การรักษาโรคไมเกรน อาหารแก้ไมเกรน ไมเกรน
อาหารบำบัดไมเกรน
"ไมเกรน" (Migraine) เป็นโรคปวดหัวชนิดหนึ่งซึ่งมีอาการรุนแรงมากแตกต่างกับอาการปวดหัวธรรมดา มักจะปวดหัวซีกใดซีกหนึ่งเป็นเวลานาน 4-72 ชั่วโมง ซึ่งยาแก้ปวดธรรมดาไม่อาจช่วยได้ อาการปวดจากไมเกรนจึงค่อนข้างทรมานมาก ไมเกรนมักพบในคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นไมเกรน เกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 3 เท่า มักเกิดในช่วงอายุ 25-55 ปี นอกจากนี้อาจมาจากสาเหตุอื่นได้แก่ อารมณ์และความเครียด อาหารบางชนิด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หมดประจำเดือน หรือการใช้ยาคุมกำเนิดโดยเฉพาะในระยะที่ใกล้มีประจำเดือนหรือใน 2 วันแรกของการมีประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดต่ำลง อาจทำให้เกิดอาการปวดหัวอย่างรุนแรงในผู้หญิงบางคนได้ การเปลี่ยนแปลงของอากาศหรืออุณหภูมิ ยาบางชนิด แสงสว่างที่จ้ามากเกินควร กลิ่นที่รุนแรงและควัน เช่นควันบุหรี่ อาการซึมเศร้า การอดอาหารหรืองดอาหารบางมื้อ อดนอน กลไกในการเกิดไมเกรนยังไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่นักวิจัยเชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติในการขยายและหดตัวของหลอดเลือดร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีบางชนิดในสมอง ที่ชื่อว่า เซโรโทนิน (Serotonin) เมื่อระดับของเซโรโทนินในสมองลดลงจากระดับปกติ ทำให้หลอดเลือดในสมองขยายตัวเซลล์ประสาทปล่อยความรู้สึกเจ็บปวดออกมา โภชนบำบัดบรรเทาไมเกรน มีปัจจัยด้านอาหารมากมายที่อาจทำให้เกิดอาการปวดหัวหรือปวดไมเกรนได้ บริโภคอาหารไม่เป็นเวลา หรือการงดอาหารบางมื้อ จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำและเกิดการปวดหัวได้ง่าย อุณหภูมิของอาหาร อุณหภูมิเย็นจัด ของอาหารบางชนิด เช่น ไอศกรีม ถ้าหากรับประทานเร็วๆอาจ กระตุ้นอาการปวดหัวได้ในบางคน อาหารบางชนิดกระตุ้นอาการไมเกรน แต่เป็นการยากที่จะบอกได้ว่าอาหารชนิดใดกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวเพราะระดับความทนของร่างกายในแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน และยังไม่มีอาหารชนิดใดสามารถบำบัดไมเกรนได้ สารอาหารที่อาจกระตุ้นให้เกิดไมเกรน สารไทรามีน (tyramine) พบเป็นองค์ประกอบธรรมชาติในอาหาร ได้แก่ เนยแข็ง (cheese) เครื่องในสัตว์ ปลาเฮอริ่ง ถั่วลิสง เนยถั่ว ช็อคโกแลต กะหล่ำปลีดอง ไส้กรอก กล้วยสุกงอม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่นเบียร์ ผู้ที่มีความไวต่อสารไทรามีน เมื่อรับประทานอาหารเหล่านี้เข้าไปจะทำให้เกิดอาการปวดหัวอย่างรุนแรง สารเฟนนิลเอททิลลามีน (Phenylethylamine หรือย่อว่า PEA) สารชนิดนี้ทำให้ปวดหัวได้สำหรับบางคน พบในช็อกโกแลตหรือโกโก้ แต่งานวิจัยในระยะหลังไม่อาจสรุปได้ว่าช็อกโกแลตจะกระตุ้นอาการไมเกรน สารแทนนิน แทนนินเป็นสารธรรมชาติที่มีอยู่ในอาหาร เช่น น้ำแอปเปิ้ล ชา กาแฟ ช็อคโกแลต ไวน์แดง เป็นต้น ถึงกระนั้นข้อมูลที่พบก็ยังไม่สามารถยืนยันเกี่ยวกับฤทธิ์การกระตุ้นให้เกิดไมเกรนเมื่อรับประทานสารแทนนินหรือสารไทรามีนเข้าไป สารเจือปนอาหาร (Food additives) สารปรุงแต่งรสหรือวัตถุกันเสียบางชนิด เช่น น้ำตาลเทียม ผงชูรส และดินประสิว ซึ่งใช้ใส่ในไส้กรอก แฮม เบคอน หรืออาหารรมควัน อาจกระตุ้นอาการปวดหัวได้ ผงชูรสอาจทำให้มีอาการปวดหัว ผู้ที่ร่างกายมีความไวต่อผงชูรสควรพยายามหลีกเลี่ยง สารคาเฟอีน คาเฟอีนเพียงเล็กน้อยอาจช่วยให้หายปวดหัวได้ในบางคน แต่ถ้าดื่มมากๆกลับทำให้ปวดหัวได้ เพราะหลังจากดื่มเข้าไปตอนแรกคาเฟอีนจะทำให้เส้นเลือดหดตัวก็จะทำให้คลายอาการปวดหัว แต่เมื่อดื่มมากเกินไปจะทำให้เส้นเลือดขยายตัวก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวได้ แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางชนิด เช่น ไวน์แดง นอกจากจะมีส่วนผสมของสารไทรามีนแล้วยังมีสารฟีนอล (phenols) และสารซัลไฟต์ (sulfites) ซึ่งใช้ในการหมักไวน์เป็นชนวนของการเกิดไมเกรน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ควรเมิน ได้แก่ ไวน์แดง แชมเปญ เวอร์มุท และเบียร์ สารอาหารที่อาจช่วยบรรเทาไมเกรน การวิจัยพบว่าสารอาหารบางอย่าง เช่น แมกนีเซียม แคลเซียม และพืชสมุนไพรบางชนิด เช่น ดอกเก็กฮวย (fever few) อาจช่วยบรรเทาอาการปวดหัวจากโรคนี้ได้ โดยปกติอาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวันนั้นเช่น ถั่วต่างๆ ผักใบเขียว ธัญพืช เป็นต้น มีแมกนีเซียมเพียงพอกับความต้องการของร่างกายอยู่แล้ว นอกจากนี้มีข้อมูลการวิจัยชี้แนะว่าการเสริมแคลเซียมวันละ 1000 มิลลิกรัม ร่วมกับการวิตามินดีทุกสัปดาห์ จะช่วยลดอาการปวดหัวจากไมเกรนในหญิงที่หมดประจำเดือนได้ดี อาหารที่มีวิตามินบีสูงอาจมีส่วนช่วยลดอาการปวดหัวได้ การขาดวิตามินบีรวมทั้งไนอะซินและกรดโฟลิคอาจทำให้เกิดอาการปวดหัวได้ วิตามินบี6ช่วยเพิ่มระดับสารเซโรโทมินลดอาการปวดหัวได้ การเสริมวิตามินบี6 5-10วันก่อนมีประจำเดือนอาจช่วยลดอาการปวดหัวในช่วงนั้นได้ ธาตุเหล็ก อาการปวดหัวเป็นอาการอย่างหนึ่งของการขาดขาดธาตุเหล็ก อาหารที่มีธาตุเหล็กสูงจะช่วยป้องกันการขาดธาตุเหล็กได้ น้ำมันปลา อาหารที่มีกรดโอเมกา3ช่วยลดความรุนแรงและความบ่อยของอาการปวดหัวจากไมเกรน การบริโภคปลาทะเลจะช่วยบรรเทาอาการไมเกรนได้ ตัวอย่างเมนูอาหารลดอาการไมเกรน เช้า | กลางวัน | เย็น | ขนมปัง | ผัดมะกะโรนีขี้เมา | ปลานึ่งขิง | น้ำเต้าหู้ | ชมพู่ | ผัดกะหล่ำปลีแครอท | แคนตาลูป | น้ำเก็กฮวย | ข้าวซ้อมมือต้ม | | | น้ำฝรั่ง | | | ชาสมุนไพร | | |
แหล่งที่มา : horapa.com