กระบวนการทำงานกลุ่ม ประโยชน์ของการทำงานกลุ่ม อุปสรรคของกระบวนการทำงานกลุ่ม ทักษะการทำงานกลุ่ม


21,954 ผู้ชม


กระบวนการทำงานกลุ่ม ประโยชน์ของการทำงานกลุ่ม อุปสรรคของกระบวนการทำงานกลุ่ม ทักษะการทำงานกลุ่ม

 

 ทำงานกลุ่ม กับ ทำงานเดี่ยว แบบไหนดีกว่ากัน

 การสะท้อนความคิดเห็นก่อนปฏิบัติการ ( Initial Reflection ) 
จากการที่ข้าพเจ้าได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชาภาษาไทย ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ มาเป็นเวลา ๓๑ ปี ได้มอบหมายกิจกรรมให้นักเรียนนำไปปฏิบัติทั้งในชั่วโมงเรียนและนอกเวลาเรียน ลักษณะงานที่นักเรียนได้นำปฏิบัติมีทั้งงานในลักษณะที่เป็นรายบุคคล และเป็นกระบวนการกลุ่ม กิจกรรมที่เป็นกระบวนการกลุ่มมีตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป และไม่เกิน ๑๐ คน ซึ่งคาดหวังว่างานที่มอบหมายให้นักเรียนนำไปปฏิบัติทั้งสองลักษณะต้องเสร็จเรียบร้อย มีคุณภาพ และส่งตรง
ตามเวลาที่กำหนด แต่ผลปรากฏว่าชิ้นงานมักจะมีปัญหาเรื่องการกำหนดส่ง มีนักเรียนบางส่วนที่ส่งงานไม่เป็นไปตามข้อตกลง เมื่อซักถามมักให้เหตุผลต่าง ๆ นานา เช่น ลืมไว้ที่บ้าน งานได้ไม่ครบไม่สามารถเย็บเล่มส่งได้เนื่องจากชิ้นงานบางส่วนอยู่ที่เพื่อน ซึ่งวันที่กำหนดส่งไม่มาโรงเรียน ฯลฯ เมื่อเกิดสภาพปัญหาเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงได้ให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นว่า การปฏิบัติกิจกรรมเพื่อทำชิ้นงานส่งครู นักเรียนคิดว่าการทำงานในรูปแบบใดที่เหมาะสมและสะดวกสำหรับนักเรียน ระหว่างการทำเป็นรายบุคคลกับการทำเป็นกระบวนการกลุ่ม 
การวางแผนปฏิบัติการ ( Planing )
ในการจัดการเรียนการสอนข้าพเจ้ามักใช้เทคนิคการสอนกระบวนการกลุ่ม จุดประสงค์เพื่อต้องการให้นักเรียนร่วมกันคิดร่วมกันทำ แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการส่งงานที่ไม่เป็นไปตามกำหนด และเพื่อไม่ให้เกิดสภาพปัญหาดังที่กล่าวมา ดังนั้นหลังจากเปิดภาคเรียนที่ ๒ ได้ ๑ สัปดาห์ ข้าพเจ้าจึงทำความตกลงกับนักเรียนโดยให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติกิจกรรมว่าต้องการทำในลักษณะใดระหว่างทำเป็นรายบุคคลกับทำเป็นกระบวนการกลุ่ม พร้อมทั้งให้นักเรียนเขียนถึงข้อดีและข้อเสียของการปฏิบัติกิจกรรมทั้งสองลักษณะ ปรากฏว่านักเรียนจำนวน ๑๓๒ คน ให้ความคิดเห็นว่าการปฏิบัติงานเป็นรายบุคคลดีกว่ากระบวนการกลุ่มเป็นจำนวน ๔๒ คน และการปฏิบัติงานโดยกระบวนการกลุ่มดีกว่าทำเป็นรายบุคคลเป็นจำนวน ๙๐ คนจากข้อมูลข้างต้นสรุปได้ว่านักเรียนให้ความคิดเห็นว่าการปฏิบัติกิจกรรมโดยใช้กระบวนกลุ่มดีกว่าการปฏิบัติกิจกรรมที่ทำเป็นรายบุคคล จึงให้นักเรียนร่วมกันกำหนดข้อปฏิบัติในการทำงาน 
การปฏิบัติการ ( Action )
เมื่อถึงเวลาสอนและมีกิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้กระบวนการกลุ่ม จะให้นักเรียนจัดกลุ่มกันเองตามความพึงพอใจ แล้วให้กำหนดบทบาทและหน้าที่ของตนเอง และที่สำคัญกำหนดเวลาในการส่งงานซึ่งต้องตรงตามเวลาที่กำหนด หากส่งไม่ตรงเวลาควรมีบทลงโทษอย่างไร นอกจากนั้นนักเรียนต้องวางแผนในการทำงานร่วมกัน โดยเขียนออกมาให้เห็นเป็นขั้นตอนอย่างชัดเจน อีกทั้งนักเรียนสามารถร่วมแสดงความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอชิ้นงานออกมาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งงานทุกชิ้นไม่สามารถทำให้เสร็จในชั่วโมงเรียนได้ จึงให้นักเรียนนำไปทำนอกเวลาเรียนที่ว่าง หรือแบ่งหน้าที่กันไปทำที่บ้าน และเพื่อแก้ไขสภาพปัญหาที่มีนักเรียนบางคน (ส่วนน้อย) ที่ทำงานกลุ่มไม่เต็มที่ หรือไม่ให้ความร่วมมือ ข้าพเจ้าจะคอยติดตามความคืบหน้าในการทำงานของนักเรียนทุกกลุ่ม และจะสอบถามวิธีการทำงานของแต่ละบุคคลว่ามีขั้นตอนในการปฏิบัติอย่างไร เป็นการกระตุ้นเตือนไม่ให้เป็นการเอาเปรียบเพื่อนร่วมกลุ่ม 
การสังเกตผลการปฏิบัติ ( Observation )
หลังจากกำหนดกิจกรรมปฏิบัติให้นักเรียนทำโดยใช้กระบวนการกลุ่มแล้ว ผลปรากฏว่า
ผลงานของนักเรียนออกมาอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี มีคุณภาพ และที่สำคัญส่งตรงตามเวลาที่กำหนด ทำให้ไม่มีปัญหาในการตรวจเก็บคะแนน และนักเรียนมีความพึงพอใจในการทำงาน 
การสะท้อนความคิดเห็นหลังการปฏิบัติ ( Reflection )
งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้ข้าพเจ้ามั่นใจว่า การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการกลุ่มเป็นเทคนิคการสอนที่ส่งผลให้นักเรียนรู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง รู้จักการเป็นผู้นำ
ผู้ตาม รู้จักการทำงานร่วมกันอันก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ เกิดความรักใคร่ เมตตา
ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อีกทั้งรู้จักการแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตย เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลายในชิ้นงานที่ทำร่วมกัน และที่สำคัญรู้จักความรับผิดชอบสามารถส่งงานตรงตามเวลาที่กำหนด 
สรุปความคิดเห็นนักเรียนเกี่ยวกับการทำงานโดยใช้กระบวนการกลุ่มดีกว่าการทำงานเป็นรายบุคคล
ข้อดี
๑. รู้จักการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเป็นการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย และฝึกความอดทน ความเสียสละ
๒. รู้จักเพื่อนมากขึ้น อีกทั้งเป็นการเรียนรู้นิสัยของเพื่อน ๆ 
๓. ทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ
๔. ลดภาระงานที่ทำเพราะมีการแบ่งหน้าที่ อีกทั้งเป็นการฝึกความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
๕. ร่วมกันปรึกษาหารือทำให้งานมีประสิทธิภาพและเสร็จเร็วยิ่งขึ้น สามารถส่งงานได้ตรงตามเวลาที่กำหนด
๖. มีความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลาย ทำให้งานออกมาหลายรูปแบบ
๗. ฝึกให้มีลักษณะนิสัยที่ไม่เห็นแก่ตัว
๘. ฝึกให้มีความกล้าแสดงออกและกล้าแสดงความคิดเห็นต่อสมาชิกคนอื่น ๆ ในกลุ่ม
๙. สร้างเสริมลักษณะนิสัยในการทำงานร่วมกับคนหมู่มาก
๑๐. ฝึกการทำงานในกระบวนการกลุ่ม และรู้จักในการวางแผนในการทำงานร่วมกัน
๑๑. ทำให้รู้จักการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน
๑๒. ไม่เกิดความเครียดในการทำงาน
๑๓. สามารถหาจุดบกพร่องของงานได้ง่ายขึ้น
๑๔. ได้ข้อมูลจากแหล่งความรู้หลากหลายยิ่งขึ้น
๑๕. ได้พัฒนาความสามารถของตนเอง และไม่เป็นตัวถ่วงภายในกลุ่ม
๑๖. ฝึกความเป็นผู้นำและผู้ตาม
๑๗. ทำให้เป็นคนที่ตรงต่อเวลามากขึ้น มิเช่นนั้นจะทำให้งานของกลุ่มเสียหาย
ข้อเสีย
๑. หากแบ่งงานแล้วมีเพื่อนบางคนลืมนำงานมาโรงเรียนก็จะทำให้เสียทั้งกลุ่ม และบางคนทำงานช้า
๒. งานที่แบ่งหน้าที่กันทำอาจไม่เสมอภาคกัน
๓. อาจมีสมาชิกบางคนที่เห็นแก่ตัว ไม่ช่วยทำงาน ไม่รับผิดชอบ แต่ได้คะแนนเท่ากับคนที่ทำงานอย่างเต็มที่
๔. งานอาจออกมาไม่ตรงกับความต้องการ เพราะต้องทำตามความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ 
๕. หากเป็นงานที่ต้องเขียนงานอาจมีความแตกต่างกัน เช่น ลายมือ ความประณีต
๖. หากขาดความสามัคคีกันงานอาจออกมาล่าช้า 

แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด