สาเหตุโรคน้ําในหูไม่เท่ากัน ยาแก้โรคน้ําในหูไม่เท่ากัน โรคน้ําในหูไม่เท่ากันเกิดจากอะไร


666 ผู้ชม


สาเหตุโรคน้ําในหูไม่เท่ากัน ยาแก้โรคน้ําในหูไม่เท่ากัน โรคน้ําในหูไม่เท่ากันเกิดจากอะไร

 

 

 


โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นอีกหนึ่งโรคที่คนวัยทำงาน ควรใส่ใจ
เมื่อเช้าตรู่วันอังคาร ดิฉันรู้สึกตัวตื่นตอนตีห้าครึ่ง ระหว่างที่กำลังลุกเพื่อไปเข้าห้องน้ำปรากฎว่า ไม่สามารถทรงตัวได้ และมึนศรีษะมาก คล้าย ๆ บ้านหมุน ในใจตอนนั้นคิดว่า คงเป็นเพราะลุกขึ้นเร็วเกินไปรึเปล่า ก็เลยนอนหลับไปอีกรอบ ตื่นมาอีกทีตอน 6.30 น. อาการก็ยังเหมือนเดิม ลงไปจัดการให้ลูก ๆ อาบน้ำ ทานข้าว แล้วส่งลูก ๆ ไปโรงเรียน กะว่าทานยาแก้ปวดหัว แล้วนอนพักผ่อนสักครึ่งวันอาการคงจะดีขึ้น ปรากฎว่า ตื่นมาก็ยังปวดหัว ลุกขึ้นเดินไม่ไหว ต้องรีบนั่งทันที เพราะบ้านหมุน ทานยา ทานข้าวต้ม ก็อาเจียรออกหมด เริ่มรู้สึกว่าตัวเองอาการแย่แล้ว ในใจตอนนั้นคิดว่า "ความดันแน่ ๆ "

เนื่องจากวันนั้น คุณพ่อบ้านไปต่างจังหวัด ดิฉันจึงได้โทรตามให้น้องที่รู้จักกันมารับไปโรงพยาบาล เมื่อไปถึงปรากฎว่า เดินได้แค่สามสี่ก้าว รู้สึกเซ ๆ เจ้าหน้าที่เลยพารถเข็นมาให้นั่ง แล้วเข็นเข้าห้องฉุกเฉินทันที

หลังจากคุณหมอซักประวัติ ก็ให้น้ำเกลือ แล้วฉีดยาแก้เวียนหัวให้ 1 เข็ม สั่งเจาะเลือดเพื่อตรวจหาสาเหตุ ปรากฎว่า ผลการตรวจเลือดทุกอย่างออกมาปกติ ความดันวัดตลอดทุกชั่วโมง ก็ยังอยู่ในช่วงปกติ คุณหมอเลยฟันธงว่า สาเหตุของอาการที่ดิฉันเป็นทั้งหมดนี้ นั่นคือ "ความดันของน้ำในหูไม่เท่ากัน"

ดิฉันนอนพักผ่อนที่โรงพยาบาล 1 คืน กินน้ำเกลือไป 1 ถุง คุณหมอก็ให้กลับบ้านได้ พร้อมให้ยามาทานต่อ

ใครไม่มาเจอกับตัวเอง ไม่รู้หรอกค่ะว่า อาการเวียนหัวจนบ้านหมุนนั้น มันทรมานขนาดไหน เคยได้ยินแต่คนอื่นเขาพูดกัน พอมาเจอกับตัวเอง ทรมานมาก ๆ เลยค่ะ

ไหน ๆ ก็เกริ่นมาซะยาวแล้ว เพื่อให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้น ดิฉันจึงได้ search หาข้อมูล ไอ้เจ้าโรคน้ำในหูไม่เท่ากันเนี่ย มันคืออะไร สาเหตุเกิดจากอะไร และมีวิธีการรักษาและป้องกันอย่างไร

มาอ่านไปพร้อม ๆ กันนะค่ะ

สาเหตุของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
เนื่องจากหูคนเราประกอบด้วยหูชั้นนอก, หูชั้นกลางและหูชั้นใน หูชั้นในแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนมีลักษณะคล้ายก้นหอยทำหน้าที่รับเสียง กับส่วนที่เป็นอวัยวะรูปเกือกม้า 3 อันมารวมกันทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว หูชั้นในนอกจากจะแบ่งตามหน้าที่แล้วยังแบ่งตามโครงสร้างเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นกระดูก กับส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มภายใน ส่วนที่เป็นกระดูกจะห่อหุ้มส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มภายใน ภายในส่วนเยื่อหุ้มภายในจะมีของเหลวอยู่ เมื่อเกิดพยาธิสภาพของโรคมีเนีย ของเหลวที่อยู่ภายในจะคั่งมาก ทำให้การไหลเวียนไม่สะดวก แรงดันที่เพิ่มขึ้นในหูชั้นในจะขัดขวางการทำงานของกระแสประสาทที่เกี่ยวกับการได้ยินและการทรงตัว ทำให้สูญเสียการได้ยินและสมดุลย์เกิดอาการเวียนศีรษะเมื่อแรงดันมากขึ้นผู้ป่วยจะรู้สึกตึง ๆ ในหูข้างที่ผิดปกติ

อาการของโรค
- อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน เป็นอาการที่พบบ่อยมักพบร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกเกิดขึ้นในทันทีทันใด ระยะเวลาอาจจะอยู่นานกว่า 20 นาทีถึง 2-3 ชั่วโมง อาการดังกล่าวมักเป็นรุนแรงแต่ไม่ทำให้หมดสติหรือเป็นอัมพาตเมื่อหายเวียนศีรษะผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนเป็นปกติ

- หูอื้อ อาจจะเป็นชั่วคราวหรือถาวร ถ้าเป็นระยะแรกการสูญเสียการได้ยินจะเป็นแค่ชั่วคราวหลังจากหายเวียนศีรษะ แล้วการได้ยินจะกลับมาเป็นปกติ แต่ถ้าผู้ป่วยที่มีอาการเวียนบ่อย ๆ หรือเป็นมานานอาการหูอื้อมักจะถาวรบางทีหูหนวกไปเลยก็ได้

- เสียงดังในหู ผู้ป่วยจะมีเสียงดังในหูข้างที่ผิดปกติร่วมด้วย ผู้ป่วยบางคนจะบอกว่ามีเสียงเหมือนจั๊กจั่นหรือจิ้งหรีดร้อง บางคนก็บอกว่าเหมือนเสียงคำรามอยู่ในหูตลอดเวลา เสียงดังในหูอาจเป็นตลอดเวลา หรือเป็นขณะเวียนศีรษะ

- อาการตึง ๆ ภายในหูคล้ายกับมีแรงดัน เกิดจากแรงดันของน้ำในหูชั้นในที่ผิดปกติ

การรักษาทางยา
- ยาขับปัสสาวะ เพื่อลดสภาวะอาการบวมและคั่งของน้ำในหูชั้นใน
- ยาลดอาการเวียนศีรษะและคลื่นไส้อาเจียน ควรใช้ในขณะที่มีอาการเท่านั้น
- ยากล่อมประสาท และยานอนหลับ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายและนอนหลับได้เป็นปกติ
- ยาขยายหลอดเลือด ช่วยลดอาการบวมและคั่งของน้ำในหูชั้นใน

นอกจากนี้การปฏิบัติตัวเพื่อให้ผู้ป่วยลดภาวะ อาการของโรคเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้แก่
- ลดภาวะเครียด ควบคุมอารมณ์ให้เบิกบานแจ่มใส และลดงานบางอย่างที่มากจนเกินไป
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- พักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะการนอนหลับ ถ้ามีเสียงรบกวนในหูมากจนทำให้นอนไม่หลับ ข้อแนะนำที่ดีคือเปิดเพลงเบา ๆ ขณะนอนเพื่อกลบเสียงที่รบกวนในหูให้หมดไป
- หลีกเลี่ยงสิ่งต่อไปนี้ คือ ชา กาแฟ เครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้อาการแย่ลง
- การบริหารระบบการทรงตัว เป็นการบริหารศีรษะและการทรงตัวทำให้สมองสามารถปรับตัวได้รวดเร็วขึ้น
- พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น ในที่มีเสียงดัง แสงแดดจ้าหรืออากาศร้อนอบอ้าว เป็นต้น
- จัดสถานที่ที่บ้าน และที่ทำงานให้ปลอดภัย ทางเดินที่เดินเป็นประจำจะต้องปราศจากของมีคม และตกแตกง่าย
- การควบคุมอาหาร โดยลดอาหารที่มีรสเค็มโดยจำกัดเกลือ แนะนำให้เติมเกลือลงในอาหารวันละไม่เกิน 2 กรัม (ประมาณ 1 ช้อนชา)

การรักษาโดยการผ่าตัด จำเป็นในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาทางยาแล้วไม่ได้ผล

แหล่งที่มา :  share.psu.ac.th

อัพเดทล่าสุด