประเด็นนี้อย่างไม่ต้องสงสัย 
นอกจากนี้ราคาของโบราณวัตถุก็เป็นแรงจูงใจสำคัญ แม้ว่าในหลักการวิชาชีพโบราณวัตถุทุกชิ้นมีคุณค่าอย่างหาค่ามิได้ จึงไม่สามารถแม้แต่ประเมินเป็นเงิน แต่ในแง่ปฏิบัติในเรื่องกฎหมายและคดีความ นักโบราณคดีและภัณฑารักษ์จะต้องประเมินคุณค่าของโบราณวัตถุให้กับเจ้าหน้าที่สอบสวน เมื่อคุณค่าทางจิตใจของวัตถุนั้นสูงมากสำหรับนักโบราณคดี ก็อาจจะทำให้ประเมินคุณค่าเป็นเงินที่สูง ผลที่เกิดขึ้นคือ โบราณวัตถุเหล่านั้นกลายเป็นสิ่งล่อใจทุจริตชนทั่วไป และมีการลักลอบค้าขายตามมา 
สำหรับการทำงานเมื่อเทียบกับการประกอบอาชีพผิดกฎหมายอื่นๆ การลักลอบขุดค้นหรือค้าโบราณวัตถุ เป็นอาชีพที่ทำรายได้เป็นจำนวนมาก โดยแทบไม่ต้องลงทุนอะไรมากมายนัก นอกจากความใจถึง มีเครื่องไม้เครื่องมือในการขุดการสกัดหิน และขนย้ายก็มักจะใช้แรงคนเป็นส่วนมากไม่ต้องใช้เครื่องจักรที่ซับซ้อน 
ประการที่สี่ การอนุญาตให้มีการค้าศิลปโบราณวัตถุอย่างอย่างถูกกฎหมายตามศูนย์การค้าที่มีชื่อหลายแห่งในกรุง เทพฯ เป็นช่องโหว่สำคัญที่ทำให้เกิดระบบใบสั่งของ การค้านอกระบบ และการลักลอบเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุจากโบราณสถานต่างๆ ดังที่เป็นข่าวครึกโครมในปัจจุบัน การค้าโบราณวัตถุอย่างถูกกฎหมายนี้ เป็นการเลียนแบบประเทศที่พัฒนาแล้วในเรื่องตลาดการค้าเสรีของศิลปโบราณวัตถุ โดยประเทศประชา ธิปไตยเหล่านั้น เช่น สหรัฐอเมริกาเชื่อว่า ถ้าเอกชนเป็นเจ้าของก็จะช่วยดูแลรักษาป้องกันการทำลายแหล่งโบราณคดี กรณีของประเทศไทยกลับเกิดตรงกันข้าม คือเจ้าของร้านมีส่วนพัวพันกับการส่งเสริมการทำลายเสียเอง
ประการสุดท้าย ปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่ให้ความสำคัญเรื่องวัฒนธรรมของมนุษยชาติและวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านเท่าที่ควร อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศที่คุ้มครองทรัพยากรทางวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าประเทศไทยจะประกาศตนเรื่องมรดกโลก ซึ่งหมายความว่าเป็นสมบัติของมนุษย์ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับ "มรดกโลก" ยังไม่มีในหมู่ประชาชนทั่วไป หรือแม้กระทั่งในหมู่นักโบราณคดี หรือนักศึกษาโบราณคดีซึ่งมองว่า "วัฒนธรรมของคนอื่นไม่สำคัญเท่ากับของคนไทย" ทั้งๆที่นครวัด-นครธม ก็จัดเป็นมรดกโลกเช่นเดียวกับ บ้านเชียง สุโขทัย - อยุธยา
ดังนั้นคุณค่าของโบราณวัตถุในวัฒนธรรมเขมร น่าจะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับของไทย โบราณวัตถุของเขมรมีความหมายยิ่งต่อการสืบค้นเรื่องราวของคนที่อยู่ในภาคพื้นอุษาคเนย์ คุณค่าของโบราณวัตถุสถาน อยู่ตรงที่รู้ว่ามาจากไหน อายุเท่าไร นักโบราณคดีจึงสามารถที่จะเชื่อมโยงสู่บริบททางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและเจ้าของวัฒนธรรมได้
เราควรจะทำอย่างไรในอนาคต ?
