ข้อสอบอาเซียนศึกษาพร้อมเฉลย การ์ตูนอาเซียนศึกษา บอร์ดอาเซียนศึกษา
ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนและแนวทางการนำความรู้เรื่องอาเซียนสู่ห้องเรียน
ประวัติความเป็นมา
อาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations หรือ ASEAN) ก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพ (The Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 โดยสมาชิกผู้ก่อตั้งมี 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ซึ่งผู้แทนทั้ง 5 ประเทศ ประกอบด้วย นายอาดัม มาลิก (รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย) ตุน อับดุล ราชัก บิน ฮุสเซน (รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติมาเลเซีย) นายนาซิโซ รามอส (รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์) นายเอส ราชารัตนัม (รัฐมนตรีต่างประเทศสิงค์โปร์ และพันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ (รัฐมนตรีต่างประเทศไทย) ในเวลาต่อมาได้มีประเทศต่างๆ เข้าเป็นสมาชิกเพิ่มเติม ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม (เป็นสมาชิกเมื่อ 8 ม.ค. 2527) เวียดนาม (วันที่ 28 ก.ค. 2538) ลาว พม่า (วันที่ 23 ก.ค. 2540) และ กัมพูชา (วันที่ 30 เม.ย. 2542) ตามลำดับ จากการรับกัมพูชาเข้าเป็นสมาชิก ทำให้อาเซียนมีสมาชิกครบ 10 ประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
วัตถุประสงค์หลักของการก่อตั้งอาเซียน
เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี และการบริหาร ส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ สัญลักษณ์ของอาเซียน คือ รูปรวงข้าว สีเหลืองบนพื้นสีแดงล้อมรอบด้วยวงกลมสีขาวและสีน้ำเงิน รวงข้าว 10 ต้น หมายถึง ประเทศสมาชิก 10 ประเทศ สีเหลืองหมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญและการมีพลวัติ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ และสีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง
ความหมายของธงอาเซียนและสัญลักษณ์อาเซียน
ธงอาเซียนคือสิ่งที่แสดงถึงความมั่นคง สันติภาพ ความเป็นเอกภาพ และพลวัติของอาเซียน และเป็นที่มาของสี 4 สีที่ปรากฏอยู่บนธงซึ่งไม่มีเพียงแต่จะรวบรวมจากสีของธงประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด แต่สีน้ำเงิน ยังหมายถึง สันติภาพและเสถียรภาพ สีแดงคือความกล้าหาญและการมีพลวัติ สีขาวคือความบริสุทธิ์และสีเหลืองหมายถึงความเจริญรุ่งเรือง สิ่งที่ปรากฏอยู่กลางธงอาเซียนคือสัญลักษณ์ของอาเซียน ได้แก่ รวงข้าวสีเหลือง 10 ต้น เป็นตัวแทนของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศที่ร่วมก่อตั้งอาเซียนเคยวาดฝันไว้ว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศนี้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ขณะที่วงกลมที่อยู่รอบรวงข้าวนั้นแสดงถึงความเป็นเอกภาพ ความเป็นหนึ่งเดียวและความสมานฉันท์ของอาเซียน
ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community)
เมื่อเดือนตุลาคม 2546 ผู้นำอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน ที่เรียกว่าข้อตกลง บาหลี 2 เห็นชอบให้จัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) คือการให้อาเซียนรวมตัวเป็นประชาชนหรือประชาคมเดียวกัน ให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2563 แต่ต่อมาได้ตกลงร่นระยะเวลาจัดตั้งให้เสร็จภายในปี พ.ศ. 2558 (คศ. 2015)
ประชาคมอาเซียนประกอบด้วยเสาหลัก 3 เสา
1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community - ASC)
มุ่งให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีระบบการแก้ไขการขัดแย้งระหว่างกันด้วยดี มีเสรีภาพอย่างรอบด้าน มีกรอบความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงทั้งรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยและมั่นคง
2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC)
