โรคแทรกซ้อนของเบาหวาน เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน อาการโรคเบาหวาน (เมื่อน้ำตาลเป็นพิษ)
โรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน
โรคแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน ได้แก่ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอย่างมาก ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และโรคแทรกซ้อนเรื้อรังต่างๆ
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอย่างมาก (ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 500 มิลลิกรัม ต่อเดซิลิต) มักเกิดกับผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมาก และควบคุมน้ำตาลไม่ดี โดยเฉพาะในคนไข้ที่ต้องใช้อินซูลินแล้วขาดยา อาจเกิดในคนที่ไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าเป็นเบาหวานก็ได้ จะมีอาการอ่อนเพลีย กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะมาก คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หายใจหอบ ซึม เลอะเลือน และหมดสติในที่สุด ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนในโรงพยาบาล มิฉะนั้นอาจเสียชีวิตได้
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ พบได้บ่อยและอาจรุนแรงจนเสียชีวิต เกิดกับผู้ป่วยที่รักษาด้วยยากิน หรือ ยาฉีดสาเหตุจากการใช้ยามากเกินไป หรือใช้ยาเท่าเดิมแต่อดอาหาร หรือออกกำลังกายมากเกินไป จะมีอาการ หิว หงุดหงิด ปวดศีรษะ ตาลาย ใจสั่น มือสั่น เหงื่อแตก ชาตามปาก อ่อนเพลีย หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ตัวเย็น สับสน (ไม่จำเป็นต้องมีอาการครบหมดทุกอย่าง) ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอาจเป็นลมหมดสติหรือชักได้ ถ้าเป็นตอนกลางคืนขณะหลับจะฝันร้าย และปวดศีรษะในตอนเช้า อาการน้ำตาลต่ำนี้ อาจเป็นอยู่นานหลายวัน ขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ใช้
วิธีรักษา เมื่อเริ่มมีอาการ ให้ดื่มน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ 1/2 แก้ว หรือกินน้ำตาล อมลูกกวาด จากนั้นให้ปรึกษาแพทย์ที่รักษา เพราะอาจต้องปรับยาที่ใช้อยู่ประจำ ถ้าผู้ป่วยหมดสติให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที ป้องกันได้โดยการกินอาหารให้เป็นเวลา กินอาหารเพิ่มก่อนการออกกำลังกายที่หนักๆ หรือนานๆ กินของว่างหรือดื่มนมรองท้องไปก่อน ถ้าต้องเลื่อนเวลาอาหารออกไป
โรคแทรกซ้อนเรื้อรัง
พบในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานหลายปี และควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี น้ำตาลที่สูงอยู่นานๆ นี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่อวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะระบบหลอดเลือด การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป เหมือนเป็นอันตรายแอบแฝง กว่าจะรู้ตัวเมื่อเกิดอาการก็สายเกินไป ยากจะรักษาให้กลับคืนเป็นปกติได้ โรคแทรกซ้อนเหล่านี้ ทำให้ผู้ป่วยต้องการพิการ หรือเสียชีวิต สิ้นเปลืองทั้งเวลา และค่ารักษาพยาบาลเป็นอันมาก
ผู้ป่วยเบาหวานทุกคน ควรได้ตระหนักถึงอันตรายแอบแฝงต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ การดูแลตนเองที่ดี และการปฏิบัติตัวถูกต้องเท่านั้น ที่จะช่วยป้องกันอันตรายเหล่านี้ได้
ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
1. ควบคุมอาหารสม่ำเสมอ
2. ออกกำลังกาย ตามความเหมาะสมกับสภาวะร่างกาย
3. ใช้ยาสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ
4. ศึกษาหาความรู้ เกี่ยวกับโรคเบาหวาน และวิธีปฏิบัติตัว
5. พบแพทย์สม่ำเสมอตามนัด เพื่อวัดผลการควบคุมน้ำตาล และตรวจหาโรคแทรกซ้อน
6. ตรวจน้ำตาลในเลือด หรือในปัสสาวะบ่อยๆ โดยเฉพาะในรายที่ควบคุมน้ำตาลไม่ดี
7. พกน้ำตาล ทอฟฟี่ หรือลูกกวาดติดตัวเสมอ และใช้ทันทีเมื่อมีอาการน่าสงสัยว่าน้ำตาลต่ำ
8. หมั่นตรวจเท้าทุกวัน ห้ามสวมรองเท้าคับ
9. ปรึกษาแพทย์เมื่อ มีอาการเจ็บไข้ มีอาการน้ำตาลต่ำ มีน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น มีบาดแผล หรือแผลที่เท้า และเมื่อตั้งครร
แหล่งที่มา : vcharkarn.com