โครงกระดูกมนุษย์โบราณ โครงกระดูกโบราณ ระบบโครงกระดูกของมนุษย์
การวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์และประเพณีการฝังศพ
วิทยานิพนธ์เรื่อง การวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์และประเพณีการฝังศพ
ที่แหล่งโบราณคดีปราสาทพนมวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
โดย นางสาวนวรัตน์ แก่อินทร์
สาขาวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์
ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2542
ผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์ ศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ภู่ขจร
ประพิศ พงษ์มาศ
ดร.สุภาพร นาคบัลลังค์
บทคัดย่อ งานวิจัยชิ้นนี้เน้นการวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์และประเพณีการฝังศพที่ปราสาทพนมวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเรื่องราวของชุมชนโบราณก่อนการสร้างปราสาทพนมวัน ในช่วงเวลา 2 สมัย คือ สมัยที่ 1 ประมาณก่อน 370 ปีก่อนคริสตกาล ถึง 1,400 ปีก่อนคริสตกาล จากกาdกำหนดอายุแบบสัมบูรณ์ด้วยวิธี Accelerator Mass Spectrometry การศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ในครั้งนี้แบ่งออกเป็นสองแนวทาง คือ ศึกษาด้านมานุษยวิทยากายภาพ โดยการสังเกตและอธิบายลักษณะทางกายภาพด้วยตาเปล่า ร่วมกับแนวทางการศึกษาด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรม เพื่อศึกษาเรื่องประเพณีการฝังศพภายในแหล่ง รวมทั้งการศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งโบราณคดีในบริเวณใกล้เคียง จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีซึ่งอยู่บริเวณระหว่างปราสาทประธานและปรางค์น้อยในปี พ.ศ. 2540 และบริเวณโคปุระตะวันออกในปี พ.ศ. 2535 พบว่ากลุ่มโครงกระดูกที่ศึกษา 7 โครง เป็นผู้ใหญ่มีทั้งเพศชายและเพศหญิงอายุเมื่อตายอยู่ในระหว่าง 30-40 ปี และมีความสูงเฉลี่ยประมาณ 162-171 เซนติเมตร จากโครงกระดูกทั้งหมดสามารถศึกษากะโหลกศีรษะได้เพียง 2 กะโหลก ปรากฏลักษณะมองโกลอยด์ และมีลักษณะที่ไม่แตกต่างไปจากคนไทยปัจจุบัน อีกทั้งผลการวิเคราะห์พยาธิสภาพที่ปรากฏในกลุ่มโครงกระดูก พบว่ามีโรคฟันผุ โรคปริทันต์หรือโรคเยื้อหุ้มฟันอักเสบ และพบการเสื่อมของกระดูก นอกจากนี้ได้ศึกษาเปรียบเทียบประเพณีการฝังศพในบริเวณ 3 บริเวณ คือ บริเวณระหว่างปราสาทประธานและปรางค์น้อย ปี พ.ศ. 2540 บริเวณโคปุระตะวันออกปี พ.ศ. 2535 และการขุดค้นภายในโคปุระตะวันตกปี พ.ศ. 2536 ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบพิธีกรรมและความเชื่อในเรื่องความตายของชุมชนในแหล่งโบราณคดีปราสาทพนมวันทั้งสมัยที่ 1 และสมัยที่ 2 มีความคล้ายคลึงกัน ภาพรวมของรูปแบบพิธีกรรมทั้งสองสมัยมีการจัดวางศพ 3 ลักษณะ คือ นอนหงายเหยียดยาว ฝังศพครั้งที่ 2 และบรรจุศพเด็กในภาชนะดินเผา มีการมัดและห่อศพก่อนการฝัง ตลอดจนมีการอุทิศสิ่งของเครื่องใช้และเครื่องประดับให้ผู้ตายนอกจากนั้นยังมีการทุบภาชนะดินเผาปูรองศพหรือวางร่วมกับศพ แต่ไม่สามารถกำหนดทิศทางการหันศีรษะแน่นอนได้ ดังนั้นเมื่อสรุปผลการวิเคราะห์โครงกระดูกประกอบกับผลการศึกษาประเพณีการฝังศพ พบว่าทั้งสองสมัยมีการอาศัยต่อเนื่องกันมา ผลจากการศึกษาลักษณะทางกายภาพของโครงกระดูกมีความคล้ายกันซึ่งสัมพันธ์กับผลการศึกษาประเพณีการฝังศพที่มีรูปแบบพิธีกรรมและความเชื่อในเรื่องความตายที่คล้ายคลึงกัน ทั้งภายในแหล่งโบราณคดีเดียวกันและแหล่งโบราณคดีบริเวณใกล้เคียง อนึ่งผลจากการวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์และประเพณีการฝังศพที่ปราสาทพนมวัน สามารถใช้เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมากในการศึกษาแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ที่มีการอยู่อาศัยในลักษณะเดียวกันกับแหล่งโบราณคดีปราสาทพนมวัน |
แหล่งที่มา : vcharkarn.com