เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ไทย ล่ามไทย ล่ามไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์
ล่ามไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์
ตั้งแต่สมัยอยุธยาเรื่อยมาจนรัตนโกสินทร์ ราชอาณาจักรสยามเปิดกว้างให้พ่อค้าวาณิชทั้งตะวันตกและตะวันออก ถ้าไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกจนกระทบกระเทือนความมั่นคงของราชบัลลังก์แล้วพระเจ้าแผ่นดินส่วนใหญ่ไม่ทรง รังเกียจชาวต่างชาติ หลายรัชกาลก็ถึงกับส่งทูตไปสู่อาณาจักรอื่นเป็นการสร้างสัมพันธไมตรีต่อกัน การสื่อสารติดต่อต้องอาศัยล่าม ซึ่งเป็นคนไทยที่รู้ภาษาต่างประเทศดีพอจะสื่อสารกับเจ้าของประเทศนั้นๆได้ ล่ามไทยที่ว่านี้ แบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทคือ ล่ามไทยที่รู้ภาษาตะวันออก กับล่ามไทยที่รู้ภาษาตะวันตก ล่ามไทยพวกแรก ส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีนและแขก เกิดจากการติดต่อค้าขายกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา คำว่า "จีน" มีแห่งเดียวคือจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วน "แขก " ครอบคลุมถึงอินเดีย อาหรับ ลังกา ทมิฬ มลายู ชวา ทั้งหมดนี้คนไทยเรียกกันรวมๆว่า "แขก" ถ้าจะเจาะจงว่าเป็นพวกไหน ก็ใช้คำว่า "แขก" นำหน้าแล้วต่อด้วยเชื้อชาติถิ่นที่อยู่ เช่นแขกทมิฬ แขกชวา แขกลังกา ฯลฯ บรรพชนคนไทยเหล่านี้เดินทางมาถึงไทยด้วยเหตุผลทางการค้าเป็นอันดับแรก เมื่อสบโอกาส เห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินต้อนรับด้วยดีและตัวเองมีช่องทางจะตั้งหลักแหล่งได้ในดินแดนนี้ ก็สมัครเข้ารับราชการจนมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางไทย อย่างเช่นต้นตระกูลไกรฤกษ์ เป็นจีนแซ่หลิม ตระกูลบุนนาคเป็นพ่อค้าจากเปอร์เชียชื่อเฉกอะหะหมัด ตระกูลบุณยรัตพันธุ์มาจากพราหมณ์พฤติบาศในอินเดีย ลูกหลานที่สืบเชื้อสายต่อมาก็นับตนเองเป็นไทย ในจำนวนนี้ยังมีบางคนที่รู้ภาษาดั้งเดิมของบรรพบุรุษอยู่ พวกที่มีเชื้อสายจีนพูดภาษาจีนได้ ก็เข้ารับราชการในกรมท่าซ้าย ส่วนคนที่พูดภาษาแขกก็เข้ารับราชการในกรมท่าขวา ขึ้นอยู่กับพระคลัง ซึ่งสมัยโบราณทำหน้าที่เป็นทั้งกระทรวงการคลังและกระทรวงการต่างประเทศ หัวหน้าคนจีนในไทย คือเจ้ากรมท่าซ้าย มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐี ส่วนเจ้ากรมท่าขวา เจ้ากรมมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี อีกพวกหนึ่งคือล่ามไทยที่รู้ภาษาตะวันตกมีอยู่น้อยนับตัวถ้วน ไม่มากมายอย่างพวกแรก ล่ามพวกนี้ได้แก่พวกคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสซึ่งบรรพบุรุษเข้ามาค้าขายตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งบ้านเรือนอยู่นอกกำแพงเมืองอยุธยา เรียกว่า หมู่บ้านโปรตุเกส เมื่อตั้งกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ คนไทยเชื้อสายโปรตุเกสอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่แถวตำบลกุฎีจีน ตำบลสามเสน ออกเสียงเรียกอย่างชาวบ้านว่า "ฝรั่งกฎีจีน" หรือ "ฝรั่งกระดีจีน" พวกนี้พอจะเรียนรู้ภาษาโปรตุเกสบ้างตามที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ จึงมักรับราชการในตำแหน่งที่เรียกว่า "ล่ามฝรั่ง" อยู่ในกรมท่า มีอัตราอยู่ 5 คน หัวหน้ามีราชทินนามเป็นขุนเทพวาจา รับเบี้ยหวัดปีละ 7 ตำลึง หน้าที่การงานมีน้อยมาก เพราะไทยติดต่อกับโปรตุเกสก็แต่เฉพาะการค้าขายที่เมืองมาเก๊า นานๆเจ้าเมืองจะมีหนังสือมาสักครั้งหนึ่ง ส่วนการติดต่อค้าขายกับอังกฤษเริ่มมีขึ้นมาบ้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ไม่มีล่ามไทยคนไหนพูดอังกฤษได้ นายเรืออังกฤษจึงต้องอาศัยแขกมลายูเป็นล่าม ดังนั้นการติดต่อค้าขายระหว่างรัฐบาลไทยกับเรือสินค้าอังกฤษก็ดี หรือการติดต่อทางราชการกับอังกฤษที่เกาะหมาก และสิงคโปร์ก็ดี ต้องใช้ภาษามลายูล้วนๆ ในปลายรัชกาลที่ 3 ไวศ์รอยหรือผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดีย มีบัญชาให้นายจอห์น ครอฟอร์ด เป็นทูตมาเจรจาติดต่อกับประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2364 ก็ต้องอาศัยภาษามลายูเป็นพื้นฐานการติดต่อ ปรากฏในจดหมายเหตุของครอฟอร์ด ฟังดูก็ค่อนข้างทุลักทุเล คือทูตอังกฤษเริ่มต้นด้วยการพูดภาษาอังกฤษแก่ล่ามมลายูที่พามาด้วย ล่ามแปลคำพูดจากอังกฤษเป็นภาษามลายูให้ล่ามไทยที่รู้ภาษามลายูชื่อหลวงโกชาอิศหากฟัง แล้วหลวงโกชาอิศหากจึงแปลจากภาษามลายูเป็นภาษาไทยให้เจ้าพระยาพระคลังรับทราบอีกทีหนึ่ง เมื่อเจ้าพระยาพระคลังจะตอบว่าอะไร ก็ต้องแปลย้อนกลับเป็นลำดับจากไทย มลายู และอังกฤษ กลับไปเป็นทอดๆอีกที เมื่ออังกฤษรบกับพม่า ครอฟอร์ดแจ้งข่าวให้ไทยทราบจากสิงคโปร์ ก็ต้องแปลหนังสือพิมพ์ข่าวจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาโปรตุเกสเสียก่อนแล้วค่อยให้ล่ามแปลเป็นไทย เพราะมลายูมีคำน้อยไม่พอจะอธิบายความได้แจ่มแจ้ง ดังนั้น ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ภาษาต่างประเทศที่คนไทยรู้จักเพื่อจะติดต่อกับประเทศตะวันตก มีอยู่ 2 ภาษาคือโปรตุเกสและมลายู ส่วนภาษาจีน ใช้ติดต่อกันระหว่างไทยกับจีนเท่านั้น ล่ามไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้เพิ่งมีในรัชกาลที่ 3 เมื่อมิชชันนารีชาวอเมริกันเดินทางมาเผยแพร่ศาสนาในประเทศไทย สอนภาษาให้คนไทยจนเขียนและพูดอังกฤษได้คล่อง ล่ามไทยคนแรกที่ติดต่อสื่อสารได้ระหว่างสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ และทูตชาวอังกฤษคือพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฏ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ ๔ ล่ามไทยคนสำคัญที่ไปกับคณะทูตไทยเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี ระหว่างพระเจ้าแผ่นดินสยาม และพระราชินีนาถวิกตอเรียนแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ คือหม่อมราโชไทย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร) ผู้แต่ง นิราศลอนดอน
|
แหล่งที่มา : vcharkarn.com