มุ่งให้เกิดความร่วมตัวกันทางเศรษฐกิจ และการอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน อันจะทำให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นได้ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศอาเซียน
3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio - Cultural Community - ASCC)
มุ่งให้ประชาชนแต่ละประเทศอาเซียนอยู่ร่วมกันภายใต้แนวคิดสังคมที่เอื้ออาทร มีสวัสดิการทางสังคมที่ดี และมีความมั่นคงทางสังคม
แนวทางการนำความรู้เรื่องอาเซียนสู่ห้องเรียน การจัดการเรียนรู้เรื่องอาเซียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
กลุ่มสาระภาษาไทย อาจกำหนดให้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับอาเซียนแล้วทำรายงานความรู้เกี่ยวกับอาเซียน การแต่งประโยคเกี่ยวกับอาเซียน นิทานอาเซียน การศึกษาวรรณกรรมอาเซียน (อาจเป็นชุดวรรณกรรมซีไรต์) การเขียนความคาดหวังเมื่ออาเซียนรวมเป็นหนึ่ง การทำโครงงานภาษาอาเซียน
กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ อาจเรียนรู้เกี่ยวกับจำนวนประชากรอาเซียนหรือการนำข้อมูงเชิงสถิติเพื่อนำมาทำแผนภูมิ กราฟ การเรียนรู้เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราอาเซียนเพื่อนำมาคิดคำนวณ รายได้ประชากร การนำแบบฝึกหัดของประเทศในอาเซียนมาลองฝึกทำ
กลุ่มสาระสังคมศึกษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เป็นกลุ่มสาระที่เปิดกว้างเกี่ยวกับเรื่องสังคมในอาเซียน จึงไม่ลงรายละเอียด เพราะมีการศึกษาเรื่องราวเพื่อนบ้านของเรา เรื่องอาเซียน เร่ืองประวัติชนชาติ ศาสนาประจำชาติ วิถีชีวิตอยู่แล้วภูมิอากาศ ภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจอาเซียน แผนที่ประเทศต่าง ๆ แต่อาจบูรณาร่วมกับกลุ่มสาระอื่น ๆ หรือจัดทำโครงงานร่วมกับกลุ่มสาระอื่น ๆ
กลุ่มสารภาษาต่างประเทศ สามารถเรียนรู้เรื่องประเทศอาเชียน การเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับอาเซียน ASEAN Little Guide การสืบค้นข้อมูลเรื่องอาเซียนที่เป็นภาษาอังกฤษ การเรียนเรื่องดอกไม้ประจำชาติอาเซียน เช่น
"The Dok Champa (Plumeria) is the national flower and official symbol of Lao PDR. The waxy flower with a sweet scent can be found in many colors: red, yellow, pink and multiple pastels. For the Lao people, Dok Champa represents sincerity and joy in life. The flower is often used as a decoration in ceremonies or made into a garland to welcoming guests. The Dok Champa blooms everyday and lasts a long time. The trees are planted throughout the country and in particular, can be seen near the monastic areas."
กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ เรื่องรู้เรื่องราวเกี่ยวกับแหล่งทรัพยากรในอาเซียน แหล่งพลังงานในอาเซียน รวมถึงนำความรู้ในหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์อาเซียนมาศึกษา ตำรายาพื้นบ้านอาเซียน
กลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับภูมิปัญญาพื้นบ้านอาเซียน อาชีพในอาเซียน เทโนโลยีพื้นบ้านอาเซียน การเกษตรในอาเซียน
กลุ่มสาระศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ เป็นอีกกลุ่มสาระที่จัดการเรียนรู้เรื่องอาเซียนค่อนข้างง่าย เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับศิลปะ การแสดง การแต่งกาย ดนตรีและการขับร้อง ซึ่งสามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ต่าง ๆ ทั้ง Google, Youtube ฯลฯ อีกทั้งเรื่องดนตรีและการแสดงของประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนก็มีสอดแทรกอยู่ในการแสดงนาฏศิลป์ไทยสมัยใหม่อยู่แล้ว
กลุ่มสาระสุขศึกษาและพลศึกษา กีฬาและนันทนาการของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน เช่น กีฬาปันจสีลัต อานีส มวยลาย เกมพื้นบ้านอาเซียน
ชาติสมาชิกอาเซียน (ASEAN)
ประเทศ บรูไน ดารุสซาลาม
ชื่อทางการ เนการา บรูไน ดารุสซาลาม (Negara Brunei Darussalam แปลว่า ดินแดนแห่งความสงบสุข) พื้นที่ 5,765 ตารางกิโลเมตร เมืองหลวง บันดาร์ เสรี เบกาวัน (Bandar Seri Begawan) ประชากร 370,00 คน ภูมิอากาศ อากาศโดยทั่วไปค่อนข้างร้อนชื้น มีปริมาณฝนตกค่อนข้างมาก อุณหภูมิเฉลี่ย 28 องศาเซลเซียส ภาษามาเลย์ (Malay หรือ Bahasa Melayu) เป็นภาษาราชการ รองลงมาเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีน ศาสนาประจำชาติ คือ ศาสนาอิสลาม (67%) ศาสนาอื่น ๆ ได้แก่ ศาสนาพุทธ (13%) ศาสนาคริสต์ (10%) และฮินดู สกุลเงิน : ดอลลาร์บรูไน (Brunei Dollar : BND) ระบอบการปกครอง สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดอกไม้ประจำชาติ ดอกดิลเลเนีย Dillenia หรือ Simpor
ประเทศกัมพูชา
ชื่อทางการ : ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia) พื้นที่ 181,035 ตารางกิโลเมตร หรือมีขนาดประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศไทย เมืองหลวง กรุงพนมเปญ (Phnom Penh) ประชากร 14.1 ล้านคน ภูมิอากาศ ร้อนชื้น มีฤดูฝนยาวนาน อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 20 - 36 องศาเซลเซียส ภาษาเขมรเป็นภาษาราชการ ส่วนภาษาที่ใช้โดยทั่วไป ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เวียดนาม จีน และไทย ศาสนาประจำชาติ คือ ศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท และศาสนาอื่นๆ อาทิ ศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ สกุลเงิน เงินเรียล (Riel : KHR) ระบอบการปกครอง : ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้ รัฐธรรมนูญ ดอกไม้ประจำชาติ ดอกลำดวนRumdul
ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
ชื่อทางการ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia) พื้นที่ 1,890,754 ตารางกิโลเมตร เป็นประเทศหมู่เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เมืองหลวง จาการ์ตา (Jakarta) ประชากร ประมาณ 220 ล้านคน ภูมิอากาศ มีอากาศร้อนชื้นแบบศูนย์สูตร ประกอบด้วย 2 ฤดู คือ ฤดูแล้ง (พฤษภาคม-ตุลาคม) และ ฤดูฝน (พฤศจิกายน-เมษายน) ภาษา ภาษาราชการและภาษาประจำชาติ ได้แก่ ภาษาอินโดนีเซีย หรือ Bahasa Indonesia ชาวอินโดนีเซียร้อยละ 87 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 6 นับถือศาสนาคริสต์ ศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ สกุลเงิน รูเปียห์ (Rupiah : IDR) ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตย มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ดอกไม้ประจำชาติ ดอกกล้วยไม้ราตรี Moon Orchid
ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ชื่อทางการ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (The Lao People's Democratic Republic) พื้นที่ 236,800 ตารางกิโลเมตร เมืองหลวง นครเวียงจันทน์ (Vientiane) ประชากร 5.6 ล้านคน ภูมิอากาศ อุณหภูมิเฉลี่ย 29-33 องศา ต่ำสุด 10 องศา ปริมาณฝนตกเฉลี่ย 1,715 มม.ต่อปี ความชื้น 70-80 % ภาษาลาวเป็นภาษาราชการ นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 75 นับถือผี ร้อยละ 16-17 ที่เหลือนับถือศาสนาคริสต์ (ประมาณ 100,000 คน) และอิสลาม (ประมาณ 300 คน) สกุลเงิน : กีบ (Kip) ระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ (ลาวใช้ว่า ระบอบประชาธิปไตยประชาชน) ดอกไม้ประจำชาติ ดอกลีลาวดี หรือลั่นทม หรือ Dok Champa (ดอกจัมปา)
ประเทศมาเลเซีย
ชื่อทางการ : มาเลเซีย (Malaysia) พื้นที่ 330,257 ตารางกิโลเมตร เมืองหลวง กรุงกัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur) ประชากร 26.24 ล้านคน ภูมิอากาศ ร้อนชื้น อุณหภูมิเฉลี่ย 28 องศาเซลเซียส ภาษามาเลย์ (Bahasa Malaysia) เป็นภาษาราชการอังกฤษ จีน ทมิฬ ศาสนา : อิสลาม (ศาสนาประจำชาติ ร้อยละ 60.4) พุทธ (ร้อยละ 19.2) คริสต์ (ร้อยละ 11.6) ฮินดู (ร้อยละ 6.3) อื่น ๆ (ร้อยละ 2.5) สกุลเงิน : ริงกิตมาเลเซีย (Malaysian Ringgit : MYR) ระบอบการปกครอง : ประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา (Parliamentary Democracy) ดอกไม้ประจำชาติ ดอกชบา หรือ Hibiscus
ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า
ชื่อทางการ สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า (Republic of Union of Myanmar) พื้นที่ 676,577 ตารางกิโลเมตร (ประมาณ 1.3 เท่าของไทย) เมืองหลวง เนปีดอว์ (Naypyidaw) (ภาษาพม่า) หรือบางครั้งสะกดเป็น เนปีตอ (Nay Pyi Taw) (มีความหมายว่า มหาราชธานี) เป็นเมืองหลวงและเมืองศูนย์กลางการบริหารของพม่าที่ได้ย้ายมาจากย่างกุ้ง ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ประชากร : ประมาณ 56 ล้านคน ภูมิอากาศ: สภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่ในบริเวณที่เป็นเทือกเขาสูงทางตอนกลางและตอนเหนือของประเทศจะมีอากาศแห้งและร้อนมากในฤดูร้อน ส่วนในฤดูหนาวอากาศจะเย็นมาก ภาษาพม่าเป็นภาษาราชการ : ศาสนาพุทธ (พม่าบัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติใน พ.ศ. 2517) ร้อยละ 90 ศาสนาคริสต์ร้อยละ 5 ศาสนาอิสลามร้อยละ 3.8 ศาสนาฮินดูร้อยละ 0.05 สกุลเงิน : จ๊าด (Kyat : MMK) ระบอบการปกครอง เผด็จการทางทหาร ปกครองโดยรัฐบาลทหารภายใต้สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council – SPDC) ดอกไม้ประจำชาติ ดอกประดู่ หรือ Padauk
ประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์
ชื่อทางการ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Republic of the Philippines) มีลักษณะพิเศษ คือ เป็นประเทศเพียงหนึ่งเดียวที่มีพรมแดนทางทะเลที่ติดต่อระหว่างกันยาวมากที่สุดในโลก พื้นที่ 298,170 ตารางกิโลเมตร เมืองหลวง กรุงมะนิลา (Manila) ประชากร : 88.7 ล้านคน ภูมิอากาศ มรสุมเขตร้อน ได้รับความชุ่มชื้นจากลมมรสุมทั้ง 2 ฤดู ได้รับฝนจากลมพายุไต้ฝุ่น และดีเปรสชั่น ภาษาฟิลิปิโน (Filipino) และภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ มีการใช้ภาษามากกว่า 170 ภาษา โดยส่วนมากเกือบทั้งหมดนั้นเป็นตระกูลภาษาย่อยมาลาโย-โปลินีเซียนตะวันตก ส่วนภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ที่ใช้กันมากในประเทศฟิลิปปินส์มีทั้งหมด 8 ภาษา ได้แก่ ภาษาสเปน ภาษาจีนฮกเกี้ยน ภาษาจีนแต้จิ๋ว ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาซินด์ ภาษาปัญจาบ ภาษาเกาหลี และภาษาอาหรับ โดยฟิลิปปินส์นั้น มีภาษาประจำชาติคือ ภาษาตากาล็อก ศาสนา : ร้อยละ 92 ของชาวฟิลิปปินส์ทั้งหมดนับถือศาสนาคริสต์ โดยร้อยละ 83 นับถือนิกายโรมันคาทอลิก และร้อยละ 9 เป็นนิกายปรเตสแตนต์ มุสลิมร้อยละ 5 พุทธและอื่น ๆ ร้อยละ 3 สกุลเงิน : เปโซ (Peso : PHP) ระบอบการปกครอง : ประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดีเป็นประมุข ดอกไม้ประจำชาติ ดอกพุดแก้ว Sampaguita Jasmine
ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์
ชื่อทางการ สาธารณรัฐสิงคโปร์ (Republic of Singapore) พื้นที่ 697 ตารางกิโลเมตร (ประมาณเกาะภูเก็ต เมืองหลวง สิงคโปร์ ประชากร : 4.35 ล้าน ภูมิอากาศ ร้อนชื้น มีฝนตกตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ย 26.8 องศาเซลเซียส ภาษาทางราชการ คือ ภาษามาเลย์ (ภาษาประจำชาติ) จีนกลาง (แมนดาริน) ทมิฬ และอังกฤษ สิงคโปร์ส่งเสริมให้ประชาชนพูด 2 ภาษา โดยเฉพาะจีนกลาง ในขณะที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้ในการติดต่องานและในชีวิตประจำวัน ศาสนา พุทธ 42.5% อิสลาม 14.9% คริสต์ 14.5% ฮินดู 4% ไม่นับถือศาสนา 25% สกุลเงิน : ดอลลาร์สิงคโปร์ (Singapore Dollar : SGD) ระบอบการปกครอง : สาธารณรัฐ (ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีสภาเดียว) โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข และนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ดอกไม้ประจำชาติ ดอกกล้วยไม้แวนด้าสกุลมิสโจวซิม Vanda Miss Joaquim
ประเทศไทย
ชื่อทางการ : ราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand) พื้นที่ 513,115.02 ตารางกิโลเมตร เมืองหลวง: กรุงเทพมหานคร (Bangkok) ประชากร : 64.7 ล้านคน ภูมิอากาศ เป็นแบบเขตร้อน อากาศร้อนที่สุดในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมเป็นฤดูร้อน โดยจะมีฝนตกและเมฆมากจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคมเป็นฤดูฝน ส่วนในเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนมีนาคม อากาศแห้งและหนาวเย็นจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นฤดูหนาว ยกเว้นภาคใต้ที่มีอากาศร้อนชื้นตลอดทั้งปีจึงมีแค่สองฤดูคือฤดูร้อนกับฤดูฝน ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ ศาสนา : ประมาณร้อยละ 95 ของประชากรไทยนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ 4 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยทางภาคใต้ตอนล่าง ศาสนาคริสต์และศาสนาอื่นประมาณร้อยละ 1 สกุลเงิน บาท (Baht : THB) ระบอบการปกครอง : ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดอกไม้ประจำชาติ ดอกราชพฤกษ์ หรือ ดอกคูน
ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ชื่อทางการ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Socialist Republic of Vietnam) พื้นที่ 331,689 ตารางกิโลเมตร เมืองหลวง กรุงฮานอย (Hanoi) ประชากร : ประมาณ 86.1 ล้านคน ภูมิอากาศ แบบมรสุมเขตร้อน ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกเปิดโล่งรับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านทะเลจีนใต้ ทำให้มีโอกาสรับลมมรสุมและพายุหมุนเขตร้อน จึงมีฝนตกชุกในฤดูหนาว ภาษาเวียดนาม (Vietnamese) เป็นภาษาราชการ ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2463 วงการวิชาการเวียดนามได้ลงประชามติที่จะใช้ตัวอักษรโรมัน (quoc ngu) แทนตัวอักษรจีน (Chu Nom) ในการเขียนภาษาเวียดนาม ศาสนา ส่วนใหญ่ชาวเวียดนามนับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายานสูงถึงร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร ร้อยละ 15 นับถือศาสนาคริสต์ ที่เหลือนับถือลัทธิขงจื้อ มุสลิม สกุลเงิน ด่อง (Dong : VND) ระบอบการปกครอง : ระบอบสังคมนิยม โดยพรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคการเมืองเดียว ดอกไม้ประจำชาติ ดอกบัว Lotus
แนวทางการเสริมสร้างความพร้อมในการพัฒนาข้าราชการสู่ประชาคมอาเซียน
สำนักงาน ก.พ. ได้เสนอแนวทางการเสริมสร้างความพร้อมในการพัฒนาข้าราชการสู่ประชาคมอาเซียนเข้าสู่การประชุม ก.พ. ครั้งที่ ๑/๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๔ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ดังนี้
ปี ๒๕๕๔ การประเมินและสร้างความตระหนัก มีแนวทางดำเนินการสร้างความตระหนัก ตื่นตัว และสร้างเครือข่าย โดยรวมถึงการจัดทำหนังสือแจ้งเวียน ส่วนราชการ ถึงแนวทางในการเตรียมความพร้อมข้าราชการ การปรับปรุงเครื่องมือสื่อการพัฒนา (เช่น การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ E-Learning หลักสูตรภาษาอังกฤษ และหลักสูตรสำหรับผู้บริหาร) การส่งเสริมให้เกิดระบบการแลกเปลี่ยนบุคลากรระยะสั้นระหว่างข้าราชการของประเทศสมาชิกอาเซียน และการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค หรือวิชาการแก่ประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้ การให้ความรู้และพัฒนาข้าราชการในระยะนี้จะเน้นความรู้ทักษะและสมรรถนะพื้นฐานเกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เช่น ๓ เสาหลักของประชาคมอาเซียน และแผนแม่บทของแต่ละด้าน) โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้บริหาร และกลุ่มข้าราชการที่จะเกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เป็นลำดับต้น
ปี ๒๕๕๕-๒๕๕๖ การพัฒนาและปรับใช้ เป็นการขยายการพัฒนา และสร้างความพร้อมทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก โดยส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์
แหล่งที่มา : gotoknow.org