เจงกิสข่าน- เจงกิสข่าน ประวัติ- เจงกิสข่าน จักรพรรดิสะท้านแผ่นดิน


4,070 ผู้ชม


เจงกิสข่าน- เจงกิสข่าน ประวัติ- เจงกิสข่าน จักรพรรดิสะท้านแผ่นดิน

เจงกิสข่าน….มหาจักรพรรดิ์ยอดนักรบ

โดย วิรุฬหกกลับ

          แผ่นดินมองโกลในแผ่นที่โลกเหมือนเป็นดินแดนที่แทบจะไม่มีความน่าสนใจใดๆอยู่เลย ประเทศเล็กๆอย่างมองโกลถูกขนาบข้างด้วยสองชาติมหาอำนาจอย่างจีนและสหภาพโซเวียตในยุคที่สหภาพโซเวียดยังคงไม่แตกแยกออกเป็นประเทศเล็กประเทศน้อยดั่งเช่นทุกวันนี้ ก็ยิ่งทำให้มองโกลกลายเป็นดินแดนที่ถูกลืมไปได้อย่างง่ายดาย

          แต่ในอดีตนั้นมองโกลเคยเป็นชนเผ่าเร่ร่อนที่ยังชีพอยู่ด้วยการล่าสัตว์เคยมีผู้นำประเทศนำทัพชาวมองโกลบุกตะลุยไปทั่วทุกทิศจนสร้างให้ชนเผ่าเล็กกลายเป็นจักรวรรดิที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลที่สุดเท่าที่ประวัติศาสตร์โลกจะมีจารึกไว้ ม้ามองโกลเผ่นโผนไปทิศทางใดแผ่นดินนั้นก็ต้องแหลกลงไปตามรอยกีบม้ามองโกลนั้นเช่นกัน

          เจงกิสข่านถูกยกย่องให้เป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบพันปีที่ผ่านมา เหนือทุกผู้ทุกนามที่เกิดขึ้นย้อนไปหนึ่งพันปีดังว่า จริงๆแล้วเจงกิสข่านได้รับการยกย่องโดยนักประวิติศาสตร์มานานแล้วว่าเป็นนักรบที่เก่งกาจที่สุดเท่าที่มีหลักฐานจารึกไว้ เหนือกว่าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งอาณาจักรกรีกโบราณ เหนือกว่าจูเลียส ซีซาร์แห่งอาณาจักรโรมัน เหนือกว่า นโปเลียน โบนาปาร์ต เพราะความที่ เขาสามารถบุกตะลึกยึดครองดินแดนได้กว่าครึ่งค่อนโลก

          ความสามารถของเจงกิสข่านนั้นนับว่าน่าฉงนยิ่งนัก ที่เขาเริ่มต้นจากการเป็นผู้นำของชนเผ่าเร่ร่อนเล็กๆในผืนทุ่งหญ้ากว้างใหญ่อย่างมองโกล จะว่าไปแล้วเผ่าของเจงกิสข่านก็เหมือนกับชุมชนขนาดย่อมเท่านั้นเอง ไม่น่ามีพิษสงที่ทำให้จักรวรรดิของเขายิ่งใหญ่ขึ้นมากลบความแจ่มจรัสของอาณาจักรอื่นๆเสียสิ้นและทำให้ตัวเจงกิสข่านเองถูกยกย่องว่าเป็นมหาบุรุษนักรบที่เก่งที่สุดเท่าที่มีหลักฐานปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์โลก

เจงกิสข่าน- เจงกิสข่าน ประวัติ- เจงกิสข่าน จักรพรรดิสะท้านแผ่นดิน

รูปปั้นเจงกิสข่า
ภาพจาก https://nybookworm.files.wordpress.com

          เจงกิสข่านถือกำเนิดขึ้นในราวปี ค.ศ.1167 แต่หลักฐานที่ทางมองโกลเชื่อกันนั้นกลับบอกว่ามหาบุรุษผู้นี้ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ.1162  เขาเป็นลูกของหัวหน้าชนเผ่าเล็กๆที่เชี่ยวชาญในการล่าสัตว์และดำรงชีพอยู่ในทุ่งหญ้าราบเรียบเขียวขจี บริเวณทะเลทรายโกบี  ทางตอนกลางของมองโกเลียใกล้กับริมแม่น้ำรูเลน มีบิดาชื่อเยซูไก( Yusugei Baghutur ) อันเป็นหัวหน้าเผ่า เผ่าคิยาด(Kiyad)ในช่วงที่เจงกิสข่านบุรุษเหนือโลกถือกำเนิดขึ้นนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่บิดากำลังทำศึกติดพันกับเผ่าตาตาร์(Tatar)และสามารถเอาชนะได้จึงนำเอาชื่อของหัวหน้าเผ่าศัตรูมาตั้งเป็นชื่อบุตรชาย นามว่า เตมูจิน (Temujin) ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

