โรคน้ําในหูไม่เท่ากัน สมุนไพรรักษาโรคน้ําในหูไม่เท่ากัน โรคน้ําในหูไม่เท่ากัน วิธีรักษา
น้ำในหูไม่เท่ากัน
อยู่ดีๆ แท้ๆ ก็เกิดอาการเหมือนโลกหมุนติ้วอยู่รอบๆ ตัว หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน กระเพาะอาหารเริ่มปั่นป่วน พร้อมจะอาเจียนออกมาได้ทุกเมื่อ ในหูมีเสียงดังอยู่ตลอดเวลา
เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์อาจจะบอกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า คุณเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน แต่ที่จริงแล้ว เรียกว่า โรคแรงดันน้ำในช่องหูชั้นในผิดปกติ (ฟังชื่อโรคแล้วบ้านยิ่งหมุนหนักกว่าเดิม)
หูชั้นในแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่มีลักษณะคล้ายก้นหอย ทำหน้าที่รับเสียง อีกส่วนหนึ่งเป็นอวัยวะรูปร่างคล้ายเกือกม้า 3 อัน ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว
หูชั้นในนอกจากจะแบ่งตามหน้าที่แล้ว ยังแบ่งตามโครงสร้างได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นกระดูก กับส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มภายใน ส่วนที่เป็นกระดูกจะห่อหุ้มส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มภายใน ภายในส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มภายในจะมีของเหลวอยู่
เมื่อเกิดโรคแรงดันน้ำในช่องหูชั้นในผิดปกติ ของเหลวที่อยู่ภายในส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มภายในจะคั่งมาก ทำให้การไหลเวียนไม่สะดวก แรงดันที่เพิ่มขึ้นในหูชั้นในจะขัดขวางการทำงานของกระแสประสาทที่เกี่ยวกับการได้ยินและการทรงตัว ทำให้สูญเสียการได้ยินและความสมดุล เกิดอาการเวียนศีรษะขึ้น เมื่อแรงดันมากขึ้นผู้ป่วยจะรู้สึกตึงๆ ในหูข้างที่ผิดปกติ
อาการของโรค
- อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน เป็นอาการที่พบได้บ่อย ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก ลักษณะอาการคือจะเกิดขึ้นในทันทีทันใด อาจจะเป็นอยู่นานกว่า 20 นาที ถึง 2-3 ชั่วโมง อาการดังกล่าวมักเป็นรุนแรง แต่ไม่ทำให้หมดสติหรือเป็นอัมพาต เมื่อหายเวียนศีรษะ ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนเป็นปกติ
- หูอื้อ อาจจะเป็นชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ ถ้าเป็นระยะแรกๆ การสูญเสียการได้ยินจะเป็นแค่ชั่วคราว หลังจากหายเวียนศีรษะแล้ว การได้ยินจะกลับมาเป็นปกติ แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะบ่อยๆ หรือเป็นมานาน อาการหูอื้อมักจะเป็นถาวร บางครั้งอาจถึงขั้นหูหนวกไปเลยก็เป็นได้
- เสียงดังในหู ผู้ป่วยจะมีเสียงดังในหูข้างที่ผิดปกติร่วมด้วย เสียงดังในหูอาจเป็นตลอดเวลาหรือเป็นเฉพาะขณะที่เวียนศีรษะก็ได้
- อาการตึงๆ ภายในหูคล้ายกับมีแรงดัน เกิดจากแรงดันของน้ำในช่องหูชั้นในที่ผิดปกติ
สาเหตุของโรค
ผู้ป่วยที่เป็นโรคแรงดันน้ำในช่องหูชั้นในผิดปกติ ส่วนใหญ่มักจะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ในกลุ่มที่ทราบสาเหตุจะเรียกว่า กลุ่มอาการมีเนีย ได้แก่ โรคซิฟิลิส หูน้ำหนวก เป็นต้น เพราะฉะนั้นโรคนี้จึงรักษาไม่หายขาด เพียงแต่สามารถรักษาอาการเวียนศีรษะให้หายเป็นปกติได้เท่านั้น อาการผิดปกติอาจเกิดขึ้นกับหูเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ ระยะแรกๆ มักเป็นข้างเดียว แต่เมื่อเป็นนานๆ เข้า โอกาสที่หูข้างที่สองจะเป็นร่วมด้วยก็มีมากขึ้น
การรักษา
ทำได้โดยการควบคุมอาหาร ลดอาหารที่มีรสเค็ม โดยจำกัดเกลือ แนะนำให้เติมเกลือลงในอาหารวันละไม่เกิน 2 กรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชา
การรักษาทางยา ได้แก่
- ยาขับปัสสาวะ เพื่อลดสภาวะอาการบวมและคั่งของน้ำในหูชั้นใน
- ยาลดอาการเวียนศีรษะและคลื่นไส้อาเจียน ควรใช้ในขณะที่มีอาการเท่านั้น
- ยากล่อมประสาทและยานอนหลับ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายและนอนหลับได้เป็นปกติ
- ยาขยายหลอดเลือด เพื่อช่วยลดอาการบวมและคั่งของน้ำในหูชั้นใน
สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาทางยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดให้
ข้อควรปฏิบัติต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่
- ลดภาวะเครียด ควบคุมอารมณ์ให้เบิกบานแจ่มใส
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- พักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะเวลานอนหลับ อาจมีเสียงรบกวนในหูมาก จนทำให้นอนไม่หลับได้ ข้อแนะนำคือ เปิดเพลงเบาๆ ขณะนอน เพื่อกลบเสียงที่รบกวนในหู
- หลีกเลี่ยง ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งบุหรี่ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้อาการแย่ลง
- การบริหารระบบการทรงตัว เป็นการบริหารศีรษะและการทรงตัว ทำให้สมองสามารถปรับตัวได้รวดเร็วขึ้น
- พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น สถานที่ที่มีเสียงดัง แสงแดดจ้า หรืออากาศร้อนอบอ้าว เป็นต้น
- จัดสถานที่ ทั้งที่บ้านและที่ทำงานให้ปลอดภัย ทางเดินที่ต้องเดินเป็นประจำ ควรปราศจากของมีคมหรือตกแตกง่าย
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมบางอย่างที่อาจทำให้เกิดอันตรายหากเกิดอาการขึ้นมา เช่น การขับรถ
การปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังกล่าว เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยลดภาวะอาการของโรคลงได้
แหล่งที่มา : panyathai.or.th