มหาดเล็กรักษาพระองค์ ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ที่มาใน บรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
บรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตำแหน่งงานมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง ถือเป็นบันไดสำคัญขั้นแรกในหมู่ชายหนุ่มลูกผู้ดีเมื่อเข้าสู่ราชการ เนื่องจากจะมีโอกาสอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินให้ทรงใช้สอย และมีโอกาสรู้เห็นการงานสำคัญๆของบ้านเมือง ถ้าหากว่าทำตัวดีมีความสามารถจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ต่อไปก็จะโปรดเกล้าฯให้เลื่อนไปสู่ตำแหน่งสูงๆได้ง่ายกว่าข้าราชการสังกัดอื่นๆ
บรรดาศักดิ์มหาดเล็กมีหลายระดับ เริ่มต้นตั้งแต่เป็นเด็กหนุ่มวัยรุ่นเข้าเป็นมหาดเล็กธรรมดาเสียก่อน แล้วก็เลื่อนขึ้นเป็นมหาดเล็กชั้นรองหุ้มแพร มีคำนำหน้าว่า "รอง" นำหน้า ต่อจากนั้นก็คือ "มหาดเล็กหุ้มแพร"
คำว่า "มหาดเล็กหุ้มแพร" มีผู้อธิบายกันไปหลายทาง ในที่นี้ขอใช้คำอธิบายของพระมหาเทพกษัตรสมุห มหาดเล็กในรัชกาลที่ ๖ ว่าเป็นตำแหน่งมหาดเล็กที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง โดยพระราชทานพระแสงดาบที่ใช้แพรสีแดงหุ้มที่ฝักดาบ มีปลอกเงินรัดเป็นเปลาะ ทำนองเดียวกับธรรมเนียมการแต่งตั้งแม่ทัพนายกองมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนรัตนโกสินทร์/ มหาดเล็กหุ้มแพรมักจะมีวัยตั้งแต่ ๒๐ ปีขึ้นไป กำลังหนุ่มแน่นทำงานได้คล่องแคล่ว เดิมมีบรรดาศักดิ์อยู่ ๑๒ ชื่อคล้องจองกันคือ
๑)นายสนิท ๒)นายเสน่ห์ ๓)นายเล่ห์อาวุธ
๔)นายสุดจินดา ๕)นายพลพ่าย (มาถึงรัชกาลที่ ๖ ทรงเปลี่ยนเป็นนายพลพ่าห์) ๖)นายพลพัน
๗)นายชัยขรรค์ ๘)นายสรรค์วิชัย ๙)นายพินัยราชกิจ
๑๐)นายพินิจราชการ ๑๑)นายพิจิตร์สรรพการ ๑๒)นายพิจารณ์สรรพกิจ
นายสุดจินดาคนที่มีชื่อเสียงอยู่ในพงศาวดารเป็นมหาดเล็กสมัยพระเจ้าเอกทัศกษัตริย์องค์สุดท้ายของอยุธยา หนีรอดตายเมื่อครั้งเสียกรุงไปได้ เข้ารับราชการจนได้เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์สมัยธนบุรี ต่อมาในรัชกาลที่ ๑ คือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท
มหาดเล็กรับใช้ทั้งหมดแบ่งการทำงานออกเป็น ๔ เวร คือเวรศักดิ์ เวรสิทธิ์ เวรฤทธิ์ เวรเดช แต่ละเวรมีการทำงานแตกต่างกันไป
เวรศักดิ์ อยู่เวรยามเฝ้าเครื่อง,รับใช้ตลอดเวลาที่พระมหากษัตริย์มิได้ประทับอยู่ฝ่ายใน และเชิญเครื่องตามเสด็จทั่วไป มีหลวงนายศักดิ์ หรือหลวงศักดิ์นายเวร เป็นหัวหน้าเวร
คุณเปรม พระเอกสี่แผ่นดิน ตอนเปิดตัวออกโรงเป็นครั้งแรก อายุ ๒๓ ปี เป็นมหาดเล็กเวรศักดิ์
เวรสิทธิ์ ดูแลรับผิดชอบพระราชทรัพย์สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ตลอดจนพระที่นั่ง และบริเวณพระราชวัง มีหลวงนายสิทธิ์หรือหลวงสิทธิ์นายเวร เป็นหัวหน้าเวร
