โรคถุงลมโป่งพอง สาเหตุ โรคถุงลมโป่งพอง ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร โรคถุงลมโป่งพอง ct scan


799 ผู้ชม


โรคถุงลมโป่งพอง สาเหตุ โรคถุงลมโป่งพอง ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร โรคถุงลมโป่งพอง ct scan

 

โรคถุงลมพอง

ลักษณะทั่วไป

ถุงลมพอง (ถุงลมปอดโป่งพอง) หมายถึง ภาวะพิการอย่างถาวรของถุงลมในปอด ปกติถุงลมอยู่ปลายสุดของปอด ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนล้าน ๆ ถุง เป็นถุงอากาศเล็ก ๆ มีหลอดเลือดหุ้มอยู่โดยรอบ เป็นที่ซึ่งเกิดการแลกเปลี่ยนอากาศ กล่าวคือ ก๊าซออกซิเจนในถุงลมซึมผ่านผนังถุงลมและหลอดเลือดเข้าไปในกระแสเลือด และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือด ซึมกลับออกมาในถุงลม ถุงลมที่ปกติจะมีผนังที่ยืดหยุ่น ทำให้ถุงลมหดและขยายตัวได้คล้ายฟองน้ำ ซึ่งช่วยให้การแลกเปลี่ยนอากาศเป็นไปอย่างเต็มที่ ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงลมพอง จะมีผนังถุงลมที่เสียความยืดหยุ่นและเปราะง่าย ทำให้ถุงลมสูญเสียหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนอากาศ นอกจากนี้ผนังของถุงลมที่เปราะยังมีการแตกทะลุ ทำให้ถุงลมขนาดเล็ก ๆ หลาย ๆ อันรวมตัวเป็นถุงลมที่โป่งพองและพิการ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้จำนวนพื้นผิวของถุงลมที่ยังทำหน้าที่ได้ทั้งหมดลดน้อยลงกว่าปกติ ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยลง เกิดอาการเหนื่อยหอบง่าย
สาเหตุ

ถุงลมพอง มักเป็นผลแทรกซ้อนของโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากภาวะโรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ เช่น หืด วัณโรค หลอดลมพอง เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้มักจะทำให้หลอดลมตีบแคบ ผู้ป่วยต้องออกแรงหายใจมากกว่าปกติ ทำให้แรงดันในปอดสูง เป็นเหตุให้ถุงลมเกิดความพิการในที่สุด
อาการ

ถุงลมพอง จะมีอาการเหนื่อยหอบง่าย เวลาทำงาน หรือออกแรงซึ่งจะค่อย ๆ เพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นแรมปี จนในที่สุดแม้แต่เวลาพูด หรือเดินก็รู้สึกเหนื่อยง่ายจนกลายเป็นคนพิการไป ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้
สิ่งที่ตรวจพบ

การตรวจร่างกาย ถ้าใช้นิ้วมือเคาะที่หน้าอกของผู้ป่วยจะพบว่ามีเสียงโปร่ง (อาการเคาะโปร่ง) แต่เมื่อใช้เครื่องฟังตรวจปอด จะพบว่าเสียงหายใจค่อย (ฟังไม่ค่อยได้ยิน) บางครั้งอาจได้ยินเสียงกรอบแกรบ (crepitation) เสียงอึ๊ด (rhonchi) หรือเสียงวี้ด (wheezing) เสียงหายใจอาจได้ยินเบากว่าปกติ และได้ยินชัดตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ ในรายที่เป็นมากๆ อาจตรวจพบอาการนิ้วปุ้ม เล็บเขียว ปากเขียว หรือมีภาวะหัวใจวาย (เท้าบวม นอนราบไม่ได้ เส้นเลือดที่คอโป่ง คลำได้ตับโต)
อาการแทรกซ้อน

มักมีโรคปอดอักเสบ แทรกซ้อนเป็นครั้งคราว อาจทำให้เกิดปอดทะลุ จากการที่ถุงลมแตก เมื่อเป็นมาก ๆ ในที่สุดจะเกิดภาวะหัวใจวาย หรือภาวะการหายใจล้มเหลว ผู้ป่วยบางคนที่ไอเรื้อรัง อาจทำให้เกิดโรคไส้เลื่อนได้
การรักษา

1. แนะนำให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีอากาศเสีย หรือการสูดหายใจเอาสารระคายเคืองต่าง ๆ ควรให้ดื่มน้ำมาก ๆ (วันละ 10-15 แก้ว) เพื่อช่วยขับเสมหะ 2. ถ้าไอมากอาจให้ยาขับเสมหะ เช่น มิสต์แอมมอนคาร์บ 1/2 - 1 ช้อนโต๊ะ ทุก 6 ชั่วโมง (ถ้าไม่มีไม่จำเป็นต้องให้) 3. ถ้าหอบหรือปอดมีเสียงดังวี้ด (wheezing) ให้ยาขยายหลอดลม ถ้าหอบมากให้ยากระตุ้นบีตา 2 สูดหรือฉีดอะดรีนาลิน 0.5 มล.เข้าใต้หนัง 4. ถ้าเสลดมีสีเหลืองหรือเขียว ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลีน หรือ อีริโทรไมซิน นาน 7-10 วัน 5. ถ้าไม่ดีขึ้น หรือสงสัยมีภาวะแทรกซ้อน ควรส่งโรงพยาบาล อาจต้องเอกซเรย์ ตรวจเสมหะ ใช้เครื่องมือตรวจส่องหลอดลม (Bronchoscope) ถ้าเป็นระยะท้ายถึงขั้นที่มีภาวะหายใจล้มเหลว (ปอดทำงานไม่ได้) อาจต้องเจาะคอ และใช้เครื่องช่วยหายใจประทังไประยะหนึ่ง ในที่สุดผู้ป่วยจะตายจากปอดอักเสบแทรกซ้อนระหว่างอยู่ในโรงพยาบาล
คำแนะนำ

1. บุหรี่เป็นสาเหตุของโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและถุงลมพอง ดังนั้นจึงควรป้องกันโรคนี้ด้วยการไม่สูบบุหรี่ รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคนี้ควรเลิกบุหรี่โดยเด็ดขาด อาจช่วยป้องกันมิให้โรคลุกลามมากขึ้นได้ 2. ถุงลมส่วนที่พองและเสียหน้าที่ไปแล้ว จะไม่มีทางกลับคืนเช่นปกติ จึงนับว่าเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ การรักษาเพียงแต่ให้ยาบรรเทาอาการ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนเท่านั้น ดังนั้นจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ที่มักคุ้นเป็นประจำ อย่าดิ้นรนเปลี่ยนหมอเปลี่ยนโรงพยาบาลให้สิ้นเปลืองเงินทอง และอย่าซื้อยาชุดกินเอง เพราะอาจเป็นอันตรายได้ 3. ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อเป็นปอดอักเสบได้บ่อย อาจต้องเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลเป็นประจำ เมื่อมีไข้ หรือสงสัยจะติดเชื้อควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที 4. โรคถุงลมพอง อาจมีอาการหายใจหอบแบบเดียวกับโรคหืด แต่ต่างกันที่ผู้ป่วยถุงลมพองจะมีอาการเหนื่อยง่ายอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะหายหอบแล้วก็ตาม ส่วนผู้ป่วยโรคหืด เวลาไม่มีอาการหอบจะเป็นปกติสุขทุกอย่าง
การป้องกัน

โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการไม่สูบบุหรี่

แหล่งที่มา : student.nu.ac.th

อัพเดทล่าสุด