ศิลปะพื้นบ้านภาคเหนือ แบบบ้านล้านนาประยุกต์ แบบบ้านล้านนา บ้านล้านนาหลังเล็กๆ


839 ผู้ชม


ศิลปะพื้นบ้านภาคเหนือ แบบบ้านล้านนาประยุกต์ แบบบ้านล้านนา บ้านล้านนาหลังเล็กๆ

 

 เฮือนล้านนา

 ดิฉันเคยนึกนะคะ ว่าถ้ามีเงินก็อยากปลูกบ้านไม้อยู่ทางเหนือ วิวสวย อากาศเย็น ผู้คนก็งาม ผักผลไม้กับดอกไม้เมืองหนาวก็มีเยอะ แต่อยากอยู่ห่างในตัวจังหวัดไปหน่อย อำเภอเมืองทั้งหลายชักจะแออัดคับคั่งคล้ายกรุงเทพ โดยเฉพาะเชียงใหม่
ก็ได้แต่ฝัน แต่ถ้าใครสามารถทำฝันเป็นจริง กำลังจะปลูกบ้านแบบล้านนา ขอเสนอแบบให้เลือกค่ะ มี ๓ แบบใหญ่ๆ
๑ เรือนเครื่องผูก หรือเรือนไม้บั่ว ซึ่งหมายถึงไม้ไผ่ ที่เรียกอย่างนี้ก็เพราะหลายส่วนใช้ไม้ไผ่ เช่นโครงสร้างส่วนหลังคา ตง ฝา และพื้น ใช้ไม้เนื้อแข็งประกอบก็ตรงคานและเสา มุงหลังคาด้วยใบตองตึง การก่อสร้างคล้ายเรือนผูกของภาคกลาง คือนิยมใช้ตอก และหวายเป็นตัวผูกมัดยึดส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันแทนตะปู โดยมากเป็นเรือนเล็กๆ แบบง่ายๆ เป็นรูปแบบการสร้างเรือนที่มีมานาน เก่าแก่กว่าเรือนแบบอื่น ถ้าใครอยากดูก็ต้องออกจากเมืองใหญ่ไปตามชนบทหรือหมู่บ้านเล็กๆ จะยังเห็นเรือนแบบนี้อยู่ค่ะ
ถ้าใครมีหัวใจศิลปินชอบความเรียบง่าย น่าจะเลือกเรือนไม้บั่วหลังน้อยปลูกกลางทุ่งหญ้าเชิงเขา มีลำธารไหลผ่าน กลางคืนออกมานั่งชมจันทร์บนพื้นฟากไม้ไผ่ ไม่หลงใหลแสงสี จุดตะเกียงแทนหลอดประหยัดไฟ ฟังเสียงหรีดหริ่งเรไรแทนเสียงซีดี ก็สุขใจแล้วละ 
๒ เรือนกาแล หรือ เฮือนบ่าเก่า ( เฮือน= เรือน บ่าเก่า=แบบเก่า) เป็นเรือนล้านนาที่สร้างขึ้นอย่างมั่นคง และมีส่วนประกอบประณีตกว่าเรือนแบบแรก นิยมสร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง มีไม้ป้านลมหลังคา ส่วนปลายยอดไขว้กันเรียกว่า "กาแล" ซึ่งมักสลักเสลาสวยงาม จึงเป็นที่มาของชื่อเรือน เดี๋ยวนี้เรือนกาแลแท้ๆแบบนี้หาได้ยากแล้วค่ะ
ถ้าใครยังมีเงินเหลือกินเหลือใช้ในยุคนี้ และสามารถหาไม้เนื้อแข็งมาได้มากพอจะสร้างเรือนทั้งหลัง ไม่มีปัญหาบุกรุกทำลายป่า ก็น่าจะสร้างเรือนกาแลให้ภูมิฐานสักเรือนเอาไว้ต้อนรับแขกจากเมืองกรุง หรืออยู่ให้สุขกายสบายใจว่าได้รักษาวัฒนธรรมเก่าแก่ของล้านนาเอาไว้ 
๓ เรือนไม้จริง ที่วิวัฒนาการไปจากเรือนกาแล คือเรือนไม้ทางเหนือที่เห็นกันหนาตามากที่สุดใน ๓ แบบนี้ คือบางส่วนยังเป็นเรือนไม้แบบเดิมเก่าแก่ของล้านนา แล้วรับเอารูปแบบของถิ่นภาคกลางตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ มาผสมผสานกันได้ลงตัว เช่นหลังคาจั่วมุงกระเบื้อง
เรือนล้านนาอีกแบบหนึ่งนำลายไม้ฉลุแบบขนมปังขิง (gingerbread) ที่แพร่หลายจากปลายรัชกาลที่ ๕ จนถึงรัชกาลที่ ๖ มาประดับเรือนไม้จริง เรียกเรือนประดับลายฉลุไม้นี้ว่า "เรือนทรงสะละไน" มักเป็นเรือนของพวกคหบดีคนมีเงิน
ส่วนเรือนล้านนาที่ผสมผสานกันระหว่างรูปแบบเก่ากับรูปแบบใหม่ทันสมัยในปัจจุบัน เรียกว่า "เฮือนสมัยก๋าง" (เรือนสมัยกลาง) คืออยู่ระหว่าง "เฮือนบ่าเก่า" กับ "เฮือนสมัย" (เรือนสมัยใหม่) หรือที่เรียกอีกอย่างว่า "เฮือนบ่ใจ้ฮ่างปึ๊นเมือง" (เรือนไม่ใช่ทรงพื้นเมือง) เฮือนสมัยมักจะมีแบบอิทธิพลตะวันตกเข้ามาประกอบรูปทรง
ถ้าตกลงจะสร้าง "เฮือนล้านนา" ก็จะแถมการออกแบบบริเวณให้อีก ๒-๓ อย่าง ตามวัฒนธรรมเดิมของล้านนา 
"ข่วงบ้าน" เป็นลานกว้างในบริเวณบ้าน ใช้เป็นลานอเนกประสงค์ เอาไว้ให้ลูกหลานวิ่งเล่น หรือจะเอาไว้ตากอะไรก็ได้ เป็นลานเชื่อมกับทางเดินเข้าสู่ตัวบ้าน หรือเชื่อมกับเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง ริมลานนิยมปลูกไม้ยืนต้น เพื่ออาศัยร่มเงาให้เย็นสบาย ประดับลำต้นด้วยกล้วยไม้พื้นเมือง ..อื้อฮือ…สวยจริงๆ
ส่วนรั้วหน้าบ้านชิดถนน อย่าเอาคอนกรีตหรืออัลลอย ไม่เข้ากัน เอาไม้ไผ่แข็งแรงมาขัดแตะตามแนวตั้ง ขัดชิดกันให้แน่น เรียกว่า "รั้วสลาบ" แต่ถ้าขัดเป็นตาตารางสี่เหลี่ยมโปร่งเรียกว่า "รั้วตาแสง" หรือถ้าง่ายกว่านี้แบบรั้วชั่วคราว ใช้แค่ไม้รวกเล็กๆ มาวางสอดกับเสารั้วไม้ในแนวนอนห่างกันราวๆ คืบกว่าๆ ก็ได้ เรียกว่า "รั้วตั้งป่อง" ตามขอบรั้วก็ปลูกไม้พุ่ม ไม้ดอก อย่าปล่อยรั้วไว้เฉยๆ ยิ่งปลูกพืชกินได้อย่างตำลึง ถั่วแปบ ถั่วพู มะระพื้นเมือง มีกระถินกับชะอมแซมเป็นระยะ…โอย! วิเศษ นึกแล้วน่าปลูกจัง จะได้เด็ดมากินได้ ไม่ต้องฉีดยาฆ่าแมลง ส่วนรั้วด้านข้างก็ปลูกไผ่ค่ะ อย่างไผ่เลี้ยงและไผ่รวก หลังบ้านปลูกไผ่สีสุกกอใหญ่ๆ หรือไม้ยืนต้น เป็นกำแพงต้นไม้กันลมแรงจากทุ่งนาหลังบ้านไงคะ 
อ้อ! ไม่ควรลืม ใกล้ประตูเข้าบ้าน ควรสร้างเรือนหรือชั้นเล็กๆวางหม้อน้ำ พร้อมกับกระบวยให้ผู้คนผ่านไปมาได้แวะดื่ม เรียกว่า "ตานน้ำ" หรือการให้ทานน้ำ แสดงถึงน้ำใจเอื้อเฟื้อของชาวล้านนาได้อย่างดี 


แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด