โบราณคดีไทย แหล่งท่องเที่ยวเชิงโบราณคดีไทย แหล่งโบราณคดีไทยยุคก่อนประวัติศาสตร์


569 ผู้ชม


โบราณคดีไทย แหล่งท่องเที่ยวเชิงโบราณคดีไทย แหล่งโบราณคดีไทยยุคก่อนประวัติศาสตร์

 
มาตรฐานวิชาชีพสำหรับนักโบราณคดีไทย

เมื่อเร็วๆนี้ ผู้เขียนมีโอกาสพบปะกับเพื่อนร่วมวิชาชีพโบราณคดีในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง และได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเกี่ยวกับปัญหาต่างๆในวงการโบราณคดี เช่น การลักลอบขุดหาโบราณวัตถุในประเทศไทย การลักลอบนำโบราณวัตถุจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา การค้าโบราณวัตถุอย่างผิดกฎหมาย ความแตกต่างของการปฏิบัติงานโบราณคดีในโครงการที่มีอยู่ในพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย ฯลฯ

โบราณคดีไทย แหล่งท่องเที่ยวเชิงโบราณคดีไทย แหล่งโบราณคดีไทยยุคก่อนประวัติศาสตร์
เป็นที่เห็นพ้องต้องกันว่าปัญหาทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก แต่ก็จำเป็นที่จะต้องแก้ไข และสรุปตอนท้ายกันว่า เราน่าจะเริ่มต้นแก้ไขที่ตัวนักโบราณคดีเรากันเองก่อน โดยสิ่งที่ต้องเริ่มทำคือกำหนดมาตรฐานสำหรับนักโบราณคดีอาชีพขึ้นมา
ผู้เขียนเคยอ่านเอกสารเกี่ยวกับมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณสำหรับนักโบราณคดีอาชีพของสมาคมนักโบราณคดีอาชีพในต่างประเทศมาบ้าง และยังพอจำแนวทางของมาตรฐานและจรรยาบรรณดังกล่าวได้บ้าง จึงเกิดแนวความคิดที่จะเสนอ "ร่างที่ 1 ของมาตรฐานวิชาชีพสำหรับนักโบราณคดีไทย" ในข้อเขียนครั้งนี้ ทั้งนี้โดยหวังเพียงแค่ให้เป็นตุ๊กตาให้เพื่อนร่วมวิชาชีพช่วยกันนำไปขบคิด และหากเห็นชอบก็จะได้ช่วยกันปรับปรุงต่อไป จนสามารถมีมาตรฐานวิชาชีพตัวจริงที่นักโบราณคดีไทยสามารถใช้เป็นหลักอ้างอิงได้อย่างแท้จริง มิใช่ "ร่าง" ดังที่ขอเสนอไว้ ต่อไปนี้

(ร่าง)มาตรฐานวิชาชีพสำหรับนักโบราณคดีในประเทศไทย
1. นักโบราณคดีจะต้องมีความรู้ในวิชาการโบราณคดีที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา โดยหมั่นติดตามความก้าวหน้าและความรู้ใหม่ด้วยการอ่านเอกสารต่างๆ การศึกษาแหล่งโบราณคดี การศึกษาโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ การเข้าร่วมประชุมหรือสัมมนาทางวิชาการ รวมทั้วร่วมกิจกรรมอื่นๆที่สามารถช่วยเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการโบราณคดี ทั้งในส่วนที่เป็นองค์ความรู้ ทฤษฎี และเทคนิคทางโบราณคดี
2. นักโบราณคดีจะต้องพยายามอย่างเต็มที่อยู่ตลอดเวลา ที่จะส่งเสริมและพัฒนาความรู้และวิชาชีพโบราณคดี ทั้งโดยทำการสำรวจแหล่งโบราณคดี การขุดค้นแหล่งโบราณคดี และพัฒนาเทคนิควิธีต่างๆสำหรับปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถเกิดผลที่ส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิชาการ
3. นักโบราณคดีจะต้องปฏิบัติต่อหลักฐานทางโบราณคดีทุกประเภทอย่างถูกต้องและเหมาะสมในฐานะที่เป็นแหล่งความรู้และภูมิปัญญา โดยการปฏิบัตินั้นต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายจนมิอาจแก้ไข หรือการเสื่อมสลายของหลักฐานทางโบราณคดี รวมทั้งจะต้องไม่ดำเนินการเชิงพาณิชย์ใดๆกับหลักฐานทางโบราณคดี
4. นักโบราณคดีจะต้องเรียนรู้และยอมรับในกฎเกณฑ์และธรรมเนียมปฏิบัติขององค์กรทางโบราณคดีที่ตนเป็นสมาชิกหรือร่วมงานอยู่ด้วย โดยระลึกไว้ว่าการฝ่าฝืนกฎเกณฑ์และธรรมเนียมที่เป็นที่ยอมรับกันอยู่นั้น ไม่เพียงแต่จะนำความเสียหายมาสู่ตนเท่านั้น แต่ยังจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อหมู่คณะ และวิชาการโบราณคดีโดยรวมด้วย
5. ในกรณีที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติงานทางโบราณคดี นักโบราณคดีจะต้องให้ความสำคัญต่อความรับผิดชอบทางวิชาการเหนือกว่าผลประโยชน์ส่วนตน
6. ในการปฏิบัติงานโบราณคดีนั้น นักโบราณคดีจะบันทึกกิจกรรมที่ตนปฏิบัติและสิ่งที่พบอย่างละเอียด เที่ยงตรงตามความเป็นจริงและเป็นระเบียบ
7. ในกรณีที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติงานทางโบราณคดี นักโบราณคดีจะต้องทำความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในวัตถุประสงค์ของงานที่กำลังดำเนินการ และจะต้องใช้สติปัญญาคิดค้นวิธีการทำงานที่ช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่การบิดเบือนให้หลักฐานทางโบราณคดีสอดคล้องไปกับความคิดที่ตนคาดคะเนไว้ล่วงหน้า หรือที่ตนต้องการให้เป็น การบิดเบือนนี้อาจเกิดได้จากความพลาดพลั้งในกรสังเกตเรื่องลำดับอายุสมัย วัสดุ ปริมาณ ตำแหน่งเดิม และบริบททางโบราณคดีของหลักฐานทางโบราณคดี
8. ในการปฏิบัติงานนั้น นักโบราณคดีจะต้องไม่ปิดบังและกลบเกลื่อนข้อผิดพลาด การตัดสินใจพลาด ความด้อยประสิทธิภาพ ความไม่รู้ ข้อบกพร่อง หรือข้อจำกัดของตน ซึ่งเป็นเหตุให้งานไม่ประสบความสำเร็จ โดยใช้วิธีโยนความผิดให้ผู้อื่น หรือเอาแต่แก้ตัวว่ามีสิ่งอื่นเป็นปัจจัยสาเหตุ แต่ต้องยอมรับความผิดพลาดหรือข้อจำกัดในความรู้ความสามารถของตนแล้วหาวิธีปรับปรุง ทั้งโดยแสวงหาความช่วยเหลือจากนักโบราณคดีอื่นๆ หรือเชิญให้นักวิชาการอื่นๆมาร่วมปฏิบัติงาน
9. นักโบราณคดีจะต้องพยายามหาโอกาสผลิตงานเอกสารเผยแพร่ผลการปกฺบัติงาน ความรู้ และความคิดของตนอยู่เสมอ ทั้งนี้เอกสารวิชาการที่เผยแพร่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นบทความ บทวิจารณ์ หรือหนังสือ จะต้องระบุชื่อจริงเสมอ อย่าใช้นามปากกาและอย่าทำเป็นเอกสารสนเท่ห์
10. นักโบราณคดีจะต้องสนับสนุนและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการระหว่างเพื่อนร่วมอาชีพอย่างเท่าเทียมกันอยู่เสมอ และจะต้องพยายามไม่ร่วมในการดำเนินการใดๆที่จะเป็นการกีดกัน หรือปิดบังข้อมูลที่มีอยู่และสามารถเผยแพร่ได้แล้วต่อนักโบราณคดีที่มิได้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน
11. เมื่อมีนักโบราณคดีอื่นนำข้อมูล ผลการวิเคราะห์ หรือผลการศึกษาที่ยังไม่ได้เผยแพร่มาขอให้ช่วยให้คำปรึกษาหรือแนะนำ นักโบราณคดีจะต้องยึดถือว่าข้อมูลนั้นยังเป็นความลับของผู้ปฏิบัติงาน จึงจะต้องไม่นำไปใช้เอง หรือต้องไม่เปิดเผยต่อผู้อื่น ก่อนที่จะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลหรือผลงานนั้น
12. เมื่อต้องทำการประเมินงานของนักโบราณคดีอื่น นักโบราณคดีจะต้องทำตัวเป็นกลางและพิจารณาอย่างถี่ถ้วน การให้ข้อคิดเห็นเสนอแนะหรือคำวิจารณ์ก็จะต้องเป็นเชิงวิชาการที่เป็นศาสตร์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เชิงความรู้สึกหรือจินตนาการส่วนตัว
13. นักโบราณคดีจะต้องสนับสนุนและส่งเสริมกฎหมายและระเบียบของประเทศ ที่เกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองและอนุรักษ์โบราณวัตถุ โบราณสถานและแหล่งโบราณคดี
14. นักโบราณคดีจะต้องสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีในลักษณะที่เป็นศาสตร์
15. นักโบราณคดีจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมที่ทำให้สาธารณชนทั่วไปรับรู้และเข้าใจความสำคัญของหลักฐานทางโบราณคดีของประเทศ
16. นักโบราณคดีจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนการปกป้องคุ้มครอง ดูแลรักษาและอนุรักษ์โบราณวัตถุ โบราณสถานและแหล่งโบราณคดีของประเทศ
17. นักโบราณคดีจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนความพยายามจัดหาเอกสารวิชาการ ห้องปฏิบัติการและอาคารสถานที่สำหรับกรศึกษา วัสดุ-ครุภัณฑ์ และบุคลากรทั้งสำหรับสงวนรักษา เก็บรักษา ศึกษา และจัดแสดงหลักฐานทางโบราณคดี
18. นักโบราณคดีจะต้องไม่ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการเชิงพาณิชย์ใดๆกับหลักฐานทางโบราณคดีทุกประเภท

แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด