วิธีรักษาโรคริดสีดวง วิธีรักษาโรคริดสีดวงทวาร การรักษาโรคริดสีดวงเบื้องต้น
ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids or piles)
บทนำ
โรคริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids หรือ Piles) คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบ และ/หรือการบวมของกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด (Vascular structures, เนื้อเยื่อที่ประกอบด้วย หลอดเลือดดำ หลอดเลือดแดง และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน) ที่อยู่ภายในทวารหนักและรอบๆปากทวารหนัก โดยเนื้อเยื่อกลุ่มนี้มีหน้าที่ช่วยปกป้องเนื้อเยื่อทวารหนักในช่วงมีการขับถ่ายอุจจาระ และช่วยให้ปากทวารหนักปิดสนิทช่วงไม่ปวดถ่ายอุจจาระ
ภายในทวารหนัก (ทวารหนักอยู่ต่อจากลำไส้ตรง โดยลำไส้ตรง คือลำไส้ใหญ่ตอนล่าง สุด เป็นลำไส้ใหญ่ส่วนที่ต่อกับทวารหนัก) จะมีแนวเส้นที่เรียกว่า เส้นเด็นเทท หรือเส้นเพ็กทิเนท (Dentate line หรือ Pectinate line) ซึ่งเป็นเส้นแบ่งทวารหนักออกเป็นส่วนล่างและส่วน บน ทั้งนี้เมื่อเกิดริดสีดวงทวารในส่วนที่อยู่ใต้ต่อเส้นเด็นเทท เรียกว่า “โรคริดสีดวงภายนอก(External hemorrhoids)” และเมื่อเกิดริดสีดวงทวารเหนือต่อเส้นเด็นเทท เรียกว่า “โรคริดสี ดวงภายใน (Internal hemorrhoids)”
โรคริดสีดวงทวารเป็นโรคพบบ่อยโรคหนึ่ง ในสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยมีอาการจากโรคนี้ได้ประมาณ 5% ของประชากรผู้ใหญ่ทั้งหมด โดยพบได้สูงในช่วงอายุ 45-65 ปี (อาจพบในเด็ก และในอายุอื่นๆได้ทุกอายุ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ) โดยผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคได้ใกล้เคียงกัน
โรคริดสีดวงทวารเกิดได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคริดสีดวงทวาร เกิดจากกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดดังกล่าวได้รับบาดเจ็บ และ/หรือมีการหมุนเวียนโลหิต (เลือด) ไม่ดีจากสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่างๆจนก่อให้เกิดการโป่งพอง บวม อักเสบ หรือเกิดมีลิ่มเลือดในกลุ่มเนื้อเยื่อดังกล่าว ซึ่งสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อย คือ
- ท้องผูก ทำให้ต้องเบ่งอุจจาระเป็นประจำ แรงเบ่งจะเพิ่มความดัน และ/หรือการบาดเจ็บในกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดโป่งพอง หรือหลอดเลือดขอดได้ง่าย
- ท้องเสียเรื้อรัง การอุจจาระบ่อยๆจะเพิ่มความดัน และ/หรือการบาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด เช่นกัน
- การนั่งแช่นานๆ รวมทั้งนั่งถ่ายอุจจาระนานๆ จะกดทับกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด จึงเพิ่มความดัน/การบาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด
- อายุ ผู้สูงอายุจะมีการเสื่อมของเซลล์ต่างๆ รวมทั้งของกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด หลอดเลือดจึงโป่งพองได้ง่าย
- การตั้งครรภ์ เพราะน้ำหนักของครรภ์จะกดทับลงบนกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด เลือดจึงไหลกลับหัวใจลดลง จึงคั่งอยู่ในหลอดเลือด จึงเกิดหลอดเลือดบวมพองได้ง่าย
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ส่งผลให้เพิ่มแรงดันในช่องท้องและในอุ้งเชิงกรานสูงขึ้น เลือดจึงคั่งในกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดเช่นเดียวกับในหญิงตั้งครรภ์
- การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก จึงเกิดการกดเบียดทับ/บาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดส่วนนี้เรื้อรัง จึงมีเลือดคั่งในหลอดเลือด เกิดโป่งพองได้ง่าย
- โรคแต่กำเนิดที่ไม่มีลิ้นปิดเปิด (Valve) ในหลอดเลือดดำในเนื้อเยื่อหลอดเลือดซึ่งช่วยในการไหลเวียนเลือด จึงเกิดภาวะเลือดคั่งในหลอดเลือด จึงเกิดหลอดเลือดโป่งพองง่าย
- อาจจากพันธุกรรม เพราะพบโรคได้สูงกว่า เมื่อครอบครัวมีประวัติเป็นโรคริดสีดวงทวาร
โรคริดสีดวงทวารมีอาการอย่างไร?
- อาการพบบ่อยของโรคริดสีดวงภายนอก คือ
- อาการพบบ่อยของโรคริดสีดวงทวารภายใน คือ
- อุจจาระเป็นเลือด โดยไม่มีอาการปวดเจ็บ อุจจาระมักเป็นเลือดสด ออกหลังอุจจาระสุดแล้ว มักพบเลือดบนกระดาษชำระ เลือดที่ออกจะไม่ปนกับอุจจาระ มักไม่มีมูกปน และมักหยุดได้เอง อาการเหล่านี้จะเป็นๆหายๆ
- เมื่อเป็นมาก หลอดเลือดจะบวมมาก รวมทั้งเนื้อเยื่อเกี่ยวพันรอบหลอดเลือดจะบวมออกมาถึงปากทวารหนัก เห็นเป็นก้อนเนื้อนิ่ม ปลิ้นโผล่ออกมานอกปากทวารหนัก ซึ่งในภาวะเช่นนี้ จะก่ออาการเจ็บปวดได้
ทั้งนี้ โดยทั่วไปแบ่งความรุนแรงของโรคริดสีดวงภายใน เป็น 4 ระดับตามความรุนแรง ได้แก่
- ระดับ 1 หลอดเลือดที่โป่งพอง ยังเกิดอยู่ภายในทวารหนักและลำไส้ตรง
- ระดับ 2 หลอดเลือด พร้อมเนื้อเยื่อรอบๆหลอดเลือดปลิ้นโผล่ออกมาที่ปากทวารหนักในขณะอุจจาระ แต่ก้อนเนื้อนี้สามารถกลับเข้าไปภายในทวารหนักได้เองหลังสิ้นสุดอุจจาระ
- ระดับ 3 ก้อนเนื้อไม่กลับเข้าภายในทวารหนัก หลังสุดอุจจาระแล้ว แต่สามารถใช้นิ้วดันกลับเข้าไปได้
- ระดับ 4 ก้อนเนื้อกลับเข้าไปภายในทวารหนักไม่ได้ ค้างอยู่หน้าปากทวารหนัก ถึงแม้จะใช้นิ้วช่วยดันแล้วก็ตาม ซึ่งระยะนี้ผู้ป่วยจะเจ็บปวดมาก และควรต้องรีบพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน ก่อนที่ก้อนเนื้อจะเน่าตายจากการขาดเลือด
แพทย์วินิจฉัยโรคริดสีดวงทวารได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคริดสีดวงทวารได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจบริเวณก้อนเนื้อ/ทวารหนัก และการส่องกล้องตรวจทวารหนักและลำไส้ตรง ในบางครั้งอาจมีการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เมื่อต้องแยกจากโรคมะเร็ง
รักษาโรคริดสีดวงทวารได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคริดสีดวงทวาร ได้แก่ ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเพิ่มความดันในกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร และการใช้ยาต่างๆ เช่น ยาทาลดอาการคัน ยาเหน็บทวารลดอาการบวม ปวด และยาแก้ปวด เป็นต้น
แต่เมื่อการรักษาในลักษณะประคับประคองไม่ได้ผล การรักษาขั้นต่อไป คือ การรักษาทางศัลยกรรม ที่มีหลายรูปแบบ เช่น การจี้ด้วยไฟฟ้า หรือ เลเซอร์ การฉีดยาเข้าหลอดเลือด เพื่อให้หลอดเลือดยุบแฟบ การผูกหลอดเลือด หรือการผ่าตัดหลอดเลือด ทั้งนี้ ขึ้นกับความรุน แรงของโรค ข้อบ่งชี้ และดุลพินิจของแพทย์
มีผลข้างเคียงจากโรคริดสีดวงทวารอย่างไร?
ผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน) จากโรคริดสีดวงทวาร ได้แก่
- ภาวะกลั้นอุจจาระไม่อยู่ ทั้งนี้เพราะกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด เหล่านี้ มีหน้าที่ช่วยการปิดตัวของหูรูดปากทวารหนักในภาวะไม่อุจจาระ เมื่อเกิดหลอดเลือดโป่งพอง หูรูดปากทวารหนักจึงปิดไม่สนิท จึงเกิดการกลั้นอุจจาระไม่อยู่
- ภาวะซีด เมื่อมีเลือดออกจากกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดเรื้อรัง หรือบางครั้งเลือด ออกมากและไม่สามารถหยุดเองได้ ต้องรีบพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน
- การติดเชื้อ อาจเกิดเป็นฝี หรือหนองในบริเวณก้นได้
- เมื่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดปลิ้นออกนอกทวารหนักในระดับ 4 ซึ่งเป็นสาเหตุให้หลอดเลือดขาดเลือด เกิดการเน่าตายของกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บ ปวดอย่างมาก ซึ่งจัดเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องพบแพทย์ เช่นกัน
โรคริดสีดวงทวารรุนแรงไหม?
