โรคหัวใจวาย โรคหัวใจเกิดจาก โรคหัวใจ คือ


832 ผู้ชม


โรคหัวใจวาย โรคหัวใจเกิดจาก โรคหัวใจ คือ

สารพัดโรคที่สิงห์อมควันต้องเผชิญ


สูบบุหรี่
 
สารพัดโรคที่สิงห์อมควันต้องเผชิญ (e-magazine)
          ในแต่ละปี คนไทยเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละ 52,000 คน วันละ 142 คน หรือชั่วโมงละ 6 คน ขณะที่ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิต ด้วยโรคอันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่ปีละ 5,000,000 คน หรือวันละ 13,000 คน ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกได้คำนวณไว้ว่า ในอีกประมาณ 25 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคที่มาจากการสูบบุหรี่สูงขึ้นเป็นปีละ 10 ล้านคน นับเป็นวันละ 27,000 คน หรือนาทีละ 20 คน และโรคที่เราจะกล่าวถึงกันในวันนี้จะเป็นโรคร้ายที่สิงห์อมควันอาจต้องพบปะ
โรคถุงลมโป่งพอง
          โรคถุงลมโป่งพอง เป็นโรคที่เนื้อปอดค่อย ๆ เสื่อมสมรรถภาพจากการได้รับควันบุหรี่ ตามปกติแล้วพื้นที่ในปอดจะมีถุงลมเล็ก ๆ กระจายอยู่เต็มทั่วปอด เพื่อทำหน้าที่รับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย สารไนโตรเจนไดออกไซด์ในควันบุหรี่จะทำลายเนื้อเยื่อในปอดและถุงลมให้ฉีกขาดทีละน้อย จนรวมกันกลายเป็นถุงลมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เกิดโรคถุงลมโป่งพอง 
          สำหรับโรคถุงลมโป่งพองในระยะท้าย ๆ ของโรคจะทำให้ผู้ป่วยทรมานมาก เนื่องจากจะรู้สึกเหนื่อยจนไม่สามารถทำอะไรได้ จากรายงานการศึกษาพบว่า ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยที่อาการอยู่ในระยะสุดท้ายจะตายภายใน 10 ปี โดยมีอาการเหนื่อยหอบตลอดเวลาจนกว่าจะเสียชีวิต
 โรคหลอดเลือดหัวใจ
          การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจที่สามารถป้องกันได้ เมื่อเทียบกับสาเหตุของโรคหัวใจอื่น ๆ เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึ่งล้วนเกิดจากกรรมพันธุ์ และการกินดีอยู่ดีเกินไปตามกระแสสังคม ขณะนี้โรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ใน 3 อันดับแรกของคนไทย
          โดยส่วนใหญ่ การสูบบุหรี่ถือเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ ได้แก่ นิโคติน ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ และสารก่ออนุมูลอิสระ เป็นตัวการทำให้เกิดโรคหัวใจ โดยการสูบบุหรี่จะทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือด และเกิดก้อนเลือดในหลอดเลือดหัวใจ รูหลอดเลือดหัวใจจึงตีบลง ทำให้เลือดผ่านได้น้อยจนเป็นอุปสรรคต่อการนำเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ และเกิดภาวะหัวใจหลอดเลือดตีบตัน จนหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ ทำให้เกิดอาการจุกเสียด เจ็บหน้าอก จนถึงขั้นทำให้หัวใจวาย หรือเสียชีวิตเฉียบพลัน
 โรคมะเร็งปอด
          การเกิดโรคมะเร็งปอดระยะแรกจะไม่มีอาการ เมื่อมีอาการแสดงว่าโรคเป็นมากแล้ว โดยอาการที่พบคือ ไอเรื้อรัง ไอเสมหะมีเลือดปน น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีไข้เล็กน้อย เจ็บหน้าอก ซึ่งเป็นอาการร่วมของโรคต่าง ๆ ได้หลายชนิด จึงมักทำให้ผู้ป่วยมาหาแพทย์ช้าและการวินิจฉัยโรคล่าช้า 
          สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งปอดในระยะที่เป็นมากแล้วจะมีอาการไอเป็นเลือด น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว ปวดกระดูกซี่โครงและไหปลาร้า หรือสะบัก อาจมีอาการหอบเหนื่อย บวมบริเวณหน้า คอ แขน และอกส่วนบน กลืนอาหารลำบาก ไม่สามารถกลั้นอุจจาระและปัสสาวะได้ โดยเฉลี่ยผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ได้หลังจากเริ่มมีอาการประมาณ 6 เดือน หรือร้อยละ 80 จะเสียชีวิตภายใน 1 ปี และแม้ว่าจะให้การรักษาอย่างดี ก็จะมีอัตราการรอดชีวิตเพียงร้อยละ 2–5 เท่านั้น 
          ร้อยละ 90 ของโรคมะเร็งปอด มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่เป็นมะเร็งปอดนั้นมีประมาณร้อยละ 30 เป็นผลจากการที่ได้รับควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ
สารพิษในควันบุหรี่
          ในบุหรี่ 1 มวนประกอบด้วย ใบยาสูบ กระดาษที่ใช้มวน และสารเคมีหลายร้อยชนิดที่ใช้ในการปรุงแต่งกลิ่นและรส ถ้าเกิดการเผาไหม้จะทำให้มีสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด สารหลายร้อยชนิดมีผลต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย และสาร 60 ชนิด เป็นสารก่อมะเร็ง สารพิษที่สำคัญได้แก่
           นิโคติน มีลักษณะคล้ายน้ำมันไม่มีสี เป็นสารที่ทำให้เกิดการเสพติดและทำให้เกิดโรคหัวใจ
           ทาร์ ประกอบด้วยสารหลายชนิด เป็นละอองเหลวเหนียว สีน้ำตาลคล้ายน้ำมันดิน สารก่อมะเร็งส่วนใหญ่จะอยู่ในสารทาร์นี้ 
           คาร์บอนมอนนอกไซด์ เป็นก๊าซชนิดเดียวที่พ่นออกจากท่อไอเสียรถยนต์ ก๊าซนี้จะขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้ผู้สูบบุหรี่ได้รับออกซิเจนน้อยลง ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ถึง 15 หัวใจต้องเต้นเร็วขึ้นและทำงานมากขึ้น ทำให้หัวใจวายได้ 
          การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคต่าง ๆ ถึง 25 โรค และทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร การเลิกสูบบุหรี่จะทำให้สุขภาพดีขึ้น และลดอัตราการเสียชีวิตของผู้สูบบุหรี่ลงได้ โดยมีรายงานว่า ผู้สูบบุหรี่ที่เลิกสูบบุหรี่ก่อนอายุ 30 ปี จะลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดได้เกือบทั้งหมด ในขณะที่ถ้าเลิกสูบบุหรี่ก่อนอายุ 50 ปี จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้ครึ่งหนึ่ง

 


แหล่งที่มา : health.kapook.com

อัพเดทล่าสุด