ข้อความ ภาษาอังกฤษ ผิดหวัง ประโยคภาษาอังกฤษ ผิดหวัง


1,078 ผู้ชม


ข้อความ ภาษาอังกฤษ ผิดหวัง ประโยคภาษาอังกฤษ ผิดหวัง 
ภาษาเป็นวิชาที่ครูสอนด้วยวิธี บอก ไม่ได้เลย

“ภาษาเป็นวิชาที่ครูสอนด้วยวิธี ‘บอก’ ไม่ได้เลย การสอนมีแต่จะแนะให้เรียนเท่านั้น ที่จริงทุกวิชาก็เป็นเช่นนี้
แต่สำหรับภาษานั้นวิธีการสอนที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติจะแสดงผลเสียให้ปรากฏง่ายกว่าวิชาอื่น
เพราะการใช้ภาษานั้นมีความสำคัญยิ่งแก่ชีวิต 
เมื่อการใช้ภาษาขาดประสิทธิภาพ การดำเนินชีวิตย่อมขาดประสิทธิภาพไปด้วยเกือบทุกด้าน”
ศ.มล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ
จากหนังสือ คู่มือสอนแปล 
เขียนโดย วรนาถ วิมลเฉลา หน้า 27
ช่วงก่อนหน้านี้ไม่นาน เกม ‘กำจัดจุดอ่อน’ กำลังดัง ผมเลยลองคิดเล่น ๆ ว่า พวกเราคนไทยมีจุดอ่อนอะไรบ้างหรือเปล่าที่เป็นตัวขัดขวางการเรียนรู้ โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นึกไปนึกมา เลยมีประเด็นออกมาเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นนิสัยของคนไทยเราที่ไม่ค่อยชอบจดบันทึก ไม่ค่อยกล้าท้าทายความเชื่อที่มีอยู่เดิม (กลัวถูกหาว่าเป็นศิษย์คิดล้างครู) ถ่ายทอดความรู้ไม่ค่อยเป็น หรือเป็นแต่ไม่อยากถ่ายทอด (กลัวโดนวัดรอยเท้า) และสาเหตุอื่นอีกมากมาย ฯลฯ
แต่ที่ไล่เรียงมานี่ เป็นความเห็นที่เกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมนะครับ คุณผู้อ่านอาจจะเห็นเหมือนบ้างหรือแตกต่างไปคนละขั้วก็เป็นได้ แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่น่าจะเห็นตรงกันพอสมควรก็คือ เรื่องกำแพงภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ก็เพราะบ้านเราไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใครนี่นา มักจะอ้างกันอย่างนั้น (เอ๊ะ แล้ว ‘พม่า’ หายไปไหน?)
ผมต้องรีบออกตัวไว้ก่อนว่า ตัวเองก็เคยมี (และยังมี) ปัญหาเกี่ยวกับภาษาอังกฤษนี้อยู่เหมือนกัน เดี๋ยวจะโดนถามว่า เป็นนักวิทยาศาสตร์แต่ดันมาเขียนเรื่องเกี่ยวกับภาษาให้คนอื่นอ่านได้อย่างไร? ก็เพราะเคยมีและยังมีเรื่องที่ต้องแก้ไขและเรียนรู้อีกเยอะนี่ล่ะครับ เลยทำให้มีแรงจูงใจมาเขียนเรื่องนี้
ความชำนาญในภาษาอังกฤษนี้สำคัญ เพราะเป็นประตูสู่พรมแดนความรู้ที่กว้างขวางมากเกินประมาณ (เอาแค่ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตนี่ก็เหมือนห้องสมุดขนาดยักษ์แล้ว) แถมยังทำให้เราสามารถตรวจสอบข้อความและข้อมูลที่คนอื่นถ่ายทอดมาก่อนได้อีกต่างหาก
ผมไม่ได้บอกว่าเรื่องนี้สำคัญกว่าเรื่องอื่นนะครับ แต่ถ้าทักษะด้านอื่น ๆ ดี แต่ติดตรงภาษา ก็อาจจะทำให้เสียโอกาสทองในชีวิตไปได้เหมือนกัน ตอนอยู่มัธยมปลาย ผมเคยสอบผ่านข้อเขียนของทุนญี่ปุ่น เป็นทุนวิศวกรรมไฟฟ้า แต่พอไปสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ ก็ตอบไม่ค่อยได้เพราะพื้นฐานไม่ดี เลยทำให้ติดแค่ตัวสำรอง และสุดท้ายก็ตัดสินใจไม่เดินหน้าต่อ แต่หลังจากนั้นไม่นานก็พบว่า พี่ยุ่นเขาเอาหมดทั้งตัวจริงและตัวสำรอง 
ผมมาฟิตภาษาอีกทีก็ตอนอยู่ปี 1 เข้าไปแล้ว ก็เลยได้อานิสงส์ทำให้ไม่มีปัญหามากนักตอนสอบ TOEFL เพื่อไปเรียนต่อ โดยฟลุกได้คะแนนถึง 620 มาวิเคราะห์ดูคงเป็นเพราะเตรียมตัวค่อนข้างพร้อม ก่อนสอบถึงขนาดฝันเป็นภาษาอังกฤษได้ด้วย (แต่ตอนนี้กลับมาฝันเป็นภาษาไทยแล้วครับ) แต่แม้ว่าจะทำข้อสอบได้ดีแค่ไหนก็ตาม ถ้าไม่ได้ใช้ไปสักพักก็สนิมขึ้นได้ ไม่คล่องเหมือนเดิมเช่นกัน ไม่ต้องอื่นไกล ภาษาไทยของเรานี่แหละ ถ้าไม่ได้เตรียมตัวไปให้ดี บางทีตอนนำเสนอก็อาจจะติด ๆ ขัด ๆ ได้เช่นกัน
ความผิดพลาดเรื่องภาษาอังกฤษบางอย่างเราก็เห็นกันอยู่ตำตาทุกวัน อย่างแท๊กซี่มิเตอร์ นั้น บนหลังคาจะเขียนว่า TAXI-METER ซึ่งน่าจะถอดคำมาจากภาษาไทยดุ่ย ๆ แต่ถ้าจะให้ถูกต้อง และถูกใจเจ้าของภาษา ต้องเปลี่ยนใหม่เป็น Metered Taxi ครับ เรื่องนี้ อาจารย์ Geoffrey Blyth ผู้จัดการทั่วไปของสถาบันสอนภาษา ECC (Thailand) อันโด่งดังได้ทักท้วงเอาไว้
อย่าเรียกว่าจับผิดเลยนะครับ เราควรถือว่า ‘ผิดเป็นครู’ จะได้เรียนรู้และแก้ไขให้ถูกต้องจะดีกว่า
ประสบการณ์ ‘ปล่อยไก่’ (ของผมเอง)
อยากจะเล่าประสบการณ์ของตัวเองสักหน่อยว่า เคยปล่อยไก่ไทยออกไปเพ่นพ่านยังไงตอนคุยกับฝรั่ง อย่างในภาษาไทยเวลาเราจะบอกใครให้สะกดคำ เราจะบอกว่า “ก ไก่” “ข ไข่” เป็นมาตรฐานไทย ๆ ใช่ไหมครับ หรือ ถ้าอย่าง 3ส คือ “ศ ษ ส” นั้น อย่าง 2 ตัวแรก แทนที่จะเรียก “ศ ศาลา” และ “ษ ฤาษี” ก็อาจใช้ภาษาพูดว่า “ศ คอ” และ “ษ บอ” ได้ ไม่มีใครว่า
ภาษาอังกฤษล่ะ จะบอกให้คนอื่นสะกดอย่างไร อย่างชื่อผมนั้นสะกดว่า Buncha พอถึงตัว ‘c’ ซึ่งอเมริกันไม่แน่ใจว่าเป็นตัว ‘c’ (ออกเสียงว่า ‘ซี’ เหมือนอังกฤษ) หรือ ‘z’ (ออกเสียงว่า ‘ซี’ + สั่นในลำคอ ต่างจากอังกฤษซึ่งออกเสียงเป็น ‘แซด’ + สั่นในลำคอ) ก็เลยยุ่ง เพราะผมดันไปบอกว่า
“C for CAT.”
เท่านั้นแหละ พี่มะกันเลยปล่อยก๊ากออกมา เพราะในภาษาของเขาต้องพูดว่า
“C for Charlie” (“ซี ฟอร์ ชาร์ลี” ตามมาตรฐานสากล) 
หรือ “C for Charles” (“ซี ฟอร์ ชาร์ล ตามภาษาพูดของคนอังกฤษและอเมริกัน) ลองดูตารางที่ให้ไว้สิครับ 

คำมาตรฐานสำหรับใช้ในการบอกการสะกด
คำมาตรฐานสำหรับใช้ในการบอกการสะกดภาษาอังกฤษตามตัวอักษร
ที่มา : www.digisys.net/users/jganiere/smsarotherinfo.html 
มาตรฐานสากล
(International Standard) มาตรฐานอเมริกัน
(American Standard)
A Alpha N November A Adam N Nora
B Bravo O Oscar B Boy O Ocean
C Charlie P Papa C Charles P Paul
D Delta Q Quebec D David Q Queen
E Echo R Romeo E Edward R Robert
F Foxtrot S Siera F Frank S Sam
G Golf T Tango G George T Tom
H Hotel U Uniform H Henry U Union
I India V Victor I Ida V Victor
J Juliette W Whisky J John W William
K Kilo X X-ray K King X X-ray
L Lima Y Yankee L Lincoln Y Young
M Mike Z Zulu M Mary Z Zebra
เลยมานึกได้ว่า ที่เราสอนเด็กของเราแบบไทย ๆ ให้เรียก A-Ant, B-Bat, C-Cat ฯลฯ อะไรนี่ คงจะต้องปรับแก้กันสักหน่อยหรือเปล่า? 
ผมเลยลองไปสอบถามความเห็นของเจ้าของภาษาท่านหนึ่งคือ Dr.John T.H. Pearce (ดร.จอห์น ที เอช เพียซ) ว่า ที่คนไทยสอน A-Ant, B-Bat, C-Cat ฯลฯ เขาคิดว่าอย่างไร? Dr.Pearce เลยช่วยไขข้อข้องใจว่า ที่บอกมานั้นจริง ๆ แล้วก็ใช้ได้ในการเริ่มเรียนรู้ภาษาอังกฤษ แต่ถ้าจะบอกให้สะกดแบบมาตรฐานสากล ก็ต้องพูดอย่างที่ยกตัวอย่างไปแล้ว หรือ ถ้าจะพูดให้สั้นเข้าก็ละคำว่า for ได้ไม่เป็นไร กลายเป็น 
“C Charlie” (“ซี ชาร์ลี”) หรือ “C Charles” (“ซี ชาร์ลส์”) 
ก็ได้เหมือนกัน
เรื่องคำมาตรฐานนี่ Dr.Pearce เล่าเป็นเกร็ดความรู้ให้ฟังว่า มีกำเนิดในราว ๆ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีการใช้อากาศยานกันมาก ทีนี้การติดต่อระหว่างนักบินกับศูนย์ควบคุมการบินก็ต้องอาศัยวิทยุ แต่วิทยุนี่ชอบมีเสียงซู่ ๆ ซ่า ๆ แทรกเข้ามาทำให้ฟังไม่ชัด ก็เลยทำให้มีการคิด “คำมาตรฐาน” ขึ้นมาใช้บอกการสะกดเพื่อให้เข้าใจตรงกันและไม่ผิดพลาด
อย่างแทนที่จะพูดว่า “ABT” ก็จะพูดคำมาตรฐานออกไปเลยเป็น “Alpha Bravo Tango” เป็นต้น เรื่องนี้ใครชอบดูหนังฝรั่งอาจจะเคยได้ยินมาบ้างแล้ว
Dr.Pearce บอกว่า ถ้าเป็นองค์กรทางการทหารหรือตำรวจของสหราชอาณาจักร (UK military or police) รวมทั้งพนักงานควบคุมการจราจร (traffic controller) ก็จะใช้การบอกคำตามแบบ “มาตรฐานสากล (International Standard)” อย่างที่ว่ามานี่
แต่ถ้าเป็นภาษาพูด ไม่ว่าจะเป็นคนอังกฤษหรืออเมริกัน ก็มักจะเปลี่ยนคำหลายคำไปเป็นชื่อคน เช่น จาก “D-Delta” ไปเป็น “D-David” หรือ จาก “G-Golf” ไปเป็น “G-George” เป็นต้น สังเกตจากตาราง “มาตรฐานอเมริกัน (American Standard)” ได้ครับ
ทีนี้หลายท่านอาจจะเคยได้ยินกันมาเหมือนกันว่า บางทีก็มีคนพูดว่า “S for Sugar” (เอส ฟอร์ ชูการ์) หรือ “H for Hong Kong” (เอช ฟอร์ ฮองคอง) ซึ่งไม่เห็นเหมือนคำในตาราง เรื่องนี้ Dr.Pearce บอกว่า เกิดจากการเลือกคำที่ใช้กันบ่อย ๆ และรู้จักกันดี แต่ไม่ใช่คำมาตรฐานที่กำหนดไว้แต่เดิม แต่ในกรณีทั่วไปก็ใช้ได้ ถ้าพูดแล้วเข้าใจตรงกัน
 
ตัวอย่าง จุดอ่อนภาษา แบบไทย ๆ
ข้อผิดพลาดทางด้านภาษาอังกฤษ (และภาษาต่างประเทศอื่นๆ) ที่คนไทยผิดพลาดมากที่สุดนั้น แต่ละคนอาจให้ข้อสังเกตเหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง อย่างบางคนบอกว่า คนไทยชอบผิดเรื่อง Tense บางคนก็ว่า ผิดเรื่อง Active/Passive Voice บ้างก็ว่า ผิดเรื่องการออกเสียงไม่ชัด ไม่มีแอ๊กเซ่นต์ ต่างหาก ก็ว่ากันไป ฯลฯ
ที่ว่ามานั้น มีส่วนจริงทั้งนั้นครับ ผมเลยขอยกตัวอย่างที่เด่น ๆ และน่าสนุก มาเน้นให้เห็นกันจะจะสักหน่อย คงต้องขอขอบคุณคุณครูทั้งหลายที่ได้ชี้แนะและบันทึกเอาไว้ครับ
หนังสือของคุณแอนดรูว์ บิกส์ เล่มนี้สนุกดีครับ และน่าจะตรงกับ “จริต” ของคนไทยดี เพราะเขียนขึ้นจากประสบการณ์ที่คุณแอนดรูว์ ได้คลุกคลีกับคนไทยมาร่วม 10 ปี จึงได้จัดอันดับข้อผิดพลาดที่คนไทยใช้ผิดบ่อยที่สุดเรียงไว้ถึง 40 ข้อ หนังสือ “คู่มือสอนแปล” ของอาจารย์วรนาถ วิมลเฉลา เล่มนี้นับเป็นหนึ่งใน “หนังสือในดวงใจ” ของผมเลยทีเดียว เพราะแม้ว่าชื่อจะดูเป็นตำราวิชาการและฟังเผิน ๆ ดูเหมือนไม่น่าจะเกี่ยวกับนักเรียนทั่ว ๆ ไปนัก แต่หนังสือเล่มนี้อ่านสนุกมาก และเขียนจากประสบการณ์ของอาจารย์วรนาถที่ได้แก้ข้อผิดพลาดต่าง ๆ ให้กับนิสิตนักศึกษาไทย
ตัวอย่างจากคุณแอนดรูว์ บิกส์
คุนแอนดรูว์ บิกส์ ฝรั่งรักเมืองไทย ได้จัดอันดับข้อผิดพลาดทางภาษาอังกฤษของคนไทยที่พบบ่อย ๆ ไว้ 40 อันดับ อย่างอันดับที่ 38 นี่ ถูกใจผมเหลือเกิน เพราะได้ยินบ่อยมากกกก .....
ข้อผิดพลาดอันดับที่ 38 : “ดั๊น in กับละครเรื่องนี้เหลือเกิน”
คุณแอนดรูว์บอกว่า ไม่ถูกต้องตามที่เจ้าของภาษาเขาใช้ครับ เพราะถ้าจะบอกว่า รู้สึกหรือเข้าถึงอย่างลึกซึ้ง ก็ต้องใช้ into ไม่ใช่ in ดังนั้น ประโยคนี้ถ้าจะพูดเป็นภาษาอังกฤษก็ต้องบอกว่า
“I’m really into that soapie.”
