คลองโบราณของกรุงเทพ เที่ยวคลองประวัติศาสตร์ แผนที่ คลอง กรุงเทพ


751 ผู้ชม


คลองโบราณของกรุงเทพ เที่ยวคลองประวัติศาสตร์ แผนที่ คลอง กรุงเทพ

 
เที่ยวคลองประวัติศาสตร์

 เพิ่งไปชักม้าชมดอกไม้แถวคลองประวัติศาสตร์ของธนบุรีมาค่ะ เลยขอเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ไปพบให้ฟังกัน
เริ่มต้นด้วยการนั่งเรือเข้าคลองบางกอกน้อยที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางเหนือสถานีรถไฟธนบุรี คลองนี้เดิมคือเส้นทางเก่าของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ช่วงไหลผ่านสามเสนแล้วไหลเข้าคลองบางกอกน้อย ไปคลองบางขุนศรี (หรือเรียกอีกชื่อว่าคลองชักพระ) แล้วจึงไปออกคลองบางกอกใหญ่ก่อนจะออกปากน้ำไป ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาที่เราคุ้นๆกันอยู่ทุกวันนี้เป็นทางน้ำใหม่ขุดขึ้นมาทีหลัง แล้วเลยกลายเป็นเส้นทางใหญ่ของเจ้าพระยาไปแทน
คลองบางกอกน้อยเป็นแหล่งอยู่อาศัยและค้าขายกันคึกคักมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ สุนทรภู่บันทึกไว้ใน นิราศพระประธมว่า 

" จนนาวาคลาคล่องเข้าคลองกว้าง ตำบลบางกอกน้อยละห้อยหวน 
ตลาดแพแลตลอดเขาทอดพวน แลแต่ล้วนเรือตลาดไม่ขาดคราว " 

ถึงตอนนี้บางกอกน้อยก็ยังคึกคัก มีบ้านใหญ่น้อยกับสถานที่ราชการหลายแห่งสองฟากฝั่ง แม้ไม่เหลือแพและเรือนไทยแบบที่สุนทรภู่เคยเห็น แต่วัดหลายแห่งยังคงอยู่เหมือนเมื่อ ๑๕๐ ปีก่อน อย่างวัดสุวรรณาราม ซึ่งมีภาพผนังโบสถ์ฝีมือชั้นเลิศเขียนประชันกัน ระหว่างครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ สมัยรัชกาลที่ ๓ อยากจะชวนให้ไปดู แม้เก่าแก่และบางส่วนชำรุดแต่ยังก็เห็นลายเส้นคมชัดน่าชม องค์ประกอบภาพขนาดใหญ่มหึมาเต็มผนัง แต่จัดได้สัดส่วนลงตัวอย่างน่าชม เห็นแล้วก็เห็นด้วยกับคำยกย่องของ น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฎะ ศิลปินแห่งชาติ) ถึงฝีมืออันยิ่งใหญ่ของครูทั้งสองท่าน 
จากคลองบางกอกใหญ่ นั่งเรือเข้าคลองชักพระ ชื่อคลองมาจากประเพณีชักพระ ในแรม ๒ ค่ำเดือน ๑๒ เรือประดิษฐานพระพุทธรูปจะถูกชักลากจูงจากวัดนางชีไปตามลำน้ำ มุ่งไปทางทิศเหนือออกสู่ปากคลองบางกอกน้อยเลี้ยวขวาไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าคลองบางกอกใหญ่กลับวัดนางชี
เมื่อแยกเข้าไปเรื่อยๆ คลองเล็กลงเท่าไรก็เริ่มมองเห็นชีวิตริมคลองได้มากเท่านั้น น้ำก็เริ่มใสขึ้นกว่าคลองใหญ่ มองเห็นบ้านใหญ่บ้านน้อยมีผู้คนออกมาทำงานในชีวิตประจำวัน ซักผ้า ล้างจานกันที่บันไดท่าน้ำก็มี เดือนนี้น้ำมาก ผ่านบางบ้านที่มีบันไดทอดลงน้ำ เห็นเด็กๆลงมาลอยคอ สาวน้อยนุ่งกระโจมอกเดินอยู่บนนอกชาน 
สังเกตอีกอย่างว่าคนไทยว่ายแบบลอยคอนั้นถูกต้องแล้วกับการดำเนินชีวิตแบบไทย เพราะการลงน้ำคือ "เล่นน้ำ" มากกว่าจะ "ว่ายน้ำ" อย่างเดียว คงจำได้ถึงเพลงที่ว่า "...เช้าสายบ่ายเย็น ขวัญลงเล่นกับเรียม" ถ้าว่ายลอยคอจะเห็นหน้าเห็นตากันถนัด ทักทายปราศรัยกันสะดวก หนุ่มสาวว่ายเคียงกันก็คุยกะหนุงกะหนิงกันไปได้ตลอดทาง แต่สมัยนี้เราถูกหัดให้ว่ายแบบฝรั่ง ก้มหน้าจมน้ำ พุ่งตัวไปข้างหน้าเพื่อให้ไปได้เร็ว ถ้าต่างคนต่างว่ายด้วยแล้วก็ยิ่งหมดความโรแมนติกแบบพระเอกนางเอกไทยเดิม
จากนั้นเข้าคลองด่าน สมัยโบราณเป็นคลองสำคัญไปออกแม่น้ำท่าจีนได้ ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร และอดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งให้เกียรติมาเป็นวิทยากรในการเที่ยวคลองคราวนี้ เล่าว่าสมัยอยุธยาเมื่อทูตฝรั่งเศสมาเจริญสัมพันธไมตรี ขากลับไม่ได้ไปออกเรือที่ปากน้ำสมุทรปราการอย่างที่คิด แต่ว่านั่งเรือมาเข้าคลองด่าน ไปแม่น้ำท่าจีน แล้วต่อไปทางตะวันตกเพื่อไปลงเรือที่มะริด เพราะเส้นทางลัดกว่าไม่ต้องอ้อมออกอ่าวไทยไปอ้อมแหลมมลายู คลองด่านนี้มาถึงรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี(ทองจีน) เป็นแม่กองขุดซ่อมเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๔เพราะเริ่มตื้นเขิน ได้จ้างคนจีนมาขุด ขุดพบไหบรรจุเงิน ๓๐ ชั่งที่บางบอนก็นำมาแบ่งปัน มีวัดสำคัญๆหลายแห่งอยู่ริมคลอง ล้วนแต่มีงานช่างและศิลปะทรงคุณค่า จนคณะรัฐมนตรีลงมติให้อนุรักษ์คลองไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ถึงวัดไทรตอนเที่ยงครึ่ง แวะกินก๋วยเตี๋ยว ช่วงนี้น้ำขึ้นเปี่ยม ดูใสจนมองเห็นขั้นบันไดวัดขั้นที่อยู่ใต้น้ำ น่าลงนั่งเอาเท้าตีน้ำเล่น มองออกว่าน้ำคลองที่ใสจะออกเงาเขียวๆดูสะอาด ผิดกับน้ำสกปรกซึ่งขุ่นเป็นสีโคลน และถ้าสกปรกมากก็ไม่ต้องพูด ดำข้นราวกับน้ำมันดิบเลยละค่ะและยังมีฟองลอยเป็นฝาเสียอีก
ดิฉันขึ้นจากเรือเดินผ่านตำหนักพระเจ้าเสือองค์เดียวกับที่ประหารพันท้ายนรสิงห์ ได้ความจากดร.สุวิญช์ เล่าว่าพระองค์โปรดการมาทรงปลาแถวๆฝั่งธนนี่เอง ล่องเรือพระที่นั่งมาจากอยุธยาก็แวะค้างแรมที่นี่เสียคืนหนึ่ง ตำหนักที่ทางวัดไทรยังรักษาไว้ ทางกรมศิลปากรก็มาซ่อมแซม เห็นลายรดน้ำปิดทองที่ผนังด้านนอกห้องพระบรรทม ยังสวยงามอยู่มาก
