การป้องกันโรคหัวใจ โรคหัวใจในเด็ก สาเหตุการเป็นโรคหัวใจ


745 ผู้ชม


การป้องกันโรคหัวใจ โรคหัวใจในเด็ก สาเหตุการเป็นโรคหัวใจ

 

 

โรคหัวใจในเด็ก
 

หลายท่านคงจะสงสัยหรือนึกไม่ถึงว่าโรคหัวใจนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กๆและในบางรายยังมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา  บางรายเริ่มมีอาการหรือตรวจพบตั้งแต่แรกเกิดบางรายอาจตรวจพบเมื่อออกจากโรงพยาบาลหลังคลอด หรือมีอาการหลังอายุ 1-2 เดือนไปแล้ว ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดและโรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง

 การป้องกันโรคหัวใจ โรคหัวใจในเด็ก สาเหตุการเป็นโรคหัวใจ

 จากสถิติพบว่าเด็กไทยแรกเกิดทุกๆ1,000 คนจะมี 8 คนที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

        โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเป็นโรคหัวใจในเด็กที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ประมาณร้อยละ 70-80 ของเด็กที่เป็นโรคหัวใจทั้งหมดโรคนี้อาจตรวจพบได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หลังคลอดหรืออาจตรวจพบเมื่อลูกโตแล้วทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของอาการเพราะจำนวนครึ่งหนึ่งของเด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดจะมีอาการหัวใจวายหรือเขียว
ซึ่งต้องการการรักษาหรือผ่าตัดยังไม่ทราบสาเหตุของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดอย่างแน่ชัดอาจเกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรมร่วมกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม  ส่วนน้อยอาจเกิดจากการที่มารดาติดเชื้อหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก หรือกินยาบางชนิด ดื่มเหล้า ได้รับรังสีบางชนิดขณะตั้งครรภ์รวมทั้งมารดาที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก และเป็นโรคเบาหวานหรือโรคทางพันธุกรรมสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดมีอาการตัวเขียว จะมีอาการเขียวโดยเฉพาะปลายมือ ปลายเท้า ริมฝีปากมาแต่กำเนิดหรือไม่กี่เดือนหลังคลอด ในรายที่เป็นมากจะมีนิ้วมือหรือนิ้วเท้าปุ้มๆ ชนิดที่พบบ่อยคือชนิดที่มีรูรั่วที่ผนังกั้นระหว่างห้องล่างของหัวใจร่วมกับการตีบของทางออกของห้องล่างขวา (Tetralogy of Fallot หรือ TOF) ชนิดอื่นๆ ทีสามารถพบได้ เช่น 

  1. ชนิดที่ขั้วหัวใจและปอดสลับกัน (Transposition of great artery หรือ TGA)
  2. ความผิดปกติของเส้นเลือดปอดที่นำเลือดกลับมายังหัวใจ (Total anomalous pulmonary venous connection หรือ TAPVC)
  3. โรคหัวใจพิการแบบซับซ้อน (Cyanotic heart diseise หรือ Complex) 

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่ไม่มีอาการตัวเขียวสามารถแบ่งได้เป็น

  1. การมีความผิดปกติของเส้นเลือดใหญ่ระหว่างหัวใจและปอด (Patent ductus arteriosus หรือ PDA)
  2. การมีรูรั่วของผนังกั้นระหว่างห้องหัวใจห้องบน (Atrial septal defect หรือ ASD)
  3. การมีรูรั่วของผนังกั้นระหว่างห้องหัวใจห้องล่าง (Ventricular septal defect หรือ VSD)

     อาการที่พบขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคบางรายอาจไม่มีความผิดปกติเลยในขณะที่บางรายมีอาการรุนแรงและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิต เนื่องจากความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดมีมากจนไม่สามารถปรับตัวให้อยู่ได้หลังคลอดหรือบางรายอาจมีโรคแทรกทำให้อาการทางหัวใจเลวลงจนเสียชีวิตหรือบางรายอาจได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง ทันท่วงที จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

 การป้องกันโรคหัวใจ โรคหัวใจในเด็ก สาเหตุการเป็นโรคหัวใจ 

     โรคหัวใจในเด็กที่เกิดขึ้นหลังคลอด แบ่งได้เป็นโรคหัวใจชนิดต่างๆ ซึ่งที่พบได้บ่อยคือ โรคหัวใจรูมาติก เกิดจากโรคไข้รูมาติก ซึ่งอาการของไข้รูมาติกคือเป็นไข้ ปวดบวมตามข้อ มีผื่นแดงที่ผิวหนังมีตุ่มแข็งที่ชั้นใต้ผิวหนังและถ้ามีหัวใจอักเสบร่วมด้วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หอบ บวมที่เท้าและขา โรคนี้มักพบได้ในเด็กโตอายุ 5 ปีขึ้นไปถ้าได้รับการรักษาที่รวดเร็วและถูกต้องจะป้องกันการเกิดโรคหัวใจรูมาติกได้อย่างไรก็ตามหากเป็นแล้วต้องระวังเพราะโรคนี้รักษาให้หายขาดได้ยากมาก
แต่ทั้งนี้ด้วยสาธารณสุขที่ดีขึ้น ทำให้อัตราการเกิดโรคหัวใจรูมาติกลดลงไปมาก

     โรคคาวาซากิ สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดพบบ่อยในเด็กที่อายุต่ำกว่า 4 ปี อาการจะเริ่มจากมีไข้สูง 3-5 วัน ตาแดง ริมฝีปากแดง มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต มีผื่น หรือมือเท้าบวมภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญและเป็นสาเหตุของโรคนี้คือการโป่งพองของเส้นเลือดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอาจทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือด ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน แต่หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงทีก็จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนของหัวใจได้

    โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งเชื้อไวรัสทุกชนิดจะสามารถทำให้เกิดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจได้ เชื้อไวรัสที่พบบ่อยว่าเป็นสาเหตุของโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบคือเชื้อคอกซากิไวรัส เด็กที่ป่วยจะมีอาการติดเชื้อไวรัสนำมาก่อนคือ เป็นไข้มีผื่นขึ้น อ่อนเพลีย อาจมีอาการหอบ หัวใจเต้นเร็วและหัวใจวาย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

      นอกจากนี้ โรคหัวใจในเด็กที่พบได้ยังมีโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและโรคหัวใจอันเกิดจากโรคอื่นๆ ได้แก่ โรคหัวใจที่เกิดจากภาวะโลหิตจาง
โรคทาลัสซีเมีย ไตวายเรื้อรังและความผิดปกติทางพันธุกรรม แม้ว่าจะไม่มีวิธีใดที่จะป้องกันโรคหัวใจได้ 100% แต่ก็สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจในเด็กได้โดยสำหรับผู้หญิงที่มีโรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์ หลีกเลี่ยงการมีบุตรเมื่อมีอายุมาก
      หากมารดาไม่เคยเป็นโรคหัดเยอรมันมาก่อนหรือไม่เคยได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้ ก็ควรฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือนหลีกเลี่ยงการใช้ยาขณะตั้งครรภ์ หากจำเป็นควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง และงดสิ่งเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด หลีกเลี่ยงการฉายรังสีหรือกัมมันตรังสีอื่นๆ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของอายุครรภ์ หลีกเลี่ยงการเข้าที่ชุมชน  ซึ่งเป็นการเลี่ยงต่อการติดเชื้อโรคทั้งไวรัสและแบคทีเรีย มารดาที่เคยมีบุตรเป็นโรคหัวใจหรือมีความผิดปกติทางโครโมโซม  ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อพิจารณาการตรวจพิเศษให้ทราบระหว่างการมีครรภ์ ปัจจุบันการตรวจอัลตราซาวน์หัวใจขณะตั้งครรภ์ได้ 18-20 สัปดาห์จะช่วยวินิจฉัยได้

แหล่งที่มา : heart.kku.ac.th , pcsf.org

อัพเดทล่าสุด