การปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ ไฮโดรโปนิกส์ อบรม ฟาร์มไฮโดรโปนิกส์


747 ผู้ชม


การปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ ไฮโดรโปนิกส์ อบรม ฟาร์มไฮโดรโปนิกส์


การปลูกผักไร้ดินแบบไฮโดรโพนิคส์


การปลูกพืชในระบบไฮโดรโพนิคส์เข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว โดยชาวไต้หวัน นำเข้ามาแนะนำให้ผู้ประกอบการคนไทยทำเป็นการค้าที่เรียกว่า "ผักลอยฟ้า" 
ไฮโดรโพนิคส์ เข้ามามีบทบาทเพื่อแก้ปัญหาของการปลูกพืชในดิน ซึ่งมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและวัชพืช รวมทั้งเชื้อโรคพืชที่อาศัยอยู่ในดิน ทำให้เกิดสารพิษตกค้างในผลผลิตเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและตัวเกษตรกรผู้ปลูก นอกจากนี้การปลูกพืชในดินยังต้องใช้น้ำมาก ถ้าปราศจากแหล่งน้ำก็ก่อให้เกิดปัญหาในการเพาะปลูกอีกการปลูกพืชในดินต้องมีการเตรียมดิน ปรับสภาพดิน และต้องใช้ปุ๋ยเคมีสูตรต่าง ๆ ตามอายุพืช "ไฮโดรโพนิคส์" จึงเป็นระบบการปลูกพืชที่เข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไฮโดรโพนิคส์ก็เหมาะสมสำหรับพืชบางชนิดเท่านั้น ไฮโดรโพนิคส์ เป็นการปลูกพืชไร้ดิน ในรูปแบบของการปลูกพืชให้รากพืชแช่อยู่ในน้ำ หรือสารละลายธาตุอาหารพืช ซึ่งคุณสุภาพร รัตนะรัต บอกว่า การปลูกพืชในสารละลายธาตุอาหารพืชมีหลายวิธี แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน วิธีที่ง่ายและสะดวก เป็นที่นิยมกันมี 2 วิธี คือ

วิธีการปลูกพืชไร้ดิน

- การปลูกพืชในสารละลายแบบไม่ไหลเวียน เป็นการปลูกแบบให้รากแช่อยู่ในสารละลายธาตุอาหารที่มีเครื่องพ่นอากาศ เป่าอากาศลงในสารละลายนั้น การปลูกในระบบนี้เป็นวิธีที่ทำได้ง่ายมาก เหมาะสำหรับปลูกในครัวเรือน เป็นงานอดิเรก หรือเป็นงานทดลองภาชนะที่ปลูกอาจจะเป็นภาชนะเดี่ยวหรือเป็นกระบะรวม การปลูกในภาชนะเดี่ยวมีข้อดี คือ ไม่ต้องเสี่ยงกับความเสียหายทั้งหมด ในกรณีที่มีโรคติดมากับรากพืชที่ปลูก ความเสียหายจะเกิดเฉพาะต้นที่เป็นโรคเท่านั้นและการเคลื่อนย้ายภาชนะปลูกสามารถทำได้ง่าย แต่มีข้อเสียคือ อาจต้องสิ้นเปลืองแรงงานมากกว่า
- การปลูกในสารละลายแบบไหลเวียน (Nutrient Flow Tecnnique หรือ NFT) เป็นวิธีให้รากแช่อยู่ในสารละลายที่ไหลเวียนภายในภาชนะปลูกรวม โดยใช้ปั๊มทำการผลักดันให้สารละลายเกิดการไหลเวียน มี 2 แบบ คือ แบบสารละลายไหลผ่านรากพืชเป็นแผ่นฟิล์มบาง ๆ ตามความลาดชันของรางปลูก (Nutrient Flow Tecnnique) และระบบสารละลายไหลผ่านรากพืชอย่างต่อเนื่อง (Natrient Flow Tecnnique) การปลูกในระบบนี้ สารละลายธาตุอาหารที่ไหลผ่านรากพืชจะไหลลงสู่ถังภาชนะบรรจุ แล้วถูกสูบด้วยปั้มน้ำขึ้นมาให้พืชได้ใช้ใหม่ โดยวิธีนี้จะสามารถใช้ประโยชน์จากสารละลายธาตุอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ การนำสารละลายธาตุอาหารกลับมาใช้ใหม่ จึงเป็นวิธีที่ประหยัด และไม่เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม จากสารละลายเหลือใช้ แต่ข้อเสียของระบบนี้คือ ถ้าเกิดโรคที่ติดมากับรากพืช จะทำให้แพร่กระจายได้มากและรวดเร็ว จากการที่รากแช้อยู่ในสารละลายเดียวกัน ซึ่งยากที่จะกำจัด หรือรักษาให้หายได้ การแพร่ระบาดของโรคอย่างรุนแรงทำความเสียหายแก่พืชที่ปลูกไว้ทั้งหมด

การปลูกพืชในระบบไฮโดรโพนิคส์

โดยเฉพาะพืชผักจะต้องปลูกในโรงเรือนมุ้งตาข่าย ภาชนะปลูกส่วนใหญ่จะเป็นกระบะ สำหรับใส่น้ำสารละลายธาตุอาหารพืช มีแผ่นโฟมปิดบนกระบะแผ่นโฟมจะเจาะเป็นช่อง ๆ สำหรับวางต้นกล้าให้รากลงไปแช่ในสารละลาย ปัจจุบันมีการพัฒนาภาชนะปลูกให้ทันสมัยขึ้น ประหยัดเนื้อที่และประหยัดน้ำมากขึ้น โดยการทำเป็นรางน้ำแทนกระบะนอกจากนี้ยังต้องมีเครื่องปั๊มอากาศ สำหรับปั๊มอากาศเข้าไปในภาชนะปลูกพืชให้ออกซิเจนแก่รากพืช เพื่อพืชใช้ในการดูดซึมอาหาร

สำหรับธาตุอาหารที่พืชต้องการในการเจริญเติบโต มี 16 ชนิด ได้แก่ คาร์บอน ออกซิเจน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน แคลเซียม แมกนีเซียมฟอสฟอรัส โปตัสเซียม กำมะถัน เหล็ก ทองแดง แมงกานีส โมลิบดินัม สังกะสี คลอรีน และโบรอน นอกจากนี้อาจจะมีธาตุอาหารอื่นๆ บ้าง เช่น อะลูเนียม แกลเลียม ซิลิกอน ไอโดดีน ซีลีเนียม และโซเดียม แต่จากการวิเคราะห์พบว่า ธาตุอาหารที่พืชต้องการมากคือ คาร์บอน
และออกซิเจน ทั้ง 2 ชนิดรวมกันประมาณ 90% ของธาตุอาหารพืชทั้งหมด ที่เหลือเป็นไฮโดรเจน ไนโตรเจน และอื่น ๆ คุณสุภาพร รัตนะรัต กล่าวถึงข้อดี และข้อจำกัดของการปลูกพืชในระบบไฮโดรโพนิคส์ โดยเฉพาะพืชผักไว้ดังนี้

ข้อดี คือ
* ให้ผลผลิตที่สะอาด ถูกอนามัย ปลอดภัยจากสารพิษ เนื่องจากปลูกในโรงเรือนที่มีมุ้งตาข่ายปิดมิดชิดจึงไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช
* พืชเจริญเติบโตและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วกว่าการปลูกในดิน เนื่องจากพืชได้รับธาตุอาหารต่างๆ ครบถ้วนในสัดส่วนที่พอเหมาะและตลอดเวลาที่พืชต้องการ ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและรสชาติดี
* พืชที่ปลูกอยู่รอดมากขึ้น และให้ผลผลิตสูง เพราะสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่ให้แก่พืชได้ดีกว่าปลูกในดิน ลดความเสี่ยงจากสภาพดินฟ้าอากาศไม่แน่นอน เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง
* ใช้พื้นที่น้อย เพราะปลูกพืชได้หนาแน่นกว่าปลูกในดิน และปลูกต่อได้ทันทีหลังจากเก็บเกี่ยวพืชชุดแรกแล้ว จึงสามารถปลูกได้หลายครั้งต่อปี
* ประหยัดค่าใช้จ่ายในการกำจัดวัชพืช
* ทดแทนการปลูกพืชในดินที่มีปัญหา เช่น ดินเค็ม ดินกรด ดินด่าง ดินที่ไม่เหมาะสมสำหรับปลูกพืช เช่น ดินลูกรัง ดินที่มีน้ำท่วมขังบ่อยครั้ง
* เหมาะสำหรับปลูกในสถานที่ที่มีพื้นผิวดินสำหรับปลูกพืชน้อย เช่น ระเบียงบ้าน หรือ คอนโดมีเนียม
* ปลูกได้ตลอดปี ไม่ต้องรอฤดูกาล สามารถเลือกปลูกพืชในช่วงที่มีราคาแพง ทำให้ผลผลิตได้ราคาดีขึ้น
* ใช้แรงงานในการดูแลน้อย

ข้อจำกัด คือ
ลงทุนสูงในระยะแรก และต้องมีปัจจัยในการปลูกพืชในระบบนี้ คือ ไฟฟ้า น้ำ และธาตุอาหารที่พืชต้องการในรูปของสารเคมีอย่างไรก็ตาม การปลูกพืชในระบบไฮโดรโพนิคส์ ในปัจจุบันเป็นที่นิยมกันมากสำหรับปลูกผักอนามัย และวิธีการปลูก วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ก็มีการพัฒนาให้สะดวกและทันสมัยมากขึ้น ตลาดของผักอนามัยในปัจจุบัน เริ่มมีผู้หันมานิยมบริโภคมากขึ้น การวางจำหน่ายผักที่ปลูกในระบบไฮโดรโพนิคส์ ปัจจุบันจะบรรจุถุงทั้งต้น โดยไม่ตัดรากและบางรายภาชนะปลูกที่ใช้พยุงต้นซึ่งเป็นกระถางพลาสติกโปร่ง ขนาดเล็กๆ ยังมีติดที่โคนต้นเป็นการยืนยันว่าเป็นผักที่ปลูกในระบบไฮโดรโพนิคส์จริง ๆ ปราศจากสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงแน่นอน

* ไม่มีโรคและแมลงศัตรูพืช
* ไม่ต้องใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช* ประหยัดน้ำและสารละลายธาตุอาหารพืช
* พืชโตเร็ว เก็บเกี่ยวได้เร็ว และให้ผลผลิตสูง
* สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมในการเพาะปลูกได้ ทั้งนี้มีตัวเลขยืนยัน ดังนี้
สามารถลดการใช้น้ำได้ 98%
สามารถลดปริมาณปุ๋ยเคมี ได้ 95%
สามารถลดปริมาณสารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้ 99%
สามารถเพิ่มผลผลิตในแต่ละรอบการเพาะปลูกได้ 45%
ได้ผลผลิตที่สะอาด


แหล่งที่มา : siamsouth.com

อัพเดทล่าสุด