อาการของโรคกระเพาะอาหาร ยาแก้โรคกระเพาะ รักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ


987 ผู้ชม


อาการของโรคกระเพาะอาหาร ยาแก้โรคกระเพาะ รักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 

 

article_doctor_banner โรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผล
โรคกระเพาะอาหารมีได้หลายโรคเช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร  และโรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผล เป็นต้น อาการของโรคกระเพาะอาหารหรือภาษาอังกฤษเรียกว่าดีสเป็ปเซีย (Dyspepsia) หมายถึงความรู้สึกไม่สบายที่เกิดขึ้นบริเวณช่องท้องส่วนบน (ระหว่างใต้ลิ้นปี่และสะดือ)  เช่นปวดท้อง, ท้องอืดแน่นท้องหลังรับประทานอาหาร, คลื่นไส้, มีลมโครกคราก, อิ่มเร็ว หรือจุกเสียดยอดอก    ผู้ป่วยดีสเป็บเซียเมื่อได้รับการสืบค้นโดยการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร  พบว่าส่วนน้อยที่มีสาเหตุชัดเจน เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น, โรคหลอดอาหารอักเสบ หรือโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร  อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยอีกส่วนใหญ่ประมาณ 60-90% จะไม่สามารถบอกสาเหตุที่ชัดเจนได้  กล่าวคือพบว่ากระเพาะอาหารปกติหรือมีอักเสบเล็กน้อย ไม่มีแผล ไม่มีมะเร็ง เรียกผู้ป่วยกลุ่มนี้ว่าเป็นโรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผล (Functional dyspepsia)
 

ในประเทศไทยความชุกของโรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผล ไม่แตกต่างจากข้อมูลในต่างประเทศ   จากการศึกษาของผู้เขียนโดยสำรวจในผู้ป่วยดีสเป็ปเซีย 1,100 คนพบว่าเป็น โรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผลสูงถึง 90.69% และในผู้ป่วยกลุ่มนี้ 49.72% ตรวจพบเชื้อแบคทีเรียชื่อ เฮลิโคแบคเตอร์  ไพโลไร  (Helicobacter pylori ) ร่วมด้วย

 สาเหตุโรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผล เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่มีสาเหตุหลัก 2 ประการคือ 1) ความไวของประสาทการรับรู้ความรู้สึกของกระเพาะอาหารและลำไส้มากผิดปกติ  โดยเฉพาะต่อกรดหรืออาหารมัน ทำให้เกิดอาการแน่นหรือปวดท้อง  2) กระเพาะอาหารและลำไส้เคลื่อนไหวผิดปกติ เช่นการขยายตัวของกระเพาะอาหารลดลง หรือมีการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ลดลง  มีการศึกษาพบว่ามีการหลั่งสารซึ่งเป็นสื่อนำของระบบประสาทที่อยู่ในผนังกระเพาะอาหารและลำไส้ผิดปกติเช่นโดปามีน (dopamine) หรือ อะเซ็ทติลโฆลีน (acethylcholine) นำไปสู่การเคลื่อนไหวหรือการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ผิดปกติ รวมทั้งทำให้ความไวของประสาทการรับรู้ความรู้สึกของกระเพาะอาหารและลำไส้มากผิดปกติด้วย  ปัจจัยอื่นที่อาจเกี่ยวข้อง เช่น พันธุกรรม ปัจจัยทางจิตใจและความเครียด  หรืออาจเกิดตามหลังการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์  ไพโลไร  หรือการติดเชื้ออื่นๆในระบบทางเดินอาหาร  อย่างไรก็ตามสาเหตุบางอย่างอาจทำให้เกิดอาการเฉพาะในผู้ป่วยบางราย   ขณะที่ผู้ป่วยรายอื่น ๆ อาจไม่ทำให้เกิดอาการก็เป็นได้

 อาการสำคัญของโรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผล โดยทั่วไปอาการของโรคกระเพาะชนิดไม่มีแผล  ไม่สามารถแยกได้จากอาการของโรคแผลในกระเพาะอาหาร อาหารที่สำคัญได้แก่ ปวดหรือจุกแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือหน้าท้องช่วงบน เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด มักเป็นเวลาท้องว่างหรือเวลาหิว อาการจะไม่เป็นตลอดทั้งวัน, อาการปวดหรือแน่นท้อง มักจะบรรเทาได้ด้วยอาหารหรือยาลดกรด ผู้ป่วยบางคนอาการปวดจะเป็นมากขึ้นหลังอาหารโดยเฉพาะอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เป็นต้น, อาการปวดหรือแน่นท้อง มักเป็นๆ หายๆ มานานเป็นปี, บางรายจะไม่มีอาการปวดท้อง แต่จะมีอาการแน่นท้องหรือรู้สึกไม่สบายในท้อง มักจะเป็นบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือกลางท้องรอบสะดือ มักมีท้องอืดร่วมด้วย โดยเฉพาะหลังกินอาหารท้องจะอืดขึ้นชัดเจน มีลมมากในท้อง ท้องร้องโครกคราก ต้องเรอหรือผายลมจะดีขึ้น อาจมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยโดยเฉพาะหลังอาหารแต่ละมื้อหรือช่วงเช้ามืด ผู้ป่วยอาจมีอาการอิ่มง่ายกว่าปกติ ทำให้กินได้น้อยลงและน้ำหนักลดลงบ้างเล็กน้อย, โรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผลนี้จะแบ่งตามลักษณะอาการได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาการคล้ายโรคแผลในกระเพาะอาหาร จะมีอาการปวดท้องเป็นอาการเด่นและกลุ่มอาการที่คล้ายโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เคลื่อนไหวผิดปกติ จะมีอาการท้องอืด แน่นท้อง หรือมีลมโครกครากเป็นอาการเด่น  แม้จะมีอาการเรื้อรังเป็นปี สุขภาพโดยทั่วไปจะไม่ทรุดโทรม ไม่มีน้ำหนักลด ไม่ซีดลง

article_doc_001

 สำหรับการรักษา เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผล ในปัจจุบันจึงยังไม่มียาที่เฉพาะในการรักษาภาวะนี้   อย่างไรก็ตาม  ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักได้รับการรักษาด้วยยาลดกรด   ถึงแม้ปริมาณการสร้างกรดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้น   แต่ร่างกายอาจมีความไวต่อกรดมากกว่าในคนทั่วไป การให้ยาลดกรดจึงอาจได้ผลดีในการรักษา  เร็วๆนี้มียาตัวใหม่ที่ออกฤทธิ์โดยตรงเกี่ยวกับการหลั่งสารซึ่งเป็นสื่อนำของระบบประสาทที่อยู่ในผนังกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่นโดปามีน (dopamine) หรือ อะเซ็ทติลโฆลีน (acethylcholine) โดยช่วยปรับหรือเพิ่มการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารเพื่อช่วยให้ไม่มีอาหารและน้ำย่อยค้างอยู่ในทางเดินอาหารส่วนต้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการท้องอืด แน่นท้อง หรือมีลมโครกครากเป็นอาการเด่น เนื่องจากอาการของผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผล มักเป็นๆหายๆการรักษาโดยทั่วไปควรให้ยาผู้ป่วยนาน 1-3 เดือนจึงจะบอกได้ว่าอาการดีขึ้นจริง ผู้ป่วยบางรายอาจต้องให้ยาติดต่อกันนานหลายเดือนหรือเป็นปี ในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาดังกล่าวอาจพิจารณาใช้ยากำจัดเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์  ไพโลไร ซึ่งผู้ป่วยบางคนจะมีอาการดีขึ้น (ได้ผล 1 ใน 14 ราย) หรือใช้ยาในกลุ่มลดการอักเสบของเยื่อบุผิวกระเพาะอาหาร (mucosal protectants) หรือยาคลายเครียดร่วมด้วย   ตลอดจนการปรับวิธีการรับประทานอาหารและแนวทางการดำเนินชีวิตเพื่อทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น  

 ข้อแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัว

กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย, กินอาหารจำนวนน้อยๆ แต่บ่อย และไม่ควรกินจนอิ่มมากในแต่ละมื้อ, หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของดอง น้ำอัดลม และเครื่องดื่มไม่ควรร้อนจัดหรือเย็นจัดเกินไป, งดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา, งดการใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน และยาแก้ปวดข้อหรือกล้ามเนื้ออักเสบทุกชนิด, ผ่อนคลายความเครียดและวิตกกังวล พักผ่อนให้เพียงพอ, ถ้ามีอาการของภาวะแทรกซ้อน ปวดท้องรุนแรง เบื่ออาหารหรือน้ำหนักลดลงมาก ควรรีบไปพบแพทย์

 ถาม-ตอบ เกี่ยวกับโรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผล

Q : ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผล ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทใดบ้างและควรรับประทานอาหารวันละกี่มื้อแต่ละมื้อควรจะมีปริมาณมากน้อยเท่าใด

A : อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงคือ อาหารรสเผ็ดจัด, เปรี้ยวจัด, ของหมักดอง, อาหารแข็งย่อยยาก, อาหารประเภทที่ต้องทอด หรืออาหารที่มีไขมันมาก เพราะไขมันเป็นสารที่ย่อยยากกว่าสารอาหารชนิดอื่นรวมทั้งอาหารหรือผลไม้ที่กินแล้วทำให้มีอาการมากขึ้น เช่นบางคนกินฝรั่งหรือสับปะรดจะปวดท้องมากขึ้น เป็นต้น ควรรับประทานอาหารอ่อน   อาหารที่ย่อยง่าย  เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแล้วจึงค่อยๆ   กลับมารับประทานอาหารที่ใกล้เคียงปกติได้

โดยทั่วไปควรรับประทานวันละ 6 มื้อ โดยแบ่งปริมาณมาจากมื้ออาหารปกติครึ่งหนึ่ง คือมื้อเช้าแบ่งเป็นเช้าและสาย, มื้อกลางวันแบ่งเป็นกลางวันและบ่าย และมื้อเย็นแบ่งเป็นเย็นและค่ำ รวมเป็น 6 มื้อ จะเห็นได้ว่าแต่ละมื้อจะมีปริมาณอาหารน้อยลงแต่รับประทานให้บ่อยขึ้น ห้ามรับประทานจนอิ่มหรือปริมาณมากเกินไปจะทำให้กระเพาะอาหารขยายตัวมากจะยิ่งกระตุ้นให้ปวดมากขึ้น ไม่ควรรับประทานอาหารผิดเวลาหรือเว้นท้องว่างนานจนเกินไปจะทำให้ปวดท้องมากขึ้น เช่นกัน

Q : โรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผล จะกลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่

A : โรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผลจะไม่กลายเป็นมะเร็ง แม้จะเป็นๆหายๆอยู่นานกี่ปีก็ตาม เนื่องจากพยาธิกำเนิดของโรคมะเร็งของกระเพาะอาหารและโรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผลจะแตกต่างกัน ถ้าเป็นโรคมะเร็งของกระเพาะอาหารจะเริ่มด้วยมะเร็งตั้งแต่เริ่มแรก แต่พึงระวังไว้ด้วยว่าโรคมะเร็งกระเพาะอาหารอาจมาเกิดร่วมกับโรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผลก็ได้ โดยเฉพาะในคนสูงอายุ (อายุมากกว่า 45-50 ปี จะมีโอกาสเกิดมะเร็งได้มากขึ้น) เนื่องจากอาการเริ่มแรกของโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารและโรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผลจะคล้ายกันมาก ไม่สามารถแยกจากกันได้โดยการซักประวัติหรือตรวจร่างกาย จึงจำเป็นต้องได้รับการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารเพื่อช่วยในการวินิจฉัย สำหรับอาการที่ส่อหรือบ่งชี้ว่าอาจมีโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้แก่ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก ซีดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ถ่ายอุจจาระดำหรืออาเจียนเป็นเลือด อาเจียนมากและเป็นติดต่อกันเป็นวัน ในคนสูงอายุหรืออายุมากกว่า 45-50 ปีที่เริ่มมีอาการครั้งแรกหรือผู้ที่มีอาการมานานแล้วมีการเปลี่ยนแปลงของอาการเช่นปวดท้องรุนแรงขึ้น ในภาวะต่างๆเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์

Q : โรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผลจะหายขาดหรือไม่

A : โรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผลเป็นโรคเรื้อรัง เป็นๆหายๆแต่จะไม่มีภาวะแทรกซ้อนเช่นมีเลือดออก ไม่กลายเป็นมะเร็ง และมีการพยากรณ์โรคดี ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผล 86% ยังคงมีอาการต่อเนื่อง 12-20 เดือนแม้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม    เช่นเดียวกับการศึกษาในประเทศอังกฤษซึ่งพบว่า ผู้ป่วย 74% ยังคงมีอาการหลังให้การรักษา 2 ปี   อีกทั้งยังพบว่าผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผลมีแนวโน้มคุณภาพชีวิตที่ต่ำลง ผู้ป่วยบางรายอาจต้องกินยาติดต่อกันนานเป็นปีเพื่อควบคุมไม่ให้มีอาการ สิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยควรปฏิบัติไปตลอดคือการปรับวิธีการรับประทานอาหารและแนวทางการดำเนินชีวิตเพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น แม้ไม่หายขาดแต่จะช่วยลดความทุกข์ทรมานและมีโอกาสกลับเป็นซ้ำลดลงได้อย่างมาก 


แหล่งที่มา : phyathai.com

อัพเดทล่าสุด