วิธีรักษาโรคถุงลมโป่งพอง แผ่นพับโรคถุงลมโป่งพอง โรคถุงลมโป่งพอง จะทำให้ระบบอวัยวะใดทำงานผิดปกติและจะส่งผลต่อร่างกายอย่างไร
เป็นโรคที่ถุงลมมีการถูกทำลายและทางเดินหายใจตีบแคบลม ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่ เมื่อปอดถูกทำลายไปมากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้หายใจลำบากมากขึ้น และเมื่อการทำลายเป็นรุนแรงมาก จะทำให้ร่างกายไม่สามารถได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ และไม่สามารถกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากร่างกาย ทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยขึ้นได้
สาเหตุของการเกิด
https://www.youtube.com/watch?v=2wF1csksp-Q&feature=related
คลิปนี้ทำให้สามารถเห็นภาพการทำงานของปอดปกติกับปอดที่เป็นถุงลมโป่งพองได้ ชัดเจน โดยปกติ อากาศที่หายใจเข้าไป จะผ่านจากจมูก คอ ลงไปถึงหลอดลม จนถึงถุงลม ที่ถุงลม จะมีเส้นเลือดที่นำเอาเลือดมาแลกเปลี่ยนออกซิเจน กำจัดคาร์บอนไดออกไซด์
ในผู้ป่วยถุงลมโป่งพอง เกิดขึ้นเนื่องจากการสูบบุหรี่ ควันและสารพิษ จะเข้าไปทำลายทางเดินหายใจ และถุงลมที่ปอด ทำให้เกิดการบวมและการอักเสบในทางเดินหายใจ เมื่อเกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง จะทำให้เกิดการเป็นแผลเป็น ทำให้การหายใจลำบากขึ้น มีอาการมากขึ้น
ในการเกิดถุงลมโป่งพอง จะเกิดการทำลายของทั้งหลอดลม และถุงลมในปอด
หลอดลมอักเสบเรื้อรัง
จะพบว่าผู้ป่วยมีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะมาก ภาวะการอักเสบเรื้อรังนี้ จะทำให้เกิดแผลเป็นและทางเดินหายใจตีบแคบลงกว่าเกิม
ถุงลมโป่งพอง
มีลักษณะของการทำลายถุงลมที่ปอด ทำให้การแลกเปลี่ยนอากาศแย่ลง
ความเสี่ยงในการเกิดถุงลมโป่งพอง
การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยที่ชัดเจนว่าทำให้เกิดถุงลมโป่งพอง อย่างไรก็ตามพบว่า อีก 20% ของคนที่เป็นถุงลมโป่งพอง ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน
ปัจจัยอื่นเช่น ทางเดินหายใจไวกว่าปกติ airway responsiveness
Secondhand smoker หรือ ทำงานที่ต้องสัมผัสกับฝุ่น หรือมลภาวะมากเกินไป
ทางพันธุกรรม พบว่าครอบครัวที่มีภาวะ การขาด โปรตีน alpha-1 antitrypsin
อาการของถุงลมโป่งพอง
ตอนแรกจะมีอาการเพียงเล็กน้อย เมื่ออาการเป็นมากขึ้นอาการก็จะค่อย ๆ แย่ลง อาการที่พบได้ ได้แก่
* · ไอมีเสมหะ
* · หายใจมีเสียงดัง Wheezing
* · หายใจไม่ทัน หอบเหนื่อย เป็นมากขึ้นเมื่อออกแรง ได้พักก็จะดีขึ้น
* · อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
* · ปวดหัวตอนเช้า ๆ
การวินิจฉัย โรคถุงลมโป่งพอง
ถ้ามีอาการหายใจไม่ทัน ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะ จะต้องทำการตรวจเอ๊กซเรย์ปอด และการตรวจสมรรถภาพปอด เพื่อทำการวินิจฉัย
การตรวจสมรรถภาพปอด Pulmonary function tests (PFTs)
เป็นการตรวจวัดการทำงานปอด ด้วยเครื่องเป่าปอด spirometry ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการวินิจฉัยซึ่งสามารถตรวจพบภาวะ ถุงลมโป่งพอง ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ
ในการตรวจนั้น จะให้ผู้รับการตรวจ หายใจลึก และเป่าลมออกมาให้แรงและเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ไปยังท่อที่ต่อกับเครื่องมือ โดยเครื่องจะทำการวัด ความเร็ว และปริมาตรของอากาศที่เป่าออกมา ถ้าผลการตรวจผิดปกติ จะให้สูดยาขยายหลอดลม และทำการตรวจซ้ำอีกครั้ง ถ้าเป็นผู้ป่วยหอบหืด หลังได้ยาขยายหลอดลมผลจะกลับมาปกติ ส่วนในผู้ป่วยถุงลมโป่งพอง ผลจะดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เมื่อได้การวินิจฉัยแล้ว จะมีการตรวจติดตามเป็นระยะเพื่อดูว่าตอบสนองต่อการรักษาได้ดีหรือไม่
การตรวจอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ จะทำในผู้ป่วยบางราย เช่นการวัดปริมาตรของปอด การตรวจวัดระดับออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด
การรักษา
การหยุดสูบบุหรี่
สิ่งแรกและสำคัญที่สุดที่จะต้องทำในการรักษา สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่คือการหยุดสูบบุหรี่ อาการของโรคจะดีขึ้น อาการไอน้อยลง และเสมหะน้อยลงอย่างชัดเจนเมื่อทำการหยุดสูบบุหรี่
ยาขยายหลอดลม
เป็นยาหลักที่ใช้ในการดูแลผู้ป่วยถุงลมโป่งพอง โดยจะช่วยขยายหลอดลม ให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น และลดเสมหะที่จะออกมา มียาขยายหลอดลมหลายรูปแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งแบบออกฤทธิ์ยาว และออกฤทธิ์สั้น ส่วนใหญ่ในผู้ป่วยถุงลมโป่งพอง นิยมที่จะใช้แบบออกฤทธิ์ยาว
ยากลุ่มสเตียรอยด์
ยากลุ่ม นี้จะมีคุณสมบัติในการลดการอักเสบ มีรูปแบบหลากหลาย ทั้งชนิดพ่น ชนิดรับประทาน และชนิดฉีด ถ้าอาการที่เป็นไม่สามารถควบคุมได้ด้วยยาขยายหลอดลม ก็มักจะเพิ่มยาพ่นกลุ่มนี้เสริมไปอีกหนึ่งตัว
แต่ถ้าเป็นชนิดรับประทานจะให้ในช่วงสั้น ๆ ที่มีอาการรุนแรงเนื่องจากผลข้างเคียงถ้าเกิดใช้ยานานเกินไป
ยาแก้ไอ VS ยาละลายเสมหะ
โดย ทั่วไปจะไม่แนะนำให้ใช้ยาแก้ไอ ชนิดที่กดการไอ เพราะทำให้ไม่สามารถขับเสมหะออกมาได้ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อมากขึ้น
การดูแลด้านอื่น ๆ
การให้ออกซิเจน
ผู้ป่วยที่เป็นถุงลมโป่งพองแบบรุนแรง จะมีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ การตรวจด้วยเครื่องมือวัดออกซิเจนในเลือดที่จับที่นิ้ว จะพบว่ามีออกซิเจนในเลือดต่ำ การได้รับออกซิเจนจะช่วยให้อาการดีขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และอัตราการเสียชีวิตลดน้อยลง
โภชนาการ
ผู้ป่วยถุงลมโป่งพองมากกว่า 30 % ไม่สามารถรับประทานอาหารอย่างเพียงพอ เนื่องจากอาการหอบเหนื่อย ทำให้ขาดสารอาหาร น้ำหนักลดได้ จึงควรจะต้องดูแลเรื่องการรับประทาน โดยอาจจะทานอาหารให้บ่อยขึ้น หรือเสริมอาหารอื่น ๆ เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร
การฉีดวัคซีน
ผู้ป่วยทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีน Pneumococal เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดปอดอักเสบ และฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
การป้องกันและการรักษาการติดเชื้อทางเดินหายใจ
เนื่องจากผู้ป่วยถุงลมโป่งพอง เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจ และหากมีการติดเชื้อการรักษาจะทำได้ยากกว่า ดังนั้นต้องพยายามดูแลสุขภาพทั่วไป เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งอาจร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
We Care
Dr.Carebear Samitivej
แหล่งที่มา : drcarebear.exteen.com