โรคโลหิตจางเกิดจาก การออกกำลังสำหรับผู้ป่วยโรคโลหิตจาง จำนวนประชากร เป็นโรคโลหิตจาง


1,824 ผู้ชม


โรคโลหิตจางเกิดจาก การออกกำลังสำหรับผู้ป่วยโรคโลหิตจาง จำนวนประชากร เป็นโรคโลหิตจาง

สาเหตุของโลหิตจาง

        โรคหรือสาเหตุของโลหิตจางมีหลายชนิด ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม

1. การสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง ซึ่งอาจจะเกิดจากการขาดสารอาหารที่จำเป็นในการสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น ขาดธาตุเหล็ก, โฟเลต (folate), วิตามินบี 12, โรคไขกระดูกฝ่อ (aplastic anemia), โรคที่มีเซลล์มะเร็งในไขกระดูก เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukemia) เป็นต้น

2. การสูญเสียเม็ดเลือดแดงจากกระแสเลือด ได้แก่การเสียเลือดทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง (ซึ่งชนิดเรื้อรังจะทำให้เกิดการขาดธาตุเหล็ก), การที่เม็ดเลือดแดงแตกหรือถูกทำลายไปเร็วกว่าปกติ เช่น โรคที่ร่างกายต่อต้านเม็ดเลือดแดงของตนเอง (โรค autoimmune hemolytic anemia), โรคโลหิตจางกรรมพันธุ์บางชนิด เช่น โรคขาดเอ็นซัยม์ของเม็ดเลือดแดง, โรคธาลัสซีเมีย เป็นต้น

สาเหตุของโรคโลหิตจางที่พบบ่อยได้แก่

 ซีดจากการสูญเสียเลือด

        บางครั้งมีเลือดออกจากทางเดินอาหารซึ่งจะเห็นเป็นถ่ายอุจจาระมีเลือดปนหรือถ่ายดำแต่ถ้าออกครั้งละน้อยๆ แต่ออกบ่อยอาจไม่เห็นว่าถ่ายอุจจาระมีเลือดปนหรือถ่ายดำ แต่จะมีโลหิตจางได้ โรคที่ทำให้ถ่ายมีเลือดปนที่พบบ่อยได้แก่ โรคกระเพาะอาหาร โรคริดสีดวงทวาร โรคหลอดเลือดโป่งพอง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น สาเหตุที่พบบ่อยอีกอย่างคือ การรับประทานยาแก้ปวดแก้เมื่อยเป็นประจำแล้วยาระคายกระเพาะอาหารทำให้อักเสบ มีแผล เกิดเลือดออกได้

        เสียเลือดจากมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ถ้าถึงวัยหมดประจำเดือนแล้วมีเลือดออกทางช่องคลอด ต้องรีบไปตรวจทันทีเนื่องจากอาจเกิดจากโรคมะเร็งได้

 ซีดจากการขาดสารอาหาร

ผู้สูงอายุบางรายอาจรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ซึ่งอาจจากการที่เบื่ออาหาร มีโรคประจำตัวบางอย่าง เลือกรับประทานอาหาร หรือปัญหารายได้ไม่เพียงพอ อาจทำให้โลหิตจางได้

ซีดจากโรคเรื้อรัง

ซีดจากโรคเรื้อรัง เช่น ไตวาย โรคตับ ข้ออักเสบ เป็นต้น ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดได้น้อยกว่าปกติ

โรคอื่นๆ

โรคอื่นๆ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคไขกระดูกเสื่อม เป็นต้น

 

 อาการของโลหิตจาง

        อาจถูกคนอื่นทักว่าเหลือง ซีด มีอาการอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย มึนงงศีรษะ หน้ามืด บางคนที่โลหิตจางมากอาจเป็นลม หมดสติ หกล้ม หัวใจทำงานหนักจนวายได้ หรืออาการต่างๆ เหล่านี้ คือ...

  • อาการเหนื่อยง่าย เหนื่อยง่ายหมายถึงรู้สึกเหนื่อยผิดปกติเวลาที่ต้องออกแรง เช่น เคยเดินบันไดได้โดยไม่เหนื่อยแต่กลับเหนื่อย ถ้ามีโลหิตจางรุนแรง แค่เดินในบ้านก็อาจเหนื่อยแล้ว เวลาเหนื่อยอาจมีอาการใจสั่นร่วมด้วย ที่รุนแรงอาการมีอาการของโรคหัวใจวาย คือ เหนื่อย แน่นหน้าอก หอบ เป็นต้น
  • อาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ
  • อาการเป็นลม หน้ามืด วิงเวียน
  • อาการทางสมอง เช่น รู้สึกสมองล้า หลงลืมง่าย ขาดสมาธิในการทำงาน เรียนหนังสือไม่ดีเท่าที่ควร นอนไม่หลับ
  • อาการหัวใจขาดเลือด มักพบในคนที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โลหิตจาง ทำให้อาการของหัวใจรุนแรงขึ้น เจ็บหน้าอกง่ายขึ้น
  • อาการขาขาดเลือด พบในคนที่มีโรคหลอดเลือดของขาทำให้ปวดขา เวลาเดินได้ไม่ไกล ต้องหยุดพักบ่อยๆ เวลาเดิน
  • อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น เบื่ออาหาร ท้องอืด

อาการแสดง

        อาการแสดง หมายถึง ลักษณะที่พบเห็นหรือตรวจพบในตัวผู้ป่วย ที่มีเลือดจาง มี 2 ชนิด คือ ชนิดที่บอกว่า มีภาวะโลหิตจางและที่บอกว่า มีสาเหตุอะไรที่ทำให้เลือดจาง

1. อาการแสดงที่บอกว่ามีภาวะโลหิตจาง

  • อาการแสดงที่พบบ่อยได้แก่ ลักษณะซีด ดูได้จากสีของผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ใต้เล็บ หรือดูจากสีของเยื่อบุด้านในของเปลือกตาล่าง (พลิกเปลือกตาดู)

2. อาการแสดงที่ช่วยชี้แนะถึงสาเหตุของโลหิตจาง

  • มีตัวเหลืองตาเหลือง (ดีซ่าน) อย่างอ่อน แสดงถึงภาวะโลหิตจาง จากการแตกสลายของเม็ดเลือดแดง
  • มีจุดและจ้ำเลือดตามตัวชี้แนะถึงการมีเกร็ดเลือดต่ำ เป็นโรคไขกระดูกฝ่อ มะเร็งเม็ดโลหิตขาว หรือโรคที่เกิดการทำลายทั้งเม็ดเลือดแดงและเกร็ดเลือด
  • ลิ้นเลี่ยน อาจแสดงถึงโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ผิวลิ้นจะเลี่ยนและซีด
  • เล็บอ่อนยุบเป็นแอ่ง พบในโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก
  • ความดันโลหิตสูง อาจหมายถึงโลหิตจางจากไตวายเรื้อรัง
  • ความดันโลหิตต่ำ อาจหมายถึงภาวะช็อกจากการสูญเสียโลหิตอย่างรวดเร็ว เช่น
  • เลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหารหรือจากภาวะหัวใจวาย
  • ตับและม้ามโต พบได้ในโลหิตจางจากโรคเลือดธาลัสซีเมีย โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • น้ำเหลืองโต อาจหมายถึงมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งมักจะมีตับโตและม้ามโตด้วย
  • อาการบวม ผิวแห้ง มักพบในโรคไต
  • อาการขึ้นผื่นที่ใบหน้า และผมร่วง พบในโรคเอสแอลอี (SLE)
  • ท้องมาน พบในโรคตับแข็ง
  • ข้อบวม พิการ พบในโรคข้อเรื้อรัง เช่น โรครูมาตอยด์อาไทรติส โรคเอสแอลอี เป็นต้น

การป้องกันและรักษา

  • ไม่รับประทานยาชุด แก้ปวดเมื่อย แก้อักเสบ ยาหม้อ ยาลูกกลอนเอง เนื่องจากมักมียาที่ระคายกระเพาะอาหาร ทำให้มีอาการปวดเสียดท้อง ท้องอืด เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือกระเพาะอาหารทะลุได้
  • รับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีนและอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ไข่ ตับ ไต เนื้อสัตว์ เมล็ดธัญพืช เช่น ถั่ว งา เมล็ดฟักทอง ลูกเดือย เป็นต้น
  • หากมีอาการปวดเสียดแน่นท้อง ขับถ่ายอุจจาระผิดปกติไปจากเดิม ถ่ายดำหรือมีเลือดปน เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาออกเรื้อรัง จ้ำเลือดออกตามตัว ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษา
  • ถ้ามีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคโลหิตจาง ควรไปตรวจยืนยันและแพทย์ต้องตรวจหาสาเหตุเสมอว่าทำไมถึงโลหิตจาง หลังจากนั้นจึงรักษาสาเหตุ แพทย์อาจให้ยาบำรุงเลือดมารับประทาน รับประทานแล้วอาจมีถ่ายอุจจาระดำได้จากสีของยา

        หลักการสำคัญในการรักษาโลหิตจาง คือ รักษาที่สาเหตุของโลหิตจาง แนวทางการรักษาประกอบด้วยการรักษาทั่วไป เป็นการบำบัดอาการของโลหิตจาง ระหว่างที่ทำการรักษาโรคสาเหตุของโลหิตจาง เช่น รักษาภาวะหัวใจวาย ลดการออกแรง ให้ออกซิเจน ให้เลือดทดแทน มักให้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาหลอดเลือด ผู้ป่วยอายุมากหรือเสียเลือดมากเฉียบพลัน

        ผู้ป่วยเลือดจางเรื้อรังมักไม่จำเป็นต้องให้เลือด แม้ว่าความเข้มข้นของเลือดจะต่ำมากๆ ก็ตามส่วนการรักษาจำเพาะเป็นการรักษาไปที่สาเหตุ กำจัดสาเหตุ (ถ้าทำได้) และให้การรักษาโรคสาเหตุนั้นๆ เช่น ถ้าพบว่าเลือดจางเพราะพยาธิปากขอ ก็ให้ยากำจัดพยาธิและให้ยาที่มีธาตุเหล็กควบคู่กันไป เมื่อระดับความเข้มข้นของเลือดกลับสู่ระดับปกติแล้ว ควรให้ยาเสริมธาตุเหล็กต่อไปอีก 3 เดือนจึงจะเพียงพอ



 

แหล่งที่มา : panyathai.or.th , คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

อัพเดทล่าสุด