ข่าวเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ สาเหตุมลพิษทางอากาศ ผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ


882 ผู้ชม


ข่าวเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ สาเหตุมลพิษทางอากาศ ผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ

 

 มลพิษทางอากาศ


ปัจจุบันเราต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย ซึ่งนับวันปัญหาดังกล่าวจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ปัญหาเรื่องมลภาวะทางอากาศก็เป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งที่พวกเราทุกคนควรจะตระหนักถึงและหาแนวทางในการแก้ไขอย่างจริงจัง
มลพิษทางอากาศ (Air Pollution) หมายถึง ภาวะของอากาศที่มีสารเจือปนอยู่ในปริมาณที่มาก และเป็นระยะเวลานานพอที่จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ สัตว์ พืช และวัสดุต่าง ๆ สารดังกล่าวอาจเป็นธาตุหรือสารประกอบ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ หรืออาจอยู่ในรูปของแก๊ส หยดของเหลว หรืออนุภาคของแข็งก็ได้ สารมลพิษอากาศที่สำคัญคือ ฝุ่นตะกั่ว (Pb) แก๊สคาร์บอนมอนออกไซด์ (CO) แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) แก๊สไนโตรเจนออกไซด์ (NO)
คนส่วนใหญ่มักคิดว่ามลพิษทางอากาศต้องเป็นอะไรที่เกี่ยวกับ ควัน ฝนกรด สาร CFC หรือสารพิษรูปแบบต่าง ๆ ที่มักเกิดขึ้นนอกบ้าน ความจริงมลพิษทางอากาศบางประเภทอาจอยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ เช่น การเกิดฝุ่นฟุ้งจากพายุทะเลทรายหรือควันพิษที่เกิดจากไฟไหม้ป่า ซึ่งแหล่งที่ก่อให้เกิดมลภาวะอาจมีอยู่ไม่กี่แห่งแต่สามารถส่งผลกระทบไปได้ทั่วบริเวณใกล้เคียง เช่น หลังการเกิดภูเขาไฟระเบิดจะพบว่ามีกลุ่มควันและขี้เถ้าฟุ้งกระจายไปทั่วบรรยากาศ
นอกจากนั้นมลภาวะทางอากาศสามารถเกิดขึ้นได้ในบ้านเรือนที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่ในอาคารสำนักงานและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เช่น ควันจากการสูบบุหรี่หรือการทำอาหาร เป็นต้น ซึ่งเราสามารถระบุสารพิษแหล่งที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายหาได้รับสารพิษดังกล่าวได้ดังนี้
แก๊สคาร์บอนมอนออกไซด์ (CO) เป็นแก๊สที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิงที่มีคาร์บอนเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำมันปิโตรเลียม น้ำมันดีเซล หากร่างกายได้รับแก๊สคาร์บอนมอนออกไซด์ในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการมึน งง และง่วงนอน เนื่องจากแก๊สคาร์บอนมอนออกไซด์ไปจับตัวกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดทำให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำลง
แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นแก๊สเรือนกระจกชนิดหนึ่งที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ส่วนใหญ่จะเกิดจากการทำกิจกรรมของมนุษย์ เช่นการเผาไหม้ของถ่านหิน น้ำมัน แก๊สธรรมชาติหรือการเผาไหม้เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมและรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งถ้าร่างกายได้รับแก๊สนี้ในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้หรืออาเจียนได้
แก๊สคลอโรฟลูออไรคาร์บอน (CFC) เป็นแก๊สเรือนกระจกชนิดหนึ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ส่วนมากเกิดจากกิจกรรมอุตสาหกรรมของมนุษย์ เช่น การสร้างเครื่องทำความเย็นหรือการผลิตสเปรย์ เมื่อสาร CFC ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศผลทำลายชั้นโอโซนซึ่งช่วยป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ไม่ให้แผ่ลงมาสู่โลกได้ในปริมาณที่มากเกินไป ดังนั้นหากชั้นโอโซนถูกทำลายจะทำให้รังสีดังกล่าวแผ่ลงมายังโลกมากจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์คือ ทำให้ผู้คนมีโอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งผิวหนังได้
แก๊สไนโตรเจนออกไซด์ (NO) ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมันดีเซล น้ำมันปิโตรเลียม และถ่านหิน ซึ่งแก๊สดังกล่าวเป็นสาเหตุทำให้เกิดหมอก ควันและฝนกรด นอกจากนั้นยังทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้หากได้รับปริมาณที่มาก
อนุภาคของสารแขวนลอยในอากาศ (suspended particulate matter) ประกอบไปด้วยฝุ่น ควัน หมอกและไอน้ำซึ่งลอยปะปนอยู่ในบรรยากาศ สารแขวนลอยเหล่านี้ส่งผลให้ทัศนะวิสัยในการมองเห็นลดลงจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้ และถ้าเราสูดดมเอาสารเหล่านี้เข้าไปในปริมาณที่มากอาจทำให้ปอดอักเสบได้
แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เกิดจากการเผาไหม้ของถ่านหิน โรงงานผลิตไฟฟ้าหรือเกิดจากกระบวนการอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมโลหะ ซึ่งแก๊สดังกล่าวเป็นสาเหตุทำให้เกิดหมอก ควัน และฝนกรด ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ เช่น ทำให้เกิดอาการหอบ หรือโรคติดเชื้อในปอดได้
นอกจากนั้นยังมีสารพิษอีกหลายชนิดที่เรารู้จักและคุ้นเคยดี สารเหล่านี้เมื่อถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศก็ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น