กินเสร็จลาวัดไทร ไปวัดราชโอรสาราม วัดประจำรัชกาลที่ ๓ ใครชอบงานก่อสร้างสมัยรัชกาลที่ ๓ แบบไทยปนจีนสวยสดงดงามไม่ควรจะพลาดวัดนี้ ตั้งแต่หลังคาโบสถ์ซึ่งมีหน้าบันแบบจีน ไม่มีช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ หากแต่ใช้กระเบื้องจีนต่างสีประดับแทน จนถึงอับเฉาตุ๊กตาจีนรูปต่างๆในบริเวณ หินที่สลักเป็นตุ๊กตาจีนนี้ได้ความว่าเมื่อขุดขึ้นจากดินใหม่ๆเนื้อจะนิ่ม ตกแต่งเป็นรูปต่างๆได้สะดวก ตั้งทิ้งเอาไว้ก็จะแข็งตัวเป็นหินในภายหลัง นอกจากนี้ทางวัดยังเก็บรักษาพระแท่นหินเก่าแก่ ซึ่งสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเคยมาประทับเป็นประจำเมื่อบูรณะวัด
ในพระอุโบสถมีพระบรมฉายาทิสลักษณ์ในรัชกาลที่ ๓ วาดไว้งามวิจิตรราวกับมีชีวิต มีเบื้องหลังว่าช่างเขียนคนนี้ได้รับมอบหมายให้วาดอยู่นานนับปี แต่ก็ไม่ยักลงมือทำ จนกระทั่งเช้าวันหนึ่งตื่นขึ้นมาก็ลงมือวาดขะมักเขม้น ได้ความว่าเมื่อคืนฝันว่าเสด็จมาหา ทรงเตือนให้วาดเสียที ก็เลยวาดได้จนสำเร็จกลายเป็นภาพตั้งเด่นให้ได้ชมอยู่จนทุกวันนี้
อีกวัดหนึ่งอยู่ฟากตรงข้ามเยื้องไปเล็กน้อยคือวัดนางนอง ไม่คุ้นชื่อมาก่อน วัดนี้เด่นตรงลายกำมะลอ ซึ่งช่างจีนวาดไว้บนผนัง ลายกำมะลอแตกต่างจากลายรดน้ำของไทย ตรงที่เป็นการเขียนทองลงไปบนพื้น ไม่ใช่ปิดทองอย่างลายรดน้ำของไทย ฝีมือช่างจีนนับว่างามมาก มีภาพใหญ่ระหว่างข้างประตูทางเข้า ได้รับคำบอกเล่าว่าเป็นภาพสามก๊ก ดิฉันมองอยู่นานพยายามจะดูให้ออกว่าเป็นใคร ในที่สุดตีความว่าเป็นภาพเล่าปี่ มองเห็นนางกำฮูหยินและนางบิฮูหยินเมียหลวงเมียรองยืนขนาบซ้ายขวา ต่ำลงมาน่าจะเป็นที่ปรึกษาคือบังทองกับขงเบ้ง คนหลังนี้เห็นถือม้วนกระดาษอยู่ คงจะเป็นตำราพิชัยสงครามหรือไม่ก็แผนที่การรบ และต่ำลงมาอีกน่าจะเป็นเตียวหุยหน้าดำกับกวนอูหน้าแดง ถืออาวุธทั้งสองคน เป็นภาพเก่าแก่แต่ยังมองเห็นสีสันและลายเส้นประณีตได้ไม่ลบเลือน
อีกวัดหนึ่งที่ไปแวะคือวัดอัปสรสวรรค์ของเจ้าจอมน้อยในรัชกาลที่ ๓ มีหอไตรกลางน้ำสวยงามประดับกระจกสีระยิบระยับ จนขอเชิญชวนให้ไปดูเสียก่อนปลวกจะขึ้นหมดทั้งหลัง ในอุโบสถแทนที่จะมีพระประธานใหญ่องค์เดียวเหมือนวัดอื่นก็มีพระพุทธรูปเล็กอยู่ ๒๘ องค์ หมายถึงพระพุทธเจ้าพระองค์ต่างๆในกัปป์ก่อนๆที่เคยมาบังเกิดเพื่อโปรดสัตว์ ตามที่ปรากฎในพระไตรปิฏก
ออกมาสู่คลองบางกอกใหญ่หรือคลองบางหลวง แวะวัดกัลยาณมิตร เป็นวัดของเจ้าพระยานิกรบดินทร์(โต กัลยาณมิตร) ผู้ค้าเรือสำเภาให้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ จนร่ำรวยเป็นเจ้าสัว ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่มหึมา บริเวณวัดก็กว้างขวางดูโอฬารสมกับเป็นวัดมหาเศรษฐีสร้าง
เราแวะขึ้นบกไปเดินดูโบสถ์ฝรั่งของโรงเรียนซานตาครูส แล้วบุกเข้าไปถึงแหล่งทำขนมฝรั่งกุฎีจีนทางด้านหลัง ได้ขนมกันมาคนละหลายถุงเอาไปฝากคนทางบ้าน ขนมฝรั่งกุฎีจีนนี้เล่ากันมาว่าท้าวทองกีบม้า ภรรยาเจ้าพระยาวิชเยนทร์นำมาเผยแพร่สมัยสมเด็จพระเพทราชา พวกทำขนมเป็นคนไทยเชื้อสายโปรตุเกส อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่แถวนี้ตั้งแต่สร้างกรุง แล้วก็เลยยึดอาชีพทำกันต่อมาจนทุกวันนี้ เป็นขนมคล้ายขนมไข่ ต่างจากเค้กตรงไม่มีเนย
ตอนขึ้นจากเรือไปเดินริมถนน ดิฉันพบว่าเดินริมถนนกับเดินริมน้ำ ในเวลาบ่ายเหมือนกัน และระยะทางเท่ากัน จะร้อนเย็นแตกต่างกันมาก เดินในสวนเลียบคลองจะไม่ร้อนเป็นบ้าเป็นหลังเหมือนเดินริมถนนคอนกรีต เพราะแผ่นน้ำไม่สะท้อนไอร้อนขึ้นมา แล้วยังได้ลมและไอเย็นจากน้ำ น่าเสียดายการพัฒนาของเราไม่คำนึงถึงข้อนี้เลย
คลองเหล่านี้เป็นคลองประวัติศาสตร์ คณะกรรมการอนุรักษ์คลองแห่งชาติพยายามรักษาไว้ เพื่อไม่ให้คลองถูกถมกันหมด แต่ก็มีเสียงพึมพำว่าคลองเล็กคลองน้อยถูกถมกันไปทีละคลองสองคลอง เวลาทางการขยายถนน ถ้าหากว่าหมดคลองเสียแล้ว ท่อระบายน้ำข้างถนนอาจระบายไม่ทันเวลาน้ำหลาก น้ำก็จะท่วมต่อให้เปิดประตูระบายน้ำอย่างไรก็ตาม
สิ่งที่น่าเสียดายกว่านี้คือเมื่อไม่มีคลอง ความอุดมสมบูรณ์ทางเกษตรก็สูญสิ้นไปด้วย สวนผลไม้ริมคลองตอนนี้สลายตัวกันเกือบหมด ฝั่งธนและเมืองนนท์เคยเป็นสวนทุเรียนอร่อยไม่มีที่ไหนสู้ เพราะดินริมน้ำเป็นปุ๋ยธรรมชาติชั้นยอด ตอนนี้ไม่เหลือร่องรอย สวนถูกตัดขายถมที่กลายเป็นบ้านจัดสรร ส้มบางมดรสชาติหวานแหลมเป็นที่หนึ่งก็ไม่เหลือแล้ว พื้นที่การเกษตรชั้นหนึ่งริมแม่น้ำลำคลอง ถูกเปลี่ยนสภาพตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ๙ ฉบับ ให้พัฒนาตามแบบตะวันตกที่มีถนนเป็นหลัก จนสูญเสียสภาพเกษตรกรรมซึ่งเคยหล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยมานานก่อนได้ชื่อว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาอย่างในปัจจุบัน
ตอนที่เราเที่ยวคลองกันยังเห็นร่องรอยของน้ำท่วมเมื่อปี ๒๕๓๘ ต้นไม้รากไม้ถูกน้ำท่วมตาย จนสวนถูกทิ้งร้างไม่รู้ว่ากี่แห่ง ผู้คนริมคลองก็ผจญกับเสียงเรือหางยาววิ่งขึ้นล่องหนวกหูทั้งกลางวันกลางคืน คลื่นซัดปะทะเขื่อนและดินริมตลิ่งพังลงไปทุกที ช่วงไหนน้ำสกปรกมากเขาก็ต้องดมกลิ่นน้ำครำ ชาวบ้านคนไหนโยกย้ายได้ก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น เพราะชีวิตริมคลองไม่เอื้ออำนวยความสะดวกให้เขาเหมือนในอดีตเสียแล้ว เหลือแต่วัดต่างๆริมคลอง เป็นมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมอันล้ำค่าควรแก่การบำรุงรักษาต่อไป
เสียดายว่าอีกไม่กี่ปี ลูกหลานเราอาจจะได้เรียนเรื่องคลองจากภาพในหนังสือเท่านั้น 

เพิ่งไปชักม้าชมดอกไม้แถวคลองประวัติศาสตร์ของธนบุรีมาค่ะ เลยขอเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ไปพบให้ฟังกัน
เริ่มต้นด้วยการนั่งเรือเข้าคลองบางกอกน้อยที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางเหนือสถานีรถไฟธนบุรี คลองนี้เดิมคือเส้นทางเก่าของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ช่วงไหลผ่านสามเสนแล้วไหลเข้าคลองบางกอกน้อย ไปคลองบางขุนศรี (หรือเรียกอีกชื่อว่าคลองชักพระ) แล้วจึงไปออกคลองบางกอกใหญ่ก่อนจะออกปากน้ำไป ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาที่เราคุ้นๆกันอยู่ทุกวันนี้เป็นทางน้ำใหม่ขุดขึ้นมาทีหลัง แล้วเลยกลายเป็นเส้นทางใหญ่ของเจ้าพระยาไปแทน
คลองบางกอกน้อยเป็นแหล่งอยู่อาศัยและค้าขายกันคึกคักมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ สุนทรภู่บันทึกไว้ใน นิราศพระประธมว่า 

" จนนาวาคลาคล่องเข้าคลองกว้าง ตำบลบางกอกน้อยละห้อยหวน 
ตลาดแพแลตลอดเขาทอดพวน แลแต่ล้วนเรือตลาดไม่ขาดคราว " 

ถึงตอนนี้บางกอกน้อยก็ยังคึกคัก มีบ้านใหญ่น้อยกับสถานที่ราชการหลายแห่งสองฟากฝั่ง แม้ไม่เหลือแพและเรือนไทยแบบที่สุนทรภู่เคยเห็น แต่วัดหลายแห่งยังคงอยู่เหมือนเมื่อ ๑๕๐ ปีก่อน อย่างวัดสุวรรณาราม ซึ่งมีภาพผนังโบสถ์ฝีมือชั้นเลิศเขียนประชันกัน ระหว่างครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ สมัยรัชกาลที่ ๓ อยากจะชวนให้ไปดู แม้เก่าแก่และบางส่วนชำรุดแต่ยังก็เห็นลายเส้นคมชัดน่าชม องค์ประกอบภาพขนาดใหญ่มหึมาเต็มผนัง แต่จัดได้สัดส่วนลงตัวอย่างน่าชม เห็นแล้วก็เห็นด้วยกับคำยกย่องของ น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฎะ ศิลปินแห่งชาติ) ถึงฝีมืออันยิ่งใหญ่ของครูทั้งสองท่าน 
จากคลองบางกอกใหญ่ นั่งเรือเข้าคลองชักพระ ชื่อคลองมาจากประเพณีชักพระ ในแรม ๒ ค่ำเดือน ๑๒ เรือประดิษฐานพระพุทธรูปจะถูกชักลากจูงจากวัดนางชีไปตามลำน้ำ มุ่งไปทางทิศเหนือออกสู่ปากคลองบางกอกน้อยเลี้ยวขวาไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าคลองบางกอกใหญ่กลับวัดนางชี
เมื่อแยกเข้าไปเรื่อยๆ คลองเล็กลงเท่าไรก็เริ่มมองเห็นชีวิตริมคลองได้มากเท่านั้น น้ำก็เริ่มใสขึ้นกว่าคลองใหญ่ มองเห็นบ้านใหญ่บ้านน้อยมีผู้คนออกมาทำงานในชีวิตประจำวัน ซักผ้า ล้างจานกันที่บันไดท่าน้ำก็มี เดือนนี้น้ำมาก ผ่านบางบ้านที่มีบันไดทอดลงน้ำ เห็นเด็กๆลงมาลอยคอ สาวน้อยนุ่งกระโจมอกเดินอยู่บนนอกชาน 
สังเกตอีกอย่างว่าคนไทยว่ายแบบลอยคอนั้นถูกต้องแล้วกับการดำเนินชีวิตแบบไทย เพราะการลงน้ำคือ "เล่นน้ำ" มากกว่าจะ "ว่ายน้ำ" อย่างเดียว คงจำได้ถึงเพลงที่ว่า "...เช้าสายบ่ายเย็น ขวัญลงเล่นกับเรียม" ถ้าว่ายลอยคอจะเห็นหน้าเห็นตากันถนัด ทักทายปราศรัยกันสะดวก หนุ่มสาวว่ายเคียงกันก็คุยกะหนุงกะหนิงกันไปได้ตลอดทาง แต่สมัยนี้เราถูกหัดให้ว่ายแบบฝรั่ง ก้มหน้าจมน้ำ พุ่งตัวไปข้างหน้าเพื่อให้ไปได้เร็ว ถ้าต่างคนต่างว่ายด้วยแล้วก็ยิ่งหมดความโรแมนติกแบบพระเอกนางเอกไทยเดิม
จากนั้นเข้าคลองด่าน สมัยโบราณเป็นคลองสำคัญไปออกแม่น้ำท่าจีนได้ ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร และอดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งให้เกียรติมาเป็นวิทยากรในการเที่ยวคลองคราวนี้ เล่าว่าสมัยอยุธยาเมื่อทูตฝรั่งเศสมาเจริญสัมพันธไมตรี ขากลับไม่ได้ไปออกเรือที่ปากน้ำสมุทรปราการอย่างที่คิด แต่ว่านั่งเรือมาเข้าคลองด่าน ไปแม่น้ำท่าจีน แล้วต่อไปทางตะวันตกเพื่อไปลงเรือที่มะริด เพราะเส้นทางลัดกว่าไม่ต้องอ้อมออกอ่าวไทยไปอ้อมแหลมมลายู คลองด่านนี้มาถึงรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี(ทองจีน) เป็นแม่กองขุดซ่อมเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๔เพราะเริ่มตื้นเขิน ได้จ้างคนจีนมาขุด ขุดพบไหบรรจุเงิน ๓๐ ชั่งที่บางบอนก็นำมาแบ่งปัน มีวัดสำคัญๆหลายแห่งอยู่ริมคลอง ล้วนแต่มีงานช่างและศิลปะทรงคุณค่า จนคณะรัฐมนตรีลงมติให้อนุรักษ์คลองไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ถึงวัดไทรตอนเที่ยงครึ่ง แวะกินก๋วยเตี๋ยว ช่วงนี้น้ำขึ้นเปี่ยม ดูใสจนมองเห็นขั้นบันไดวัดขั้นที่อยู่ใต้น้ำ น่าลงนั่งเอาเท้าตีน้ำเล่น มองออกว่าน้ำคลองที่ใสจะออกเงาเขียวๆดูสะอาด ผิดกับน้ำสกปรกซึ่งขุ่นเป็นสีโคลน และถ้าสกปรกมากก็ไม่ต้องพูด ดำข้นราวกับน้ำมันดิบเลยละค่ะและยังมีฟองลอยเป็นฝาเสียอีก
ดิฉันขึ้นจากเรือเดินผ่านตำหนักพระเจ้าเสือองค์เดียวกับที่ประหารพันท้ายนรสิงห์ ได้ความจากดร.สุวิญช์ เล่าว่าพระองค์โปรดการมาทรงปลาแถวๆฝั่งธนนี่เอง ล่องเรือพระที่นั่งมาจากอยุธยาก็แวะค้างแรมที่นี่เสียคืนหนึ่ง ตำหนักที่ทางวัดไทรยังรักษาไว้ ทางกรมศิลปากรก็มาซ่อมแซม เห็นลายรดน้ำปิดทองที่ผนังด้านนอกห้องพระบรรทม ยังสวยงามอยู่มาก
กินเสร็จลาวัดไทร ไปวัดราชโอรสาราม วัดประจำรัชกาลที่ ๓ ใครชอบงานก่อสร้างสมัยรัชกาลที่ ๓ แบบไทยปนจีนสวยสดงดงามไม่ควรจะพลาดวัดนี้ ตั้งแต่หลังคาโบสถ์ซึ่งมีหน้าบันแบบจีน ไม่มีช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ หากแต่ใช้กระเบื้องจีนต่างสีประดับแทน จนถึงอับเฉาตุ๊กตาจีนรูปต่างๆในบริเวณ หินที่สลักเป็นตุ๊กตาจีนนี้ได้ความว่าเมื่อขุดขึ้นจากดินใหม่ๆเนื้อจะนิ่ม ตกแต่งเป็นรูปต่างๆได้สะดวก ตั้งทิ้งเอาไว้ก็จะแข็งตัวเป็นหินในภายหลัง นอกจากนี้ทางวัดยังเก็บรักษาพระแท่นหินเก่าแก่ ซึ่งสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเคยมาประทับเป็นประจำเมื่อบูรณะวัด
ในพระอุโบสถมีพระบรมฉายาทิสลักษณ์ในรัชกาลที่ ๓ วาดไว้งามวิจิตรราวกับมีชีวิต มีเบื้องหลังว่าช่างเขียนคนนี้ได้รับมอบหมายให้วาดอยู่นานนับปี แต่ก็ไม่ยักลงมือทำ จนกระทั่งเช้าวันหนึ่งตื่นขึ้นมาก็ลงมือวาดขะมักเขม้น ได้ความว่าเมื่อคืนฝันว่าเสด็จมาหา ทรงเตือนให้วาดเสียที ก็เลยวาดได้จนสำเร็จกลายเป็นภาพตั้งเด่นให้ได้ชมอยู่จนทุกวันนี้
อีกวัดหนึ่งอยู่ฟากตรงข้ามเยื้องไปเล็กน้อยคือวัดนางนอง ไม่คุ้นชื่อมาก่อน วัดนี้เด่นตรงลายกำมะลอ ซึ่งช่างจีนวาดไว้บนผนัง ลายกำมะลอแตกต่างจากลายรดน้ำของไทย ตรงที่เป็นการเขียนทองลงไปบนพื้น ไม่ใช่ปิดทองอย่างลายรดน้ำของไทย ฝีมือช่างจีนนับว่างามมาก มีภาพใหญ่ระหว่างข้างประตูทางเข้า ได้รับคำบอกเล่าว่าเป็นภาพสามก๊ก ดิฉันมองอยู่นานพยายามจะดูให้ออกว่าเป็นใคร ในที่สุดตีความว่าเป็นภาพเล่าปี่ มองเห็นนางกำฮูหยินและนางบิฮูหยินเมียหลวงเมียรองยืนขนาบซ้ายขวา ต่ำลงมาน่าจะเป็นที่ปรึกษาคือบังทองกับขงเบ้ง คนหลังนี้เห็นถือม้วนกระดาษอยู่ คงจะเป็นตำราพิชัยสงครามหรือไม่ก็แผนที่การรบ และต่ำลงมาอีกน่าจะเป็นเตียวหุยหน้าดำกับกวนอูหน้าแดง ถืออาวุธทั้งสองคน เป็นภาพเก่าแก่แต่ยังมองเห็นสีสันและลายเส้นประณีตได้ไม่ลบเลือน
อีกวัดหนึ่งที่ไปแวะคือวัดอัปสรสวรรค์ของเจ้าจอมน้อยในรัชกาลที่ ๓ มีหอไตรกลางน้ำสวยงามประดับกระจกสีระยิบระยับ จนขอเชิญชวนให้ไปดูเสียก่อนปลวกจะขึ้นหมดทั้งหลัง ในอุโบสถแทนที่จะมีพระประธานใหญ่องค์เดียวเหมือนวัดอื่นก็มีพระพุทธรูปเล็กอยู่ ๒๘ องค์ หมายถึงพระพุทธเจ้าพระองค์ต่างๆในกัปป์ก่อนๆที่เคยมาบังเกิดเพื่อโปรดสัตว์ ตามที่ปรากฎในพระไตรปิฏก
ออกมาสู่คลองบางกอกใหญ่หรือคลองบางหลวง แวะวัดกัลยาณมิตร เป็นวัดของเจ้าพระยานิกรบดินทร์(โต กัลยาณมิตร) ผู้ค้าเรือสำเภาให้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ จนร่ำรวยเป็นเจ้าสัว ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่มหึมา บริเวณวัดก็กว้างขวางดูโอฬารสมกับเป็นวัดมหาเศรษฐีสร้าง
เราแวะขึ้นบกไปเดินดูโบสถ์ฝรั่งของโรงเรียนซานตาครูส แล้วบุกเข้าไปถึงแหล่งทำขนมฝรั่งกุฎีจีนทางด้านหลัง ได้ขนมกันมาคนละหลายถุงเอาไปฝากคนทางบ้าน ขนมฝรั่งกุฎีจีนนี้เล่ากันมาว่าท้าวทองกีบม้า ภรรยาเจ้าพระยาวิชเยนทร์นำมาเผยแพร่สมัยสมเด็จพระเพทราชา พวกทำขนมเป็นคนไทยเชื้อสายโปรตุเกส อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่แถวนี้ตั้งแต่สร้างกรุง แล้วก็เลยยึดอาชีพทำกันต่อมาจนทุกวันนี้ เป็นขนมคล้ายขนมไข่ ต่างจากเค้กตรงไม่มีเนย
ตอนขึ้นจากเรือไปเดินริมถนน ดิฉันพบว่าเดินริมถนนกับเดินริมน้ำ ในเวลาบ่ายเหมือนกัน และระยะทางเท่ากัน จะร้อนเย็นแตกต่างกันมาก เดินในสวนเลียบคลองจะไม่ร้อนเป็นบ้าเป็นหลังเหมือนเดินริมถนนคอนกรีต เพราะแผ่นน้ำไม่สะท้อนไอร้อนขึ้นมา แล้วยังได้ลมและไอเย็นจากน้ำ น่าเสียดายการพัฒนาของเราไม่คำนึงถึงข้อนี้เลย
คลองเหล่านี้เป็นคลองประวัติศาสตร์ คณะกรรมการอนุรักษ์คลองแห่งชาติพยายามรักษาไว้ เพื่อไม่ให้คลองถูกถมกันหมด แต่ก็มีเสียงพึมพำว่าคลองเล็กคลองน้อยถูกถมกันไปทีละคลองสองคลอง เวลาทางการขยายถนน ถ้าหากว่าหมดคลองเสียแล้ว ท่อระบายน้ำข้างถนนอาจระบายไม่ทันเวลาน้ำหลาก น้ำก็จะท่วมต่อให้เปิดประตูระบายน้ำอย่างไรก็ตาม
สิ่งที่น่าเสียดายกว่านี้คือเมื่อไม่มีคลอง ความอุดมสมบูรณ์ทางเกษตรก็สูญสิ้นไปด้วย สวนผลไม้ริมคลองตอนนี้สลายตัวกันเกือบหมด ฝั่งธนและเมืองนนท์เคยเป็นสวนทุเรียนอร่อยไม่มีที่ไหนสู้ เพราะดินริมน้ำเป็นปุ๋ยธรรมชาติชั้นยอด ตอนนี้ไม่เหลือร่องรอย สวนถูกตัดขายถมที่กลายเป็นบ้านจัดสรร ส้มบางมดรสชาติหวานแหลมเป็นที่หนึ่งก็ไม่เหลือแล้ว พื้นที่การเกษตรชั้นหนึ่งริมแม่น้ำลำคลอง ถูกเปลี่ยนสภาพตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ๙ ฉบับ ให้พัฒนาตามแบบตะวันตกที่มีถนนเป็นหลัก จนสูญเสียสภาพเกษตรกรรมซึ่งเคยหล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยมานานก่อนได้ชื่อว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาอย่างในปัจจุบัน
ตอนที่เราเที่ยวคลองกันยังเห็นร่องรอยของน้ำท่วมเมื่อปี ๒๕๓๘ ต้นไม้รากไม้ถูกน้ำท่วมตาย จนสวนถูกทิ้งร้างไม่รู้ว่ากี่แห่ง ผู้คนริมคลองก็ผจญกับเสียงเรือหางยาววิ่งขึ้นล่องหนวกหูทั้งกลางวันกลางคืน คลื่นซัดปะทะเขื่อนและดินริมตลิ่งพังลงไปทุกที ช่วงไหนน้ำสกปรกมากเขาก็ต้องดมกลิ่นน้ำครำ ชาวบ้านคนไหนโยกย้ายได้ก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น เพราะชีวิตริมคลองไม่เอื้ออำนวยความสะดวกให้เขาเหมือนในอดีตเสียแล้ว เหลือแต่วัดต่างๆริมคลอง เป็นมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมอันล้ำค่าควรแก่การบำรุงรักษาต่อไป
เสียดายว่าอีกไม่กี่ปี ลูกหลานเราอาจจะได้เรียนเรื่องคลองจากภาพในหนังสือเท่านั้น 

แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด