โรคเบาหวานเกิดจาก โรคเบาหวาน วีดีโอ วิธีดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน


856 ผู้ชม


โรคเบาหวานเกิดจาก โรคเบาหวาน วีดีโอ วิธีดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน

 

การดูแลรักษาโรคเบาหวานสำหรับทุกคน

FFA Issue 28 Diabetes Care for Everyone

 
 

องค์กรโรคเบาหวานสากล  (IDF) ได้รณรงค์ ‘การดูแลรักษาโรคเบาหวานสำหรับทุกคน’ สำหรับปี 2549 นี้ เหตุผลหนึ่งสำหรับการรณรงค์ คือ มีผู้ป่วยหลายรายประสบกับภาวะโรคแทรกซ้อนสาเหตุจากโรคเบาหวานชนิดรุนแรงประเภทที่ 2 อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้เนื่องจากขาดการดูแลรักษา ซึ่งไม่เพียงแต่ขาดการดูแลรักษาในผู้ที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคเท่านั้น แต่ขาดการดูแลรักษาในผู้คนหลายคนที่ไม่ได้ปรึกษาแพทย์ด้วยเช่นกัน   

มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้ไม่มีการดูแลรักษาเบาหวานประเภทที่ 2 สำหรับหลายๆ คนและผู้ที่มีความทนกลูโคสบกพร่อง (impaired glucose tolerance) ซึ่งเป็นอาการที่ไม่สามารถตรวจหาได้เนื่องจากไม่ปรากฏอาการภายนอก การขาดการดูแลรักษาเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานประเภทที่ 2  

หนึ่งในขั้นตอนแรกที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญเป็นอันดับแรกเพื่อระบุที่มาของปัญหา คือการเพิ่มความตระหนักให้กับสาธารณชนว่าวิธีการ ระยะเวลา และสาเหตุของการเข้ารับการบริการด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและรักษาประเภทประเภทที่ 2 นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ความเข้าใจของสาธารณชนที่ดีขึ้น สามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายการปรับปรุงการดูแลรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ให้ดีขึ้นด้วยวิธีการหลายๆ วิธี ตัวอย่างเช่น ความเข้าใจของสาธารณชนสามารถเพิ่มอัตราการตรวจหาและการวินิจฉัยในเบื้องต้น เพิ่มความสามารถและแรงจูงใจให้กับผู้ป่วยแต่ละรายในการเข้าถึงการดูแลรักษาทางการแพทย์และคำแนะนำที่เหมาะสม ตลอดจนการนำคำแนะนำจากแพทย์มาปฏิบัติและผลจากการปฏิบัติที่มีต่อภาวะโภชนาการและวิถีการดำรงชีวิต เพื่อป้องกันและการจัดการโรคเบาหวานประเภทที่ 2

เพื่อสนับสนุนการรณรงค์โดย IDF ดังนั้น AFIC กำลังเปิดตัวแหล่งข้อมูลใหม่สองแหล่ง ที่จัดทำไว้เพื่อเพิ่มความเข้าใจของโรคเบาหวานประเภทที่ 2 และสิ่งที่พวกเขาควรปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงโรคแทรกซ้อนที่สัมพันธ์กับเบาหวานประเภทที่ 2 บทความนี้อ้างอิงมาจากหนึ่งในแหล่งข้อมูลเหล่านี้ ได้แก่ แผ่นพับที่ได้ทบทวนและปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ‘สิ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับเบาหวานประเภทที่ 2’ โปรดอ่านเพื่อค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือติดต่อสำนักงาน AFIC ได้ที่ www.afic.org เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม

เบาหวานประเภท 2 คืออะไร?

โรคเบาหวานคือสภาพการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงในร่างกายและมีการเปลี่ยนแปลงของไขมันในเลือดที่ไม่ต้องการ เบาหวานประเภทที่ 2 เป็นประเภทของเบาหวานที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยโรคเบาหวานประมาณ 85 ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 ปกติเกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่ แม้ว่าจะเกิดขึ้นในเด็กและวัยรุ่นไม่มากนักก็ตาม ผู้มีน้ำหนักตัวมากเกินก็สามารถเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน  

มีปริมาณผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 มากเท่าไร?

ประเทศอินเดียมีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานมากที่สุดในโลก (35.5 ล้านคน) ตามด้วยสาธารณรัฐประชาชนจีน อยู่ในลำดับที่สองด้วยผู้ป่วยโรคเบาหวาน 23.8 ล้านคน โดยในปี 2546 ประชากรในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 39.3 ล้านคน คาดว่าป่วยด้วยโรคเบาหวาน ซึ่งเทียบเท่ากับ 5.6 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด  

อาการของเบาหวานประเภทที่ 2 เป็นอย่างไร?

