คำขวัญโรคไข้เลือดออก บทความโรคไข้เลือดออก สปอตโรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก ยุงลาย รู้ทันภัยไข้เลือดออก คำขวัญไข้เลือดออก วิธิการป้องกันไข้เลือดออก วิธีรักษาโรคไข้เลือดออก
คำขวัญไข้เลือดออก
"ทุกวันศุกร์ กำจัดลูกน้ำยุงลาย ฆาตกรร้ายในบ้านคุณ" คำขวัญรณรงค์ของกระทรวงสาธารณสุข
ไข้เลือดออก เรียบเรียงโดย ผศ.สุภาพ ธีระประทีป คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โรคไข้เลือดออก เป็น โรคติดต่อ ที่เกิดจากเชื้อไวรัสแดงกี มียุงลายตัวเมีย เป็น พาหะนำโรค ส่วนใหญ่มักจะเป็นในเด็ก โรคนี้ระบาดในฤดูฝน
อาการของไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกมี อาการ สำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ ได้แก่
มีไข้สูงลอยแบบเฉียบพลัน 2 - 7 วัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส มักจะมีหน้าแดง ผิวหนังแดงบริเวณคอ หน้าอก และลำตัว บางคนอาจบ่นปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาเจียน ประมาณวันที่ 2 - 3 ของไข้ มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง ตามแขนขา รักแร้ และลำตัวบางรายมี เลือดกำเดา ออก อาเจียนเป็นเลือดสีน้ำตาล หรือถ่ายดำ ประมาณวันที่ 3 - 4 ของไข้ อาจมีอาการปวดท้อง กดเจ็บใต้ชายโครงขวาเนื่องจากตับโต และอาจมีภาวะช็อกได้ ผู้ป่วยจะมีอาการ ไข้ลดลง กระสับกระส่ายมือเท้าเย็น รอบปากเขียว ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ระยะช็อกนี้จะเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าให้การรักษาไม่ทันผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตภายใน 24 - 48 ชั่วโมง ถ้าได้รับการรักษาถูกต้อง ภายใน 24 - 48 ชั่วโมง อาการ ช็อก ก็จะเริ่มดีขึ้นเข้าสู่ระยะพักฟื้น เริ่มรับประทานอาหารได้มากขึ้น อาจจะมี ผื่นแดง ตามแขนขา และวงขาว ๆ ตรงกลางได้
การดูแลเมื่อสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก
ระยะที่มีไข้สูงให้เช็ดตัวลดไข้และให้ยาลดไข้ พวก พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาพวก แอสไพริน เพราะจะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น ให้ดื่มน้ำผลไม้หรือสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) ในรายที่อาเจียนควรให้ดื่มครั้งละน้อย ๆ และดื่มบ่อย ๆ พาไปพบแพทย์ตามนัดหรือเมื่อมีอาการผิดปกติต่อไปนี้ :- อาเจียนมากไม่สามารถดื่มน้ำได้ อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ปวดท้องมาก ไข้ลดลงแต่มีอาการซึม กระสับกระส่าย มือเท้าเย็นซึ่งเป็นอาการของช็อก
การป้องกันโรคไข้เลือดออก
การป้องกัน ที่ดีที่สุดก็คือ กำจัดหรือลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และพยายามหาทางป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัดธรรมชาติยุงลายชอบออกหากินในเวลากลางวันตามบ้านเรือน และโรงเรียน ชอบวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขัง เช่น ยางรถยนต์ กะลา กระป๋อง จานรองขาตู้กับข้าว แต่ไม่ชอบวางไข่ในท่อระบายน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง
การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
โอ่งน้ำ ควรใช้วิธีปิดฝาให้มิดชิด
ถังเก็บน้ำที่ไม่มีฝาปิด ควรใส่ทราย อะเบท 1 กรัมต่อ น้ำ 10 ลิตร
แจกัน ควรใช้วิธีเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน
ขวดเลี้ยงพลูด่าง ควรใช้วิธีเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน หรือปลูกด้วยดิน
จานรองขาตู้กับข้าว ควรใช้วิธีเติมน้ำเดือดลงไปทุก 7 วัน หรือใส่ชัน/ขี้เถ้า/เกลือแกง/น้ำส้มสายชู / ผงซักฟอก แทนการใส่ด้วยน้ำ
จานรองกระถางต้นไม้ ควรใช้วิธีเทน้ำที่ขังอยู่ทิ้งลงดินทุก 7 วัน หรือใส่ทรายธรรมดาให้ลึก 3 ใน 4 ส่วนของจาน
ยางรถยนต์เก่า ควรใช้วิธีปกปิด เจาะรูหรือดัดแปลงให้ขังน้ำไม่ได้
อ่างบัว ควรใช้วิธีใส่ปลากินลูกน้ำ เช่นปลาหางนกยูง ปลาสอด ปลาหัวตะกั่ว
ท่อระบายน้ำ ควรใช้วิธีระบายน้ำออก อย่าปล่อยให้ท่ออุดตัน
หลุมบ่อ แอ่งน้ำ ควรใช้วิธีกลบถมด้วยดินหรือทราย เนื่องจากต้องใส่ทรายกำจัดลูกน้ำเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ทรายกำจัดลูกน้ำมักจะจมลงในโคลนตม ทำให้ออกฤทธิ์กำจัดลูกน้ำไม่ได้นาน
ป้องกันตนเองจากยุงลายกัด
ควรกรุหน้าต่าง ประตู และช่องลม ด้วยมุ้งลวดตรวจตราซ่อมแซมฝาบ้าน ฝ้าเพดาน อย่าให้มีร่อง ช่องโหว่หรือรอยแตก เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายเข้ามาในบ้าน เข้า - ออกควรใช้ผ้าปัดประตูมุ้งลวดเพื่อไล่ยุงก่อน
เก็บของในบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ ขณะอยู่ในบ้านควรอยู่ในบริเวณที่มีลมพัดผ่านและมีแสงสว่างเพียงพอเพราะยุงลายชองไปหลบซ่อนตามมุมมืดของห้องและเครื่องเรือนต่าง ๆ ที่รก ๆ
เวลานอนหลับตอนกลางวัน ควรกางมุ้งหรือนอนในห้องที่มีมุ้งลวด เปิดพัดลมส่ายเบา ๆ ช่วยไล่ยุงเพราะยุงลายจะชอบกัดตอนกลางวัน หรือถ้าหากที่บ้านมียุงมากจริง ๆ ควรใส่กางเกงขายาว เสื้อมีแขน เพื่อให้เหลือพื้นที่เปล่าเปลือยและเสี่ยงต่อการถูกยุงกัดน้อยที่สุด
ใช้ยาพ่น/ทากันยุง ยากันยุงที่ปลอดภัยควรเป็นยาที่เป็นสารสกัดจากพืช เช่น ตะไคร้หอม ยูคาลิปตัส
เอกสารอ้างอิง
กลุ่มโรคไข้เลือดออก สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง.(2547)
แหล่งที่มา : srisurat.com