สมุนไพรรักษาโรคเบาหวาน ยาสมุนไพรแก้โรคเบาหวาน ยาสมุนไพรรักษาโรคเบาหวาน


1,177 ผู้ชม


สมุนไพรรักษาโรคเบาหวาน ยาสมุนไพรแก้โรคเบาหวาน ยาสมุนไพรรักษาโรคเบาหวาน

 

สมุนไพรรักษาเบาหวาน

          วิธีการดูแลรักษาโรคเบาหวานที่สำคัญคือการคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ใน เกณฑ์ปกติ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลายอย่าง เช่น การออกกำลังกายเพื่อให้อินซูลินทำงานได้ดีขึ้นและช่วยคุมน้ำหนัก การกินอาหารเพื่อให้ได้ทั้งพลังงานและผลดีต่อสุขภาพ การกินยาอย่างถูกต้องสม่ำเสมอและการใช้สมุนไพรอย่างถูกต้อง
          ในส่วนการใช้ยาเม็ดลดน้ำตาลนั้น เป็นการรักษาเพื่อให้มีอินซูลินออกมาให้พอเพียงที่จะลดระดับน้ำตาลในเลือดลง มาสู่ปกติ แต่ไม่ได้เป็นการยับยั้งการดำเนินโรคของเบาหวาน ซึ่งจะมีการสร้างอินซูลินลดลงเป็นลำดับ จนกระทั่งไม่สามารถกระตุ้นให้มีการหลั่งอินซูลินออกมาได้เพียงพอที่จะลด ระดับน้ำตาลในเลือดได้ สุดท้ายต้องพึ่งการฉีดอินซูลิน
          การแสวงหาทางออกเพื่อยืดระยะเวลาการไปถึงจุดนั้นจึงมีอยู่เป็นปกติของผู้ ป่วยโรคนี้ เป็นเหตุให้สมุนไพรได้รับความนิยมจากผู้ป่วยเบาหวานทั้งหลาย รวมทั้งยังมีผู้คนอีกจำนวนมากเข้าใจผิดว่าโรคเบาหวานสามารถรักษาให้หายขาด ได้ด้วยสมุนไพร
          การใช้สมุนไพรนั้นมิใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์เสียทีเดียว เนื่องสมุนไพรหลายชนิดมีรายงานการศึกษาว่ามีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งยังพบประโยชน์ของสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดไขมันในเลือด หรือช่วยให้มีการไหลเวียนของหลอดเลือดเล็กๆ ส่วนปลายดีขึ้น มีวิตามินและเกลือแร่ที่มีประโยชน์อีกด้วย
          ดังนั้น การรู้เรื่องของโรคและรู้จักสมุนไพรให้ดีจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้ คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นและลดค่ายาแผนปัจจุบันที่ประเทศไทยต้องนำเข้าจาก ต่างประเทศ ถือเป็นการช่วยชาติอย่างหนึ่ง แต่ขอย้ำว่าต้องอยู่บน “พื้นฐานของความรู้” ซึ่งมีหลักการเลือกใช้สมุนไพร ดังนี้
•    เป็นพืชผักที่กินกันอยู่แล้ว หาง่าย มีความปลอดภัยสูง
•    มีรายงานการศึกษาสนับสนุนว่าสามารถลดน้ำตาลในเลือดและมีส่วนช่วยคุมน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวาน
•    มีประโยชน์อื่นๆ นอกจากช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เช่น มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีวิตามินและเกลือแร่ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวาน
•    มีการยอมรับและใช้ระดับสากล แพร่หลายในตลาดอาหารสุขภาพ   
จากหลักการดังกล่าวข้างต้น สมุนไพรที่มีความโดดเด่นมากที่สุดคือ มะระขี้นก ตำลึง และผักเชียงดา
      มะระขี้นก
         