ควันบุหรี่หรือควันยาสูบ (tobacco smoke) เป็นที่ทราบกันดีว่าควันบุหรี่เป็นสารเคมีที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง ไม่ใช่เฉพาะแต่คนที่สูบเท่านั้น แต่คนที่สูดเอาควันบุหรือเข้าไปก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปอด หืด หรือเป็นโรคติดเชื้อในปอดได้เช่นกัน
สารปนเปื้อนทางชีวภาพ (biological pollutant) เป็นสารที่เกิดในธรรมชาติและล่อยลอยอยู่ในบรรยากาศ เช่น ละอองเกสรดอกไม้หรืออับสปอร์ สารเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหืด หอบ ภูมิแพ้ หรือโรคเยื่อบุตาอักเสบได้
สารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยเป็นไอได้เร็ว (volatile organic compound) ส่วนใหญ่จะเป็นสารที่ระเหยมาจากสีทาบ้าน สีน้ำมันที่เป็นสารจำพวกอะซิโตน การระเหยของน้ำมันปิโตรเลียม หรือแม้แต่ในขั้นตอนของการซักแห้งก็มีสารดังกล่าวระเหยออกมา สารเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่ตา จมูกและคอ ในบางครั้งอาจทำให้เกิดอาการปวดหัว วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้และที่ร้ายแรงที่สุดคือ ทำให้ระบบการทำงานของตับล้มเหลว
ฟอร์มัลดีไฮด์ (formaldehyde) เป็นสารเคมีที่ประกอบไปด้วย คาร์บอน ไฮโดรเจนและออกซิเจน อยู่ในรูปของแก๊สที่ไม่มีสีแต่มีกลิ่น พบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากพืช สัตว์ และมนุษย์ โดยอาจพบในส่วนผสมของ น้ำมันพืช แชมพู ลิปสติก เสื้อผ้าหรือกระดาษชำระ ถ้าร่างกายได้รับสารดังกล่าวในปริมาณมากในระยะเวลาอันสั้นจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่ตา จมูก และเกิดอาการภูมิแพ้ แต่หากได้รับในปริมาณมากในช่วงระยะยาวจะทำลายระบบประสาท ระบบการย่อยอาหารรวมไปถึงทำให้เกิดโรคมะเร็งได้
สารกัมมันตรังสีเธอดอน เป็นสารที่สะสมอยู่ภายในบ้านได้ จริง ๆ แล้วสารเหล่านี้ส่วนใหญ่จะสะสมอยู่ในชั้นหินและชั้นดินภายในบริเวณบ้านนั่นเอง และจะปลดปล่อยออกมาในรูปของแก๊สซึ่งแก๊สดังกล่าวหากร่างกายได้รับในปริมาณมากอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้

สถานการณ์เรื่องมลพิษทางอากาศของประเทศไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณสารพิษในอากาศเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในเขตชุมชนขนาดใหญ่ และในพื้นที่พัฒนาแล้วเช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง และสระบุรี เป็นต้น ซึ่งปัญหามลพิษทางอากาศส่วนใหญ่เกิดจากยานพาหนะและการทำอุตสาหกรรม
ปัญหามลพิษทางอากาศจากยานพาหนะส่วนใหญ่จะพบในเขตกรุงเทพมหานครเนื่องจากจำนวนยานพาหนะได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการตรวจวัดคุณภาพอากาศในเขตกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ.2540 โดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี พบว่าสารมลพิษที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศมากที่สุดคือ ฝุ่นที่มีค่ามากเกินมาตรฐานที่กำหนด ส่วนสารมลพิษอื่น ๆ ได้แก่ แก๊สคาร์บอนมอนนอกไซด์ สารตะกั่ว แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และ แก๊สไนโตรเจนไดออกไซด์ยังต่ำกว่าในเกณฑ์มาตรฐาน
ส่วนปัญหามลพิษในต่างจังหวัดที่พบในเขตชุมชนขนาดใหญ่ที่มีการขยายตัวของอุตสาหกรรม การคมนาคม ขนส่ง การจราจรและกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การก่อสร้างในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ลำปาง เป็นต้น กรณีมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นที่โรงงานไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง นับว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของถ่านหินลิกไนต์เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้เกิดพิษภัยต่อสุขภาพอนามัยของคนและสิ่งมีชีวิตที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้นรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้งยังทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายด้วย

 
ขอขอบคุณ นิตยสาร สสวท.

แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด