โรคหลอดลมอักเสบ สาเหตุของโรคหลอดลมอักเสบ วิธีรักษาโรคหลอดลมอักเสบ


1,017 ผู้ชม


โรคหลอดลมอักเสบ สาเหตุของโรคหลอดลมอักเสบ วิธีรักษาโรคหลอดลมอักเสบ

 

 

หลอดลมอักเสบในเด็ก (Bronchitis in children)

 โรคหลอดลมอักเสบ สาเหตุของโรคหลอดลมอักเสบ วิธีรักษาโรคหลอดลมอักเสบ

บทนำ

โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) ในเด็ก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อบริเวณหลอดลมซึ่งอยู่ลึกลงไปจากกล่องเสียงไปยังปอดส่วนล่าง ดังนั้นจึงเปรียบเสมือนอยู่ตรงกลางระหว่างทางเดินหายใจส่วนบน (จมูก ลำคอ และท่อลม) และทางเดินหายใจส่วนล่าง (เนื้อปอด)

โรคหลอดลมอักเสบเป็นโรคพบได้บ่อยโรคหนึ่งของเด็ก และมักเป็นอาการที่นำเด็กมาพบแพทย์ ทั้งนี้ในยุโรป รายงานพบเกิดโรคนี้ได้ประมาณ 20-30% ของเด็กนักเรียน

โรคหลอดลมอักเสบพบได้ในเด็กทุกอายุ แต่พบได้สูงสุดในช่วงอายุ 9-15 ปี และพบเกิดในเด็กหญิงและเด็กชายใกล้เคียงกัน

โรคหลอดลมอักเสบในเด็กเกิดขึ้นได้อย่างไร?

เกือบทั้งหมดของโรคหลอดลมอักเสบในเด็ก มีสาเหตุจากเชื้อโรคทั้งสิ้น โดยพบดังนี้

  1. เชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ ไวรัสโรคหัด ไวรัสอาร์เอสวี (RSV, Respiratory syncytial virus) ฯลฯ ซึ่งสาเหตุจากเชื้อไวรัส เป็นสาเหตุพบบ่อยที่สุด
  2. เชื้อแบคทีเรีย เช่น นิวโมคอคคัส (Pneumococcus) เชื้อฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนเซ (Haemophilus influenzae) เชื้อมัยโคพลาสมา (Mycoplasma) เชื้อโรคไอกรน ฯลฯ ซึ่งพบได้น้อยกว่าจากเชื้อไวรัสมาก

โรคหลอดลมอักเสบในเด็กมีอาการอย่างไร?

อาการส่วนใหญ่ของโรคหลอดลมอักเสบในเด็ก เริ่มจากอาการคล้ายไข้หวัด (โรคหวัด หรือ โรคไข้หวัดใหญ่) น้ำมูกไหล ไอเล็กน้อย และเมื่อ 2-3 วันผ่านไป เชื้อโรคจะลุกลามไปยังหลอดลม ทำให้มีอาการไอมากขึ้น ไอแห้งๆ ไม่ค่อยมีเสมหะ หลังจากนั้นอาจลุกลามเป็นโรคปอดอักเสบ หรือโรคปอดบวมได้ (โรคปอดอักเสบ โรคปอดบวมในเด็ก) อาการส่วนใหญ่ของหลอดลมอักเสบจะหายเป็นปกติดี ประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากมีอาการ

แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดลมอักเสบในเด็กอย่างไร?

แพทย์มักวินิจฉัยโรคหลอดลมอักเสบในเด็กจากอาการป่วย โดยทั่วไปเหมือนโรคหวัด แต่มีอาการไอมากกว่า และมักไม่มีอาการหอบเหนื่อย การถ่ายเอ็กซเรย์ปอดมักปกติไม่สามารถช่วยวินิจฉัยได้

รักษาโรคหลอดลมอักเสบในเด็กอย่างไร? ดูแลเด็กอย่างไร?

แนวทางการรักษาและการดูแลเด็กโรคหลอดลมอักเสบ คือ

  1. การรักษา เนื่องจากเกิดจากเชื้อไวรัสเกือบทั้งหมด จึงไม่มียารักษาจำเพาะ ยกเว้นพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากเชื้อไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมียาต้านไวรัสไข้ หวัดใหญ่รักษาได้ ส่วนยาปฏิชีวนะสำหรับเชื้อแบคทีเรียนั้น มักไม่ค่อยมีประโยชน์เมื่อเป็นการติดเชื้อไวรัส เพราะยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อไวรัสไม่ได้
  2. การดูแลเด็ก โดยผู้ดูแลควรทำตามคำแนะนำของแพทย์ โดยทั่วไป คือ ให้เด็กดื่มน้ำอุ่นมากๆ อย่าอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดี ปิดปากจมูกเวลาไอหรือจาม ล้างมือบ่อยๆ พักผ่อนมากๆ เมื่อมีไข้ หรือไอมากควรหยุดโรงเรียน เพื่อการพักผ่อน และลดโอกาสเกิดโรคแพร่กระจายสู่เด็กคนอื่นๆ

เมื่อไรควรพาเด็กที่เป็นโรคหลอดลมอักเสบพบแพทย์?

ควรนำเด็กพบแพทย์ ถ้าไข้สูงไม่ลดลงใน 48 ชั่งโมงหลังกินยาลดไข้ ไอมาก ซึม เพลีย อาเจียน หรือมีอาการอื่นๆ ที่ผู้ปกครองคิดว่า อาการรุนแรง หรือกังวลใจ

โรคหลอดลมอักเสบในเด็กรุนแรงไหม? ใครเสี่ยงต่อโรครุนแรง?

โดยทั่วไปโรคหลอดลมอักเสบในเด็ก มักไม่รุนแรง สามารถรักษาแบบผู้ ป่วยนอกได้ แต่อาจลุกลามเป็นโรคปอดอักเสบซึ่งรุนแรงได้ (โรคปอดอักเสบ โรคปอดบวมในเด็ก)

เด็กที่เสียงต่อโรคหลอดลมอักเสบรุนแรง มักเป็นเด็กที่ขาดอาหารหรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเอดส์ และมีภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรคต่ำจากสาเหตุใดๆก็ตาม ฯลฯ

โรคหลอดลมอักเสบในเด็กรักษาหายไหม?

โดยทั่วไป โรคหลอดลมอักเสบในเด็กสามารถรักษาหายเป็นปกติได้โดยทำตามคำแนะนำแพทย์ แต่โรคจะรุนแรงขึ้นเมื่อเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนกลายเป็นโรคปอดอักเสบ ปอดบวม (โรคปอดอักเสบ โรคปอดบวมในเด็ก)

โรคหลอดลมอักเสบในเด็กมีผลข้างเคียงจากโรคอย่างไรบ้าง?

ส่วนใหญ่ในเด็กมักไม่มีผลข้างเคียงจากโรคหลอดลมอักเสบ แต่อาจลุกลามเป็นปอดอักเสบ (โรคปอดอักเสบ โรคปอดบวมในเด็ก) ซึ่งรุนแรงมากขึ้นได้ เมื่อเด็กอยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวแล้ว หรือเมื่อไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการ

ป้องกันโรคหลอดลมอักเสบในเด็กอย่างไร?

การป้องกันโรคหลอดลมอักเสบในเด็ก มีหลายวิธี เช่น โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบางโรคที่มีวัคซีน เช่น โรคหัดโรคไข้หวัดใหญ่ โรคไอกรน

สอนเด็กให้รู้จักรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) โดยเฉพาะ หมั่นล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ และไม่เล่นคลุกคลีกับเด็กป่วย

นอกจากนั้น ผู้ป่วยเด็กโรคหวัด หรือ เมื่อมีไข้ ต้องนอนพักผ่อน และปิดปากปิดจมูกเวลาไอจามเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น

รศ. (พิเศษ) นพ. ทวี โชติพิทยสุนนท์ พบ.
วว. กุมารเวชศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อในเด็ก

 

แหล่งที่มา : haamor.com

อัพเดทล่าสุด