 ขม ขรุขระ ชนะเบาหวาน

           ชื่อวิทยาศาสตร์ Momordica charantia (L.)
           วงศ์ Cucurbitaceae
           ชื่ออื่นๆ ผัก ไห่ มะไห่ มะนอย มะห่วย ผักไซ (เหนือ) สุพะซู สุพะเด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ผักไห (นครศรีธรรมราช) ระ (ใต้) ผักสะไล ผักไส่ (อีสาน) โกควยเกี๋ยะ โควกวย (จีน) มะระเล็ก มะระขี้นก (ทั่วไป) Bitter Cucumber
          ลักษณะ เป็นไม้เลื้อยอายุปีเดียว มีมือเกาะเป็นเส้นยาวออกตรงข้ามใบ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปฝ่ามือ กว้างและยาวประมาณ ๔-๗ เซนติเมตร ขอบใบเว้าเป็นแฉกลึก ๕-๗ แฉก เนื้อใบบาง ก้านใบยาว ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบ แยกเป็นดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน กลีบดอกสีเหลืองรูประฆัง ผลเป็นรูปรี หัวท้ายแหลม ผิวขรุขระ มีรสขมจัด ผลแก่จัดจะมีสีแดง มะระเป็นพืชที่ขึ้นง่ายตามป่า และสามารถนำมาปลูกเป็นพืชสวนครัวได้ 
          การใช้ประโยชน์อื่นๆ มะระขี้นก เป็นผักพื้นบ้านของไทย คนไทยทุกภาคนำยอดอ่อนและผลอ่อนมาปรุงเป็นอาหารโดยนำมาลวกเป็นผักจิ้ม อาจจะนำไปผัดหรือแกงร่วมกับผักอื่นแต่นิยมลวกน้ำและเทน้ำทิ้งก่อนเพื่อลด ความขม มีวิตามินเอและซีสูง ในส่วนของจีน พม่า อินเดีย แอฟริกาและอเมริกาใต้ก็กินเป็นผักเช่นเดียวกัน โดยอินเดียจะปรุงเป็นแกง ศรีลังกานำไปปรุงเป็นผักดอง อินโดนีเซียกินเป็นผักสด
          การใช้ประโยชน์ทางยา มีการนำมาใช้รักษาโรคเบาหวาน พบในตำรับยาพื้นบ้านของทางอินเดียและศรีลังกา ซึ่งแพทย์แผนปัจจุบันในประเทศอินเดีย แพทย์แผนเดิมของพม่าและแพทย์จีน มีการสั่งจ่ายมะระขี้นกเป็นสมุนไพรเดี่ยวให้กับผู้ป่วยเบาหวาน
รายงานการศึกษาวิจัย
          สรรพคุณลดน้ำตาลในเลือด มีรายงานการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอินเดีย พบฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในสัตว์ทดลอง และผู้ป่วยเบาหวาน และสามารถชะลอการเกิดต้อกระจกซึ่งเป็นอาการแทรกซ้อนของโรคเบาหวานได้
          จากผลการวิจัยสรุปว่ามะระมีกลไกการออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้หลายวิธี คือ ออกฤทธิ์คล้ายอินซูลิน ออกฤทธิ์เกี่ยวกับการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน ออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์กลูโคส และเพิ่มการใช้กลูโคสในตับ องค์ประกอบทางเคมีที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดคือ อินซูลิน คาแรนทิน (charantin) และไวซีน (vicine) 
          ส่วนการทดลองทางคลินิกมีรายงานว่าน้ำคั้นจากมะระขี้นก ๕๐ มิลลิลิตร และ ๑๐๐ มิลลิลิตร เพิ่มความทนต่อน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ ๒ ได้ และยังพบเช่นเดิมในผู้ที่กินผลมะระแห้ง ๐.๒๓ กิโลกรัมต่อวันเป็นเวลา ๘-๑๑ สัปดาห์ และกินผงมะระขี้นกแห้ง ๕๐ มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัม เป็นเวลา ๗ วัน
          ความเป็นพิษ การศึกษาด้านพิษวิทยาและความปลอดภัยของมะระขี้นก พบว่าเมล็ดมีสารโมมอร์คาริน (momorcharin) ประกอบที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ในสัตว์ทดลองคือ สารดังกล่าวมีฤทธิ์ทำให้แท้งในหนูถีบจักร ไม่มีพิษต่อเซลล์ แต่มีผลกระทบต่อเซลล์ของตัวอ่อนในระยะสร้างอวัยวะ ทำให้ส่วนหัว ลำตัว และขามีรูปร่างผิดปกติ แต่เมล็ดก็สามารถแยกส่วนออกไปได้ง่าย ดังนั้น จึงน่าจะมีความปลอดภัยในการนำมาใช้พอสมควร     
          มะระขี้นกจึงเป็นพืชผักสมุนไพรตัวแรกที่ควรส่งเสริมให้ใช้เป็นสมุนไพรคู่ใจ ผู้ป่วยเบาหวาน จากการที่มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงสรรพคุณการลดน้ำตาลในเลือดทั้งในสัตว์ ทดลองและในคนเป็นจำนวนมาก และรูปแบบวิธีใช้ที่ให้ผลลดน้ำตาลในเลือดก็ไม่ซับซ้อน คือสามารถใช้ได้ทั้งน้ำคั้น ชงเป็นชา หรือกินในรูปแบบของแคปซูล ผงแห้ง ซึ่งจากประสบการณ์ของชาวบ้านไทยมีวิธีการใช้มะระขี้นกควบคุมระดับน้ำตาลใน เลือดดังนี้
ตัวอย่างตำรับยาเบาหวาน
ตำรับยา ๑ : น้ำคั้นสด
นำผลมะระขี้นกสด ๘-๑๐ ผล นำเมล็ดในออก ใส่น้ำลงไปเล็กน้อย ปั่นให้ละเอียด กรองกากออกจะได้น้ำดื่มประมาณ ๑๐๐ มิลลิลิตร (หรือกินทั้งกากก็ได้) กินทุกวันติดต่อกัน แบ่งกินวันละ ๓ เวลา
ตำรับยา ๒ : ทำเป็นชา
นำเนื้อมะระผลเล็ก (มีตัวยามาก) ผ่านำเมล็ดออก หั่นเนื้อมะระเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาชงกับน้ำเดือด (มะระ ๑-๒ ชิ้น น้ำ ๑ ถ้วย) ดื่มเป็นน้ำชา ครั้งละ ๒ ถ้วย วันละ ๓ เวลา หรือจะต้มน้ำดื่มก็ได้ หรือใส่กระติกน้ำร้อนต้มดื่มเป็นกระติกปริมาณมากก็สะดวกดื่มไปเรื่อยๆ แทนน้ำเป็นเวลาประมาณ ๓ สัปดาห์ ไม่เกิน ๑ เดือนก็เห็นผลให้   
ตำรับยา ๓ : ทำเป็นแคปซูลหรือลูกกลอน
กินมะระขี้นก ๕๐๐-๑,๐๐๐ มิลลิกรัม วันละ ๑-๒ ครั้ง
ข้อควรระวังคือ คนท้อง เด็กและคนที่มีน้ำตาลในเลือดต่ำไม่ควรกิน
   ผักตำลึง
         ยาเบาหวาน คลานตามรั้ว