เบาหวานประเภทที่ 2 พัฒนาขึ้นอย่างช้าๆ บางครั้งไม่ปรากฏอาการภายนอก ผู้ป่วย 1 ใน 3 รายที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานได้พัฒนาโรคแทรกซ้อนขึ้นแล้ว ในกรณีเช่นนี้ ผลที่เกิดขึ้นอาจไม่สามารถรักษาให้หายกลับเป็นปกติได้  

อาการทางภายนอกที่พบบ่อยที่สุดของเบาหวานประเภทที่ 2 ได้แก่ การกระหายน้ำอย่างรุนแรง ปัสสาวะบ่อย หิว สูญเสียน้ำหนักโดยไม่ทราบสาเหตุ ไร้เรี่ยวแรง ตาพร่ามัว  แผลหายช้า ปวดเสียวหรือสูญเสียความรู้สึกบริเวณมือหรือเท้า เกิดการติดเชื้อซ้ำที่ผิวหนัง เหงือก ช่องคลอด หรือระบบทางปัสสาวะ  

เราจะป้องกันหรือลดโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานประเภทที่ 2 ได้อย่างไร?

เพื่อหลีกเลี่ยงโรคแทรกซ้อน สิ่งสำคัญได้แก่การตรวจหาเบาหวานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินหรือโรคอ้วน และมีอายุเกิน 45 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจเพื่อหาเบาหวานอย่างง่ายๆ โดยแพทย์ ปีละหนึ่งครั้ง  

สำหรับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 เป้าหมายสำคัญประการแรก คือ การควบคุมกลูโคส ไขมัน และความดันเลือดในกระแสเลือดให้ปกติดีอยู่เสมอ เพื่อให้การควบคุมกลูโคสในกระแสเลือดประสบผลสำเร็จ การทำสมาธิและการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตจึงเป็นสิ่งจำเป็น วิถีการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ การวางแผนโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพและการออกกำลังกาย การหมั่นพบแพทย์อยู่เป็นประจำ ก็ช่วยในการตรวจหาโรคแทรกซ้อนที่อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ทันท่วงทีอีกด้วยเช่นกัน

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ?

  • มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 พันธุกรรมมีบทบาทสำคัญต่อเบาหวานประเภทที่ 2 หากสมาชิกในครอบครัวหนึ่งคนหรือมากกว่าเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 ความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวานก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
  • ผู้มีน้ำหนักตัวมากเกินและผู้เป็นโรคอ้วน: ผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 มากกว่า 8 ใน 10 ราย เป็นผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินหรือโรคอ้วนอย่างใดอย่างหนึ่ง
  • ผู้ไม่ออกกำลังกาย: เบาหวานประเภทที่ 2 โดยปกติเกิดขึ้นกับผู้เฉื่อยชามากกว่า การออกกำลังกายสามารถลดโอกาสการเกิดเบาหวานประเภทที่ 2 ได้ครึ่งหนึ่ง 
  • ผู้สูงอายุ: ผู้ป่วยจำนวน 1 ใน  5 ราย ที่มีอายุเกิน 65 ปี เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 

เราจะป้องกันหรือชะลออาการของโรคเบาหวานได้อย่างไร?

  • สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกิน ควรลดไขมันของร่างกายลง 7 – 10 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัวปัจจุบัน ลดโอกาสเกิดเบาหวานประเภทที่ 2 ครึ่งหนึ่ง

  • ไขมันที่สะสมรอบๆ บริเวณท้อง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน และโรคแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกัน ไขมันบริเวณช่องท้องสามารถวัดได้ด้วยการวัดเส้นรอบเอว กระทำได้โดยใช้สายวัดวัดที่บริเวณกึ่งกลางระหว่างกระดูกซี่โครงส่วนล่างและและส่วนบนของกระดูกรอบเอว เส้นรอบเอวที่น้อยกว่า 90 เซ็นตริเมตร สำหรับผู้ชายและน้อยกว่า 80 เซ็นตริเมตรสำหรับผู้หญิง บ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่ต่ำ สำหรับผู้ที่มีไขมันช่องท้องมากกว่า ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนโดยตรงกับเส้นรอบวงที่เพิ่มขึ้น

  • การใช้กล้ามเนื้ออยู่เสมอ เพิ่มความสามารถของกล้ามเนื้อในการดูดซึมและนำอินซูลินมาใช้ ทั้งสองกรณีจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นหรือเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 จึงแนะนำให้ทำการออกกำลังกายเต้นแอโรบิก ออกกำลังกายแบบใช้กล้ามเนื้อ และการออกกำลังแบบยืดหยุ่นผสมผสานกัน