          ตามประเพณีของชาวมองโกลจะเลือกหาคู่ครองให้บุตรโดยเลือกเอาหญิงที่มีอายุสูงกว่าเพราะเชื่อกันว่าสามารถให้กำเนิดบุตรได้อย่างรวดเร็วและประสบการณ์ชีวิตของหล่อนจะทำให้หญิงสาวดูแลได้ทั้งสามีและบุตรที่จะถือกำเนิดต่อมาในกาลภายหน้า เยซูไก บิดาจึงนำเตมูจินไปหาคู่ที่เผ่าหนจิลา(Onggirad) นอกจากจะมีจุดมุ่งหมายจะหาคู่ครองให้บุตรชายแล้วยังได้เจริญความสัมพันธ์ของเผ่าทั้งสองให้แนบแน่นกว่าเก่าด้วย การไปเลือกคู่ในครั้งนั้นได้เลือกเอาบอร์เต(Borte) สาวชาวเผ่า เป็นคู่ครองโดยมีกำหนดจะแต่งงานกันในภายหลังอีก 2 ปีหลังจากนั้น 

          แต่ระหว่างเดินทางกลับเยซูไก ผู้เป็นบิดาถูกลอบสังหารจากชนเผ่าอริ เมื่อผู้นำเผ่าสูญสิ้นชีวิตลงเตมูจินในฐานะทายาทก็ต้องรับภาระเป็นหัวหน้าเผ่าค่อยดูแลผู้ใต้ปกครองต่อไปแต่ด้วยวัยที่ยังเยาว์เกินไปทำให้ไม่ได้รับความเชื่อถือ และมีการหักหลังแย่งชิงอำนาจกันในเผ่าของตนจึงทำให้ผู้คนอพยพออกจากเผ่าไปแทบจะไม่เหลือ ทำให้เตมูจินต้องอาศัยอยู่กับมารดาและบรรดาพี่น้องอย่างแร้งแค้นในทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ 

          เมื่อเตมูจินเติบใหญ่ขึ้นเขาก็รวบรวมสมัครพรรคพวกและเริ่มตั้งเผ่าของตนให้มั่นคงได้อีกครั้ง แต่การใช้ชิวีตอยู่ในที่ราบกว้างใหญ่อย่างมองโกลนั้น มีการเป็นอยู่ร่วมกันกับหลายเผ่าจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการปะทะกันอย่างประจำ ต่อมาเตมูจินได้ไปขอคู่หมั้นที่เคยหมั้นกันหลังจากนั้นได้ดำเนินนโยบายทางการฑูตกับเผ่าต่างๆ โดยเฉพาะกับเผ่าเคอเรอิต อันเป็นเผ่าใหญ่ที่เคยสนิทสนมกับบิดาของเขาในอดีต  แต่ในขณะเดียวกันเผ่าอริถือโอกาสลอบโจมตีในขณะที่เตมูจินไม่อยู่ ทั้งยังจับตัวภรรยาของเขาไป เมื่อเตมูจินรู้ข่าวก็รวบรวมไพร่พลยกไปช่วยภรรยาในทันทีแต่ด้วยความที่กำลังพลน้อยกว่ามากทำให้พ่ายแพ้กลับมา หนทางสุดท้ายของเตมูจินไม่มีอะไรดีไปกว่าการขอความช่วยเหลือจากเผ่าใหญ่เขาแจ้งความจำนงที่จะขอยืมทหารจาก เผ่าเคอเรอิต และเผ่าจาลาอันเป็นเผ่าของเพื่อนร่วมน้ำสาบานซึ่งได้รับการช่วยเหลืออย่างดี ทั้งสามเผ่ารวมกันเข้าตีเผ่าอริที่จับตัวภรรยาเขาไปพันตูกันอยู่นานเตมูจินจึงได้รับชัยชนะ 

          ชัยชนะในครั้งนั้นเองที่ทำให้ชื่อเสียงของหัวหน้าเผ่าหนุ่มอย่างเตมูจินเป็นที่รู้จักมากขึ้นทำให้เขาสามารถสร้างความมั่นคงให้กับเผ่าของตนได้เป็นลำดับ แต่กระนั้นแตมูจินยังต้องอาศัยนานจึงสามารถรวบรวมเผ่าเร่ร่อนที่มีอยู่มากในมองโกลให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ในปีค.ศ. 1204 ในขณะนั้นเขาอายุได้ 42 ปี  

          หลังจากนั้นอีก 2 ปี เตมูจินถูกยกย่องจากเผ่าต่างๆให้เป็นเจงกิสข่าน(Genghis Khan) ผู้รวบรวมชนเผ่าที่มีอยู่มากมายในแถบนั้นให้กลายมาเป็นหนึ่งเดียวและอยู่ภายใต้การนำของเขา ชื่อเจงกิสข่านเป็นการให้เกียรติผู้นำ อันแปลความหมายได้ว่าหมายถึงกษัตริย์ผู้ปกครองโลกทั้งโลกเมื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นในดินแดนดังกล่าวได้แล้วเจงกิสข่านจึงเริ่มให้มีการกำหนดกฎหมายขึ้น และยังได้คิดอักษรภาษามองโกลขึ้นเป็นของตนเอง  ภัยต่อมาที่เจงกิสข่านกังวลคือการที่สามารถรวมตัวกันได้นั้นย่อมอาจจะได้รับอันตรายจากอาณาจักรข้างเคียง และไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่จะทำให้ดินแดนรอบข้างสยบอยู่ภายใต้อำนาจของเขา เจงกิสข่านจึงเริ่มโจมตีมณฑลซีเซี่ยซึ่งอยู่บริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน และบางส่วนของทิเบตการสู้รบกินเวลาราว1 ปี จนกระทั่ง ค.ศ.1210 มณฑลซีเซี่ยก็ยอมศิโรราบ
          หลังจากนั้นทัพของเจงกิสข่านก็แผ่ขยายอำนาจไปทั่วรุกคืบเข้าดินแดนตุรกี และอาณาจักรในตะวันออกกลาง การเข้าตีตะวันออกกลางของเจงกิสข่านนั้นเริ่มด้วยการส่งคณะฑูตไปเพื่อขอให้ยอมศิโรราบแต่โดยดีในปีค.ศ. 1218 แต่การณ์กลับกันเมื่อคณะฑูตที่ส่งไปถูกฆ่าตายเสีย และแน่นอนว่าเจงกิสข่าน ที่เริ่มมีกำลังกล้าแข็งมากขึ้นจะไม่ยอมให้มีการหลู่เกียรติกันง่ายๆเช่นนั้นในปี ค.ศ.1219 เจงกิสข่านจึงกรีฑาทัพม้าและใช้เวลาสู้รบกันอย่างยาวนานรวม 6 ปี จึงจะสามารถพิชิตอาณาจักรในเอเชียตะวันออกกลางลงได้  

เจงกิสข่าน- เจงกิสข่าน ประวัติ- เจงกิสข่าน จักรพรรดิสะท้านแผ่นดิน

พิธีการสมรสระหว่างบอร์เตกับเจงกิสข่าน
ภาพจาก https://imagecache5.art.com/

          ทัพของเจงกิสข่านยังไม่หยุดอยู่แค่นั้นเขาได้ขยายอำนาจไปในทุกทิศทุกทางที่ม้ามองโกลจะสามารถย่ำไปได้ดินแดนในคาบสุมทรเกาหลีในบางส่วนได้ดินแดนทางตอนเหนือของมองโกลบางส่วนและรุกคืบเข้ามาในยุโรป ผู้คนต่างอกสั่นขวัญหาเมื่อได้ยินเสียงฝีเท้ามามองโกลมาเลียบเคียงอยู่หน้าประตูเมือง จวบจนวาระสุดท้ายของเจงกิสข่านเขาสร้างความประหวั่นพันพรึงให้แก่อาณาจักรต่างๆ ไปทั่วทุกสารทิศ  จุดจบของมหาจักรพพรรดิ์ผู้นี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1227เมื่อเกิดกบฏขึ้นในมลฑลซีเซี่ยอันเป็นดินแดนแรกที่เจงกิสข่านสามารถพิชิตศึกได้ ในระหว่างสงครามเจงกิสข่านตกจากหลังม้า และต่อมาก็เกิดการประชวรและถึงวาระสุดท้ายของเขา แม้จะสิ้นเจงกิสข่านลงแล้วแต่อาณาจักรมองโกลก็ยังไม่หยุดยั้งที่จะแผ่แสนยานุภาพของทัพมองโกล ดินแดนของอาณาจักรมองโกลในรุ่นลูกรุ่นหลานเจงจิสข่านยังขยายออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง

          เมื่อเจงกิสข่านสิ้นพระชนม์ลง จึงได้มอบตำแหน่งข่านใหญ่ให้แก่บุตรชายคนที่ 3 คือ โอโกไต แต่เนื่องด้วยอาณาเขตอันกว้างขวางมากโอโกไตข่านคนใหม่จึงได้แบ่งดินแดนให้บรรดาพี่น้องของตนครอบครองด้วย โดยแบ่งแยกกันปกครองดังนี้ 

1.โจชิ ปกครองอาณาจักร ชินชาข่าน ปัจจุบันอยู่ในบริเวณเอเชียกลาง และยุโรปตะวันออก

2.ซาเฮอไต บุตรคนรองของเจงกิสข่านปกครองอาณาจักร ซาเฮอไตข่านปัจจุบันคือ ภาคตะวันตกของจีน อัฟกานิสถาน และบางส่วของสหภาพโซเวียตเดิม

3.โอโกไต ผู้เป่นข่านใหญ่ต่อจากเจงกิสข่านปกครองอาณาจักร โอโตไก กินอาณาบริเวณในปัจจุบันคือ จีนตอนเหนือและบางส่วนของสหภาพโซเวียตเดิม

4.เซลุย  ปกครองดินแดนของมองโกลเดิม

          ดินแดนที่เจงกิสข่านสร้างมาหาใช่ดินแดนที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดของมองโกลอาณาจักรมองโกลหลังการนำของเจงกิสข่านสิ้นสุดลงยังแผ่ขยายออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยมีอาณาเขตมากที่สุดในยุคของกุบไลข่านผู้มีศักดิ์เป็นหลานของเจงกิสข่าน ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 3 รุ่น  เอเชียเกือบทั้งหมดอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรมองโกล รวมไปถึงอีกครึ่งค่อนของทวีปยุโรป 

          เหตุการณ์ครั้งสำคัญๆเช่น  
          ใน ปีค.ศ. 1258 ได้ ทำ การ บุก เข้า ยึด ครอง กรุง แบก แดด
          ระหว่าง ปีค.ศ. 1268-1279 เข้ายึดตอนใต้ของจีนและก่อตั้งราชวงศ์หยวนขึ้นในประเทศจีน

มองโกลกับดินแดนสุวรรณภูมิ

          ดินแดนสุวรรณภูมิเป็นดินแดนอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่หมายตาของอาณาจักรมองโกล เมื่อสามารถผนวกจีนเข้าให้มาอยู่ภายใต้อำนาจการครองได้แต่กระนั้นการบุกโจมตีสุวรรณภูมิก็ไม่ง่ายนักเนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่นักรบบนหลังม้าของมองโกลไม่ค่อยจะคุ้นเคยนัก 

          มองโกลรุกไล่เข้ามาในดินแดนสุวรรรณภูมิครั้งแรกเมื่อ ปี ค.ศ. 1273 กุบไลข่านส่งคณะฑูตมายังอาณาจักรพุกาม(ประเทศพม่า)ให้ยอมศิโรราบไม่เพียงแต่เจ้าอาณาจักรพุกามจะเห็นคล้อยตามด้วยเท่านั้นแต่ยังหาญยกทักโจมตี รัฐควนไกทางภาคเหนือของอาณาจักรพุกาม ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การดูแลของอาณาจักรมองโกลทำให้กุบไลข่านพิโรธหนัก ส่งกองทัพม้ามาปะทะกับกองทัพช้างของอาณาจักรพุกามแต่จนแล้วจนรอด มองโกลก็สามารถยึดเมืองหลวงของอาณาจักรพุกามได้ในปี ค.ศ. 1287

         อาณาจักรอันนัมและอาณาจักรจามปา(เวียดนาม)ก็ถูกขอให้ยอมศิโรราบด้วย โดยให้ ทูตเชิญพระเจ้าตรัน ถั่น ทอน กษัตริย์อาณาจักรอันนัม และพระเจ้าชัยอินทรวรมันที่ 6 แห่งอาณาจักรจามปา เสร็จไปเยือนราชสำนักของมองโกลเมื่อไม่ได้รับการตอบสนองกุบไลข่านก็ทรงให้ขุนศึกกรีฑาทัพมายึดเอาเมืองการทำศึกของทหารมองโกลกับอาณาจักรในละแวกนี้สร้างความเสียหายให้กับทหารมองโกลเป็นอย่างมากเนื่องจากไม่คุ้นเคยกับสภาพภูมิอากาศและทหารต้องประสบกับโรคภัยนานาชนิด กว่าจะสามารถทำให้สองอาณาจักทั้งสองสยบลงได้มองโกลก็สะบักสะบอมไปตามๆกัน  

