ความหมายรังสีคอสมิก ประโยชน์และโทษของรังสีคอสมิก เทคโนโลยีรังสีคอสมิก กับปีระมิด
คอสมิกไมโครเวฟแบ็กกราวน์ (Cosmic Microwave Background radiation)
นักดาราศาสตร์เรียนรู้ การเกิด วิวัฒนาการ และลักษณะทางกายภาพของดวงดาวดวงหนึ่งๆ
ได้จากการศึกษาแสงของดาวเหล่านั้นที่เดินทางมาถึงเขา ในทำนองเดียวกันนักจักรวาลวิทยา(Cosmologist)
หรือผู้ที่ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการเกิด และวิวัฒนาการของเอกภพก็ต้องอาศัยแสงเช่นเดียวกัน
พวกเขากำลังศึกษาการกำเนิด และคุณสมบัติของเอกภพจากแสง แต่เป็นแสงที่มองไม่เห็นด้วยตา
แสงนั้นมีชื่อว่าคลื่นคอสมิกไมโครเวฟแบ็กกราวน์ (Cosmic Microwave Background radiation
หรือ CMB) คลื่นคอสมิกไมโครเวฟแบ็กกราวน์นี้เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่อยู่ในช่วง
3 x 108 ถึง 3 x 1011 เฮิร์ต ซึ่งเป็นความถี่ย่านไมโครเวฟ
คลื่นไมโครเวฟนี้ในปัจจุบันเป็นหลักฐานทางที่ช่วยให้เราศึกษาลักษณะของเอกภพย้อนอดีตไปได้ไกลที่สุด
เนื่องจากว่าแสงนี้เกิดขึ้นเมื่อเอกภพมีอายุแค่ 300,000 ปีเท่านั้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอาจจะอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งถึงสองหมื่นล้านปีที่แล้ว
Big Bang กำเนิดจักรวาล
คลื่นคอสมิกไมโครเวฟแบ็กกราวน์ถูกค้นพบโดยบังเอิญในปี ค.ศ.1965 โดยนักฟิสิกส์ชาวอเมริกันชื่อ
อาร์โน เพนเซียส และ รอเบิร์ต วิลสัน ขณะกำลังทดสอบเครื่องรับสัญญาณไมโครเวฟความเร็วสูง
พวกเขาพบคลื่นรบกวนที่มากกว่าที่คิด คลื่นนี้มีความแรงสม่ำเสมอเท่า ๆ กันในทุกทิศทางและเท่าเดิมตลอดทั้งปี
พวกเขาจึงสรุปว่า คลื่นที่เขาพบก็คือคลื่นคอสมิกไมโครเวฟแบ็กกราวน์ ซึ่งหนึ่งในผู้บุกเบิกวิชาจักรวาลวิทยา
จอร์จ กามอฟ (George Gamow) ได้ทำนายเอาไว้ก่อนหน้านั้นไม่นานนัก
เอกภพแรกเกิดและกำเนิดของ CMB
กราฟแสดงกฎของฮับเบิลแสดงจ ไมโครเวฟแบ็กกราวน์และเรดชิฟต์ การเกิดของคลื่นคอสมิกไมโครเวฟแบ็กกราวน์ นักจักรวาลวิทยาเชื่อว่าเอกภพช่วงแรกๆ (ในช่วงที่เอกภพมีอายุน้อยกว่า 300,000 ปี) มีอุณหภูมิสูงมาก สสารในเอกภพมีลักษณะเหมือนของไหลข้นที่เป็นเนื้อเดียวกันหมด เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงเกินกว่าที่นิวเคลียสจะรวมตัวกับอิเล็กตรอนกลายเป็นอะตอมได้ ดังนั้นสสารในเอกภพเวลานี้จึงอยู่ในรูปของอนุภาคที่มีประจุที่เรียกว่า ไอออน ซึ่งเป็นโปรตอนและอิเล็กตรอนเสียเป็นส่วนใหญ่ อนุภาคของแสงหรือโฟตอนในของไหลนั้นก็จะมีการชนกับไอออน(ส่วนใหญ่เป็นอิเล็กตรอน)แบบทอมสัน (Thomson scattering) ทำให้โฟตอนมีการเปลี่ยนทิศทางไปตลอด เราจึงไม่สามารถศึกษาเอกภพในยุคนี้ได้เนื่องจากว่าแสงจากตอนนั้นไม่สามารถเดินทางมายังเราได้ถ้ายังคงมีอิเล็กตรอนเเหลือให้มันชนและเปลี่ยนทิศทางไป แต่เมื่อเอกภพมีการขยายตัวและมีอุณหภูมิประมาณ 5,000 เคลวิน 99% ของโปรตอนและอิเล็กตรอนจะรวมตัวกันเป็นอะตอมของไฮโดรเจนซึ่งเป็นกลางทางไฟฟ้าจึงไม่เกิดการชนกับโฟตอน กระบวนการการเกิดอะตอมนี้เรียกว่า รีคอมบิเนชัน(recombination) ซึ่งจะไปสิ้นสุดลงเมื่อเอกภพอายุ 300,000 ปีและอุณหภูมิลดลงเหลือประมาณ 3,000 เคลวิน เมื่อถึงตอนนี้โฟตอนก็จะไม่มีอิเล็กตรอนอิสระให้ชนอีกแล้ว จึงไม่มีการเปลี่ยนทิศทางในขณะที่มันเดินทางไปในเอกภพจนกระทั่งมาถึงเรา คลื่นนี้คือคลื่นคอสมิกไมโครเวฟแบ็กกราวน์นั่นเอง เนื่องจากเอกภพมีการขยายตัว(ค้นพบโดย เอ็ดวิน ฮับเบิล ในปี ค.ศ.1924) คลื่นคอสมิกไมโครเวฟแบ็กกราวน์จึงเกิดเรดชิฟต์ นั่นคือมีความยาวคลื่นมากขึ้น หรือความถี่ลดลงขณะที่เดินทาง โดยเราวัดคลื่นที่มาถึงเราได้ว่ามีความถี่อยู่ในย่านไมโครเวฟ |
คุณสมบัติของคอสมิกไมโครเวฟแบ็กกราวน์
ลักษณะของคลื่นคอสมิกไมโครเวฟแบ็กกราวน์ที่วัดได้มีสเปกตรัมใกล้เคียงกับสเปกตรัมของวัตถุดำ และเป็นวัตถุในอุดมคติที่มีการรับและแผ่รังสีได้อย่างสมบูรณ์มาก มากกว่าสเปกตรัมที่ได้จากการทดลองใดๆบนโลกนี้
กราฟแสดง Black body radiation ที่วัดได้จากคอสมิกไมโครเวฟแบ็กกราวน์ คลื่นนี้มีความไอโซโทรปี (isotropy) คือเมื่อมองอย่างหยาบๆ คือมีอุณหภูมิเท่าๆ กันในทุกทิศทางประมาณ 2.7 เคลวิน แต่อย่างไรก็ตามอุณหภูมิของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไม่ได้คงที่เท่ากันหมดจริงๆ แต่มีความแตกต่างของอุณหภูมิในแต่ละทิศทางอยู่บ้าง ซึ่งเราเรียกว่า แอนไอโซโทรปี (anisotropy) โดยระดับของความแอนไอโซโทรปีคือหนึ่งในแสนหรือระดับ 10 ไมโครเคลวินซึ่งถือว่าน้อยมาก นอกจากนี้แล้วคลื่นคอสมิกไมโครเวฟแบ็กกราวน์ยังมีโพลาไรเซชันอีกด้วย ระดับของโพลาไรเซชันคือหนึ่งในล้านหรือ 10% ของแอนไอโซโทรปี สาเหตุที่คลื่นคอสมิกไมโครเวฟแบ็กกราวน์มีความแตกต่างของอุณหภูมิอยู่บ้างในแต่ละทิศทางนั้นสันนิษฐานว่าเกิดจากสิ่งรบกวน (perturbations) สามแบบคือ - ความหนาแน่นของมวลสารที่ไม่เท่ากันในแต่ละบริเวณ เมื่อสิ้นสุดกระบวนการรีคอมบิเนชัน โฟตอนที่เคลื่อนที่ผ่านบริเวณที่มีความหนาแน่นมวลสารมากก็จะเกิดเรดชิฟต์ ทำให้มีพลังงานลดลง และอุณหภูมิต่ำลงด้วย ในลักษณะเดียวกัน โฟตอนที่เคลื่อนที่ผ่านบริเวณที่มีความหนาแน่นมวลสารน้อยจะมีอุณหภูมิสูงกว่า นอกจากนี้ บริเวณที่มีความหนาแน่นสูงก็จะกลายเป็นจุดกำเนิดของโครงสร้างในเอกภพในปัจจุบัน - การหมุนวนของของไหล เมื่อสสารมีการหมุนวน ผู้สังเกตจะพบว่าโฟตอนในของไหลมีอุณหภูมิสูงกว่าที่แหล่งกำเนิดปล่อยออกมา ในกรณีที่แหล่งกำเนิดวิ่งเข้าหาผู้สังเกต (Doppler effect) ในทางตรงกันข้าม ผู้สังเกตจะพบว่าโฟตอนในของไหลมีอุณหภูมิต่ำว่าที่แหล่งกำเนิดปล่อยออกมา ในกรณีที่แหล่งกำเนิดวิ่งออกจากผู้สังเกต - คลื่นความโน้มถ่วง เมื่อมีคลื่นความโน้มถ่วงแผ่ไปใน space-time จะทำให้ space-time มีการอัดหรือขยายในทิศทางที่ตั้งฉากกับทิศการแผ่ของคลื่นความโน้มถ่วง ดังนั้น แสงที่เคลื่อนที่ผ่านบริเวณที่ space-time มีการบิดรูปไปก็จะมีความยาวคลื่นที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ทำให้อุณหภูมิเปลี่ยนไปด้วย คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั้นจะมีทิศทางของสนามแม่เหล็กและสนามไฟฟ้าตั้งฉากซึ่งกันและกัน และตั้งฉากกับทิศทางที่มันแผ่ไป ถ้าแนวของสนามไฟฟ้านั้นเปลี่ยนแบบสุ่มตลอดเวลา แสงนั้นจะเป็นแสงไม่โพลาไรซ์ โพลาไรเซชันของคลื่นคอสมิกไมโครเวฟแบ็กกราวน์เป็นโพลาไรเซชันเชิงเส้น (linear polarization) คือสนามไฟฟ้ามีการเปลี่ยนแปลงขนาดและทิศทางอยู่ในแนวใดแนวหนึ่งเท่านั้น การเกิดโพลาไรเซชันในคลื่นนี้เกิดจาก สิ่งรบกวน (perturbations) ในเอกภพสามชนิดเช่นเดียวกับสิ่งรบกวนที่ส่งผลให้อุณหภูมิของคลื่นคอสมิกไมโครเวฟแบ็กกราวน์ไม่เท่ากัน นั่นคือเมื่อโฟตอนที่มีอุณหภูมิไม่เท่ากันมาชนกับอิเล็กตรอนตัวเดียวกันในทิศที่ตั้งฉาก(quadrupole anisotropy)กันแล้ว ผลที่ได้คือมีโพลาไรเซชันเชิงเส้น |
ภาพแสดงโพลาไรเซชันของ คลื่นคอสมิกไมโครเวฟแบ็กกราวน์ แต่ละชนิดของสิ่งรบกวนจะทำให้ได้รูปแบบของโพลาไรเซชันที่แตกต่างกัน ทุกรูปแบบของโพลาไรเซชันสามารถเขียนได้เป็นผลรวมของสองรูปแบบดังนี้ - Electric-mode คือ รูปแบบโพลาไรเซชันที่แนวโพลาไรซ์ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเปลี่ยนไปวัดในทิศทางตรงข้าม - Magnetic-mode คือ รูปแบบโพลาไรเซชันที่แนวโพลาไรซ์ตั้งฉากกับของเดิมเมื่อเปลี่ยนไปวัดในทิศทางตรงข้าม |
ประโยชน์ของ CMB
การค้นพบคลื่นคอสมิกไมโครเวฟแบ็กกราวน์ (CMB) ทำให้เราสามารถ
- ทราบลักษณะของเอกภพในขณะที่เอกภพมีอายุ 300,000 ปี การที่คลื่นนี้มีอุณหภูมิที่เท่าๆกันในทุกๆทิศทางแสดงถึงเอกภพในขณะนั้นมีการกระจายตัวของมวลสารเหมือนๆกันในแต่ละบริเวณ
- การที่มีความแตกต่างอุณหภูมิของคลื่นคอสมิกไมโครเวฟแบ็กกราวน์ในแต่ละทิศทางเป็นสัดส่วนหนึ่งในแสนนั้นบอกถึงการมีอยู่ของจุดกำเนิดของโครงสร้างใหญ่ๆในปัจจุบันเช่น กาแล็กซีและกลุ่มก้อนของกาแล็กซี นั่นคือบริเวณที่มีมวลสารหนาแน่นกว่าบริเวณข้างเคียงในขณะที่เอกภพอายุ 300,000 ปี เมื่อเวลาผ่านไป แรงดึงดูดทางมวลสารที่มากกว่าก็จะดึงดูดมวลสารให้มารวมตัวมากขึ้น และใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นกาแล็กซีในที่สุด
- เมื่อกลุ่มวิจัยต่างๆ เช่น WMAP ทำการวัดอุณหภูมิของคลื่นคอสมิกไมโครเวฟแบ็กกราวน์ในทุกทิศทางแล้วนำมาทำแผนที่อุณหภูมิ ซึ่งบอกถึงตำแหน่งของจุดร้อน (แสงมีอุณหภูมิสูงเมื่อผ่านบริเวณความหนาแน่นมวลสารต่ำ) และจุดเย็น (แสงมีอุณหภูมิต่ำเมื่อผ่านบริเวณความหนาแน่นสูง) ขนาดของจุดร้อนและเย็นที่ปรากฎนั้นยืนยันได้ว่าเอกภพมีลักษณะแบนในสามมิติ |
ความแบนของเอกภพนั้นบอกถึงปริมาณสสารทั้งหมดในเอกภพว่าไม่ได้มีปริมาณที่มากเกินไปจนกระทั่งแรงดึงดูดทางมวลสารเอาชนะการขยายตัวของเอกภพ ทำให้เอกภพยุบตัวลง และไม่ได้มีปริมาณสสารน้อยเกินไปจนแรงดึงดูดของมวลสารน้อยกว่าการขยายตัวของเอกภพมากจนไม่สามารถรวมตัวกันเกิดเป็นกาแล็กซีได้ - เมื่อกลุ่มวิจัยต่างๆ เช่น DASI ทำการวัดโพลาไรเซชันแบบ Electric-mode ของคลื่นคอสมิกไมโครเวฟแบ็กกราวน์ ทำให้สามารถทราบถึงลักษณะของ สิ่งรบกวน แต่ละแบบในขณะที่เอกภพมีอายุ 300,000 ปีได้ และการที่กราฟที่ได้สอดคล้องกับทฤษฎีอินเฟลชัน(ที่ว่าด้วยการขยายตัวด้วยความเร่งของเอกภพในขณะที่เอกภพมีอายุได้ประมาณ 10-43 วินาที และเป็นที่มาของจุดกำเนิดกาแล็กซีและคลื่นความโน้มถ่วง) โพลาไรเซชันของคลื่นนี้จึงเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่สนับสนุนทฤษฎีอินเฟลชัน จะเห็นได้ว่า การค้นพบคลื่นคอสมิกไมโครเวฟแบ็กกราวน์เป็นก้าวที่สำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาเอกภพของเรา |
แหล่งที่มา : vcharkarn.com