พลังจิตจักวาล ระบบสุริยจักวาล โมเดลสุริยะจักวาล กับ ความเชื่อ เรื่อง จักวาล ของ อินโดนีเซีย
ภูมิจักวาล : คติความเชื่อเรื่องบ้านในอุษาคเนย์ที่อินโดนีเชีย
เนื่องจากเดือนที่แล้วมีโอกาสเข้าฟังสัมมนาเรื่อง เรือนพื้นถิ่นไทย จัดโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงอยากที่จะเสนอถึงเรื่องของบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ้าง แต่ไม่ได้พูดถึงบ้านในลักษณะโครงสร้างและประโยชน์ใช้สอย หากเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับบ้าน และอิทธิพลของศาสนาที่ถ่ายทอดออกมาในตัวบ้าน ดังคำกล่าวที่ว่า "บ้านมิได้เป็นแค่ที่อยู่อาศัย แต่เป็นโครงสร้างที่แฝงเร้นไว้ด้วยสัญลักษณ์ ที่มีความหมายซ่อนอยู่ บ้านอาจเป็นตัวแทนของบรรพบุรุษเป็นรูปแบบจำลองของจักรวาล และยังเป็นทั้งตัวบ่งบอกฐานะและสถานภาพทางสังคม" หนังสือ Architecture (1998:10) โดย Tjahono gunawan คำกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่าบ้านกับมนุษย์มีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น บ้านไม่เพียงแต่เป็นที่อยู่อาศัย แต่บ้านยังสะท้อนถึงความคิด ความเชื่อ สถานะเจ้าของ และเป็นรูปจำลองของจักรวาล (Cosmological Model) เราจะมาดูกันว่าบ้านในอุษาคเนย์เป็นรูปจำลองของจักรวาล(Cosmology)ได้อย่างไร รูปแบบจักรวาลแตกต่างกันตามความเชื่อของแต่ละศาสนา ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจกับศาสนาที่มีอิทธิพลต่อผู้คนในดินแดนแถบนี้เสียก่อน ศาสนาเหล่านั้นได้แก่ ฮินดู พุทธ และลัทธิการนับถือภูตผี (Animism) การนับถือผีเกิดในสมัยที่มนุษย์ยังไม่มีความเข้าใจในธรรมชาติ และไม่สามารถควบคุม หรือใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้ เมื่อมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ก็คิดว่าผีหรือเทวดาบันดาลให้เป็นไป ด้วยแนวคิดที่เชื่อว่าธรรมชาติถูกควบคุมโดยผี หรือ เทวดานี้ รูปลักษณ์ของจักรวาลในลัทธิ Animism จึงแบ่งออกเป็น 3 อย่างง่ายๆ ตามแนวตั้ง คือโลกมนุษย์ ที่อยู่ตรงกลาง โลกเบื้องล่างคือที่อยู่ของภูตผี ที่เป็นอันตรายแก่มนุษย์ โลกเบื้องบนเป็นที่อยู่ของเทวดาอารักษ์ และวิญญาณบรรพบุรุษผู้คอยปกปักรักษาลูกหลาน สมาชิกในครอบครัว จักรวาลในแนวความคิดAnimism จึงมีลักษณะเป็น 3 ชั้น เรียกว่า Tripartite Schema หรือ Thee-tiered Cosmology ถึงแม้การนับถือผีในสังคมอุษาคเนย์ จะน้อยลงเนื่องจากการเข้ามาของศาสนาพุทธ ฮินดู อิทธิพลของ Animism ก็ยังปรากฎให้เห็นอยู่ โดยผสมผสานกลมกลืนไปกับศาสนาหลัก สังคมที่ยังนับถือผี จะบูชาผี และบรรพบุรุษ มีแท่นบูชาอยู่ในบริเวณบ้านเสมอ รวมทั้งมีกฎข้อห้ามต่างๆ เกี่ยวกับการดำรงชีวิตที่สะท้อนคติความเชื่อแบบ Animism ให้เห็นเสมอ เมื่อศาสนาฮินดูแพร่อิทธิพลเข้ามาถึงดินแดนอุษาคเนย์ แนวคิดเกี่ยวกับจักรวาลของคนในสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป จากจักรวาลแบบแนวตั้ง (Vertical) มาเป็นจักรวาลแบบแนวนอน(Horizontal) เนื่องจากตามหลักแนวคิดศาสนาฮินดู จักรวาลมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง เป็นที่อยู่ของเทพเจ้า เขาพระสุเมรุถูกล้อมรอบด้วยมหานทีสีทันดร (Cosmic Ocean) สลับกับเขาทั้ง 7 มุมของจักรวาลทั้ง 4 จะมีทวีป 4 ทวีป ซึ่งแสดงถึงโลกมนุษย์ ทำให้เกิดทิศหลักทั้ง 4 รวมทั้งจุดศูนย์กลาง ดังนั้นจักวาลตามแนวความคิดศาสนาฮินดู จึงมีรูปแบบที่เรียกว่า 4/5 คือ มีทิศหลัก 4 ทิศ และความสำคัญอยู่ที่จุดศูนย์กลาง หรือการรวมศูนย์ ศาสนาพุทธเข้ามายังดินแดนแห่งนี้หลังศาสนาฮินดู รูปแบบของจักรวาลของพุทธ จึงเป็นส่วนผสมของของทั้งฮินดูและanimism เป็นทั้งแบบแนวตั้ง 3 ชั้น (Tripartite Schema) และแบบแนวนอนมีจุดศูนย์กลางมีตัวอย่างของรูปแบบจักรวาล ตัวอย่างของรูปแบบจักรวาลของศาสนาพุทธปรากฎอยู่ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงที่เขียนราวปี 1888 สมัยสุโขทัยว่า จักรวาลแบ่งเป็น 3 ส่วน ตามแนวตั้งคือ นรก โลกมนุษย์ และสวรรค์ อันประกอบด้วย กามภูมิ 11 ภูมิ รูปภูมิ 16 ภูมิ และอรูปภูมิ 4 ภูมิ ขณะเดียวกันโลกมนุษย์ก็ประกอบด้วย 4 ทวีป คือ ชมพูทวีป อมรโคยานทวีป บุรพวิเทหทวีป และอุตตรกุรุทวีป มีเขาพระสุเมรุอยู่ตรงกลาง ยอดเขาเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงแสดงให้เห็นว่าตามคติพุทธเขาพระสุเมรุมิได้เป็นจุดสูงที่สุดของสวรรค์ จากที่กล่าวมาแล้ว รูปแบบของจักรวาลในสังคมอุษาคเนย์ แบ่งเป็นแบบแนวตั้งที่ส่วนสำคัญอยู่บนสุด และแบบแนวนอนที่เน้นจุดศูนย์กลาง ตัวอย่างที่ชัดเจนของสถาปัตย กรรมของอุษาคเนย์ที่จำลองรูปแบบของจักรวาลมาไว้ ก็คือ วัดและปราสาทหินต่างๆ ที่รู้จักกันดี คือ นครวัด ในกัมพูชา ที่สร้างตามแนวความคิดศาสนาฮินดู ปรางค์องค์ประธานของปราสาทเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ดังนั้นผู้ที่จะขึ้นไปได้จึงมีเพียงกษัตริย์ที่มีสถานะเป็นสมมติเทพเท่านั้น รอบปราสาทก็มีคูน้ำที่เปรียบเสมือนมหาสมุทรกั้นอยู่ |
การจำลองเอาจักรวาลมาไว้ที่ๆมีขอบเขต(Macrocosm Within Microcosm) ยังพบได้ในสิ่งต่างๆ เช่น บายศรี หรือชฎาสวมศีรษะ เปรียบเสมือนการอัญเชิญเทพเจ้ามาชุมนุมกันเพื่อความเป็นมงคล เมื่อมาพิจารณาถึงการจำลองรูปแบบของจักรวาลมาไว้ในบ้านแถบอุษาคเนย์ จะเห็นว่าเป็นไปตามอิทธิพลของศาสนาที่แต่ละสังคมยึดถืออยู่ ถึงแม้ว่าโครงสร้างลักษณะของบ้านอาจเปลี่ยนไปตามอิทธิพลของสภาพอากาศ และสถานที่ตั้ง โครงสร้างที่เกิดจากอิทธิพลความเชื่อทางศาสนาก็จะไม่เปลี่ยนไป บ้านในดินแดนแถบนี้มักเป็นเรือนยกพื้นสูงตั้งอยู่บนเสา ใต้ถุนบ้านใช้เป็นที่เก็บของหรือสัตว์เลี้ยง โดยทั่วไปจะแบ่งขอบเขตแน่นอนระหว่างส่วนที่อยู่อาศัยของคน ของสัตว์ และส่วนที่ใช้เก็บรักษาสมบัติประจำตระกูลที่สืบทอดกันมา (Family heirloom) คือส่วนห้องใต้หลังคา หรือส่วนจากเพดานขึ้นไป ลักษณะนี้พ้องกันกับจักรวาลตามแบบแนวตั้ง ที่ชั้นล่างสุดเป็นที่อยู่อาศัยของภูตผีที่เป็นอันตราย ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยของคน ส่วนที่เป็นตัวเรือนเปรียบเสมือนโลกมนุษย์ ที่มีการเวียนว่ายตามวัฏจักรชีวิต เกิด แก่ เจ็บ ตาย ส่วนใต้หลังคาเป็นที่เก็บสมบัติที่เชื่อว่ามีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ใช้ปกป้องคุ้มครองผู้อยู่อาศัยได้ หรือเป็นที่ตั้งแท่นบูชา ในบางสังคมเชื่อว่าหากใครล่วงล้ำเข้าไปก็จะถูกวิญญาณลงโทษ หลังคาจึงเป็นเสมือนโลกเบื้องบน และเป็นส่วนที่มนุษย์ใช้เป็นที่ติดต่อกับเทพเจ้าหรือวิญญาณบรรพบุรุษด้วย เช่น ในสังคมโทราจ้า (Toraja) ในอินโดนีเชีย จะมีการวาดรูปเทพเจ้าไก่ที่ถือเป็นเทพเจ้าสูงสุดไว้บนหลังคาบ้านทุกหลัง และลวดลายที่ประทับบนหลังคาก็ทำให้ทราบถึงที่มาของต้นตระกูลได้ ในสังคมที่มีอิทธิพลศาสนาฮินดู แผนผังและโครงสร้างของบ้านอาจจะต่างไป เช่น บ้านที่บาหลี ที่ไม่ได้สร้างยกพื้นขึ้นมา และแต่ละส่วนอยู่แยกกัน เช่น เรือนนอนจะอยู่ทางหนึ่ง ครัวอยู่อีกทางหนึ่ง แต่ละส่วนจะมีการจัดวางอย่างเป็นระบบ ตามทิศที่ถือเป็นมงคลและอวมงคล เช่นศาลเจ้าจะอยู่ทิศที่เป็นมงคลที่สุด ห้องน้ำจะอยู่ทิศที่เป็นอวมงคลที่สุด ที่ตั้งของแต่ละส่วนจึงขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานของตัวบ้านด้วย และแต่ละส่วนของตัวบ้านจะมีชื่อเรียกตามอวัยวะของร่างกาย มีหัวบ้าน แขนบ้าน หรือแม้แต่อวัยวะเพศ ซึ่งก็คือบริเวณเตาไฟหุงหาอาหาร ซึ่งเป็นที่ให้ชีวิตแก่คนในบ้าน ที่สำคัญที่สุดทุกบ้านจะมีจุดศูนย์กลางของบ้าน เรียกว่า "สะดือจักรวาล" ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของบ้าน อาจได้รับอิทธิพลจากสะดือของพระนารายณ์อย่างเช่นในรูปสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ สะดือจักรวาลเป็นที่รวมของทุกสิ่งและเป็นจุดหยุดนิ่ง สะดือจักรวาลในบ้านบาหลี คือลานบ้านที่ทุกคนในบ้านใช้เป็นที่ชุมนุม พบปะสังสรรค์กัน เนื่องจากตัวบ้านที่กระจัดกระจายออกไป สะดือจักรวาลจึงเป็นที่รวมให้ "ชีวิต" ของบ้าน คือ สมาชิกในบ้านมารวมกัน ซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดรวมศูนย์ของจักรวาลแบบฮินดูเป็นอย่างดี บ้านที่โทราจ้าจะมีเสาต้นหนึ่ง ซึ่งไม่มีความจำเป็นด้านโครงสร้างเลย แต่ช่วยเป็นหลักของจักรวาล เรียกว่าสะดือจักรวาลเช่นกัน บ้านหนึ่งหลังจึงเปรียบเหมือนจักรวาลหนึ่งจักรวาลนั่นเอง บ้านของชาวซุมบา(Sumba nese) รูปแบบของจักรวาลก็ปรากฏอยู่ในลักษณะการจัดวางองค์ประกอบในบ้าน บ้านทั้งหลังจะเป็นห้องโล่งๆ 1 ห้อง มีเสาสี่เสา อยู่ตรงมุม 4 มุม ของบ้าน และมีเตาไฟ ซึ่งเทียบได้กับแหล่งกำเนิดชีวิตอยู่ตรงกลาง ลักษณะองค์ประกอบนี้ จึงเทียบได้กับ รูปแบบ4/5 ของศาสนาฮินดู นอกจากนี้แล้วลักษณะการดำเนินชีวิตของคนในบ้านก็อาจก่อให้เกิดรูปแบบจำลองของจักรวาลได้ เช่นที่มินังกะเบา(minangkabau) ซึ่งเป็นสังคมที่ผู้หญิงมีความสำคัญ บ้านจะตกทอดกันไปทางลูกสาว และผู้ชายเป็นฝ่ายย้ายเข้ามาเพื่อแต่งงานลักษณะของบ้านประกอบไปด้วย เสาหลักของบ้านและห้องนอนแบ่งย่อยๆจำนวนห้องแล้วแต่จำนวนสมาชิกที่แต่งงานแล้ว เด็กๆและคนแก่จะนอนอยู่รอบเสาหลักของบ้าน และห้องนอนเป็นของคู่แต่งงานเมื่อมีเด็กสาวแต่งงานใหม่ เธอจะย้ายไปอยู่ห้องนอนริมขวาสุด คนที่อยู่ก่อนต้องย้ายไปห้องข้างๆ คนที่อยู่ห้องซ้ายสุดต้องย้ายมานอนข้างเสาซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดวงโคจรของชีวิต การโคจรเปลี่ยนตำแหน่งของสมาชิกในบ้านรอบเสาหลัก จึงอาจเปรียบได้กับการโคจรของดาวเคราะห์รอบศูนย์กลางจักรวาล บ้านมินังกะเบาจึงเป็นเหมือนจักรวาล ที่มีผู้คนในบ้านเป็นองค์ประกอบทำให้จักรวาลนั้นๆมีชีวิต ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดเป็นการแสดงให้เห็นว่าคติความเชื่อทางศาสนามีอิทธิพลยิ่งใหญ่ต่อมนุษย์ และอิทธิพลนั้นก็ปรากฏให้เห็นในหลายรูปแบบ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับบ้านและจักรวาล เป็นสิ่งที่สลับซับซ้อน บ้านไม่ได้เป็นแค่ที่ให้ความคุ้มครองแก่มนุษย์ทางกาย แต่ยังให้ความคุ้มครองทางจิตวิญญาณ การจำลองจักรวาลมาไว้ในบ้าน เป็นการสะท้อนความเชื่อที่สืบต่อกันมา แม้แต่ผู้คนในบ้านก็อาจไม่ตระหนักถึง แต่บ้านที่ไม่มีคนก็ไม่อาจเป็นจักรวาลที่สมบูรณ์ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับจักรวาลจึงเป็นสิ่งที่น่าศึกษาต่อไป |
แหล่งที่มา : vcharkarn.com