วิธีรักษาโรคโลหิตจาง เมนูอาหารโรคโลหิตจาง รักษาโรคโลหิตจางที่เกาหลี


1,491 ผู้ชม


วิธีรักษาโรคโลหิตจาง เมนูอาหารโรคโลหิตจาง รักษาโรคโลหิตจางที่เกาหลี


 
 เลี่ยงโรคโลหิตจาง เลือกอาหารธาตุเหล็กสูง

เด็กในวัยกำลังเจริญเติบโตเป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลเอาใจใส่เรื่องอาหารการกินให้เด็กได้รับสารอาหารต่างๆ อย่างครบถ้วนเพื่อพัฒนาการของเด็กเป็นไปอย่างสมบูรณ์ แต่ก็ยังมีโรคหนึ่งที่ยังพบได้บ่อยในเด็กวัยกำลังเติบโตคือโรคโลหิตจาง 

โลหิตจางเป็นภาวะที่ร่างกายมีจำนวนเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างเม็ดเลือด หน้าที่หลักของธาตุเหล็กในเม็ดเลือดแดง คือ นำออกซิเจนจากปอดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งร่างกายจะได้รับธาตุเหล็กจาก 2 ทาง คือ จากอาหาร และจากการการรีไซเคิลของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดแดงจะมี “อายุ” อยู่ประมาณ 4 เดือน ทารกที่เกิดมาจะมีธาตุเหล็กสะสมอยู่ในร่างกายประมาณ 500 มิลลิกรัม เมื่อเติบโตเป็นวัยผู้ใหญ่ความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 มิลลิกรัม

ใครบ้างเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก 
กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจาง ได้แก่ สตรีมีครรภ์ สตรีหลังคลอด สตรีมีประจำเดือน และเด็กในวัยเจริญเติบโต ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์จะมีการสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ร่างกายสามารถนำสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงคุณแม่ และทารกในครรภ์อย่างเพียงพอ ส่วนสตรีหลังคลอดจะสูญเสียธาตุเหล็กไปกับเลือดขณะคลอด ดังนั้นร่างกายต้องการธาตุเหล็กมากกว่าปกติเช่นกัน สำหรับเด็กจะต้องการธาตุเหล็กโดยเฉลี่ย 1 มิลลิกรัมต่อวัน จึงเพียงพอต่อร่างกายที่กำลังเจริญเติบโต แต่ธาตุเหล็กจากอาหารจะได้รับการดูดซึมไม่ดีนัก หรือเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ดังนั้นเพื่อป้องกันภาวะโลหิตจางในเด็กจึงควรได้รับธาตุเหล็กวันละ 8 ถึง 10 มิลลิกรัม ทั้งนี้ความต้องการธาตุเหล็กของเด็กที่ดื่มนมแม่จะน้อยกว่านี้ เพราะธาตุเหล็กจากนมแม่จะดูดซึมได้ดีกว่าถึง 3 เท่าตัว นอกจากนี้อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โลหิตจางได้คือการได้รับสารตะกั่วเข้าสู่กระแสเลือดมากเกินไป เด็กในช่วงอายุระหว่าง 9 เดือน - 2 ปี จะเป็นช่วงเสี่ยงต่อการเป็นโรคโลหิตจางมากที่สุด เด็กที่อยู่ในช่วงวัยนี้ควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อดูว่าเป็นโรคโลหิตจางหรือไม่ โดยเฉพาะเด็กที่เกิดก่อนกำหนดควรได้รับการตรวจเลือดเร็วกว่าช่วงอายุดังกล่าว

สังเกตอย่างไรว่าโลหิตจาง
คุณสามารถสังเกตอาการของโรคโลหิตจางในเด็กได้ โดยดูว่ามีภาวะซีดเซียว อ่อนแรง เหนื่อยง่าย หงุดหงิด ปวดศีรษะ เจ็บลิ้น เล็บแตก มีความอยากอาหารแปลกๆ บริเวณตาขาวอาจเป็นสีฟ้าอ่อนๆ หรือไม่ แต่ถ้าโลหิตจางไม่มากอาจไม่มีอาการใดๆ ให้เห็นเลยก็ได้ อย่างไรก็ตามการขาดธาตุเหล็กถึงแม้ว่าจะไม่เข้าข่ายของโรคโลหิตจางก็ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการขาดความกระตือรือร้น ขาดสมาธิ และการเรียนรู้ช้าในเด็ก

ป้องกันได้ไหมก่อนเป็นโลหิตจาง
วิธีป้องกันและรักษาโรคโลหิตจางในเด็กที่ดีที่สุด คือ เลือกรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กมากขึ้น ร่วมกับรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูงในมื้อเดียวกัน เพราะวิตามินซี ช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น โดยรับประทานผักผลไม้ต่างๆ ให้มากๆ ในขณะเดียวกันควรเลี่ยงอาหารบางชนิดที่มีผลในการยับยั้งการดูดซึมของธาตุเหล็ก เช่น สารออกซาเลต ในผักขม และช็อคโกแลต สารแทนนินในชา สารโพลีฟีนอลในกาแฟ และไม่ควรรับประทานยาหรืออาหารประเภทแคลเซียมพร้อมกับธาตุเหล็ก เด็กที่กำลังเจริญเติบโตไม่ควรดื่มนมที่ไม่เสริมธาตุเหล็กมากกว่า 32 ออนซ์ต่อวัน (หรือประมาณ 4 กล่อง) เพราะนอกจากแคลเซียมมีผลยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็กแล้ว เมื่อเด็กดื่มนมมากจะทำให้รับประทานอาหารอื่นๆ ได้น้อยลง ทำให้ได้รับสารอาหารที่ไม่หลากหลายตามที่ควรจะได้

แหล่งอาหารของธาตุเหล็กอยู่ในอาหารหลัก 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 
ธาตุเหล็กชนิดที่อยู่ในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ และอาหารทะเล

อาหารกลุ่มนี้จะมีธาตุเหล็กสูง และดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีที่สุด จะสังเกตได้จากเนื้อที่มีสีแดงยิ่งเข้มขึ้นแสดงว่ามีธาตุเหล็กสูง เมื่อรับประทานร่วมกับอาหารที่มิวิตามิน ซี สูง เช่น บร็อคโคลี่ พริก มะเขือเทศ ฝรั่ง ส้ม จะยิ่งช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กได้มากขึ้น

ธาตุเหล็กชนิดที่มีอยู่ในไข่และพืช ผักใบเขียวต่างๆ รวมไปถึงถั่วเมล็ดแห้ง
อาหารพวกนี้มีธาตุเหล็กสูง แต่ธาตุเหล็กในกลุ่มนี้จะดูดซึมเข้าร่างกายได้ไม่ดีนัก จึงควรรับประทานร่วมกับอาหารที่มีวิตามิน ซี สูงในมื้อเดียวกัน เพื่อช่วยในการดูดซึม ข้อนี้จำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับเด็กที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์เลย หรือ เป็นมังสวิรัติ

คุณพ่อคุณแม่สามารถจัดเมนูให้ลูกได้ง่ายๆ โดยเลือกอาหารที่มีธาตุเหล็กและวิตามินซีสูง เช่น สปาเก็ตตี้ซอสเนื้อ ไข่เจียวหมูสับใส่มะเขือเทศ ไก่ผัดบร็อคโคลี่น้ำมันหอย ขนมปังทาเนยถั่ว + น้ำส้มคั้น กระเพาะปลาใส่เลือดหมู เป็นต้น

ธาตุเหล็กที่อยู่ในรูปอาหารเสริม ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีที่ให้นมบุตร ที่ไม่สามารถรับธาตุเหล็กได้อย่างเพียงพอจากอาหาร ธาตุเหล็กในรูปเม็ดจะดูดซึมได้ดีที่สุดเวลาท้องว่าง นั่นคือควรรับประทานระหว่างมื้ออาหาร แต่ธาตุเหล็กอาจทำให้ถ่ายมากขึ้น หรือถ่ายเหลวในบางคน จึงจำเป็นต้องรับประทานพร้อมอาหาร แต่ไม่ควรรับประทานพร้อมกับนม เพราะแคลเซียมในนมจะทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กลดลง เมื่อร่างกายได้รับธาตุเหล็กที่เพียงพอแล้ว เม็ดเลือดแดงจะกลับมามีจำนวนเป็นปกติได้ภายใน 2 เดือน แต่ควรเสริมธาตุเหล็กต่อไปอีก 6 เดือนถึง 1 ปี เพื่อให้ร่างกายมีสะสมไว้ใช้ในเวลาจำเป็น ทั้งนี้ไม่ควรละเลยการเลือกรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งธาตุเหล็กสูงด้วย

ธาตุเหล็กมีความสำคัญต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของร่างกาย โดยเฉพาะสมองและเป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือด ดูแลเรื่องอาหารการกินให้มากขึ้นโดยเลือกรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงเป็นประจำ ก็จะทำให้หลีกไกลโรคโลหิตจาง 


แหล่งที่มา : siamdara.com

อัพเดทล่าสุด