ข่าวโรคเบาหวาน วิจัยโรคเบาหวาน นวัตกรรมโรคเบาหวาน


641 ผู้ชม


ข่าวโรคเบาหวาน วิจัยโรคเบาหวาน นวัตกรรมโรคเบาหวาน

 

 

 

รพ.ศิริราช คิดค้นผ่าตัดระบบไหลเวียนโลหิต ช่วยผู้ป่วยโรคเบาหวาน

   วันนี้ (30 พ.ค.2555) รพ.ศิริราช ผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินระบบไหลเวียนโลหิตบริเวณเท้าในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน แถลงในงานของทางโรงพยาบาล

   ศ. นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นประธานแถลงข่าว “ครั้งแรกของโลก นวัตกรรมศิริราช ผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินระบบไหลเวียนโลหิตบริเวณเท้าในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ป้องกันการถูกตัดขา” โดยมี ศ.นพ.ศุภกร โรจนนินทร์ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์  และ ศ.นพ.ประมุข มุทิรางกูร หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์หลอดเลือด ภาควิชาศัลยศาสตร์ หนึ่งในผู้คิดค้นนวัตกรรมดังกล่าว โดยมีนางอรุณี เตมีพัฒนพงษา อายุ 77 ปี อาชีพค้าขาย หนึ่งในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าว จนสามารถกลับมาเดินได้ตามปกติ

  ศ.นพ.ศุภกรกล่าวว่า โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข พบได้ทั่วโลก และมีอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยทุกปี ผู้ป่วยเบาหวานเมื่อเป็นได้ระยะหนึ่งจะเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคทางระบบประสาท โรคหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดบริเวณเท้า ซึ่งเป็นอวัยวะที่ถูกใช้งานหนัก แต่มักถูกมองข้าม แผลขาดเลือดที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ถูกตัดขา เกิดภาวะทุพพลภาพ บางรายอาจเสียชีวิต จากสถานการณ์ดังกล่าว ทางคณะศัลยแพทย์ ศิริราชพยาบาล จึงคิดค้นนวัตกรรมการผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินระบบไหลเวียนโลหิตบริเวณเท้าในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานขึ้น นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลกที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่มีแผลขาดเลือดรอดพ้นจากความพิการได้

    ศ.นพ.ประมุขกล่าวว่า คณะศัลยแพทย์ได้คิดค้นการวิจัยการรักษาวิธีนี้ขึ้น เพื่อช่วยกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่มีพยาธิสภาพของหลอดเลือดแดงบริเวณขาอยู่ในขั้นรุนแรง ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ได้ โดยวิธีนี้เริ่มผ่าตัดรายแรกปี 2545 จนถึงปัจจุบันรวมการรักษาที่ รพ.ศิริราชไปแล้ว 40 ราย แต่จากการรวบรวมข้อมูลผลการรักษาที่เคยทำระหว่างปี 2545-2552 มีสถิติการเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้จำนวน 26 ราย เป็นเพศหญิงมากกว่าชาย โดยอายุส่วนใหญ่ 68 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ ผู้ป่วยดังกล่าวไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นแล้ว จึงต้องใช้วิธีนี้ โดยพบว่าร้อยละ 73 ผ่าตัดสำเร็จผลการรักษาดี ร้อยละ 23 ถูกตัดขา เนื่องจากมีการติดเชื้อก่อนผ่าตัด และไม่พบการติดเชื้อมาก่อน เมื่อผ่าตัดเสร็จจึงทราบว่ายังมีเชื้อหลงเหลือ และพบว่าอีกร้อยละ 4 เสียชีวิตจากภาวะปอดอักเสบ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวเป็นสถิติเริ่มแรกของการผ่าตัด แต่ขณะนี้ไม่มีปัญหาใดๆ ซึ่งหลังการผ่าตัดทางคณะศัลยแพทย์มีการติดตามผลการรักษา โดยพบว่าร้อยละ 85 มีชีวิตดี ดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ และร้อยละ 76 ไม่ต้องสูญเสียขา สามารถอยู่ได้อีก

    ศ.นพ.ประมุขกล่าวว่า สำหรับหลักการผ่าตัดวิธีนี้ คือการใช้หลอดเลือดดำบริเวณข้อเท้าเป็นทางนำเลือดแดง จากหลอดเลือดแดงบริเวณต้นขา เข้าไปในระบบหลอดเลือดดำโดยตรง ซึ่งแพทย์จะใช้หลอดเลือดแท้จากขาอีกข้าง มาต่อเข้ากับหลอดเลือดดำ จากนั้นใช้หลอดเลือดเทียมเชื่อมต่อไปยังหลอดเลือดแดงบริเวณต้นขา ซึ่งการทำลักษณะนี้จะช่วยให้เลือดหมุนเวียนไปบริเวณเท้าที่มีแผล ทำให้แผลสมานตัวเองได้ วิธีนี้จะช่วยให้ปริมาณอาหาร และออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงเท้าที่ขาดเลือดได้อย่างพอเพียง จนแผลเบาหวานที่ขาดเลือดหายเป็นปกติ ผู้ป่วยสามารถเดินได้โดยใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 4 ชั่วโมง นอกพักฟื้นที่ รพ. 4-6 สัปดาห์ ค่าใช้จ่ายอย่างต่ำประมาณ 50,000 บาท โดยทุกสิทธิในระบบสุขภาพไทย ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ สามารถเบิกจ่ายได้ตามระบบที่กำหนด

     ศ.นพ.ประมุขกล่าวอีกว่า ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษาวิธีนี้ จะต้องเป็นผู้ป่วยไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินหลอดเลือดแดง หรือบายพาส รวมถึงการถ่างขยายหลอดเลือดแดงด้วยบัลลูน หรือการใส่ขดลวดค้ำยัน โดยผู้ป่วยจะต้องมีหลอดเลือดดำบริเวณข้อเท้าดี สภาพหัวใจต้องแข็งแรงมากพอ ไม่มีการติดเชื้อ หรือหากมีหนองบริเวณแผลต้องรักษาให้หายก่อน และเส้นเลือดดำต้องไม่อุดตัน จึงจำสามารถรักษาด้วยวิธีนี้ อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวตนได้นำเสนอครั้งแรกที่การประชุมวิชาการศัลยแพทย์ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2552 หลังจากนั้นได้รับความสนใจให้มีการนำเสนอเรื่องนี้ทุกๆ ปี ทั้งปี 2553 2554 และล่าสุดในปี 2555 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษอีกด้วย ที่สำคัญผลงานชิ้นนี้ยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติชื่อ Vascular ซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ทั้งสหรัฐ รัสเซีย ฝรั่งเศส ฯลฯ แต่ประเทศเหล่านี้ยังไม่มีการนำไปใช้ เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานของประเทศดังกล่าวมีการรักษาทัน จนไม่ต้องใช้วิธีนี้

       อนึ่ง ผู้ประสงค์จะรับการรักษาด้วยวิธีนี้สามารถติดต่อได้ที่หน่วยตรวจโรคศัลยศาสตร์ ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น 3 รพ.ศิริราช หรือสอบถามได้ที่ www.sirirajonline.net

 

แหล่งที่มา : chaoprayanews.com

อัพเดทล่าสุด