ศิลปะสุโขทัย ประวัติศาสตร์ศิลปะสุโขทัย ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ 19-20


584 ผู้ชม


ศิลปะสุโขทัย ประวัติศาสตร์ศิลปะสุโขทัย ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ 19-20
ศิลปะสุโขทัย: ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม
ศิลปะสุโขทัย: ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม
ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
สำหรับหนังสือ" ศิลปะสุโขทัย " โดย ศ. ดร. สันติ เล็กสุขุม แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณเมื่อ พ.ศ. 2540 นั้น เป็นหนังสือที่ได้รับการปรับปรุงมาแล้วจากหนังสือ " ศิลปะเชียงแสน ( ล้านนา ) และศิลปะสุโขทัย " ซึ่งได้รับการ ตีพิมพ์และใช้เป็นตำราเรียนประกอบวิชา "ศิลปะเชียงแสน-สุโขทัย" มาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2534
หนังสือเล่มนี้ นับได้ว่าเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เป็นประโยชน์ยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการที่จะทราบถึงภาพรวมของศิลปะสุโขทัยอย่างกว้าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม รวมทั้งเรื่องของพระพิมพ์ และเครื่องสังคโลกด้วย หนังสือเล่ม นี้ ได้กล่าวถึงศิลปะสุโขทัยตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ของศิลปกรรมในพุทธศตววรษที่ 18 - ครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ 19 จนกระทั่งระยะของความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 19 - พุทธศตวรรษที่ 20 ยิ่งกว่านั้น หนังสือเล่มนี้ ยังได้กล่าวถึงศิลปะสุโขทัยรุ่นที่เมืองกำแพงเพชร อันเป็นช่วงที่มีอิทธิพลศิลปะอยุธยาและศิลปะล้านนาเข้ามาผสมผสานมากแล้วอีกด้วย
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ หนังสือเล่มนี้ ยังได้กล่าวถึงอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย ต่อศิลปกรรมของอาณาจักรข้างเคียงไว้ด้วย โดยเฉพาะเมืองน่าน ซึ่งเป็นแคว้นที่ได้รับอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยอย่างมากในระยะก่อนการยึดครองของอาณาจักรล้านนา หนังสือเล่มนี้ ได้กล่าวถึงบทบาทของศิลปะสุโขทัยที่มีต่อศิลปะน่าน ทั้งทางด้านสถาปัตยกรรมและประติมากรรม
ในหนังสือเล่มนี้ ยังมีข้อเสนอที่น่าสนใจอีกหลายประเด็น เช่น ข้อเสนอเกี่ยวกับฐานบัว ลูกฟักครึ่งฐานของเจดีย์ทรงปราสาทยอดประจำทิศ ที่วัดมหาธาตุ สุโขทัย ข้อเสนอเกี่ยวกับอิทธิพลของ ฐานแบบล้านนา ที่ปรากฏในเจดีย์ทรงลังกาที่กำแพงเพชร ข้อเสนอเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของชื่อ " หมวดวัดตะกวน " ที่ใช้เรียกพระพุทธรูปสุโขทัยระยะแรก เป็นต้น ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ นับว่าเป็นหัวข้อที่น่าสนใจมาก และเป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาการทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ดี ข้อเสียของหนังสือเล่มนี้ยังคงมีอยู่บ้าง โดยเฉพาะเรื่องของภาพประกอบซึ่งมักมีขนาดเล็กเกินกว่าจะพิจารณารายละเอียดอะไรได้ รวมทั้ง การแทรกภาพประกอบเอาไว้ในเนื้อหาซึ่งยังผลให้อ่านค่อนข้างยาก
โดยสรุปแล้วหนังสือ " ศิลปะสุโขทัย " จึงนับได้ว่า เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เหมาะสำหรับนักศึกษาผู้ที่สนใจต้องการจะทราบถึงภาพรวมของศิลปะสุโขทัย และเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งทางด้านวิชาการประวัติศาสตร์ศิลป์

แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด