ฮาร์ดแวร์ คอมพิวเตอร์ ขายส่งฮาร์ดแวร์ก่อสร้าง เปิดร้านฮาร์ดแวร์


860 ผู้ชม


ฮาร์ดแวร์ คอมพิวเตอร์ ขายส่งฮาร์ดแวร์ก่อสร้าง เปิดร้านฮาร์ดแวร์

ร้านฮาร์ดแวร์ในฝัน

ตัวฉันไม่ได้รู้จักสินค้าฮาร์ดแวร์ หรือวัสดุก่อสร้างมาตั้งแต่เกิด ไม่ใช้สิ่งที่พ่อแม่ปูพื้นฐานมาให้เหมือนกับ พวกเครื่องเขียน ที่รู้จักมาตั้งแต่อายุสิบขวบ
ฉันเริ่มหันมาสนใจและเข้ามาทำเมื่อ 3-4 ปีแล้ว และพึ่งตัดสินใจที่จะก้าวเข้ามาทำจริงๆจังๆก็เมื่อปีที่แล้วนิเอง แต่จนป่านนี้ฉันก็ยังรู้จักสินค้าฮาร์ดแวร์ไม่หมดเลย ไม่มีครูคนไหนมาสอน ไม่มีใครมาแนะนำว่าต้องสั่งอะไรมาขายบ้าง ไม่มีเซลล์เข้ามาเสนอสินค้า บอกว่าฉันควรขายอะไรบ้าง ฉันต้องค่อยๆเรียนรู้เองทีละอย่างๆ อย่างค่อยๆเป็นค่อยๆไป ทั้งในเรื่องของตัวสินค้าและ เงินทุน รวมถึงความเสี่ยงว่าจะขายได้หรือเปล่า 
สิ่งที่ฉันทำคือ ถามทุกคนที่รู้จัก ว่าอะไรคืออะไร ซื้อที่ไหน ขายเท่าไหร่ เขาใช้กันยังไง ต้องใช้คู่กับอะไร แล้วควรซื้อยี่ห้ออะไรมาขาย มีกี่ไซด์ แล้วควรลงกี่ไซด์ ความคงทนของสินค้า ความถี่ในการใช้งาน ไม่ใช่ทุกคนจะรู้ ฉันก็ต้องถามหลายๆคน เพื่อให้ได้คำตอบก่อนตัดสินใจลงสินค้าตัวใหม่ ที่ฉันเองก็ไม่เคยเห็นมันมาก่อน
สิ่งหนึ่งที่ฉันทำประจำ คือ การมองดูร้านอื่นๆขายอะไรบ้าง แล้วลูกค้ามาถามหาสินค้าตัวไหนบ้าง แล้วถามยี่ห้ออะไร ฉันใช้เวลานานกว่าจะลงสินค้าใหม่แต่ละตัว เพราะต้องหาแหล่งซื้อขายส่งด้วย ว่าอยู่ที่ไหน
สินค้าฮาร์แวร์มีเยอะมาก เป็นร้อยรายการเลย เวลาทำงาน ฉันจะคิดทีล่ะรายการ ลงสินค้าใหม่ที่ละตัว ต้องดูความเสี่ยงก่อนลงด้วย ถ้านานๆใช้ที ไม่ค่อยมีคนซื้อ ฉันก็จะล่ะไวเก็บไว้พิจารณาทีหลัง เลือกตัวที่ออกตัวเร็วๆก่อนดีกว่า 
เรื่องตัวสินค้าฉันค่อยๆคิด ค่อยๆทำไป ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ที่ฉันมีปัญหาคือ เรื่องของการจัดหน้าร้านค้า เวลานั่งรถ ฉันมักจะสนใจมองดูร้านฮาร์ดแวร์อื่นๆเสมอ ดูว่าเขาขายอะไรบ้าง จัดร้านยังไง จากการสังเกตุ ถ้าเป็นร้านค้าริมถนนในกทม. ส่วนใหญ่จะแค่ 1 คูหา หรือ 2 คูหา แต่ถ้าออกไปนอกเมืองหน่อย จะมีมากกว่า 2 คูหา และจะใหญ่โตเป็นร้านวัสดุก่อสร้างครบวงจรไปเลย 