ประมาณ ๑๐ กว่าปีก่อน เรามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคนหนึ่งชื่อพลเอกสิทธิ์ จิรโรจน์ หนังสือพิมพ์มติชนเรียกท่านอย่างล้อๆว่า "หลวงนายสิทธิ์" ก็เอาชื่อมาจากมหาดเล็กนายเวรนี่แหละค่ะ
เวรฤทธิ์ ดูแลรับผิดชอบพระราชยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นช้าง ม้า เรือ รถ ต้องรับผิดชอบให้อยู่ในสภาพที่พร้อมเมื่อทรงใช้ทุกเมื่อ หลวงนายฤทธิ์หรือหลวงฤทธิ์นายเวร เป็นหัวหน้าเวร
พลายชุมพลเมื่อปราบจระเข้เถรขวาดได้แล้ว พระพันวษาก็รับเข้าวังไปใช้สอยไว้วางพระทัย จนได้เลื่อนขึ้นเป็นหลวงนายฤทธิ์ มีบทบาทอยู่ในขุนช้างขุนแผนตอนพลายเพชรพลายบัวออกศึก (ทั้งสองลูกชายพระไวยหลานปู่ขุนแผน) แต่เป็นตอนที่ไม่มีอยู่ในเสภาฉบับหอพระสมุด
เวรเดช มีหน้าที่ฝึกหัดอบรมมหาดเล็กใหม่ ทางด้านงาน กิริยา วาจามารยาทและการใช้ราชาศัพท์ ตลอดจนรับผิดชอบเรื่องหนังสือเข้าออกต่างๆ ถ้าหากว่าพระมหากษัตริย์จะทรงใช้มหาดเล็กออกไปติดต่องาน ต่างพระเนตรพระกรรณภายนอกก็จะทรงใช้มหาดเล็กเวรนี้ หลวงนายเดชหรือหลวงเดชนายเวร เป็นหัวหน้าเวร
มหาดเล็กสมัยรัชกาลที่ ๖ ในเครื่องแต่งกายเต็มยศ
สูงขึ้นไปจากนายเวร คือหัวหมื่นมหาดเล็ก มี ๔ บรรดาศักดิ์คือ จมื่นสรรเพชญภักดี จมื่นเสมอใจราช จมื่นไวยวรนารถ และจมื่นศรีสรรักษ์ เดิมเรียกว่า "จมื่น" มาเปลี่ยนเป็น " เจ้าหมื่น" ในรัชกาลที่ ๖ นี้เอง
บุคคลเหล่านี้เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า "คุณพระนาย" ไม่เรียก "คุณจมื่น" หรือ "คุณเจ้าหมื่น"
บรรดาศักดิ์พงศาวดารสมัยอยุธยาบันทึกชื่อจมื่นศรีสรรักษ์ พี่ชายของเจ้าจอมเพ็งและเจ้าจอมแมนพระสนมคนโปรดในพระเจ้าเอกทัศ จมื่นศรีฯคนนี้อาศัยบารมีน้องสาวฉ้อราษฎร์บังหลวงให้ราษฎรเดือดร้อน จนพระเจ้าอุทุมพรเมื่อสึกออกมารบกับพม่า ทรงทนไม่ได้ ขอตัวจากพระเชษฐาไปลงโทษโบยและเอาตัวเข้าคุกเสียพักใหญ่ กว่าพระเจ้าเอกทัศจะไปขอตัวให้รอดออกจากคุกมาได้
ส่วนจมื่นศรีสรรักษ์ในวรรณคดี มีบทอยู่ในขุนช้างขุนแผน เป็นผู้เกื้อกูลอุปถัมภ์พลายงามจนกระทั่งได้ถวายตัวรับราชการ และจมื่นศรีฯคนนี้เองก็ร่วมมือกับพลายชุมพลปราบเถรขวาดในตอนจับเสน่ห์นางสร้อยฟ้า
จมื่นไวยวรนารถคือบรรดาศักดิ์ใหม่ของพลายงามเมื่อเสร็จจากทำศึกเชียงใหม่ มีความดีความชอบมากก็ได้เลื่อนรวดเดียวขึ้นเป็นหัวหมื่นมหาดเล็กคู่กับจมื่นศรีฯ ไม่ต้องผ่านตามลำดับขั้นอย่างคนอื่นๆ
ส่วนมหาดเล็กวังหน้ามีระเบียบการบังคับบัญชาแบบเดียวกับมหาดเล็กวังหลวง แต่มีชื่อและบรรดาศักดิ์เรียกแยกออกไปโดยเฉพาะ หนึ่งในมหาดเล็กหุ้มแพรวังหน้าสมัยต้นรัตนโกสินทร์คือกวีเอกของไทยชื่อนายนรินทรธิเบศร์(อิน) เจ้าของ "นิราศนรินทร์" อันได้ชื่อว่าเป็นยอดโคลงสี่สุภาพไม่มีบทกวีประเภทเดียวกันเทียบได้มาจนทุกวันนี้
แหล่งที่มา : vcharkarn.com