สิ่งที่เราเห็นอยู่ขณะนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คนที่ถูกจับมาส่วนใหญ่มักจะเป็นพวกปลายแถวของขบวนการค้าโบราณวัตถุข้ามชาติทั้งสิ้น สำหรับผู้บงการนั้นเรายังไม่มีเบาะแส เห็นจะต้องโยนเรื่องการสืบสวนเบื้องลึกต่อไปให้กับท่านผู้พิทักษ์สันติราษฏร์ด้วย ในกรณีที่ตำรวจสืบทราบว่าใครเป็นผู้กระทำหรือบงการเรื่องนี้ ควรจะมีการเปิดโปงอย่างละเอียดต่อสาธารณชน และควรต้องได้รับการประณามจากประชาคมโบราณคดีทั่วโลกทีเดียว
สำหรับการมองที่ต้นเหตุของปัญหานั้น ผู้เขียนขอเสนอข้อคิดดังนี้
หนึ่ง กรมศิลปากรควรฉกฉวยสถานการณ์นี้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบขุด การดัดแปลงแก้ไข และการซื้อขายโบราณวัตถุ ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งกำหนดบทลงโทษให้มากกว่าปัจจุบัน เช่นเพิ่มจำคุกจาก 7 ปี เป็น 15-20 ปี ตามลำดับ แล้วแต่ประเภทของการกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นการรับซื้อของโจรหรือเป็นผู้กระทำผิดเอง และทำทะเบียนบัญชีดำรายชื่อคนเหล่านี้แจกให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์การทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ เป็นต้น
ทราบมาว่าขณะนี้กรมศิลปากรกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติ
สอง กรมศิลปากรในฐานะตัวแทนของประเทศไทย ควรมีความจริงใจในการแก้ปัญหาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศกัมพูชา ในเรื่องการป้องกันและการแก้ปัญหาการลักลอบซื้อขายและนำโบราณวัตถุออกนอกประเทศ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะยังมิได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการส่งคืนโบราณวัตถุแก่ประเทศเจ้าของก็ตาม แต่ก็ต้องอาศัยอำนาจกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้เต็มที่ กล่าวคือ โบราณวัตถุของเขมรทั้งหมดที่เป็นของกลางเมื่อทำการตรวจพิสูจน์ตามกระบวนการทางโบราณคดีเสร็จแล้ว ถ้าชิ้นใดสามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นของเขมร ก็ควรจะส่งคืนแก่ประเทศกัมพูชาโดยเร็ว เพราะเป็นความชอบธรรมของชาวเขมรในการครอบครอง ดูแล และจัดการทรัพย์แผ่นดินของเขา โดยอาจจะประสานกับองค์การยูเนสโก หรือสปาฟ่า ในการจัดทำทะเบียนและบันทึกข้อมูลทั้งหมดสำหรับการศึกษาวิจัย ต่อไปในอนาคต
เมื่อเราไม่ชอบการกระทำของประเทศมหาอำนาจที่ปล้นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของประเทศโลกที่สาม ซึ่งอยู่ภายใต้อาณานิคมของตนแล้วนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ชั้นนำของโลก เช่น British Museum ประเทศไทยก็ยิ่งไม่สมควรที่จะกระทำเยี่ยงเดียวกันต่อประเทศกัมพูชา
หากประเทศไทยต้องการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ก็อาจจะดำเนินการยืมโบราณวัตถุเหล่านั้นเป็นการชั่วคราวได้ สิ่งนี้จะทำให้ประชาคมโบราณคดีโลก ชื่นชมกับบทบาทของประเทศไทยมากกว่าการเก็บเอาไว้ในประเทศเป็นการถาวร
สาม กรมศิลปากรควรให้ความสำคัญกับงานศึกษาวิจัย โดยการสนับสนุนและส่งเสริมนักวิชาการภายใต้องค์กรให้เข้มแข็ง เพื่อสามารถที่จะนำเอาองค์ความรู้ที่ได้มาเผยแพร่ต่อสาธารณชนอันจะทำให้เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ไปโดยปริยาย และควรให้ความสำคัญต่องานวิชาการเท่ากับงานบริหาร
ปัจจุบัน ผู้บริหารกรมศิลปากรให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของท.ท.ท.ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ผลก็คือ 10 กว่าปีที่ผ่านมา งานวิชาการถูกลดบทบาท และแทบไม่มีความสำคัญเลยในสายตาของผู้บริหารกรมศิลปากร เมื่อเทียบกับการดำรงตำแหน่งบริหารงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์