          ชื่อวิทยาศาสตร์ Coccinia grandis (L.) Voigt, Coccinia cordifolia Gagnep
          วงศ์ Cucurbitaceae
          ชื่ออื่นๆ ผักแคบ (ภาคเหนือ) แคเต๊าะ (แม่ฮ่องสอน) ผักตำนิน (อีสาน)
การใช้ประโยชน์อื่นๆ 
          ตำลึงเป็นผักที่นิยมนำยอดมาลวกหรือนึ่ง เป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือนำยอดอ่อน ใบอ่อนมาปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย เช่น แกงจืด แกงเลียง ใส่ก๋วยเตี๋ยว ผัดน้ำมัน ใส่ในแกงแค แกงปลาแห้ง ผลอ่อนนำมานึ่งกิน ดองกินกับน้ำพริกได้ ผลอ่อนที่ก้านดอกเริ่มจะหลุดกินสดได้กรอบอร่อย ไม่ขม เป็นยาบำรุงสุขภาพ รักษาปากเป็นแผล ผลอ่อนที่ยังหนุ่มๆ อยู่จะมีรสขมต้องคั้นน้ำเกลือให้หายขมก่อนนำมาแกง ส่วนผลสุกคนกินได้ สัตว์ก็ชอบกิน
          นอกจากนี้ ตำลึงยังเป็นผักที่ใช้แทนผงชูรสได้ โดยนำใบทั้งแก่ทั้งอ่อนประมาณกำมือใส่ต้มไก่ ต้มปลา ต้มเป็ด จะมีรสชาติออกมาหวานนัวเหมือนกับใส่ผงชูรส
          ตำลึงมีวิตามินเอสูงเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการตามัวจากการขาดวิตามินเอ และเหมาะกับคนผิวแห้งไม่มีน้ำมีนวล เพราะนอกจากจะมีวิตามินเอสูงแล้วยังมีวิตามินบี ๓ ที่ช่วยบำรุงผิวหนังได้เป็นอย่างดี
          ตำลึงเป็นผักที่อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุ มากคุณค่าทางโภชนาการ ให้แคลเซียมสูงน้องๆ นม การกินผักตำลึงเป็นประจำจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง กระดูกแข็งแรง
การใช้ประโยชน์ทางยา
          ตำลึงเป็นสมุนไพรที่นิยมใช้รักษาโรคผิวหนังพวกผื่นแพ้ ตำแย หมามุ่ย หนอนคัน บุ้ง หอยคัน มดคันไป ผื่นคันจากน้ำเสีย ผื่นคันจากละอองข้าว ผื่นคันชนิดที่ไม่รู้สาเหตุ เริม งูสวัด สุกใส หิด สิว ฝีหนอง เป็นต้น
          ส่วนการกินตำลึงจะช่วยระบายท้อง ลดการอึดอัดท้องหลังกินอาหารเนื่องจากมีสารช่วยย่อยแป้ง และช่วยแก้ร้อนใน เป็นต้น
          ที่สำคัญคือตำลึงเป็นยาพื้นบ้านใช้รักษาเบาหวาน ทั้งราก เถา ใบ ใช้ได้หมด มีสูตรตำรับหลากหลาย และในตำราอายุรเวทก็มีการใช้เป็นยารักษาเบาหวานมานานนับพันปี ชาวเบงกอลในอินเดียใช้ตำลึงเป็นยาประจำวันสำหรับแก้โรคเบาหวาน
รายงานการศึกษาวิจัย
          สำหรับการรักษาเบาหวานด้วยตำลึงนั้น ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับตำลึงจำนวนมากและเป็นสมุนไพรที่น่าเชื่อ ถือได้มากที่สุดตัวหนึ่ง จากการทบทวนผลการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับสรรพคุณของสมุนไพรลด น้ำตาลในเลือดของทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่าตำลึงและโสมมีหลักฐานสนับสนุนประสิทธิผลการลดน้ำตาลดีที่สุด
          ตำลึงแสดงผลการลดน้ำตาลทั้งในคนและสัตว์ทดลอง
          สรรพคุณของตำลึงที่ช่วยลดน้ำตาล คือ ใบ ราก ผล มีการศึกษาพบว่าการกินตำลึงวันละ ๕๐ กรัม (ครึ่งขีด) ทุกวันสามารถรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่ได้
ข้อดีของตำลึงคือปลูกง่าย หาง่ายและราคาถูกกว่าโสมมากโดยเฉพาะในบ้านเรา
 
ตัวอย่างตำรับยาเบาหวาน
ตำรับ ๑ : นำรากผักตำลึง รากผักหวานป่า รากฟักข้าว รากกุ่มน้ำ รากุ่มบก ต้มกินติดต่อกันไปเรื่อยๆ
ตำรับ ๒ : ข้อรากผักตำลึงฝนกับน้ำดื่ม หรือใช้เถาผักตำลึงสับเป็นท่อนๆ ยาว ๒-๓ นิ้ว จำนวน ๑ กำมือ ใส่น้ำพอท่วม ต้มนาน ๑๕-๒๐ นาที นำมาดื่มเช้า-เย็น ติดต่อกันอย่างน้อย ๗-๑๐ วัน ช่วยลดน้ำตาลในเลือด หรืออาจใช้ส่วนของต้น ใบ และราก ต้มรวมกันแทนเถาอย่างเดียวก็ได้
ตำรับ ๓ : นำ ยอดตำลึง ๑ กำมือหรือขนาดที่กินพออิ่มโรยเกลือหรือเหยาะน้ำปลา (เพื่อให้อร่อยพอกินได้) ห่อด้วยใบตอง นำไปเผาไฟให้สุกแล้วกินให้หมด หรือกินจนอิ่ม กินก่อนนอนติดต่อกัน ๓ เดือน
   
    ผักเชียงดา
         เกิดมาฆ่าน้ำตาล

          ชื่อวิทยาศาสตร์ Gymnema inodorum (Lour.) Decne.
          วงศ์ Asclepiadaceae
          ชื่ออื่น ผักจินดา ผักเซียงดา (เหนือ)
ลักษณะทั่วไป ไม้เถาเลื้อยยาว เถาสีเขียว ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาวเหมือนน้ำนม ใบ เดี่ยว รูปกลมรี ท้องใบเขียวแก่กว่าหลังใบ ใบออกตรงข้อเป็นคู่ๆ
ดอกออกเป็นกระจุกแน่นสีขาวอมเขียว ดอกย่อยขนาดเล็ก ผลเป็นฝักคู่
การใช้ประโยชน์อื่นๆ
          ยอดอ่อนและใบอ่อนของผักเชียงดา นำมากินเป็นผัก มีรสขมอ่อนๆ และมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก
          ผักเชียงดานิยมนำมาปรุงอาหารรวมกับผักอื่นๆ เช่น ใช้อุ๊บรวมกับผักอื่น ผสมในแกงแค แกงเขียว แกงเลียง ต้มเลือดหมู ผัดรวมกับมะเขือ ไม่นิยมนำมาแกงหรือผัดเฉพาะผักเชียงดาอย่างเดียวเพราะรสชาติจะออกขมเฝื่อน (แต่ก็มีบางคนชอบ)
          ปัจจุบันเริ่มมีเกษตรกรนำผักเชียงดามาปลูกเป็นแปลงขนาดใหญ่เพื่อเก็บยอดขาย เป็นเชิงการค้า เช่น จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน และจันทบุรี สามารถพบผักเชียงดาขายอยู่ที่ตลาดในตัวเมืองเชียงใหม่
การใช้ประโยชน์ทางยา 
          ผักเชียงดาเป็นผักที่หมอยาพื้นบ้านใช้เป็นผักเพิ่มกำลังในการทำงานหนักและ ใช้เป็นยารักษาเบาหวานเช่นเดียวกับอินเดียและประเทศแถบเอเชียมานานกว่า ๒ พันปีแล้ว
          ผักเชียงดาสามารถนำไปใช้ลดน้ำหนัก เพราะว่าผักเชียงดาช่วยให้มีการนำน้ำตาลไปเผาผลาญมากกว่าการนำไปสร้างเป็น ไขมันสะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และพบมีรายงานการศึกษาว่าผักเชียงดาสามารถช่วยลดน้ำหนักได้จริง
          แคปซูลผักเชียงดายังมีวางขายในร้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในรูปแบบผงแห้งที่มีการควบคุมมาตรฐานของกรดไกนีมิก (gynemic acid) ต้องมีไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๒๕ คือ ๑ แคปซูลส่วนใหญ่จะมีผงยาของเชียงดาอยู่ ๕๐๐ มิลลิกรัม
          การศึกษาในคนพบว่าใช้สารออกฤทธิ์ประมาณ ๔๐๐-๖๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน หรือประมาณ ๘-๑๒ กรัมของผงแห้งต่อวันโดยกินครั้ง ๔ กรัม วันละ ๒-๓ ครั้งก่อนอาหาร 
รายงานการศึกษาวิจัย 
          นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าผักเชียงดามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๙ และปี พ.ศ.๒๕๒๔ มีการยืนยันผลการลดน้ำตาลในเลือดและเพิ่มปริมาณอินซูลินในสัตว์ทดลองและในคน ที่เป็นอาสาสมัครที่แข็งแรง พบว่าผักเชียงดาไปฟื้นฟูบีตาเซลล์ของตับอ่อน (อวัยวะที่สร้างอินซูลิน) ทำให้ผักเชียงดาสามารถช่วยคุมน้ำตาลได้ในคนเป็นเบาหวานทั้งชนิดที่ ๑ และชนิดที่ ๒
          นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๓ เป็นต้นมามีการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบประสิทธิภาพ กลไกออกฤทธิ์ ในการลดน้ำตาลในเลือดและมีการศึกษาความเป็นพิษอย่างมากมาย ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาที่มหาวิทยาลัยมาดราส ประเทศอินเดียโดยศึกษาผลของผักเชียงดาในหนูด้วยการให้สารพิษที่ทำลายบีตา เซลล์ในตับอ่อนของหนู พบว่าหนูที่ได้รับผักเชียงดา (ทั้งในรูปของผงแห้งและสารสกัด) มีระดับน้ำตาลในเลือดกลับมาเป็นปกติภายใน ๒๐-๖๐ วัน ระดับอินซูลินกลับมาเป็นปกติ และจำนวนของบีตาเซลล์เพิ่มขึ้น
          ในปีเดียวกันนี้ มีการศึกษาผลของผักเชียงดาในผู้ป่วยโรคเบาหวานพบว่าผักเชียงดาสามารถลดการ ใช้ยารักษาเบาหวานแผนปัจจุบัน และบางรายสามารถเลิกใช้ยาแผนปัจจุบันโดยใช้แต่ผักเชียงดาอย่างเดียวสำหรับ การคุมระดับน้ำตาลในเลือด
          จากการศึกษานี้ ยังพบว่าปริมาณของระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (hemoglobin A1c) ลดลง (ปริมาณสารตัวนี้แสดงให้เห็นว่าการกินผักเชียงดาทำให้ระดับของน้ำตาลในเลือด ในช่วง ๒-๔ เดือนที่ผ่านมามีความสม่ำเสมอ ถ้าลดลงแสดงว่าคุมระดับน้ำตาลได้ดี ซึ่งเป็นการลดโอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด จากการป่วยเป็นโรคเบาหวาน) และปริมาณอินซูลินเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับการรักษาเบา หวาน นอกจากปริมาณอินซูลินจะไม่เพิ่มขึ้นแล้วปริมาณของระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมยัง เพิ่มขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่าสารสกัดผักเชียงดาสามารถลดปริมาณการใช้อินซูลินได้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลินได้อีกด้วย
ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นได้ค้นพบว่าผักเชียงดาสามารถยับยั้งการดูดซึมของน้ำตาลจากลำไส้เล็ก
          ปี พ.ศ.๒๕๔๔ นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Nippon Veterinary and Animal Science University ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นได้ตีพิมพ์ผลงานวิเคราะห์สารบริสุทธิ์ (pure compound) ที่เป็นตัวออกฤทธิ์ในการลดน้ำตาลจากใบของผักเชียงดาโดยใช้วิธีเทียบเคียง สูตรโครงสร้างของสารออกฤทธิ์ตามธรรมชาติด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Structure-activity relationship (SAR) และได้ออกแบบสูตรโครงสร้างของสาระสำคัญ ๔ ตัว (GIA-1, GiA-2, GIA-5, และ GIA-7) ซึ่งพิสูจน์ฤทธิ์ในหนูทดลองแล้วว่าสามารถลดระดับน้ำตาลได้ จึงทำการสังเคราะห์สารสำคัญดังกล่าวขึ้นมา วิธีการนี้ได้สารออกฤทธิ์ที่แม่นยำและมีปริมาณสูง ช่วยลดปริมาณความต้องการใช้สารออกฤทธิ์ตามธรรมชาติจากใบของผักเชียงดาอย่าง มาก
          ปี พ.ศ.๒๕๔๖ นักวิทยาศาสตร์รายงานถึงผลของสารสกัดผักเชียงดาในหนูซึ่งนอกจากจะพบฤทธิ์ลด น้ำตาลในเลือดและเพิ่มปริมาณอินซูลินแล้ว ยังลดปริมาณของอนุมูลอิสระในกระแสเลือดของหนูที่เป็นเบาหวานได้อีกด้วย ทั้งยังเพิ่มปริมาณของสารกลูตาไทโอน วิตามินซี วิตามินอี ในกระแสเลือดของหนูได้อีกด้วย และยังพบอีกว่าสารสกัดผักเชียงดามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดสูงกว่ายาแผน ปัจจุบันที่ใช้รักษาเบาหวานที่มีชื่อว่า ไกลเบนคลาไมด์ (glibenclamide)
         นักวิทยาศาสตร์ได้มีการศึกษาความเป็นพิษของผักเชียงดาไม่พบความเป็นพิษแต่อย่างใด
ผักเชียงดาไม่ได้ลดน้ำตาลในเลือดในคน และถ้าใช้แต่ผักเชียงดาอย่างเดียวไม่ได้ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำแต่อย่างใดยก เว้นการใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันที่ใช้ลดน้ำตาล
ตำรับยาแก้ไข้ แก้เบาหวาน
ใช้ราก เถา หรือใบ ตากแห้ง บด ชงเป็นชาดื่ม


แหล่งที่มา : healthupdatetoday.com , หมอชาวบ้าน

อัพเดทล่าสุด