อาการโรคหัวใจ อาการโรคหัวใจวาย อาการโรคหัวใจล้มเหลว


821 ผู้ชม


อาการโรคหัวใจ อาการโรคหัวใจวาย อาการโรคหัวใจล้มเหลว

 

 โรคหัวใจล้มเหลว
โรคหัวใจล้มเหลวคืออะไร
คือภาวะที่หัวใจ ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้เพียงพอ หรือ อาจหมายถึง ภาวะที่หัวใจไม่สามารถคลายตัวหรือขยายตัวเพื่อรองรับเลือดได้ปกติ ทำให้เกิดความดันเลือดในช่องปอดมากขึ้น เกิดการคั่งของเลือดในปอดมากขึ้น ทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย และอาจก่อให้เกิดอาการบวมของร่างกายได้
สาเหตุของหัวใจล้มเหลว
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจรูมาติกหรือลิ้นหัวใจพิการ โรคหัวใจเป็นแต่กำเนิด โรคเยื่อหุ้มหัวใจบางชนิด โรคไตวาย โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคโลหิตจาง การดื่มเหล้ามาก ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ โรคติดเชื้อไวรัสแบคทีเรีย หรือวัณโรค ได้รับยาเคมีบำบัด หรือได้รับการฉายแสง โรคข้อบางชนิด ได้รับสารพิษบางชนิด โรคการนอนหลับบางชนิด ภาวะที่เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้มีอาการของโรคหัวใจล้มเหลวมากขึ้น ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบอย่างเฉียบพลัน ความดันโลหิตสูง การติดเชื้อบางชนิด เช่น ติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ ภาวะที่หัวใจเต้นเร็วหรือช้าเกินไป ภาวการณ์ได้รับน้ำมากเกินความต้องการ ขาดการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารเค็มเกินไป ทานยา เช่น ยาแก้ปวดบางชนิด ยากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นต้น 
อาการของโรคหัวใจล้มเหลว
อาการเหนื่อยง่าย อาจเป็นได้ในขณะพัก หรือเวลาออกแรง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก นอนราบไม่ได้เวลากลางคืน อาจต้องลุกขึ้นมาเพื่อช่วยหายใจ ไอ ใจสั่น บวมที่ขา หรือในช่องท้องจนทำให้ตับและม้ามโตได้ ถ้าเป็นนานๆ อาจอ่อนเพลียไม่มีแรงผอมลงได้
การตรวจวินิจฉัย
ซักประวัติ ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ที่อาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรค และการตรวจร่างกายโดยแพทย์
การตรวจพิเศษ
   1. การตรวจเอกซ์เรย์ปอด ดูว่าเงาหัวใจโตหรือไม่ และดูว่าปริมาณของสารน้ำหรือเลือดคั่งในช่อง ปอดหรือไม่
   2. การตรวจกราฟหัวใจเพื่อดูว่า มีการบ่งชี้ถึงหัวใจโต หรือสงสัยว่ามีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ และมีลักษณะที่บ่งชี้ว่าหัวใจโต มีหัวใจเต้นเร็วหรือช้าผิดจังหวะหรือไม่
   3. การตรวจด้วย เครื่องสะท้อนคลื่นเสียงหัวใจ (Echocardiography) ดูการทำงานของกล้ามเนื้อ หัวใจว่ามีการบีบตัว หรือคลายตัวปกติหรือไม่ มีโรคลิ้นหัวใจพิการ รวมทั้งเยื่อหุ้มหัวใจว่าปกติหรือไม่
   4. การเจาะเลือด เพื่อดูระดับของเกลือแร่บางชนิดในเลือด การทำงานของไตไทรอยด์ หรือฮอร์โมน บางชนิด ปริมาณเม็ดเลือดแดง ระดับของ BNP หรือ NT pro BNP (Brain Natriuretic Peptides) ซึ่งพบว่ามีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นในภาวะหัวใจล้มเหลว สามารถใช้วินิจฉัย และใช้ติดตามการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวได้ การรักษา (ที่กล่าวถึงนี้ส่วนใหญ่หมายถึง การรักษา ภาวะหัวใจล้มเหลวที่กล้ามเนื้อ หัวใจบีบตัวได้ไม่ดีแบบเรื้อรัง)
1) การรักษาทั่วไป
   1.1 การควบคุมรักษา ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
   1.2 การให้การศึกษา เพื่อให้ผู้ป่วยดูแลตนเองหลังจากกลับจากโรงพยาบาล
      1.2.1 ควบคุมการดื่มน้ำ ไม่ควรเกิน 1.5 ลิตรต่อวัน 
      1.2.2 อาหารเค็ม จำกัดเกลือ ไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน (ประมาณครึ่งช้อนชา)
      1.2.3 การชั่งน้ำหนักทุกวัน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อดูว่ามีภาวะน้ำในร่างกายเกินหรือไม่ถ้าหากน้ำหนักเกินมากกว่า 2 กิโลกรัม ภายใน 3 วัน อาจพิจารณาใช้ยาขับปัสสาวะเอง หรือมาพบแพทย์
      1.2.4 การควบคุมน้ำหนัก ถ้าอ้วนเกินไปควรลดน้ำหนักตัวลง แต่ถ้าหากผอมเกินไปอาจหมายถึง การขาดสารอาหาร หรือ ภาวะหัวใจวายรุนแรงและเรื้อรังได้
      1.2.5 การออกกำลังกาย โดยมรโปรแกรมการออกกำลังกายตามความเหมาะสมเป็นรายๆไป หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย เช่น การยกน้ำหนัก หรือ การเล่นยกเวท
      1.2.6 ระมัดระวังไม่ให้เป็นหวัดติดเชื้อง่าย
      1.2.7 งดดื่มเหล้าและสูบบุหรี่
      1.2.8 ควบคุมอาหารไขมัน
      1.2.9 การมีเพศสัมพันธ์ ถ้าขึ้นบันได 1 ชั้นโดยไม่เหนื่อย ก็อาจมีเพศสัมพันธ์ได้ปกติ
      1.2.10 การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ
      1.2.11 การเดินทางควรระมัดระวัง ไม่ควรไปในสถานที่สูง อากาศเบาบาง อากาศที่ร้อนชื้นเกินไป
2) การรักษาโดยการใช้ยา
ยากลุ่มอื่นๆที่เป็นยาใหม่ หรือยาที่ใช้ในภาวะฉุกเฉินและเฉียบพลัน ไม่ได้นำมากล่าวในที่นี้
3) การรักษาโดยใช้เครื่องมือพิเศษ
   3.1 การฝังเครื่องช็อคหัวใจ (Implantable Cardioverter Defribrillators,ICD) เป็นเครื่องมือที่ใช้ฝังเข้าไปที่ตัวผู้ป่วยเพื่อทำการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งมักจะพบได้ในภาวะหัวใจล้มเหลวที่เป็นรุนแรง โดยเครื่องจะวินิจฉัยลักษณะการเต้นของหัวใจและทำการช็อคไปเองโดยอัตโนมัติ สามารถลดอัตราการเสียชีวิตโดยเฉียบพลันได้
   3.2 การฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ CRT ( Cardiac Resynchronization Therapy ) เป็นเครื่องที่ฝังเข้าไปในร่างกายผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวที่เป็นรุนแรง ที่มีลักษณะการนำไฟฟ้าผิดปกติ ทำให้การบีบตัวของหัวใจไม่สัมพันธ์กัน เพื่อทำให้มีการนำไฟฟ้าหัวใจที่ดีขึ้น เป็นผลทำให้หัวใจทำงานบีบตัวได้ดีขึ้น สามารถทำให้อาการผู้ป่วยดีขึ้นได้ นอนโรงพยาบาลน้อยลง และลดอัตราการเสียเสียชีวิตได้ อุปกรณ์ชนิดนี้อาจมีการเสริมหน้าที่เป็นแบบ ช็อคไฟฟ้าหัวใจได้ ตามข้อ 3.1 ด้วย เรียกว่า CRT-Defribrillator
4) การรักษาโดยการผ่าตัด 
การรักษาโดยการผ่าตัด คือ การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ( Cardiac Tranplantation ) ใช้ในกรณีที่ไม่มีทางรักษาโดยวิธีข้างต้น

 

แหล่งที่มา : vibhavadi.com

อัพเดทล่าสุด