เวลาเห็นร้านค้าใหญ่ๆ มีสินค้าครบๆ ฉันมองแล้วก็กลัวเหมือนกัน เพราะฉันสู้ร้านใหญ่ๆไม่ได้เลย แต่ถ้ามองเทียบกับร้านเล็กๆ ร้านฮาร์ดแวร์ก็ไม่ต่างอะไรกับร้านโชว์ห่วยเท่าไหร่เลย ที่การจัดหน้าร้านยังรกรุงรัง แขวนเต็มเพดานไปหมด มองหน้าร้านยังกะโกดังเก็บของ ที่วางของเกะกะไปหมด ถ้าเป็นร้านสวยๆหน่อยก็คงเป็นพวกร้านโฮมมาร์ท ของซีเมนต์ไทย อันนี้ก็หรูไปเลย 
เมื่อปีที่แล้ว ฉันไปเรียนโครงการเสิรมสร้างผู้ประกอบการใหม่(NEC) ที่มธ. ได้เอาแผนธุรกิจร้านฮาร์ดแวร์ไปเสนอ จนได้เข้าเรียน เรียนจบ จนส่งไปประกวดได้รับรางวัลชมเชย ประเภทร้านค้า ออกมาจากงานNEC ประจำปี 2547 
สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาของฉัน ก็คือเรื่องหน้าร้านเนี่ยแหละ เพราะร้านค้า สิ่งที่ต้องทำก็คือการขายรูปแบบร้าน ที่มีสินค้า ไม่ใช่เป็นการขายสินค้า เพราะสินค้าแต่ละตัวจะมีการโฆษณาขายตัวเองอยู่แล้ว 
ฉันพูดคุยกับคนหลายคน เรื่องการจัดร้านใหม่ บางคนก็เออออเห็นด้วย บางคนก็ไม่เห็นด้วย ฉันแก้แผนธุรกิจหลายครั้งเรื่องการแต่งร้านเนี่ยแหละ เพราะอาจารย์ที่ปรึกษาไม่เห็นด้วย บอกว่า ลูกค้าไม่ต้องการความสะดวกสบาย ไม่ได้ต้องการร้านกระจก ไม่ได้ต้องการแอร์ เหมือน 7-11 ลูกค้าต้องการสินค้าที่ครบวงจรมากกว่า เข้ามาแล้วมีทุกอย่าง ให้ฉันไปเล่นที่ตัวสินค้า เน้นที่ความครบวงจร ( เพราะฉันพึง่หัดทำ ยังมีสินค้าไม่ครบ )
แต่ที่ฉันคิดรูปแบบร้านไว้ คือ อยากให้มันเป็นร้านฮาร์แวร์แบบสะดวกซื้อ เป็นร้านที่ทันสมัย มีการวางสินค้าบนชั้นเป็นระเบียบ ไม่ใช่ห้อยเกะกะ เต็มหัว หรือว่าวางกองสินค้าเหมือนขยะหน้าบ้าน มีทางเดินสะดวก ภายในร้านสะอาด มีแสงสว่างทั่วร้าน มีอากาศที่ปลอดโปร่ง ไม่ต้องมีคนขาย ลูกค้าเลือกซื้อ เลือกหยิบได้เอง ลักษณะอาจะคล้าย 7-11 ที่ต่างคือ มีนายช่างประจำร้าน ค่อยให้คำแนะนำ ในการเลือกซื้อสินค้า รวมทั้งในการใช้งาน อีกทั้งอาจจะมีช่างติดตั้งหลังการขาย 
สินค้าไปซื้อที่ไหนก็เหมือนกัน เพราะร้านฮาร์ดแวร์ก็คล้ายกับร้านโชว์ห่วย คือมีทุกอย่าง แต่ต่างกันที่ ความน่าเชื่อถือของร้านค้า ความเป็นมืออาชีพ ที่ให้ข้อมูลและความมั่นใจกับลูกค้าได้ อีกทั้งในเรื่องของราคา ที่มีมาตราฐาน 
อาจารย์ที่ปรึกษาบอกฉันว่า นายช่างไม่ได้ต้องการสิ่งเหล่านี้ แต่ฉันมองว่า นายช่างจริงๆก็ไม่เข้าร้านของฉันหรอก จะเป็นพวกผู้บริโภคหรือตัวเจ้าของบ้านเองมากกว่าที่เข้ามาซื้อ ฉันอาจจะมอง 7-11 เป็นต้นแบบ คือเน้นขายสินค้าจำเป็น มากกว่าที่จะมีให้ครบทุกอย่าง ถ้ามีครบทุกอย่างลูกค้าก็ไปซื้อซีเมนต์ไทย โฮมมาร์ทแล้ว ไม่มาซื้อร้านข้างทางริมถนนเล็กๆ 2 คูหาหรอก เหมือนคนต้องการของถูกจริงๆก็เข้าซุปเปอร์มาเก็ต ไม่เดินเข้า 7-11 หรอก แต่ 7-11 ขายความสะดวกใกล้บ้าน ร้านของฉันก็เช่นกัน ถ้าหลอดไฟขาด 1 ดวงกลางคืน คุณจะรอห้างเปิดตอน 10 โมงเช้าเพื่อเดินเข้าไปซื้อ 1 หลอดงั้นหรอ 
ถ้าฉันตั้งร้านค้าในเมืองที่ไม่มีการก่อสร้างใหม่ มีก็แต่การซ่อมแซม บำรุงรักษาตึกเก่า หรืออาจจะมีการตกแต่งภายในใหม่เท่านั้นเอง สิ่งเหล่านี้แหละคือลูกค้าของฉัน ฉันต้องการลูกค้าที่ต้องการซ่อมแซมบ้านที่พักอาศัย หรือบำรุงรักษา เปลี่ยนวัสดุใหม่ในอาคารเก่า ลูกค้ารายย่อย ที่อาจจะเป็นเจ้าของบ้านเอง หรือว่านายช่างเล็กๆ กิ๊กก๊องที่รับงานชิ้นเล็กๆ ไม่ใช่การก่อสร้างอาคารใหม่ทั้งหลัง รวมทั้งคนที่อยู่หอพัก อพาร์เม้นต์ หรือคอนโด ที่มีการซ่อมแซมบ่อยครั้ง 
รายได้จากการขายลูกค้ารายย่อย อาจจะไม่ก้อนโตเหมือนกับการขายโครงการบ้านจัดสรร หรือว่าได้ลูกค้าเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ แต่จะได้กำไรเต็มๆหน่วยมากกว่า ขายปลีกกำไรมันมากกว่าแต่ยอดขายตัวเลขต่ำกว่าค้าวัสดุก่อสร้างเต็มรูปแบบ
ยังไงฉันก็เชื่อว่า รูปร่างหน้าตาของร้านค้า มีอิทธิพลต่อผู้ซื้อเช่นกัน อีกทั้งถ้าเราใช้สื่อเข้ามาช่วยด้วย ก็น่าจะมีอิทธิพลกับลูกค้าเช่นกัน เช่น การทำสิ่งพิมพ์ ให้ข้อมูลสินค้าหรือว่าการใช้งานสินค้าใหม่ๆกับลูกค้า การติดป้ายโฆษณาให้ลูกค้ารู้จัก มันย่อมมีผลต่อจิตใจบ้าง 
ถ้านายช่างโบราณยังชอบเข้าร้านรุ่นเก่าๆรกๆ ฉันก็คิดว่า ร้านรุ่นใหม่ก็สามารถโดนใจ นายช่างรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน แล้วสักวัน นายช่างๆต่างๆก็จะเปลี่ยนใจมาซื้อร้านรุ่นใหม่กันหมด เหมือนกับที่คนรุ่นใหม่รู้จัก 7-11 มากกว่าร้านโชว์หวยรุ่นเก่าข้างบ้านเสียอีก 
แต่เสน่ห์อย่างหนึ่งของร้านโชว์ห่วย ที่ไม่น่าทิ้งก็คือ ความมีมนุษย์สัมพันธ์ การทำความรู้จักระดับท้องถิ่น ที่คุ้นเคยกัน ทักทายกันแบบกันเอง มากกว่าจะยึดติดแบบฟอร์ม เป็นนกแก้วนกขุนทองเหมือนกับที่พนักงาน 7-11 ท่องทุกวัน หมายถึงการทำตัวให้กลมกลืนและคุ้นเคยกับท้องถิ่น เป็นสิ่งที่พนักงาน 7-11 ยังทำไม่ได้ 

แหล่งที่มา : bloggang.com

อัพเดทล่าสุด