โรงเรียนประจำ โรงเรียน กินนอน โรงเรียนประจำชายล้วน ดีหรือไม่สำหรับลูก


16,308 ผู้ชม


โรงเรียนประจำ โรงเรียน กินนอน โรงเรียนประจำชายล้วน ดีหรือไม่สำหรับลูก

อยากให้ลูกเข้าโรงเรียนประจำ... ดร.อุทัย ดุลยเกษม
ก่อนจะตัดสินใจส่งลูกเข้าโรงเรียนประจำ อ่านตรงนี้ก่อนครับ...
ไม่รู้ว่าคำว่า โรงเรียนประจำ นี้ฟังเข้าใจยากหรืออย่างไร บางคนจึงเรียกว่า 'โรงเรียนกินนอน' ซึ่งไม่ได้หมายความว่า โรงเรียนประเภทนี้มีกิจกรรมเพียงกินแล้วนอน แต่เป็นโรงเรียนที่เด็กนักเรียนใช้เป็นที่หลับนอนและเป็นที่เรียนหนังสือ ด้วย โดยทางโรงเรียนจัดหอพักให้
แต่เดิมโรงเรียนประจำมักจะเป็นโรงเรียนเกี่ยวกับอาชีพ เช่น โรงเรียนนายร้อยตำรวจ โรงเรียนนายร้อยทหารบก เรือ อากาศ โรงเรียนเกษตรกรรม โรงเรียนฝึกหัดครูหรือโรงเรียนพยาบาล เป็นต้น สำหรับโรงเรียนในระดับประถมและมัธยมศึกษามีไม่มากนักที่เป็นโรงเรียนประจำ ที่โด่งดังมีชื่อเสียงอยู่แห่งหนึ่งก็คือ โรงเรียนวชิราวุธฯ ต่อมาก็มีความพยายามสร้างโรงเรียนประจำบางประเภทขึ้นมาเช่นโรงเรียน สงเคราะห์ทั้งหลาย ที่กระจายกันทั่วประเทศ
ที่พูดถึงเรื่องโรงเรียนประจำหรือโรงเรียนกินนอนก็เพราะว่า ปัจจุบันนี้มีแนวโน้มให้เห็นค่อนข้างชัดว่า มีพ่อแม่จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆสนใจและตัดสินใจส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนประจำตั้งแต่อายุน้อยๆ จนกระทั่งจบชั้นมัธยมศึกษา ทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย
สาเหตุคงมิได้มาจากไม่สามารถหาที่พักอาศัยให้ลูกได้ โดยเฉพาะเด็กที่มีครอบครัวอยู่ต่างจังหวัด เพราะแม้แต่เด็กที่มีครอบครัวอยู่ในกรุงเทพฯ หรืออยู่ใกล้กับโรงเรียน ก็ยังเข้าโรงเรียนประจำเป็นจำนวนมาก
ผมคิดว่าน่าจะอยู่ที่ความเชื่อที่ว่า โรงเรียนประจำมีเครื่องอำนวยความสะดวกและเครื่องไม้เครื่องมือ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้มากกว่าโรงเรียนทั่วๆ ไป ไม่ต้องห่วงกังวลในเรื่องความปลอดภัยของลูก หอพักของโรงเรียนที่มีมาตรฐานย่อมทำให้พ่อแม่สบายใจมากกว่าให้ลูกอยู่บ้าน เช่าหรือหอพักของเอกชน อีกประการหนึ่งเพราะเชื่อว่าบรรยากาศในหอพักของโรงเรียนจะเอื้อต่อการเรียน รู้ในเรื่องต่างๆ ที่มากไปกว่าการเรียนรู้วิชาการ โดยเฉพาะการได้รู้จักใช้ชีวิตกับเพื่อนที่มาจากต่างภูมิลำเนา ต่างวัฒนธรรม และด้านอื่นๆ อันเป็นประสบการณ์ที่สำคัญของชีวิต เหตุผลสำคัญอีกอย่างน่าจะเป็นเพราะว่าสมัยนี้เด็กนักเรียนวัยรุ่นหนุ่มสาว ถูกชักจูงไปในทางไม่ดีได้ง่าย เช่น เล่นการพนัน ใช้ยาเสพติด มีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น การได้อยู่หอพักของโรงเรียนจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ระดับหนึ่ง
ด้วยเหตุผลเหล่านี้เราจึงได้เห็นพ่อแม่ที่อยู่ต่างจังหวัดหรือแม้แต่ใน กรุงเทพฯ ยอมเสียเงินมากๆ ส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนประจำ ซึ่งผมคิดว่าเป็นกระแสที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต อาจจะพอๆ กับโรงเรียนนานาชาติหรือโรงเรียนสอนภาษา (Bilingual) ทีเดียว
และหากมีโรงเรียนประจำมากขึ้น ผมคิดว่าอาจจะต้องมีมาตรการต่างๆ เพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ฉวยโอกาสจัดทำโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน มาตรการที่ดีที่สุดอยู่ที่การเอาใจใส่และการมีส่วนร่วมของพ่อแม่
ผมเห็นว่าเหตุผลสำคัญประการเดียวของการมีโรงเรียนประจำก็คือ ความต้องการที่จะจัดให้สิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งโดยปกติแล้วโรงเรียนประจำจะต้องจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ใน ด้านต่างๆ อยู่เป็นประจำ ถ้าหากโรงเรียนประจำแห่งใดไม่จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ก็คงไม่มีเหตุผลเพียงพอ ที่จะทำเป็นโรงเรียนประจำ
เพราะฉะนั้น พ่อแม่และผู้ปกครองควรจะต้องเอาใจใส่และเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนให้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าเป็นไปได้ตอนเปิดเรียนใหม่ๆ ทางโรงเรียนควรจะเชิญพ่อแม่ หรือผู้ปกครองของเด็กนักเรียนที่เข้าใหม่มาค้างในหอพักของโรงเรียน เพื่อให้ลูกเกิดความอบอุ่นและมั่นใจ เพราะเด็กบางคนอาจจะไม่เคยจากบ้านหรือพ่อแม่เป็นเวลานานๆ พ่อแม่และผู้ปกครองเองก็จะได้มีโอกาสเห็นสภาพจริงของหอพัก การใช้ชีวิตของลูก และได้รู้จักกับเพื่อนๆ ของลูกด้วย
ยิ่งกว่านั้น การเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ เช่นงานวันสำคัญของโรงเรียน งานแสดงดนตรี งานแจกประกาศนียบัตร ฯลฯ ก็จะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้เห็นว่าโรงเรียนดำเนินการตามที่พ่อแม่คาดหวัง หรือไม่
ผมเองเคยเรียนโรงเรียนประจำแต่เป็นช่วงหลังระดับมัธยมศึกษาแล้ว สองปีที่อยู่ในโรงเรียนประจำ ผมได้เรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตอย่างมาก แต่ว่าในเวลานั้นพ่อแม่ของผม ไม่มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียนเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะอยู่ห่างไกลและมีฐานะการเงินไม่ค่อยดี เหตุที่ผมเข้าโรงเรียนประจำเป็นเพราะเงื่อนไขการรับทุนเล่าเรียน ไม่ใช่ด้วยการตัดสินของพ่อแม่
ผมคิดว่า ถ้าพ่อแม่ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนอย่างที่กล่าวมา ผมคงมีความประทับใจและเรียนรู้อะไรได้มากกว่านี้ จำได้ว่าตอนนั้นมีแต่ความเหงาและคิดถึงบ้านตลอดเวลา บ่อยครั้งที่เหงาจนร้องไห้ ยังดีที่ว่าตอนนั้นผมโตพอสมควรแล้วถ้าเป็นเด็กประถมหรือมัธยม ความรู้สึกว้าเหว่ เหงาและคิดถึงบ้านคงมีมากกว่านี้ ลองคิดดูเถิดเวลาเหงาและว้าเหว่มากๆ ลูกเราจะเรียนรู้ให้ดีได้อย่างไร
เพราะฉะนั้นถ้าตัดสินใจจะส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนประจำ พ่อแม่ควรมีการเตรียมการพอสมควร อย่าง แรก พาลูกไปดูโรงเรียนที่จะเรียน ขออนุญาตทางโรงเรียนให้ลูกได้ดูหอพัก ได้พบเด็กนักเรียนประจำที่อยู่ก่อนบ้าง ได้พูดคุยกับครูประจำหอพักบ้าง หรือขอดูตารางกิจกรรมที่โรงเรียนจัดให้เด็กในรอบสัปดาห์ โดยเฉพาะกิจกรรมนอกเวลาเรียน แล้วสังเกตดูว่าลูกมีความรู้สึกอย่างไร พูดคุยกับลูก และบอกให้ลูกรู้ด้วยว่าเหตุใดเราจึงคิดอยากให้ลูกได้เข้าเรียนโรงเรียนประจำ จะมีผลดีอะไรกับลูกบ้าง
การบอกกล่าวพูดคุยกับลูกจะช่วยให้ลูกเข้าใจในเจตนาที่แท้จริงของพ่อแม่ ลูกจะได้ไม่เกิดความรู้สึกหรือเข้าใจผิดไปว่า พ่อแม่ผลักไสไล่ส่งเขาออกจากบ้าน ต้องพยายามให้เขาเข้าใจว่าเป็นการกระทำด้วยความรักความหวังดี และเมื่อเขาเข้าใจ คล้อยตามอยากเข้าโรงเรียนประจำแล้ว พ่อแม่ต้องแสดงให้ลูกเห็นอย่างเป็นรูปธรรมด้วยว่าความรัก และห่วงใยที่ว่านั้นเป็นอย่างไร นั่นคือให้ความสนใจในความเป็นอยู่และการเรียนของเขา อาจจะด้วยการโทรศัพท์ไปถามข่าวคราวบ้าง ไปเยี่ยมบ้าง เข้าร่วมกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้นบ้าง เหล่านี้จะทำให้ลูกรู้สึกว่าความรักและห่วงใยของพ่อแม่นั้นเป็นความจริง มิใช่เป็นเพียงคำปลอบใจ เพื่อต้องการให้เขาออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น
เด็ก บางคนแม้จะเข้าใจในเจตนาของพ่อแม่ แต่ด้วยความเป็นเด็ก เวลาเข้าไปอยู่ในโรงเรียนประจำจริงๆ กับคนแปลกหน้า มีกิจวัตรที่แตกต่าง อาหารการกินไม่เหมือนเคย อาจรู้สึกอึดอัด ว้าเหว่และเหงาได้ 
เรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นกับตัวผมเอง เพราะตอนอยู่บ้านเคยมีอิสระค่อนข้างมาก ที่หลับที่นอนก็รู้สึกเป็นส่วนตัว อาหารการกินก็'ถูกปากเพราะ พ่อแม่ทำให้กิน เพื่อนฝูงก็หน้าเก่าๆ แต่เมื่อเข้าอยู่โรงเรียนประจำในกรุงเทพฯ ต้องทำตามกฎเกณฑ์ของโรงเรียน หอนอนก็นอนรวมๆ กันหลายคน อาหารการกินก็ไม่ 'คุ้นลิ้น' เรียกว่าต้องปรับตัวกันหลายอย่าง เรื่องการปรับตัวนี้ดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่ของทุกคน
ผมเคยคุยกับนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ที่อยู่หอพักมหาวิทยาลัย พบว่ามีปัญหาในเรื่องการปรับตัวคล้ายๆ กัน เด็กจะปรับตัวยากหรือง่ายขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของครอบครัวของแต่ละคน มากกว่าเรื่องอื่น เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีลูกน้อยอาจจะปรับตัวได้ช้ากว่าเด็กที่มาจากครอบ ครัวที่มีพี่น้องหลายคน เด็กที่ติดพ่อแม่จะปรับตัวยากกว่าเด็กที่มีอิสระ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน เด็กบางคน พออกจากบ้านไปพักอยู่กับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน ก็ใช้ชีวิตเสรีอย่างชนิดเกินขอบเขต ขาดการควบคุมตนเอง ทำให้เสียการเรียน และดำเนินชีวิตในทางที่เสื่อมเสียกับอนาคตของตัวเองอีกต่างหาก
เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าพ่อแม่ต้องคิดเรื่องนี้อย่างรอบคอบ และต้องมีการเตรียมการอย่างดี ทั้งตัวพ่อแม่เองและลูกด้วย อย่าคิดแต่เพียงว่า โรงเรียนประจำแห่งนั้นแห่งนี้มีชื่อเสียง ผู้คนนิยมส่งลูกเข้าเรียน หรือคิดว่าครอบครัวเรามีเงินทอง สามารถส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนประจำ ที่มีชื่อเสียงเป็นสิ่งที่ได้หน้าได้ตา ผมคิดว่าชะดีชะร้ายจะเป็นการสร้างผลเสียให้กับลูก โดยนึกไม่ถึงก็ได้ พ่อแม่ต้องติดตามเอาใจใส่ต่อการเรียนและการใช้ชีวิตของลูก ควรได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับครูอาจารย์ของลูกบ้างเป็นครั้งคราว ถ้าลูกมีปัญหาโทรศัพท์มาปรึกษาก็ควรให้ความใส่ใจ แต่ก็ไม่ควรมี ปฏิกิริยา จนทำให้ลูกเกิดความหวั่นวิตกมากขึ้นไปอีก
พ่อแม่จำนวนไม่น้อยมักจะมีปฏิกิริยา หรือ Reaction มากกว่า Action (การกระทำหรือการปฏิบัติการ) กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูก การมีปฏิกิริยานั้นอาจจะง่ายและสบายใจ (สะใจ) แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง ส่วนการปฏิบัติการ ซึ่งจะมีทั้งการวิเคราะห์สถานการณ์ วางแผน ลงมือทำและติดตามประเมินผล จะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ดีและยั่งยืนกว่า เพราะฉะนั้นหากมีอะไรเกิดขึ้นกับลูก พ่อแม่จึงไม่ควรมี Reaction แต่ควร Take action มากกว่า

ผมเห็นด้วยว่าการ ตัดสินใจให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนประจำเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ก็น่าใคร่ครวญให้ดีว่า มันเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและเหมาะที่สุดสำหรับลูกของเราหรือไม่ ซึ่งพ่อแม่นั่นแหละน่าจะตอบได้ดีที่สุด และก็ควรหาคำตอบแบบที่เป็น Action มากกว่าแค่มี Reaction นะครับ

จาก  life & family  

แหล่งที่มา : karn.tv

อัพเดทล่าสุด