การป้องกันโรคถุงลมโป่งพอง หลักการควบคุมโรคถุงลมโป่งพอง ช่วยโรคถุงลมโป่งพองอย่างไร


790 ผู้ชม


การป้องกันโรคถุงลมโป่งพอง หลักการควบคุมโรคถุงลมโป่งพอง ช่วยโรคถุงลมโป่งพองอย่างไร

 


โรคถุงลมโป่งพอง

โรคถุงลมโป่งพองหรือปอดโป่งนั้น ส่วนใหญ่เกิดเพราะ มีการระคายของหลอดลมอยู่เป็นเวลานานๆ ทำให้ผนังหลอดลมหนาและตีบ ลมออกไม่สะดวก ทำให้ถุงลมโป่งพองออก ตัวระคายที่สำคัญ คือ บุหรี่ ฝุ่น ควัน สิ่งอื่นๆ มีบทบาทน้อย คนสูบบุหรี่ 20-30 มวน ต่อวัน นาน 20-30 ปี นอกจากมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดแล้ว ยังมีโอกาสเกิดโรคถุงลมโป่งพองได้มากอีกด้วย คุณลุงอายุมากจึงพบว่าเป็นโรคนี้มากกว่าคุณป้า โรคนี้ค่อยเป็นค่อยไปแต่ไม่หายขาด มีอาการไอ มีเสมหะ เป็นปีๆ อาการหอบเหนื่อยมักจะมีเสมอ อาจจะหอบมีเสียงอื้ดๆ คล้ายหืดหรือไม่มีเสียงก็ได้ เริ่มแรกหอบเวลาทำงานหนักหรือออกกำลังกายหนักๆเข้า เวลาจะอาบน้ำหรือ กินข้าวก็หอบจนตัวโยน บางคนผอมลงเพราะหอบมาก บางคนก็อ้วนเพราะมีอาการบวมที่เท้า และตัวเพราะมีหัวใจวายร่วมด้วย
 

  
เมื่อทราบว่าเป็นโรคนี้ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
1. ควรงดสูบบุหรี่ จะช่วยลดอาการไอและหอบได้
2. การใช้ยา

2.1 ยาขยายหลอดลม ผลที่ได้อาจจะไม่ชะงัดเท่าพวกที่เป็นโรคหอบหืด แต่ก็จะช่วยทุเลาอาการเป็นบางส่วน มีทั้งยากิน ยาฉีด และยาพ่น ยากลุ่มนี้คล้ายๆ กับที่ใช้รักษาโรคหืด

ยากิน ได้แก่พวก อะมิโนฟิลลิน (Aminophylline), ทีโอฟิลลิน (Theophylline)ขนาด 100-200 มิลลิกรัม กินครั้งละ 1 เม็ด 4 เวลา ยาพวกนี้อาจจะมีอาการไซ้ท้อง ทำให้คลื่นไส้ อาเจียนหรือมีอาการใจสั่นได้ เมื่อมีอาการเช่นนี้ ลองลดขนาดยาดู ยาอื่นก็มี ไอปราดอล (Ipradol), เวนโทลิน (Ventolin), ไบรคาร์นิล (Bricarnyl) ซึ่งพวกนี้ก็เป็นยาที่มีราคาแพงกว่า จะใช้เมื่อยากลุ่มแรกแล้วไม่สามารถระงับอาการหอบได้ ใช้ครั้งละ 1 เม็ด 4 เวลา เมื่อมีอาการใจสั่นมือสั่น ลองลดขนาดเป็นครึ่งเม็ด 4 เวลา ยาดังกล่าว ถ้าใช้แล้วทำให้อาการหอบดีขึ้นก็ควรกินเป็นประจำทุกวัน แต่ถ้ากินแล้วไม่ช่วยให้หายหอบ ก็ไม่ต้องใช้
ยาพ่นสูดเข้าทางจมูก มีพวก เวนโทลิน (Ventolin) 1 กล่อง ใช้ได้ 200 ครั้ง, ไบรคาร์นิล(Bricarnyl) 1 กล่อง ใช้ได้ 400 ครั้ง พ่นเวลาละ 2 ครั้ง 4 เวลา ราคาถูกกว่าแบบกิน แต่มีข้อเสียคือ ถ้าพ่นไม่เป็นยาจะไม่เข้าไป เสียยา เสียเงิน ข้อดี คือ ถ้าพ่นดีๆ เข้าได้ตรงที่กว่า ขนาดยาจึงใช้น้อยกว่า อาการมือสั่นใจสั่นน้อยกว่า รายละเอียดของกาพ่นสูด จะมีในฉลากยา
ยาฉีด ใช้เมื่อมีอาการหอบรุนแรง กินยาแล้วไม่หาย ยาที่ใช้ก็มีอะมิโนฟิลลินผสมน้ำเกลือฉีดหรือหยดเข้าหลอดเลือด การ ใช้ยามักจะต้องให้โดยแพทย์ ในบางรายแพทย์อาจจะพิจารณาให้สเตียรอยด์เข้าหลอดเลือดด้วย

   

2.2 ยาขับปัสสาวะ ในรายที่มีอาการเท้าบวม ตัวบวมด้วยนั้นใช้ยาขับปัสสาวะฮัยโดรคลอโร ไธอะไซด์ (HydrochlorothizI- de)หรือ ลาซิกซ์ (Lasix) ครั้งละ 1 เม็ด ในตอนเช้า ถ้าปัสสาวะออกมาก ควรกิน โปรแตสเซี่ยมคลอไรด์ เข้าไปด้วย
2.3 ยากระตุ้นเสมหะ (Expectorant) เช่น พวกมิสต์ แอมมอนคาร์บ (Mist. Ammon carb) ครั้งละ 15 ซี.ซี. บางคน อาจช่วยให้เสมหะออกง่ายขึ้น
2.4 ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อ เช่น พวกแอมพิซิลลิน (Ampicillin) ขนาด 500 มิลลิกรัมต่อ 1 เม็ด กินวันละ 4 เวลา หรือแบคตริม (Bactrim) ครั้งละ 1 เม็ด 4 เวลา หรือเตตร้าซัยคลีน (Tetracycline) ขนาดเม็ดละ 250 มิลลิกรัม กินครั้งละ 2 เม็ด4 เวลา ใช้เมื่อเวลามีไข้ ไอ มีเสมหะมากกว่าเดิม โดยเฉพาะที่มีสีออกเขียว ใช้นาน 7-10 วัน
2.5 ยาที่ต้องระวัง คือ การใช้ยากล่อมประสาท เช่น ไดอะซีแพม ยาระงับประสาท เช่น พวกบาร์บิทูเรท (Babiturate) ยานอนหลับทั้งหลาย โดยเฉพาะในคนที่หอบมากๆ และนานๆ เพราะจะทำให้หลับมากหรือซึมมากกว่าคนปกติได้
3. การปฏิบัติตัวทั่วๆ ไป

3.1 ควรได้อาหารเพื่อให้ได้พลังงานที่เพียงพอ การกินอาหารครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ จะช่วยลดอาการแน่นอึดอัด ควรดื่มน้ำวันละ 2 ขวด เพื่อไม่ไห้เสมหะแห้งจนเกินไป
 

  


3.2 พยายามรักษาตัวเพื่อไม่ให้เป็นไข้หวัด 
โดยไม่พยายามเข้าใกล้คนที่เป็นหวัด หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ๆ มีฝุ่น ควัน และที่ชุมชนมากๆ

3.3 การออกกำลังกาย ควรจะมีบ้าง การออกกำลังกายโดยการเคลื่อนไหว เช่น การเดิน จะดีกว่าออกแรงอยู่กับที่ ส่วนจะทำได้มากน้อยก็แล้วแต่ทุนเดิมที่มีอยู่ การทำทุกวันแล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ประสิทธิภาพของการออกกำลังดีขึ้น ข้อสำคัญ อย่าหกโหมทำจนหอบมาก

3.4 การฝึกหายใจ ในรายที่มีอาการหอบเหนื่อยมากๆ การฝึกหายใจ อาจช่วยลดความรู้สึกหอบเหนื่อยได้ เช่น

การฝึกกล้ามเนื้อหน้าท้องและกระบังลมให้ถูกต้อง วิธีทำคือ ในท่ายืนหรือนั่งที่สบาย วางมือบนหน้าท้อง หายใจเข้าพร้อมๆกับขยายกล้ามเนื้อหน้าท้องขึ้น สังเกตมือที่วางบนหน้าท้องจะถูกยกขึ้นหายใจออกโดยแขม่วกล้ามเนื้อท้อง ลงช้าๆ ระยะเวลาที่ใช้ หายใจออกนานกว่าหายใจเข้า จนรู้สึกไม่มีลมออกทางจมูกอีก จึงเริ่มหายใจเข้าใหม่ สังเกตขณะหายใจออก มือที่วางจะเคลื่อนลงตามกล้ามเนื้อหน้าท้อง

การฝึกหายใจโดยการทำปากจู๋ เพื่อทำให้ลมหายใจออกได้ช้าลง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดกาตีบตัวของหลอดลมได้ วิธีการคือสูดหายใจเข้าทางจมูก หายใจออกทางปาก โดยจีบปากให้จู๋เข้ามา แล้วผ่อนลมออกช้าๆ
การฝึกหายใจทั้งสองวิธีนี้ จะทำพร้อมกันเลยก็ได้ วิธีนี้เป็นวิธีช่วยที่ดี เพราะไม่สิ้นเปลืองเงินทองสมารถฝึกได้เองโดยไม่ต้องอาศัยผู้อื่น
 

  


3.5 ในช่วงเวลาที่ไม่สบายเป็นหวัด 
เป็นไข้ ไม่ควรออกกำลังมาก
เมื่อได้พยายามปฏิบัติตัวดังกล่าวและได้ลองใช้ยาตามที่แนะนำแล้ว ภายในสองสามวัน ถ้าอาการหอบยังมีมาก ควรจะต้องไปพบแพทย์ที่ดูแลอยู่เป็นประจำว่ามีโรคแทรกซ้อนอื่น เช่น ปอดอักเสบหรือถุงลมแตกเข้าช่องเยื่อหุ้มปอดหรือไม่ 

โรคนี้แม้ว่าจะไม่หายขาด แต่การปฏิบัติตัวดังกล่าวจะมีส่วนทำให้การดำรงชีวิตประจำวัน เป็นไปอย่างมีความสุขพอสมควร

แหล่งที่มา : doctor.or.th

อัพเดทล่าสุด