ข้อแนะนำการออกกำลังกาย

  1. การออกกำลังกายแบบแอโรบิค: แนะนำให้ทำอย่างน้อย 5 ครั้งต่อสัปดาห์ นานครั้งละ 30 นาทีโดยประมาณต่อวัน หากคุณต้องการลดน้ำหนัก การออกกำลังกายเพิ่มเติมก็จะเป็นประโยชน์ ปรึกษาแพทย์ของคุณก่อนเพิ่มระดับการออกกำลังกาย

  2.  การออกกำลังกายแบบใช้กล้ามเนื้อ: การสะสมมวลกระดูก เป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้เป็นเบาหวาน ในการเผาผลาญแคลอรี่และเสริมความสามารถของร่างกายในการลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือด การยกน้ำหนักเป็นตัวอย่างหนึ่งของการออกกำลังแบบใช้กล้ามเนื้อ

  3.  การออกกำลังกายแบบยืดหยุ่น เช่น การยืดคลายกล้ามเนื้อ ช่วยให้ข้อต่อมีความยืดหยุ่นและลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บในระหว่างการออกกำลังกาย   

ข้อแนะนำการเพิ่มการออกกำลังกาย:

  • จอดรถที่ลานจอดรถไกลสุด  
  • ตกแต่งสวนที่บ้าน
  • มีส่วนร่วมทำกิจกรรมกับเด็กหรือลูกหลาน
  • เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟท์หรือบันไดเลื่อน
  • ล้างรถ
  • หยุดลงที่สถานีรถ ให้ห่างสองสามช่วงจากป้ายปกติ และเดิน

ข้อแนะนำการเลือกรับประทานอาหาร

กลยุทธ์เชิงโภชนาการที่สำคัญที่สุดสองประการเพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้แก่ การเลือกแหล่งอาหารที่มีเส้นใยสูง มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตและไขมันต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันชนิดอิ่มตัว

เลือกธัญพืชที่เป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่มีเส้นใยสูง และจำกัดการบริโภคคาร์โบไฮเดรตบริสุทธิ์สูง โดยธัญพืชที่มีคาร์โบไฮเดรตเส้นใยสูง จะเกิดการดูดซึมอย่างช้าๆ ซึ่งจำกัดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด และลดความต้องการของอินซูลิน ทางเลือกที่ดี ได้แก่ ข้าวแดง ข้าวไม่ขัดสี ข้าวโอ๊ต ขนมปังจากธัญพืช บะหมี่ปรุงกึ่งสุก เวอร์มิเซลลีจากถั่ว ถั่วหรือถั่วมีเปลือก เช่น ถั่วบัลเกอร์ (bulgur) เป็นต้น 

ใช้ไขมันไม่อิ่มตัวแทนที่จะใช้ไขมันอิ่มตัวและไขมันชนิดทรานส์ ไขมันไม่อิ่มตัว เป็นต้นว่า น้ำมันคาโนลา น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่ว น้ำมันดอกทานตะวัน หรือน้ำมันข้าวโพด ช่วยป้องกันโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้ น้ำมันมะพร้าว, น้ำมันปาล์มและน้ำมันเมล็ดปาล์มซึ่งมีระดับไขมันอิ่มตัวสูงกว่า และ และเนยเทียมชนิดแข็งหรือกึ่งเหลว เช่นเดียวกับน้ำมันหมู ซึ่งมีทั้งไขมันอิ่มตัว และไขมันชนิดทรานส์ ซึ่งอาจเร่งการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 และโรคแทรกซ้อน   

ข้อมูลทางการแพทย์ด้านเบาหวานจากมูลนิธิเบาหวานสากล (The Diabetes Atlas of the World Diabetes Foundation) ประเมินว่า ทั่วโลกมีประชากรวัยผู้ใหญ่เป็นโรคเบาหวานมากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ และอีก 8 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ที่มีความทนกลูโคสบกพร่อง ซึ่งเป็นสภาพที่นำมาซึ่งโรคแทรกซ้อนหลายอาการจากเบาหวาน และในหลายๆ รายที่ไม่เข้ารับการตรวจจากแพทย์ ก็จะพัฒนาเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2  

อ่านเพิ่มเติม

  1. Diet, Nutrition and the Prevention of Chronic Diseases:Report of a Joint WHO/ FAO Expert Consultation, 2003

  2. World Diabetes Foundation: Diabetes Atlas 2nd Ed. 2003

  3. International Diabetes Foundation www.idf.org  
     


แหล่งที่มา : afic.org

อัพเดทล่าสุด