เจงกิสข่าน- เจงกิสข่าน ประวัติ- เจงกิสข่าน จักรพรรดิสะท้านแผ่นดิน

อาณาจักรมองโกล
ภาพจาก  https://www.mongolia-attractions.com

          ในขณะนั้นกรุงสุโขทัยพึ่งสถาปนาขึ้นเป็นราชธานีมาได้ไม่นาน ก็มีคณะจากมองโกลมาเยือนเช่นกันซึ่งความปรากฏอยู่ในพงศาวดารหยวน ฉบับที่ 2 12 17 18 ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ว่า คณะฑูตจากมองโกลเดินทางโดยมีเป้าหมายมาที่ กรุงสุโขทัยครั้งแรกในเดือน พ.ย. ค.ศ. 1282 แต่ระหว่างที่เดินทางผ่านอาณาจักรจามปา ได้ถูกจับกุมและถูกประหารชีวิต จนกระทั่งคณะฑูตชุดต่อมา เดินทางมายังอาณาจักรสุโขทัยในปี ค.ศ. 1292 หลังจากที่สามารถควบคุม อาณาจักรอันนัมและอาณาจักรปามจาได้แล้วในปี ค.ศ. 1287 ซึ่งในขณะนั้นเป็นแผ่นดินของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คณะทูตได้แจ้งความประสงค์ขอให้ พ่อขุนรามคำแหงเสร็จไปเฝ้า แต่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชหาได้ไปเฝ้าตามความประสงค์ไม่ จนกุบไลข่านต้องส่งคณะฑูตมาเพื่อแจ้ง พ่อขุนรามคำแหงเสด็จไปเฝ้าอีกครั้งหากมีเหตุขัดข้องให้ส่งโอรสหรือพระอนุชาและอำมาตย์ผู้ใหญ่เป็นตัวประกัน แต่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชไม่ได้ปฎิบัติตามเพียงแต่ส่งเครื่องบรรณาการไปให้เท่านั้น

          อาจจะเป็นไปได้ว่าทหารมองโกลเข็ดขยาดกับสภาพภูมิประเทศเขตนี้หลังจากสามารถเผด็จศึกเอาอาณาจักรอันมันและจามปาได้ก็ตามแต่ก็การสงครามในครั้งนั้นได้สร้างความเสียหายให้แก่มองโกลเป็นอันมากจึงไม่ผลีผลามในการเข้ายึดกรุงสุโขทัย ก็เป็นได้แต่หาก อาณาจักรมองโกลไม่ได้ล่มสลายลงไปอย่างรวดเร็วก็น่าหวั่นเกรงไม่ใช่น้อยว่าว่าสักวันหนึ่งกีบม้ามองโกลอาจจะมาประทับรอยจากรึกลงบนแผ่นดินสุวรรณภูมิจรดคาบสมุทรมลายูจนหญ้าที่เคยขึ้นเขียวชอุ่มอาจจะต้องแหลกยับไปกับฝีเท้าม้ามองโกลเหล่านั้น(นักประวัติศาสตร์บางส่วนไม่ถือว่าดินแดนแถบสุวรรณภูมิทั้งอาณาจักรพุกาม จามปา อันนัมอยู่ภายใต้การปกครองของมองโกลเพราะเพียงแต่ส่งเครื่องราชบรรณาการไปให้ไม่ได้มีการผนวกดินแดนเข้าอย่างที่ทำกับอาณาจักรอื่น)

          อาณาจักรมองโกลเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มีหลักฐานปรากฏตามหน้าประวัติศาสตร์ทัพม้าที่สร้างขึ้นโดยเจงกิสข่านนั้นเกรียงไกรไปทั่วดินแดนสร้างความพรั่นพรึงให้แก่ผู้คนจากทิศเหนือจรดใต้ จากทิศตะวันออกสู่ตะวันตก แต่แล้วสุดท้ายอาณาจักรดังกล่าวก็ล่มสลายลงเหลือเป็นเพียงประเทศเล็กๆแต่กระนั้นก็ยังทิ้งรอยประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ยาวนาน ตามรอยเท้าม้ามองโกลที่เคยเหยีบย่างผ่านไป พร้อมกับนามอันระบือลือเลื่องที่พร้อมจะสร้างความขนพองสยองเกล้าให้แก่เจ้าอาณาจักรอื่นๆ นามของเขาคือเจงกิสข่านนักรบผู้ซึ่งถูกกล่าวขานว่ายิ่งใหญ่ที่สุดของโลกที่ยากจะหาใครเทียบได้


แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด