โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารของคน รวมโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเด


691 ผู้ชม


โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารของคน รวมโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเด

 

 

โรคที่เกิดขึ้นกับระบบทางเดินอาหาร

โรคอุจจาระร่วง

             อุจาระร่วงที่จริงมิใช่โรค แต่เป็นอาการแสดงของโรคในระบบทางเดินอาหาร จะถือว่ามีอาการอุจจาระร่วง เมื่อมีอาการถ่ายของเหลวอย่างน้อย 2 ครั้ง ใน 1 วัน แต่ถ้าถ่ายเป็นน้ำเพียง 1 ครั้ง ก็ถือว่ามีอาการอุจจาระร่วงได้ เป็นอาการที่พบบ่อยมาก ทุกเพศทุกวัย ทุกฤดูกาล มีตั้งแต่อาการเบา ๆ ถ่ายเหลววันละ 2-3 ครั้ง  จนกระทั่งอาการหนัก ถ่ายเป็นน้ำวันละหลายๆ ครั้งก็ได้

                  สาเหตุของอาการอุจจาระร่วง อาการอุจจาระร่วงเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ มากมาย ได้แก่

                  1. จากการติดเชื้อโรคหรือได้รับอาหารที่มีพิษของเชื้อโรคอยู่ ซึ่งเป็นต้นเหตุที่พบบ่อยที่สุด เชื้อโรคอาจเป็นเชื้อไวรัส บัคเตรี หรือปรสิตก็ได้

                  2. จากยาและสารพิษบางชนิด เช่น กินยาระบายเกินขนาด

                  3. จากความผิดปกติของลำไส้เล็กหรือลำไส้ใหญ่ เช่น ลำไส้เล็กมีการดูดซึมไม่ดี มีเนื้องอกที่ลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

                  4. เกิดจากอารมณ์ตึงเครียดซึ่งมักเป็นหลังกินอาหารใหม่ๆ

                  5. ไม่ทราบสาเหตุ คนบางคนอุจจาระร่วงโดยไม่ทราบสาเหตุก็มี

                  การติดต่อ การติดต่อย่อมขึ้นกับต้นเหตุของอาการอุจจาระร่วง ซึ่งโดยมากแล้วมักจะเกิดจากเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรคที่มีการติดต่อทางระบบทางเดินอาหาร คือกินหรือดื่มเข้าไป

                  ระยะฟักตัว ไม่แน่นอน ขึ้นกับต้นเหตุของอาการอุจจาระร่วง ถ้าเนื่องจากอาหารเป็นพิษ มักมีอาการภายใน12-24 ชั่วโมง ถ้าเนื่องจากเชื้ออหิวาตกโรคและเชื้อไวรัส มีระยะฟักตัว 1-2 วัน

                  อาการ อาการอุจจาระร่วงไม่แน่นอนขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้เกิดอุจจาระร่วง อาการแบ่งได้ดังนี้

                     1.  อุจจาระร่วงเฉียบพลัน มักมีการปวดท้อง ถ่ายเหลว ต่อมาถ่ายเป็นน้ำ อาการเป็นขึ้นทันทีและรวดเร็ว อาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ถ้าถ่ายมาก ๆ อาจมีไข้ อ่อนเพลีย ตาลึกโหล ชีพจรเบา จนถึงช็อกหมดสติ และตายได้ โดยมากเกิดจากอาหารเป็นพิษจากเชื้อไวรัสหรืออหิวาตกโรค ถ้าได้รับการรักษาที่เหมาะสมมักจะหายได้เองภายใน 48 ชั่วโมง

                     2.  อุจจาระร่วงเรื้อรัง คือ ถ่ายเหลววันละไม่กี่ครั้ง ครั้งละไม่มาก แต่เป็นนานหลายวัน หลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน มีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น การดูดซึมของลำไส้เล็กเสียไป เนื้องอกที่ลำไส้ใหญ่ สาเหตุจากจิตใจ จากพยาธิลำไส้บางชนิด

                  โรคแทรกซ้อน โดยทั่วไปมีโรคแทรกซ้อนไม่มากนัก นอกจากรายที่มีอาการรุนแรงหรือมีความต้านทานโรคต่ำอาจมีโรคแทรกซ้อนได้ดังนี้

                     1.  เชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เลือดเป็นพิษ ถ้าให้ยาปฏิชีวนะ และการรักษาไม่ทันก็อาจถึงแก่ชีวิตได้

                     2.  เสียน้ำและเกลือแร่อย่างมาก (จากการถ่ายอุจจาระจนกระทั่งร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรงเกิดภาวะช็อก ไตไม่ทำงาน และอาจตายได้

                  การปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการอุจจาระร่วง

                      1.  ถ้าอุจจาระร่วงไม่มาก อาการไม่หนัก ให้งดอาหารไว้ก่อน แล้วดื่มน้ำผสมผงน้ำตาลเกลือแร่ ที่นิยมเรียกว่า โอ.อาร์.เอส (Oral Rehydration Solution) เพื่อชดเชยน้ำ น้ำตาลและเกลือแร่ที่สูญเสียไป ถ้าหาผงน้ำตาลเกลือแร่ไม่ได้ ก็สามารถผสมเอง โดยมีสูตรดังนี้  น้ำ 1 ขวดกลม (ขวดน้ำปลาผสมกับน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ และเกลือ ½ ช้อนชา ต้มให้เดือดแล้วทิ้งให้เย็นจึงกิน

                      2.  ถ้าอาการเป็นมาก คือ ถ่ายเป็นน้ำหลายครั้ง หรือกินผสมน้ำตาลเกลือแร่แล้วไม่ดีขึ้นอ่อนเพลียมาก ตาลึก ชีพจรเบา ควรนำตัวไปให้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจและรักษาโดยเร็ว

                      3.  ถ้าเป็นอุจจาระร่วงเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุ และให้การรักษาตามต้นเหตุ  ไม่ควรรักษาตัวเอง

                      4.  ระมัดระวังมิให้แพร่เชื้อไปสู่คนอื่น โดยการถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะ แจ้งให้ผู้ใกล้ชิดทราบเพื่อป้องกันตนเอง

                  การควบคุมและป้องกันโรค มีการดำเนินการเป็น 2 ขั้นตอน คือ

                      1. การควบคุมและป้องกันก่อนเกิดโรค ได้แก่

                          1) ป้องกันมิให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย โดยดื่มน้ำที่สะอาดและต้มแล้ว กินอาหารที่สุก ไม่มีแมลงวันตอม งดอาหารประเภทหมักดองและรสจัด

                          2) การสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม ต้องจัดให้มีส้วมที่สะอาดถูกหลักสุขาภิบาล ตลอดจนการกำจัดขยะที่ถูกวิธี และมีแหล่งน้ำบริโภคที่สะอาด ก่อนกินอาหารหรือหยิบสิ่งใดเข้าปากจะต้องล้างมือให้สะอาดเสียก่อน

                     2.  การป้องกันหลังจากเกิดโรค ได้แก่

                        1)  ถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะ

                        2)  รักษาความสะอาดของบ้านเรือนและกำจัดขยะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะตัวของแมลงวัน

                        3)  แจ้งให้ผู้ใกล้ชิดทราบเพื่อระวังป้องกันตนเอง

                        4)  ทำลายอาหารที่สงสัยว่าเป็นต้นเหตุ หรือตรวจสอบอาหารหรือน้ำดื่มที่สงสัยว่าเป็นต้นเหตุ แล้วทำให้สะอาดปราศจากเชื้อโรค เช่น โดยการต้ม