โรคริดสีดวงทวาร เป็นโรคไม่รุนแรง มักไม่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต แต่เป็นโรคเรื้อรัง ก่ออาการเป็นๆหายเมื่อยังไม่สามารถควบคุมสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงได้จึงส่งผลถึงคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเกิดผลข้างเคียงดังกล่าว
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นริดสีดวงทวาร และการพบแพทย์ ได้แก่
- ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
- ใส่ยาทาบริเวณก้น/บริเวณริดสีดวง หรือ เหน็บยาตามแพทย์แนะนำ
- กินยาต่างๆ รวมทั้งยาแก้ปวดตามแพทย์แนะนำ
- ดื่มน้ำสะอาดมากๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม เช่น หัวใจล้มเหลว เพื่อให้อุจจาระอ่อนนุ่ม และขับถ่ายออกได้ง่าย
- กินผัก ผลไม้ชนิดมีกากใยสูงมากๆ เช่น ฝรั่ง แอบเปิล มะละกอสุก เพื่อป้องกันท้องผูก
- ฝึกอุจจาระให้เป็นเวลา ไม่กลั้น และไม่เบ่งอุจจาระ
- นั่งแช่น้ำอุ่นเสมอ อาจเป็นเพียงน้ำอุ่นธรรมดา หรือ น้ำด่างทับทิมอุ่น หรือ อื่นๆ ตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ ครั้งละ 10-15 นาที่ วันละประมาณ 2-3 ครั้ง จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด และอาการบวมได้ดี
- เมื่อมีก้อนเนื้อบวมออกมาบริเวณก้น อาจประคบด้วยน้ำเย็น ซึ่งอาจช่วยลดบวมได้
- ล้างบริเวณก้นด้วยน้ำอุ่น หรือ น้ำสะอาด รักษาให้สะอาดเสมอ แพทย์หลายท่านแนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องใช้สบู่ แต่ถ้าผู้ป่วยอยากใช้สบู่ ควรเป็นสบู่เด็กอ่อนเพื่อลดการระคายเคืองต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดที่กำลังบวม หรือมีการอักเสบ
- เมื่ออุจจาระ/ปัสสาวะ ไม่ควรทำความสะอาดด้วยกระดาษชำระที่แข็ง ควรชุบน้ำ หรือ ใช้กระดาษชำระชนิดเปียก (มีขายในท้องตลาดแล้ว)
- พยายามฝึกไม่เบ่งอุจจาระ
- ไม่ควรนั่ง หรือ ยืนนานๆ รวมทั้งนั่งส้วมนานๆ ไม่นั่งอ่านหนังสือนานๆขณะอุจจาระ
- ลดความอ้วน
- เมื่อเลือดออกมาก ใช้ผ้าขนหนูสะอาดกดบริเวณก้นไว้ให้แน่น ถ้าเลือดไม่หยุด ควรพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน
- พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือ เมื่ออาการต่างๆเลวลง หรือเมื่อกังวลในอาการ
- พบแพทย์เป็นการฉุกเฉินเสมอเมื่อ เลือดออกทางก้นไม่หยุด หรือ เมื่อก้อนเนื้อไม่สามารถกลับเข้าไปในทวารได้ อย่าพยายามออกแรงดันก้อนเนื้อ เพราะจะทำให้ก้อนเนื้อได้รับบาดเจ็บและบวมมากขึ้น
ป้องกันโรคริดสีดวงทวารอย่างไร?
วิธีป้องกันริดสีดวงทวาร คือ วิธีการเดียวกับในการดูแลตนเอง ที่สำคัญ ได้แก่
- ป้องกันท้องผูกด้วยวิธีต่างๆดังกล่าวแล้วในหัวข้อการดูแลตนเอง
- ไม่นั่ง ยืนนานๆ ไม่นั่งอ่านหนังสือนานๆขณะอุจจาระ
- เคลื่อนไหวร่างกายเสมอ
- ฝึกเข้าห้องน้ำให้เป็นเวลา ไม่กลั้นอุจจาระ และไม่เบ่งอุจจาระ
- ลดความอ้วน
บรรณานุกรม
- Hemorrhoid. https://en.wikipedia.org/wiki/Hemorrhoid [2012, Jan 30].
- Hemorrhoid surgery. https://emedicine.medscape.com/article/195401-overview#showall [2012, Jan 30].
- Mounsey, A., Halladay, J., and Sadiq, T. (2011). Hemorrhoids. Am Fam Physician. 84, 204-210.
- Pectinate line. https://en.wikipedia.org/wiki/Pectinate_line [2012, Jan 30].
แหล่งที่มา : haamor.com