ความรู้เรื่องโรคถุงลมโป่งพอง อาการเริ่มแรกของโรคถุงลมโป่งพอง อาหารส่งเสริมสุขภาพ ของ โรคถุงลมโป่งพอง


919 ผู้ชม


ความรู้เรื่องโรคถุงลมโป่งพอง อาการเริ่มแรกของโรคถุงลมโป่งพอง อาหารส่งเสริมสุขภาพ ของ โรคถุงลมโป่งพอง

 

ความรู้เรื่องการรักษาโรคถุงลมโป่งพอง โดยการผ่าตัดและการใส่ลิ้นในหลอดลม

รศ.นพ.กิตติชัย เหลืองทวีบุญ
ศัลยแพทย์ทรวงอก หลอดเลือดและหัวใจ
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
               
โรคถุงลมโป่งพองมีความสำคัญเพราะทำให้คนไข้เหนื่อย และไม่สามารถออกกำลังกายได้เหมือนคนปรกติ และยังอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิตถ้าหากมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดติดเชื้อ หรือมีลมรั่วในช่องปอด เป็นโรคที่ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก ในผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงลมโป่งพองรุนแรงคนไข้จะมีอาการมาก และการรักษาที่ทำได้มักเป็นเพียงการบรรเทาอาการ เช่น การทำกายภาพบำบัด การให้ยาขยายหลอดลมทั้งยาฉีด ยาพ่น มีการรักษาที่อาจทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นที่จะขอกล่าวคือ
               
1. การใส่ลิ้นในหลอดลม 
               
2. การผ่าตัดลดขนาดปอด
               
3. การผ่าตัดปลูกถ่ายปอด 
จะขอกล่าวถึงบทบาทของการรักษาแต่ละอย่างดังนี้
               
 การใส่ลิ้นในหลอดลม 
               
เนื่องจากในโรคถุงลมเกิดจากการทำลายของผนังของถุงลมขนาดเล็ก ๆ ในปอด ทำให้ถุงลมรวมตัวกันเป็นถุงลมขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรเพิ่มขึ้น เพราะลมเข้าไปในถุงลมขณะหายใจเข้า แต่ไม่สามารถออกจากถุงลมขนาดหายใจออกได้ ถุงลมอาจมีการกระจายในปอดทั้งสองข้างอย่างไม่สม่ำเสมอ ตำแหน่งของปอดที่มักมีถุงลมขนาดใหญ่คือ ปอดกลีบบนทั้งสองข้าง ถุงลมนี้ไม่สามารถทำหน้าที่ของปอด คือการแลกเปลี่ยนอากาศได้ และยังอาจเบียดปอดส่วนที่มีความเสียหายน้อยให้แฟบลงไม่สามารถทำหน้าที่ได้เช่นกัน ทำให้คนไข้ต้องใช้แรงในการหายใจมากจึงเหนื่อยง่าย ปอดโดยรวมจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ดันให้กระบังลมโป่งไปในช่องท้อง การทำงานของกระบังลมซึ่งมีความสำคัญต่อกลไกการหายใจของคนเราจะไม่ได้ผลเต็มที่ การตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สามารถค้นหาว่าถุงลมที่โป่งพองได้รับลมมาจากหลอดลมแขนงใด และใช้การส่องกล้องหลอดลมนำลิ้นที่เปิดด้านเดียวใส่ในหลอดลมซึ่งทำให้ลมออกจากถุงลมได้ แต่ลมจะไม่เข้าไปในถุงลม ถุงลมที่โป่งพองก็จะแฟบลง ส่วนของปอดที่ดีกว่าจะไม่ถูกกด สามารถทำงานได้ดีขึ้น ปริมาตรโดยรวมของปอดข้างนั้นก็จะไม่ใหญ่มาก ไม่รบกวนการทำงานของกล้ามเนื้อกระบังลม อาการเหนื่อยของคนไข้ก็จะดีขึ้น การรักษาด้วยวิธีนี้ยังถือว่าค่อนข้างใหม่ และอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ลิ้นอุดตัน ลิ้นเคลื่อนที่ไปจากตำแหน่ง มีลมรั่วในช่องปอด ราคาของลิ้นยังสูงมาก และยังไม่สามารถทำได้ในประเทศไทย 
                
การผ่าตัดลดขนาดปอดมีผู้กล่าวถึงครั้งแรกประมาณ 70 ปีแล้ว แต่แม้ว่าได้ผลในคนไข้บางราย การผ่าตัดนี้ก็ไม่ได้รับความนิยม เพราะมีอัตราตายสูงและการเกิดภาวะแทรกซ้อนคือลมรั่วจากรอยตัดปอดบ่อยมาก ต่อมาการผ่าตัดนี้ได้รับความสนใจอีกครั้งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา สร้างความตื่นเต้นทางการแพทย์เป็นอย่างมาก มีการศึกษาอย่างเป็นระบบในประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาถึงผลของการผ่าตัดเพื่อคัดเลือกว่าคนไข้กลุ่มใดที่เหมาะสมที่จะรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดลดขนาดปอด การผ่าตัดทำได้ 2 วิธีคือ การผ่าตัดแบบเปิดทรวงอก และการผ่าตัดผ่านกล้อง ทั้ง 2 วิธีได้ผลไม่แตกต่างกันนัก ภาวะแทรกซ้อนเรื่องลมรั่วจากรอยตัดปอดมีลดลง เพราะการตัดปอดจะใช้เครื่องมือตัดเย็บปอดอัตโนมัติแทนการเย็บปอดด้วยมือ และอาจเสริมรอยตัดปอดด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น เยื่อบุหัวใจวัว หรือสารสังเคราะห์พวก PTFE กลุ่มคนไข้ถุงลมโป่งพองที่อาจรักษาด้วยการลดขนาดปอดคือ คนไข้ที่มีสมรรถภาพของปอดดีพอสมควร หยุดสูบบุหรี่แล้ว และได้รับการทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูปอดมาบ้าง การตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์พบถุงลมโป่งพองกระจายเฉพาะปอดบางส่วน โดยพบว่าถุงลมโป่งพองที่ปอดกลีบบนให้ผลการรักษาดีกว่าถุงลมทั่วทั้งปอด แม้ว่าการรักษาด้วยเครื่องมือพิเศษนี้ ภาวะแทรกซ้อนเรื่องลมรั่วก็ยังพบบ้าง แต่น้อยกว่าเดิมมาก การคัดเลือกช่วยให้ผลการผ่าตัดดีมากทั้งในแง่อัตราตายในระยะแรกหลังผ่าตัดมีเพียง 5% ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ลดลง เช่น ภาวะหายใจวายต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหลังการผ่าตัด คนไข้เกือบทั้งหมดสามารถหายใจได้เองภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังการผ่าตัด และการเสื่อมถอยของสมรรถภาพปอดในระยะหลาย ๆ ปีหลังการผ่าตัดก็ลดลงกว่ากลุ่มที่ไม่เหมาะสม การผ่าตัดนี้ช่วยให้คนไข้ออกกำลังกายได้มากขึ้น ต้องการใช้ออกซิเจนเสริมลดลง และการต้องนอนโรงพยาบาลในแต่ละปีด้วยปัญหาถุงลมโป่งพอง เช่น ปอดติดเชื้อ หรือหายใจวายลดลงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ผ่าตัด 
               
การผ่าตัดปลูกถ่ายปอดทำได้ 3 วิธีคือ เปลี่ยนปอดข้างเดียว เปลี่ยนปอด 2 ข้าง และเปลี่ยนหัวใจและปอด เริ่มมีการผ่าตัดในโลกในยุคปัจจุบันเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา บัดนี้การปลูกถ่ายปอดถือว่าเป็นการรักษามาตรฐานของโรคปอดระยะสุดท้ายแล้ว แม้ว่าผลการเปลี่ยนปอดในระยะยาวไม่ดีเท่าการเปลี่ยนหัวใจ และไต คือคนไข้จะอยู่รอดเกิน 5 ปีหลังการปลูกถ่ายปอดประมาณ 50% แต่คนไข้ที่ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังเปลี่ยนปอดก็จะมีร่างกายที่แข็งแรงขึ้น ออกกำลังกายได้มากขึ้น และมีอายุยืนยาวกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เปลี่ยนปอด อุปสรรคสำคัญในการเปลี่ยนปอดในประเทศไทยคือ การเปลี่ยนปอดยังไม่สามารถทำได้ในคนไข้ที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติ การขาดแคลนผู้บริจาคปอด และปอดที่บริจาคที่มีคุณภาพที่ดีที่เหมาะสมต่อการปลูกถ่าย ค่าใช้จ่ายที่สำคัญส่วนหนึ่งคือ ค่ายากดภูมิต้านทาน และค่าใช้จ่ายในการรักษาภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อของปอด และภาวะของการอุดกั้นของหลอดลมเล็กในปอดที่ปลูกถ่ายในแต่ละปีค่อนข้างสูง 
               
ดังนั้น การรักษาโรงถุงลมโป่งพองแม้ว่ามีได้หลายวิธีและได้ผลพอสมควร แต่ก็ไม่สามารถทำได้ดีกว่าการงดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่เป็นสาเหตุที่สำคัญมากที่สุดของโรคถุงลมโป่งพองในประเทศไทย
สนับสนุนเนื้อหาโดย DNA ฉบับที่ 43

 

แหล่งที่มา : medicthai.net

อัพเดทล่าสุด