เรื่องนี้ผมว่า คนไทยคิดคำขึ้นมาใช้เองเยอะเลยครับ และผมสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะพวกเราชอบพูดย่อ ๆ เช่น “หนังเรื่องนี้หนุกดี” (สนุกดี) หรือ “ไปมหา’ลัย” (มหาวิทยาลัย) ทีนี้พอย่อภาษาไทยได้ก็เลยขยายวงไปย่อภาษาอื่นอีก เช่น เดิ้น (มาจาก modern) ซิ่ง (มาจาก racing) และ ครีเอท (มาจาก creative) เป็นอาทิ
อย่างคำว่า “เว่อร์” นั้น (อันดับทื่ 19) คุณแอนดรูว์ เจ้าของภาษาก็ยอมจำนนและบอกว่า กลายเป็นคำไทยไปเต็มตัวแล้ว แต่ถ้าจะใช้ให้ถูกต้องจริง ๆ ก็ต้องพูดว่า over the top เช่น
“That soap opera is over the top. Who would believe it to be true?”
ละครเรื่องนี้เว่อร์จริง ๆ ใครจะเชื่อล่ะว่ามันจริง
ส่วนความผิดอันดับ 1 ที่คุณแอนดรูว์ย้ำนักย้ำหนาว่าต้องแก้ให้ได้ คือ คำที่คนไทยชอบใช้เรียกฝรั่ง หรือแม้แต่เรียกกันเองเล่น ๆ บางครั้งว่า “Hey you!” ซึ่งผมเข้าใจเอาเองว่า เราคงจะพยายามแปลตรง ๆ จากคำว่า “นี่! คุณ” แต่คำ ๆ นี้คุณแอนดรูว์แปลให้อย่างไพเราะที่สุดเท่าที่จะทำได้ว่า 
“Hey you!” = “ไอ้มึง!”
เพราะฉะนั้น ถ้าใครอยากโดนฝรั่งต่อยหรืออยากให้เขาโกรธ ก็ให้ใช้คำนี้ได้เลย
ส่วนคำที่ถูกต้อง คุณแอนดรูว์เสนอไว้ 3 ตัวเลือก ได้แก่ “Excuse me?”, “Sir?” หรือ “Madam?” หรือไม่ถ้าเราพูดอยู่ในบ้านเราเองก็พูดไปเลยว่า “ขอโทษครับ” หรือ “คุณครับ” จะสุภาพกว่ากันมาก
คิดเป็นไทย แต่ดันไปแปลเป็นฝรั่ง
ผมคิดว่าปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่งเกิดจากการ “คิด และ แปล” ออกไปตรง ๆ จากภาษาไทยของเรา ไม่ว่าจะเป็นคำโดด ๆ หรือประโยคทั้งประโยคก็ตาม อย่าง “Hey you!” ที่คุณแอนดรูว์ทักบ่อย ๆ นี่ก็น่าจะเข้าข่ายนี้เหมือนกัน ส่วนตัวอย่างสนุกๆ อื่น ๆ ลองมาดูกันอีกหน่อยครับ
อาจารย์วรนาถ วิมลเฉลา เป็นหนึ่งในครูสอนภาษาอังกฤษชั้นยอด และมีประสบการณ์สูงในการชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดของคนไทย พร้อมบอกวิธีแก้ไขไว้อย่างชัดเจน ท่านได้ยกตัวอย่างให้ศึกษาไว้มากมาย ซึ่งผมขอคัดมาให้ดูนิดหน่อย ดังนี้
ภาษาไทย : “ฮ่ง ฮ่ง” เจ้าสุนัขน้อยเริ่มเห่าบุรุษไปรษณีย์
ภาษาอังกฤษ (แปลผิด) : “Hong, hong,” The little dog began to bark at the postman.
ภาษาอังกฤษ (แปลถูก) : “Bow wow!” The little dog began to bark at the postman.
คำเลียนเสียง (onomatopaeia) ในภาษาอังกฤษนั้นส่วนใหญ่จะต่างจากภาษาไทย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
เสียง ไทย อังกฤษ
เป็ด ก้าบ ก้าบ quack quack!
หมู อู๊ด อู๊ด oink oink!
ฟ้าร้อง ครืน ครืน Boom boom!
แต่สัตว์ที่ร้องเหมือนหรือคล้าย ๆ กันก็มีนะครับ อย่างแมวฝรั่งร้อง “Meow meow!” แมวไทยก็ร้อง “เหมียว เหมียว” อย่างที่กลอนบอกว่า “ร้องเรียกเหมียวเหมียว เดี๋ยวก็มา เคล้าแข้งเคล้าขา น่ารำคาญ เอ้ย! น่าเอ็นดู” 
แต่ถ้าไปถามพี่ยุ่น เขาจะบอกว่า แมวญี่ปุ่นร้อง “เนี้ยว เนี้ยว” ครับ!
จริง ๆ แล้ว ผมแกล้งเขียนไปว่าเป็นแมวไทย แมวฝรั่ง หรือแมวญี่ปุ่น เพราะแมวที่ไหน ๆ ในโลกก็น่าจะร้องคล้ายกัน แต่สาเหตุที่เป็นอย่างนี้น่าจะเป็นเพราะ “สำเนียง” ของแต่ละภาษามากกว่าที่ทำให้เสียงออกมาเหมือนกันหรือ (มักจะ) ต่างกัน
อย่างเรื่องเสียงของหมูนั้น ผมเคยคุยกันเพื่อนชาวจีนไต้หวัน แล้วเล่าให้เขาฟังว่า หมูไทยร้อง “อู๊ด อู๊ด” เชื่อไหมครับว่า เขาหัวเราะก๊ากจนแทบตกเก้าอี้ พอผมถามเขาว่า แล้ว ‘หมูจีน’ ร้องยังไง เขาบอกว่าหมู (จีน) ร้องว่า ‘อ๋อย อ๋อย’ ต่างหาก! แต่เว็บไซต์เกี่ยวกับเสียงของสัตว์แห่งหนึ่งบอกว่า หมูจีน (แมนดาริน) ร้องว่า hu-lu hu-lu ผมเลยชักจะไม่ค่อยแน่ใจตัวเองว่า ที่ได้ฟังและจำมานั้น หูเพี้ยนไปหรือเปล่า? ใครมีเพื่อนคนจีนช่วยลองให้เขาร้องให้ฟังหน่อย ... แต่ต้องสนิทกันหน่อยนะ (ใครสนใจว่า หมูอาฟริกัน หมูเวียดนาม หมูรัสเซีย ฯลฯ ร้องยังไง ลองไปดูที่เว็บไซต์ที่ให้ไว้ได้ครับ)
Pig_Sound.jpg
หมูร้องยังไงกันแน่?
แต่ไม่ว่าจะ “อู๊ด อู๊ด” “อ๋อย อ๋อย” หรือ “oink oink!” นี่ ผมยังพอรับได้สบาย ๆ เพราะฟังแล้วไม่หนีกันมากนัก ที่ยังข้องใจก็คือ ไก่ฝรั่งเขาขันว่า “cock-a-doodle-doo” นี่ล่ะครับ ฟังเท่าไรก็ไม่เห็นจะเหมือนสักที
วรรคตอน ... สอนมวย
แม้แต่เรื่องวรรคตอนนี่ก็สำคัญไม่ใช่เล่นนะครับ ในภาษาอังกฤษเครื่องหมายวรรคตอนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น คอมม่า (comma) เซมิโคลอน (semicolon) ฯลฯ ถ้าไม่ได้ใส่ หรือใส่ไว้ผิดที่ก็อาจจะทำให้ความหมายผิดไปได้เป็นคนละเรื่องเดียวกันทีเดียว ลองดูประโยคนี้สักหน่อยว่าผิดตรงไหน
Panda : Black and white bear from China that eats, shoots and leaves.
ประโยคข้างบนนี้แปลว่าอย่างนี้ครับ
แพนด้า : หมีตัวดำและขาวจากประเทศจีนซึ่งกิน ยิง และจากไป
แต่ถ้าเราเอาเครื่องหมายคอมม่าออก ก็จะได้ความหมายตามความเป็นจริงอย่างนี้
Panda : Black and white bear from China that eats shoots and leaves.
แพนด้า : หมีตัวดำและขาวจากประเทศจีนซึ่งกินหน่อไม้และใบไม้
เจ้าหมีแพนด้าตามนิยามแรกนั่นคงเป็นหมีเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ถึงได้ดุอย่างนั้น ส่วหมีตามนิยามหลังนี่ต่างหากเป็นตัวที่มาจากเมืองจีนจริง ๆ! 


แหล่งที่มา : vcharkarn.com


อัพเดทล่าสุด