โรคนิ่ว

              โรคนิ่ว คือ โรคที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีสิ่งแปลกปลอมที่มีลักษณะแข็งคล้ายหินอยู่ในร่างกายตามอวัยวะส่วนต่างๆ เช่น ไต กรวยไต หลอดไต กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ถุงน้ำดี เป็นต้น นิ่วตามอวัยวะต่างๆ เหล่านี้มีชื่อเรียกตามตำแหน่งต่างๆ ของชื่ออวัยวะที่ก้อนนิ่วนั้นอยู่ เช่น โรคนิ่วในต่อมลูกหมาก โรคนิ่วในถุงน้ำดี เป็นต้น โรคนิ่วที่พบได้บ่อยและมีผู้ป่วยกันมากเรียงตามลำดับคือ นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ และนิ่วในถุงน้ำดี เป็นอันดับรองลงมา

              ก้อนนิ่วประกอบด้วยเกลือแร่ชนิดต่างๆ หลายชนิดรวมกัน เกลือแร่ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของก้อนนิ่วคือ แคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) ก้อนนิ่วที่อยู่ตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเมื่อขณะยังมีขนาดเล็กอยู่และไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ไปอุดตันท่อต่างๆ หรือไปทับถูกส่วนสำคัญของอวัยวะนั้น ก้อนนิ่วนั้นก็จะไม่เป็นอันตรายแก่ร่างกายแต่อย่างไร แต่ถ้าก้อนนิ่วนั้นมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือไปอยู่ในตำแหน่งที่อุดตันหรือกั้นของเหลวในท่อของอวัยวะนั้นไม่ให้ไหลได้สะดวก หรือไปทับถูกส่วนสำคัญของอวัยวะนั้น ก้อนนิ่วก็จะทำความเจ็บปวดให้กับเราได้

              ก้อนนิ่วเมื่อเกิดขึ้นและไปอยู่ในอวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายแล้ว อาจมีอยู่เพียงก้อนเดียวหรือหลายๆ ก้อนก็ได้ และจะอยู่ที่ตำแหน่งประจำ หรือเคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ ก็ได้ โดยอาจอยู่นานไปตลอดชีวิตหรือจนกว่าผู้ป่วยถูกผ่าตัดเพื่อเอาก้อนนิ่วออก แต่ก้อนนิ่วในอวัยวะบางแห่งอาจหลุดออกมาเองได้ เช่น นิ่วในไตอาจหลุดออกมานอกร่างกายพร้อมกับน้ำปัสสาวะได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อนิ่วที่เกิดขึ้นในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายแม้ได้รับการกำจัดหมดไปแล้ว ก็อาจจะเกิดก้อนนิ่วในอวัยวะส่วนนั้นอีกได้

                     ปัญหาของโรคนิ่ว

                     ปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นโรคนิ่วตามอวัยวะต่าง ๆ กันมาก เกิดขึ้นได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย ส่วนใหญ่แล้วพบว่าผู้ป่วยเป็นเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ นอกจากโรคนิ่วบางชนิดที่พบว่าผู้ป่วยเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก เช่น นิ่วในไตจะพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก เป็นต้น และยังพบอีกว่าคนอาศัยอยู่ในชนบทป่วยเป็นโรคนิ่วมากกว่าคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า และจากการสำรวจของแพทย์พบว่าผู้ป่วยเป็นโรคนิ่วส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

                     แม้ว่าโรคนิ่วจะมีอันตรายไม่ทำให้ผู้ป่วยถึงตายก็ตาม แต่โรคนิ่วจะสร้างความเจ็บปวดทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยอย่างแสนสาหัส นอกจากนี้เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จำเป็นต้องรักษากำจัดนิ่วด้วยวิธีให้แพทย์ผ่าตัดเพื่อเอาก้อนนิ่วออก โรคนิ่วจึงเป็นปัญหาต่อคนเราทั้งในด้านสร้างความเจ็บปวดทำลายสุขภาพ และทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

                     สาเหตุของโรค

                     แต่เดิมนั้นมีผู้เชื่อว่าโรคนิ่วเกิดขึ้นเพราะคนไปดื่มน้ำกระด้างหรือน้ำที่มีส่วนผสมของแร่ธาตุ ต่างๆ อยู่มาก ทำให้หินปูนหรือแร่ธาตุในน้ำที่ดื่มเข้าไปนั้นไปตกตะกอนจับเป็นก้อนอยู่ในร่างกายของคนเราซึ่งนับว่าเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เพราะสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคนิ่วยังไม่เป็นที่ทราบแน่นอน อย่างไรก็ดี จากการวิเคราะห์ทางการแพทย์ พบว่าก้อนนิ่วเป็นหินปูนที่มีสารแคลเซียมออกซาเลตเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ทางการแพทย์จึงสันนิษฐานว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นตัวชักนำให้เกิดโรคนิ่วขึ้น โดยเฉพาะโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ปัจจัยดังกล่าวมีดังนี้

                          1.  ร่างกายขาดความสมดุลของอาหาร โดยร่างกายมีสารจำพวกแคลเซียมออกซาเลตอยู่มาก เกินไป ซึ่งมักเกิดขึ้นกับผู้ที่รับประทานพืชผักที่มีสารแคลเซียมออกซาเลตอยู่มาก เช่น ผักโขม ผักแพว ผักแขยง ผักเลนด์ ผักเสม็ด ผักกระโดน ผักโหมเหม ผักอีฮิน ใบมันสำปะหลัง ใบชะพลู หน่อไม้ มะรุม เป็นต้น หรือร่างกายขาดสารอาหารบางชนิดที่สามารถต่อต้านการตกตะกอนของสารแคลเซียมออกซาเลตที่อาจมีอยู่ในร่างกาย เช่น สารฟอสเฟต ซึ่งมีมากอยู่ในอาหารจำพวกโปรตีนจากเนื้อสัตว์ น้ำนม ไข่ เป็นต้น รายงานทางการแพทย์ที่อาจอนุโลมเป็นข้อสนับสนุนว่า การที่ร่างกายขาดสารฟอสเฟต ซึ่งมีอยู่มากในอาหารจำพวกโปรตีนแล้วอาจทำให้เกิดโรคนิ่ว คือ จากการสำรวจทางการแพทย์ เมื่อ พ..2515 พบว่าประชาชนในภาคเหนือและภาคตะวันออก-เฉียงเหนือ มีผู้ป่วยเป็นโรคนิ่วมากกว่าประชาชนในภาคอื่นๆ และพบว่ามีผู้ที่อยู่นอกเมือง ยิ่งห่างไกลไปในชนบทมากเท่าใดก็ยิ่งเป็นโรคนี้กันมากขึ้น ซึ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในท้องที่ดังกล่าวนี้มักขาดแคลนอาหารจำพวกโปรตีนไว้รับประทาน

                          2.  การเปลี่ยนแปลงภาวะความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำปัสสาวะ การเปลี่ยนแปลงนี้อาจเกิดขึ้นเพราะฤทธิ์ของยาหรือของอาหารก็ได้ ซึ่งผลของการเปลี่ยนแปลงภาวะความเป็นกรดเป็นด่างในน้ำปัสสาวะนี้จะไปทำให้สารต่างๆ ในน้ำปัสสาวะตกตะกอน และอาจกลายเป็นนิ่วได้

                     อาการของโรคนิ่ว

                     อาการของโรคนิ่วจะเป็นไปตามตำแหน่งของอวัยวะที่ก้อนนิ่วนั้นอยู่ ดังตัวอย่างอาการของโรคนิ่วในอวัยวะบางแห่งดังนี้

                     1)  นิ่วในถุงน้ำดี ถุงน้ำดีซึ่งเป็นที่เก็บน้ำดีเพื่อส่งต่อไปให้ลำไส้ใช้ย่อยอาหารนั้น ก็อาจมีนิ่วเกิดขึ้นได้ แต่ยังไม่มีใครทราบสาเหตุที่แท้จริงว่านิ่วในถุงน้ำดีเกิดขึ้นได้อย่างไร ผู้ป่วยเป็นนิ่วในถุงน้ำดีอาจจะมีอาการปวดบริเวณตรงกลางของชายโครงขวาด้านข้างและอาจมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อและเบื่ออาหาร แต่ถ้าก้อนนิ่วเคลื่อนไปอยู่ที่ท่อน้ำดีที่เชื่อมระหว่างถุงน้ำดีกับตับหรือถุงน้ำดีกับลำไส้ ก้อนนิ่วจะไปขัดขวางการไหลของน้ำดีจะทำให้เกิดอาการดีซ่านขึ้นได้ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการตาเหลืองตัวเหลือง

                     ผลของโรคนิ่วที่มีต่อสุขภาพ

                     โรคนิ่วที่เกิดขึ้นในอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ล้วนสามารถสร้างความเจ็บปวดทุกข์ทรมานให้กับร่างกายได้ทั้งสิ้น เพราะนอกจากก้อนนิ่วจะไปทำอันตรายให้อวัยวะที่มันอยู่นั้นเกิดการอักเสบหรือทำงานไม่สะดวกแล้ว ยังจะส่งผลให้อวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายต้องทำงานผิดปกติไปด้วย

                     การป้องกันและรักษาโรคนิ่ว

                     การป้องกัน  เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคนิ่ว จึงเป็นการยากที่จะกำหนดวิธีป้องกันได้แน่ชัด อย่างไรก็ตาม วิธีป้องกันที่เชื่อว่าได้ผลมีดังนี้

                          1.  พยายามดื่มน้ำให้มากๆ โดยเฉพาะในโอกาสที่ร่างกายต้องเสียน้ำไปมาก เช่น เหงื่อออกมาก เป็นไข้ ตัวร้อน อุจจาระร่วง เป็นต้น ต้องรีบดื่มน้ำเข้าไปชดเชยน้ำที่เสียไป ซึ่งจะทำให้ปัสสาวะมีปริมาณเพิ่มขึ้น เป็นการลดความเข้มข้นของน้ำปัสสาวะ รวมทั้งการดื่มน้ำมากๆ ซึ่งทำให้มีการถ่ายปัสสาวะมากๆ นั้น น้ำปัสสาวะอาจไปชะเอาก้อนนิ่วให้หลุดออกมานอกร่างกายได้

                          2.  พยายามรับประทานอาหารที่มีสารอาหารโปรตีนสูงให้มากๆ เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่ว เป็นต้น เพราะอาหารเหล่านี้มีปริมาณของสารฟอสเฟตสูง ซึ่งสารฟอสเฟตจะช่วยต่อต้านไม่ให้สารแคลเซียมออกซาเลตที่อาจมีอยู่ในร่างกายตกตะกอนกลายเป็นนิ่วได้

                          3.  พยายามรับประทานอาหารที่มีสารแคลเซียมออกซาเลตอยู่สูงให้น้อยลง เช่น ใบชะพลู หน่อไม้ เป็นต้น เพราะถ้ารับประทานอาหารจำพวกนี้มาก ร่างกายจะมีสารแคลเซียมออกซาเลตอยู่มาก สารเหล่านี้อาจตกตะกอนกลายเป็นนิ่วได้

                          4.  ถ้าสังเกตว่าคนในละแวกเดียวกันมีผู้ป่วยเป็นโรคนิ่วกันมาก ควรหาเกลือฟอสเฟตมารับประทานเป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดโรคนิ่วขึ้น

                          5.  เมื่อสังเกตเห็นว่ามีอาการผิดปกติเกี่ยวกับปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะขัด ปัสสาวะขุ่นข้น ปัสสาวะมีเลือดปนออกมาด้วย เป็นต้น ควรรีบไปปรึกษาแพทย์

                     การรักษา  การรักษาโรคนิ่วเป็นหน้าที่ของแพทย์ ซึ่งอาจจะรักษาตามอาการหรืออาจจะทำการผ่าตัดเอานิ่วออกจากตัวผู้ป่วย และเมื่อแพทย์ผ่าตัดเอาก้อนนิ่วออกแล้ว จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และควรปฏิบัติตามวิธีป้องกันการเป็นนิ่ว เพราะอาจเกิดเป็นนิ่วขึ้นได้อีก

             


แหล่งที่มา : maceducation.com

อัพเดทล่าสุด