ในอดีตนักปราชญ์ทางด้านวัฒนธรรมจะรวมตัวกันอยู่ที่สถาบันแห่งนี้ ขณะที่ปัจจุบันความก้าวหน้าในเรื่ององค์ความรู้ใหม่ทางด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า นักวิชาการที่เหลือในปัจจุบัน คือ ผู้ที่ว่ายน้ำทวนกระแส และกำลังจะหมดแรงในไม่ช้านี้
นอกจากนี้ การโยกย้ายข้าราชการบ่อยๆ จะทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการเรียนรู้ธรรมชาติของหลักฐานทางโบราณคดีในภูมิภาคนั้นๆ อีกทั้งเป็นการทำลายและตัดโอกาสความเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านของนักโบราณคดีด้วย
ผู้เขียนคิดว่าผลงานทางวิชาการมีความสำคัญในการรณรงค์ปลุกจิตสำนึกประชาชนทั่วไปให้รักษามรดกวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง องค์ความรู้ทางวิชาการเป็นหัวใจของกลยุทธ์ในการกำหนดทิศทางด้านการจัดการทางวัฒนธรรม เพราะเรื่องราวที่เป็นผลจากการค้นคว้าวิจัยของนักโบราณคดีจะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจเห็นคุณค่าโบราณวัตถุสถาน และเกิดสำนึกในการอนุรักษ์ในที่สุด
ปัจจุบันแม้ว่ามีการปรับปรุงพัฒนาโบราณสถานมากมายตามแหล่งอุทยานประวัติศาสตร์ จนดูเหมือนมีความทันสมัยเทียบเท่าอารยประเทศ แต่เมื่อพิจารณาถึงความลุ่มลึกของการนำเสนอเรื่องราวที่ปรากฎต่อสาธารณชนตามป้ายต่างๆ กลับไม่ให้ความสำคัญที่ควร บางแห่งมีเพียงป้ายบอกชื่อของโบราณสถานเท่านั้น ไม่มีอะไรที่บ่งบอกผู้ที่มาเยือนเลยว่ากองอิฐหรือหินที่อยู่ตรงหน้ามีความสำคัญอย่างไร
เมื่อเป็นเช่นนี้จิตสำนึกพื้นฐานต่อคุณค่าของโบราณวัตถุสถานจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
อย่างไรก็ดีผู้เขียนเห็นว่าการให้การศึกษาและเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน เกี่ยวกับคุณค่าและความหมายของโบราณวัตถุสถานต่อเอกลักษณ์และพัฒนาการทางวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น ประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ถือว่าเป็นหน้าที่อย่างเร่งด่วนที่ไม่ใช่เฉพาะกรมศิลปากร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง แต่รวมถึงสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรจะต้องทำ! เพราะผลของการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบจะทำให้เราสามารถอธิบายให้กับคนไทยทั่วไปได้ว่า เหตุใด? เขาจำเป็นที่จะต้องช่วยกันดูแลปกป้องวัฒนธรรม"เขมร" ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและกัมพูชา
ท้ายนี้สำนึกในเรื่องการปกป้องมรดกทางวัฒนธรมนั้นไม่ควรเป็นหน้าที่ของกรมศิลปากรฝ่ายเดียว แต่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่พึงจะต้องช่วยกันดูแลทรัพยากรทางวัฒนธรรม ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น
สมบัติของเพื่อนบ้านเราก็เหมือนกับของเรา เพราะในอดีตไม่มีพรมแดน แผนที่ประเทศไทยเพิ่งถูกกำหนดขึ้นในสมัยรัชการที่ 5 คนไทยและเขมรต่างไปมาหาสู่กัน มีการพบปะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมและมีความสัมพันธ์กันฉันเครือญาติ เป็นเวลานานหลายศตวรรษมาแล้ว
แน่นอน…การลักลอบค้าโบราณวัตถุคงจะดำเนินต่อไป ถ้าตราบใดที่ยังมีผู้นิยมชมชื่นของเก่า มีคนจิตใจต่ำช้าที่เห็นประโยชน์จากการทำลายโบราณสถาน และมีคนยากจนอยู่ในสังคมที่ถูกใช้ประโยชน์ทั้งรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือถึงการณ์ตราบนั้นเราก็ยังคงเห็นข่าวแบบนี้กันอย่างไม่รู้จบ….
ป่าไม้นั้นแม้ถูกตัดไปยังปลูกทดแทนได้ แต่หลักฐานทางโบราณวัตถุสถานนั้นถ้าถูกทำลายแล้ว เสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็จะถูกทำลายชั่วนิจนิรันดร์ ไม่มีอะไรที่จะมาทดแทนได้………
*ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี
มหาวิทยาลัยศิลปากร
บทความนี้เคยลงตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 46 ฉบับที่ 8 วันอาทิตย์ที่ 25- 31 กรกฎาคม 2542 หน้า 46-48


แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด