อาการของโรคสะเก็ดเงิน โรคสะเก็ดเงิน วิธีรักษา ศูนย์รักษาโรคสะเก็ดเงินที่โรงพยาบาลจุฬา
โรคสะเก็ดเงิน ที่ปรึกษา รศ.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ สาขาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้อมูลโดย หน่วยสุขศึกษา ฝ่ายผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
|
โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 1-2 ของประชากรโลกทั้งเพศหญิงและเพศชาย ตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่พบระหว่างอายุ 27-60 ปี โดยผื่นสะเก็ดเงินอาจเป็นแบบเฉพาะที่หรือเป็นทั่วร่างกาย และอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในสังคมได้ โรคสะเก็ดเงินเกิดขึ้นได้อย่างไร ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน จากการศึกษาเชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ร่วมกับปัจจัยกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัว หรือสร้างเร็วกว่าปกติจนเกิดหนาตัวขึ้น ปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดผื่นหรือโรคกำเริบ • การแกะเกา ขัดถู หรือมีอันตรายต่อผิวหนัง เช่น เกิดรอย แผลถลอก ใช้สารระคายเคือง เป็นต้น • การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหรืออักเสบในช่องหูโดยเฉพาะจากเชื้อแบคทีเรีย เมื่ออาการทุเลาลงจะพบผื่นสะเก็ดเงินขนาดเล็กกระจายทั่วตัวได้ • ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะทำให้ผื่นกำเริบหรือเป็นมากขึ้น • ปัจจัยภายในเซลล์ผิวหนังของบางตำแหน่งที่ไวต่อการเกิดผื่น เช่น หนังศีรษะ ศอกเข่า เป็นต้น • ยาบางชนิดทำให้ผื่นกำเริบได้ เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาทางจิตเวช ยาต้านมาเลเรีย เป็นต้น ผื่นสะเก็ดเงินมีลักษณะอย่างไร ผื่นของสะเก็ดเงินมีลักษณะเป็นตุ่มหรือผื่นแดงนูนหนา มีขุยหรือสะเก็ดสีขาวติดบนผื่น เมื่อลอกขุยจะมีจุดเลือดออก ผื่นมักจะเป็นแบบกระจายไปทั้ง 2 ข้างของร่างกายเท่าๆ กัน ผื่น มีหลายแบบ และอาจเป็นแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ได้แก่ • ผื่นแดงนูนหนาขนาดใหญ่ และมีสะเก็ดสีขาวจำนวนมาก เป็นผื่นที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่แบบเรื้อรังและเฉพาะที่ โดยผื่นจะค่อยๆ ขยายออกไป และอาจหายได้เองอย่างช้าฯ บางรายอาจเป็นรอยดำแต่จะค่อยจางเป็นผิวหนังปกติในภายหลัง • ผื่นตุ่มแดงขนาดเล็กและมีสะเก็ด จะเป็นกระจายทั่วบริเวณลำตัวและแขนขา ผื่นมักเกิดระยะสั้นๆ และอาจหายได้เองบางครั้งพบตามหลังการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ • ผื่นแดงแบบมีตุ่มหนอง พบได้ที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าหรือเป็นแบบกระจายทั่วตัว • ผื่นแดงอักเสบบริเวณซอกพับ รักแร้ ซอกขา เป็นต้น • ผื่นแดงแบบทั่วตัว  ตำแหน่งผิวหนังที่พบผื่นได้บ่อย ได้แก่ หนังศรีษะซึ่งไม่ทำให้ผมร่วง ศอก เข่า ลำตัว ตะโพก ก้นกบ และสามารถพบส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ซอกพับ เล็บอาจเป็นแผ่นหนาหรือหลุมขรุขระหรือเล็บล่อน เป็นต้น การดำเนินและการกำเริบของโรคเป็นอย่างไร ผู้ป่วยที่ทราบปัจจัยเสี่ยงและหลีกเลี่ยงได้จะทำให้อาการของโรคทุเลา แต่ส่วนใหญ่จะไม่ทราบปัจจัยกระตุ้น จึงมีระยะที่ผื่นกำเริบ มีอาการรุนแรงและระยะโรคสงบสลับกันซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล โดยทั่วไปมักจะเป็นผื่นจำนวนน้อยและเป็นเฉพาะที่แต่มีบางรายอาจเป็นเรื้อรังตลอดชีวิต ในบางรายอาจมีอาการปวดจากการอักเสบของข้อคล้ายโรครูมาตอยด์ ได้แก่ ข้อของนิ้วมือ ศอก เข่า กระดูกต้นคอและกระดูกสันหลัง และถ้าไม่ได้รักษาทำให้ข้อพิการได้ วิธีการรักษามีอะไรบ้าง ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคนี้ให้หายขาด ดังนั้น เป้าหมายของการรักษา คือทำให้โรคสงบและควบคุมไม่ให้โรคกำเริบ วิธีรักษามีดังนี้ 1. ยาทา ปัจจุบันมีประสิทธิภาพต่อการรักษาเพิ่ม ยาที่ใช้มีหลายประเภท ได้แก่ น้ำมันดิน วิตามินดี สเตียรอยด์ ฯลฯ 2. ยากินและยาฉีด แพทย์จะพิจารณาชนิด ระยะเวลาที่ใช้และผลค้างเคียงของยาที่เกิดขึ้น ยาบางชนิดจึงห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคตับ ไต โรคเลือด เป็นต้น 3. การรักษาด้วยรังสีอัตราไวโอเลตหรือการฉายแสงอาทิตย์เทียม ซึ่งจะช่วยให้ผื่นทุเลาลงโดยฉายรังสีเฉพาะที่หรือทั้งตัวถ้าเป็นผื่นพื้นที่กว้าง หรือผู้ที่ไม่สามารถรักษาด้วยยากิน เพื่อผลดีในการรักษา แพทย์อาจให้ยาทาและยากินร่วมกับการฉายรังสี วิธีรักษาดังกล่าวจะช่วยลดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังและการอักเสบของผื่น รวมทั้งช่วยปรับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เป็นปกติโดยลดการสร้างสารที่กระตุ้นการแบ่งตัวสร้างเซลล์ผิวหนังหรือสะเก็ดของผื่น ข้อควรปฏิบัติในการดูแลสุขภาพมีอะไรบ้าง 1. มีความรู้และเข้าใจเรื่องโรคสะเก็ดเงิน และรู้จักหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นทำให้โรคกำเริบรวมทั้งการยอมรับภาวะเรื้อรังของโรคที่อาจเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต 2. กินยาและใช้ยาทาอย่างถูกต้องรวมทั้งรับการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อแพทย์ปรับการรักษาเฝ้าระวังผลข้างเคียงและปรับเปลี่ยนยาเนื่องจากมียารุ่นใหม่ๆ ที่ได้ผลดีมากขึ้น ช่วยควบคุมโรคให้สงบได้นาน ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง 3. หลีกเลี่ยงการแกะ เกา และลอกบริเวณผื่น ควรทาครีมบำรุงให้ผิวหนังชุ่มชื้นตามแพทย์แนะนำ 4. พักผ่อนให้เพียงพอออกกำลังกายอย่างพอเหมาะและรักษาความสะอาดของร่างกาย 5. หลีกเลี่ยงหรืองดดื่มสุราและสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้ผื่นกำเริบและรุนแรงมากขึ้นรวมทั้งยังทำให้เกิดโรคตับแข็งได้เร็วขึ้น 6. หลีกเลี่ยงความเครียด รู้จักควบคุมและลดความเครียดหรือสร้างเสริมสุขภาพจิตของตนเองให้มีความสุขในสังคมจะช่วยให้การรักษาและควบคุมโรคได้ผลดี 7. ควบคุมน้ำหนัก และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมวดไม่มีอาหารที่แสลงต่อโรค และยังไม่มีวิตามินหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยให้ผื่นหายเร็วหรือควบคุมโรคได้ 8. ในขณะที่รักษาด้วยยากิน ผู้ป่วยหญิงไม่ควรตั้งครรภ์และให้นมบุตร ยาบางชนิดผู้ป่วยอาจต้องคุมกำเนิดหลังเลิกกินยาด้วย สำหรับผู้ป่วยชายซึ่งรับประทานยาอยู่และต้องการมีบุตรควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ เป็นกรณีๆ ไป 9. ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ปวดข้อต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์หากไม่ได้รักษาจะทำให้ข้อผิดรูปหรือพิการได้ 10. ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบรวมทั้งชนิดของยาที่ใช้รักษาเพื่อแพทย์จะได้ให้การรักษาที่เหมาะสม |
แหล่งที่มา : chulalongkornhospital.go.th