พยาธิสภาพโรคหลอดลมอักเสบ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง
|
| โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง | โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังคืออะไร
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งสาเหตุที่สำคัญที่สุดคือ การสูบบุหรี่ โดยโรคนี้ประกอบไปด้วยโรค 2 ชนิดย่อย คือ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและโรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังนั้นผู้ป่วยจะมีอาการไอและมีเสมหะเรื้อรังเป็นๆหายๆ " อย่างน้อยปีละ 3 เดือนและเป็นอย่างน้อย 2 ปีติดต่อกัน ส่วนโรคถุงลมโป่งพองนั้นเกิดจากถุงลมโป่งพองตัวออกทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซผิดปกติไป โดยทั่วไปเรามักพบ 2 โรคนี้เกิดร่วมกันและแยกออกจากกันได้ยาก อาการเป็นอย่างไร
ในช่วงที่เป็นระยะแรกๆ จะไม่มีอาการ แต่ถ้าปอดถูกทำลายมากขึ้นจะเริ่มมีอาการไอเรื้อรัง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงวี๊ดๆ ถ้าไปพบแพทย์ แล้วแพทย์จะวินิจฉัยได้อย่างไร
โดยทั่วไป แพทย์จะซักประวัติการสูบบุหรี่ อาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังดังกล่าวแล้ว หลังจากนั้นจึงตรวจเอ็กซเรย์ปอด และในบางรายอาจทำการตรวจสมรรถภาพปอดเพิ่มเติมครับ ถ้าทราบว่าตัวเองเป็นโรคนี้แล้ว ควรปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง - อย่างแรกสุดคือ ควรหยุดสูบบุหรี่ เพราะจะยิ่งทำให้อาการเป็นมากขึ้น
- ควรฝึกหายใจบ่อยๆ จะทำให้กล้ามเนื้อช่วยหายใจแข็งแรง ต้องทำเป็นประจำจึงจะได้ผล ทำตอนว่างๆ ตอนไหนก็ได้ วิธีการฝึกมีดังนี้
- ให้หายใจเข้าทางจมูก ปล่อยหน้าท้องให้ป่อง - ห่อปาก แล้วหายใจออกทางปากอย่างช้าๆ พร้อมกับแขม่วท้อง - ให้หายใจออกยาวกว่าหายใจเข้า - ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ควรปรึกษาแพทย์ด้วยนะครับว่าสามารถออกกำลังกายได้มากน้อยเพียงใด
- ระวังการติดหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ โดยไม่คลุกคลีกับคนที่เป็นหวัดอยู่ ไม่ไปในที่ที่มีคนแออัด ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
- ไม่ให้ท้องผูก เนื่องจากการเบ่งอุจจาระมากๆ อาจทำให้หอบเหนื่อยได้
- หลีกเลี่ยงฝุ่นละออง ควันต่างๆ และหลีกเลี่ยงอากาศที่เย็น
- ดื่มน้ำมากๆ ไม่ควรดื่มน้ำเย็นจัด หรือไอสกรีมเย็นๆ
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานๆ
- ไปพบแพทย์สม่ำเสมอ ไม่ขาดยา โดยเฉพาะยาพ่นแก้หอบ ควรพกติดตัวตลอดเวลาและตรวจเช็คว่ายังมีปริมาณ
เพียงพอก่อนจะถึงนัดการตรวจครั้งต่อไป - ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease : COPD) เป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยมากอย่างหนึ่ง ในประเทศไทยพบถึงร้อยละ2.7-10.1 และล่าสุดมีการสำรวจผู้สูงอายุในชุมชนย่านฝั่งธนบุรีพบผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังประมาณร้อยละ7.1 จัดเป็นโรคที่มีความสำคัญเป็นลำดับที่5และคาดว่าจะเป็นสาเหตุการตายที่พบบ่อยเป็นลำดับที่3ต่อไปในภายหน้า (รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ, 2544:88) เนื่องจากประชากรไทยมีอายุยืนขึ้น สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมเป็นพิษมากขึ้น รวมถึงมีผู้สูบบุหรี่มากขึ้น บางคนสูบตั้งแต่อายุยังน้อย ดังนั้นระยะเวลาในการสูบจะมากขึ้นทำให้ปอดถูกทำลาย การยืดหยุ่นของปอดลดลง มีการอักเสบของทางเดินหายใจ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจน ไม่เพียงพอมีอาการหายใจลำบาก หอบเหนื่อยง่าย ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ก่อให้เกิดความวิตกกังวล ทำให้ขาดกำลังใจ ในการต่อสู้และดูแลรักษาโรคของตนเอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคได้หลายอย่าง ดังนั้นหากทีมสุขภาพสามารถรณรงค์ ให้ประชาชนทราบถึงสาเหตุของการเกิดโรคและส่งเสริมให้ทุกคนเฝ้าระวังป้องกันสุขภาพของตนเองและ บุคคลในครอบครัวได้ ย่อมสามารถหลีกเลี่ยงการเกิดโรคและมีประโยชน์ต่อสุขภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมทั่วไป โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาด ผู้ป่วยจะมีอาการมากขึ้นเรื่อย ๆ จนส่งผลให้ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลบ่อยครั้ง ดังนั้นสิ่งที่ผู้ป่วยและผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วยต้องยอมรับ ก็คือความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น การพยายามผ่อนหนักให้เป็นเบาเมื่ออาการดีขึ้นต้องดูแลตนเองต่อที่บ้าน พยาบาลซึ่งใกล้ชิด ผู้ป่วยจึงมีบทบาทสำคัญในการดูแล และประคับประคองผู้ป่วยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อช่วยให้อยู่อย่างมีความสุขในขณะที่อยู่ในโรงพยาบาล รวมทั้งการให้คำแนะนำในการดูแลตนเองที่บ้านแก่ผู้ป่วยและญาติ เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โครงสร้างของระบบหายใจ ระบบหายใจเป็นระบบที่สำคัญมากต่อร่างกายมนุษย์ ทำหน้าที่นำออกซิเจนจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ร่างกายและนำคาร์บอนไดออกไซด์ ออกจากร่างกาย ซึ่งออกซิเจนที่ได้จะนำไปใช้ในปฏิกิริยาทางเคมีของขบวนการต่าง ๆ ภายในร่างกาย หน้าที่โดยทั่วไปของระบบหายใจ ระบบหายใจมีหน้าที่ในการนำออกซิเจนจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ร่างกาย ขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ภายนอกร่างกายและควบคุม ระดับออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายให้เหมาะสม อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ 1. ส่วนที่ทำหน้าที่เป็นทางผ่านเข้า ออกของอากาศ (Conducting part) ทำหน้าที่ปรับแต่งอุณหภูมิ ความชื้นในอากาศที่หายใจเข้าไปให้เหมาะสม รวมทั้งกรองฝุ่นละออง ประกอบไปด้วยจมูก (nose) ซึ่งมีรูจมูกและโพรงจมูก หลอดคอ (pharynx) กล่องเสียง (larynx) หลอดลมคอ (trachea) หลอดลมใหญ่ (bronchus) หลอดลมฝอย (bronchioles) หลอดลมฝอยส่วนปลาย (terminal bronchioles) ดังแสดงในภาพที่ 1 ส่วนประกอบของอวัยวะที่ทำหน้าที่เป็นทางผ่านเข้า ออกของอากาศ ประกอบด้วยหลอดลมคอมีความยาวประมาณ 9 -15 เซนติเมตร เริ่มต้นจากส่วนล่าง ของกระดูกอ่อนวงแหวน (cricoids) ตรงกับกระดูกสันหลังส่วนคอชิ้นที่ 6 ไปสิ้นสุดตรงตำแหน่งขอบบนของกระดูกสันหลัง ส่วนอกชิ้นที่ 5 ซึ่งตรงตำแหน่งนี้หลอดลมจะแยกออกเป็นหลอดลมใหญ่ขวาและซ้าย (right and left main bronchus) เป็นส่วนที่อยู่นอกเนื้อปอด (extrapulmonale bronchus) ไม่มีผลกระทบโดยตรงจากการที่ทรวงอกหดหรือขยายตัว ส่วนที่อยู่ในเนื้อปอด (intrapulmonale bronchus)เป็นแขนงหลอดลมหรือ หลอดลมกลีบ (lobar or secondary bronchus) เพื่อแตกแขนงออกไปอีก 8 – 13 ครั้ง จนมีขนาดเล็กประมาณ 1 มิลลิเมตร จากนั้น จะแยกแขนงออกไปอีกเป็นหลอดลมฝอย และแตกแขนงต่อไปจนมีหลอดลมขนาดเล็กที่สุดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 มิลลิเมตร เรียกว่า หลอดลมฝอยส่วนปลาย ดังแผนภูมิที่ 1
ในส่วนที่ทำหน้าที่เป็นทางผ่านเข้า ออกของอากาศ มีเซลล์ที่สำคัญและมีหน้าที่ดังต่อไปนี้ เซลล์ขนกวัด (ciliated columnar cells) เป็นเซลล์ทรงแท่งที่ยื่นจากผิวด้านในของผนังหลอดลม มีขนทำหน้าที่โบกพัดสิ่งต่าง ๆ บริเวณผิวเซลล์ ให้เคลื่อนไหวและขับออกย้อนกลับสู่ทางเดินอากาศหายใจส่วนต้นเซลล์หลั่งมูก (globlet cells) เป็นเซลล์ที่มีรูปร่างเหมือนแก้วเหล้าฐานแคบ ส่วนใกล้ผิวโป่งออกมีสารมูก (mucous granules) ที่เซลล์สร้างขึ้นอยู่ภายใน เป็นเซลล์ที่มีหน้าที่สร้างสารมูกภายในหลอดลม 2. ส่วนที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซ (respiratory part) จากหลอดลมฝอยส่วนปลายแตกแขนงต่อไปโดยจะเริ่มเป็นส่วนที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซ (acinus or alveolar air space) คือจะแยกให้แขนงหลอดลมฝอยส่วนหายใจ (respiratory bronchioles) จากนั้นแยกตัวเป็นท่อถุงลม (alveolar ducts) หลายท่อซึ่งมีประมาณ 100 ท่อ ต่อหนึ่งหลอดลมฝอย แต่ละท่อถุงลมจะโป่งออกเป็นกระเปาะถุงลม (alveolar sacs) ผนังของท่อถุงลมและกระเปาะถุงลม จะประกอบด้วยถุงลม (alveoli) จำนวนมากมาย ดังแผนภูมิที่ 2
ในส่วนที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซจะมีเซลล์สำคัญและมีหน้าที่ดังต่อไปนี้ เซลล์บุถุงลมแมกโครเฟจ (alveolar macrophage) เป็นเซลล์ทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอม เช่น จุลินทรีย์ ที่เข้ามาในถุงลมจะพบ ได้ในผนังหรือบางส่วนที่เคลื่อนออกมาอยู่ในถุงลมและย่อยสลายโดยใช้เอนไซม์ในไลโซโซมของเซลล์แมกโครเฟจ เซลล์บุถุงลมชนิดที่ 2 (type? alveolar epithelial cell) เป็นเซลล์ทำหน้าที่ขับสารตึงผิว (surfactant) เข้าสู่ถุงลมมีคุณสมบัติลดแรงตึงผิว และช่วยทำให้ขนาดของถุงลมคงที่ และยังทำให้ถุงลมแห้งอยู่เสมอเป็นการป้องกันไม่ให้สารน้ำเข้าไปในถุงลมระบบการไหลเวียนเลือด หลอดเลือดในปอดเริ่มต้นจากหลอดเลือดแดงพัลโมนารี(pulmonary artery) ออกจากหัวใจห้องล่างขวา (right ventricle) ซึ่งแยกแขนงตามหลอดลมเกือบทุกขั้นตอนโดยแบ่งตัวตามหลอดลมไปเรื่อยๆเป็นแผ่นบางๆการแลกเปลี่ยนก๊าซจะเกิดโดยการแพร ่ที่ระดับนี้เป็นส่วนใหญ่มีบางส่วนเช่น ที่หลอดลมฝอยส่วนหายใจหรือท่อถุงลมซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนก๊าซอยู่บ้าง จากนั้นเลือดที่แลกเปลี่ยนก๊าซ แล้วจะไหลกลับไปสู่หัวใจห้องซ้ายบน (left atrium) ทางหลอดเลือดดำ พัลโมนารี (pulmonary vein) นอกจากนี้ผนังของหลอดลมขนาดใหญ่ ยังได้รับเลือดเลี้ยงเพิ่มเติมจากแขนงของหลอดเลือดแดงใหญ่ (aorta) ระบบประสาท เส้นประสาทก็เช่นเดียวกัน คือ จะแยกแขนงขนานกับท่อหลอดลมและเส้นเลือด โดยส่งสาขาประสาทออกควบคุมกล้ามเนื้อเรียบ ที่อยู่ตามผนังหลอดลมและเส้นเลือด เส้นประสาทที่สำคัญในระบบการหายใจคือประสาทสมองเส้นที่ 10 (vagus nerve) ซึ่งเริ่มจากฐาน กะโหลกศีรษะผ่านคอ ทรวงอก ลงสู่ช่องท้อง นอกจากนี้ยังมีเส้นประสาทระบบซิมพาเทติก (sympathetic) เข้ามามีส่วนควบคุมการทำงาน ของปอดอีกด้วย กล้ามเนื้อในระบบหายใจ ระบบหายใจประกอบด้วยกล้ามเนื้อหายใจ 2 พวกคือ กล้ามเนื้อหายใจเข้า (inspiratory muscle) และกล้ามเนื้อหายใจออก (exspiratory muscle)กล้ามเนื้อหายใจเข้าประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อกระบังลมและกล้ามเนื้อ external intercostal ส่วนใหญ่ของอากาศ ที่หายใจเข้าเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อกระบังลมทำให้ กระบังลมลดต่ำลง และการหดตัวของกล้ามเนื้อ external intercostal ทำให้กระดูกซี่โครงทางด้านหน้าเคลื่อนขึ้นบนและออกไปทางด้านหน้า ทำให้ทรวงอกมีปริมาตรเพิ่มขึ้น และขณะหายใจออกกล้ามเนื้อ กระบังลมจะยกสูงขึ้นกล้ามเนื้อหายใจออก ได้แก่กล้ามเนื้อหน้าท้องเมื่อมีการหดตัวจะทำให้กระดูกซี่โครงบีบชิดกัน ลำตัวโค้งเข้าทำให้ความดัน ในช่องท้องเพิ่มขึ้นจึงช่วยดันกล้ามเนื้อกระบังลมขึ้นบน และกล้ามเนื้อ internal intercostal ขณะหดตัวทำให้กระดูกซี่โครงเคลื่อนต่ำและเข้าด้านใน หน้าที่พิเศษของระบบหายใจ ระบบหายใจ นอกจากจะทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซ ยังมีหน้าที่สำคัญอื่น ๆ ดังนี้ 1. ช่วยในการควบคุมดุลกรดด่างของร่างกายโดยการควบคุมการขับทิ้งคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกจากร่างกายหรือควบคุมอัตราและความลึก ของการหายใจในสถานการณ์ต่าง ๆ ให้เหมาะสม 2. ช่วยในการเปล่งเสียง โดยการควบคุมกล้ามเนื้อช่วยการหายใจผ่านระบบประสาทส่วนกลางเพื่อทำให้เกิดการไหลของอากาศผ่านสายเสียงและปาก ซึ่งจะทำให้เกิดเสียงลักษณะต่าง ๆ ตามต้องการ 3. ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายจากสิ่งแปลกปลอมในอากาศที่หายใจ โดยเซลล์บุถุงลมแมกโครเฟจจะทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมและจะย่อยสลาย โดยใช้เอนไซม์ในไลโซโซมของเซลล์แมกโครเฟจ 4. ทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บสำรองเลือด เนื่องจากปอดสามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บสำรองเลือด (blood reservoir) สำหรับการสูบฉีดเลือด ออกจากหัวใจข้างซ้ายได้ในคราวจำเป็น 5. ช่วยทำหน้าที่เป็นแหล่งกรองเลือดของร่างกายที่เกิดจากสิ่งอุดตันต่าง ๆ เช่น ลิ่มเลือด ฟองอากาศ หรือเซลล์เล็ก ๆ อาจหลุดลอยเข้ามาในกระแส เลือดเมื่อไหลผ่านร่างแหหลอดเลือดฝอยของปอดเกิดการอุดตันขึ้นทำให้ไม่มีการแลกเปลี่ยนก๊าซเกิดขึ้นในถุงลมที่ไม่มีเลือดมาเลี้ยง จะพบว่าปอด สามารถใช้หลอดเลือดฝอยส่วนอื่นที่ไม่มีการอุดตันมาใช้งานเพิ่มเติมได้ในคราวจำเป็น และสิ่งอุดตันจะถูกกำจัดโดยเซลล์บุถุงลมแมกโครเฟจ คำจำกัดความ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease : COPD) เป็นกลุ่มโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติของทางเดินหายใจอย่างช้า ๆ จนกระทั่งมีการตีบแคบลงอย่างเรื้อรัง ไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพปกติ โดยที่ผู้ป่วยจะมีอาการไอ หายใจลำบาก และมีเสมหะมากร่วมด้วย ซึ่งโรคนี้จะมีอาการและอาการแสดงคล้ายกับโรคทางระบบทางเดินหายใจหลายโรค เช่นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมโป่งพองและหอบหืด เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะของโรคมากขึ้นจึงมีผู้ให้คำจำกัดความ ของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ว่าเป็นโรคเรื้อรังที่หลอดลมมีการอุดกั้นเพิ่มมากขึ้นอย่างช้าๆ จากผลการเกิดถุงลมปอดโป่งพองและทางเดินหายใจเล็ก ๆ ในปอดมีขนาดเล็กลงอย่างถาวร (ปราณี ทู้ไพเราะ, 2543 : 101)โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นกลุ่มโรคที่แยกได้เป็น 2กลุ่มคือโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและโรคถุงลมโป่งพองซึ่งทั้งสอง โรคนี้มีลักษณะทางคลินิกบางอย่างคล้ายคลึงกันหรืออาจพบร่วมกัน ทำให้ยากในการวินิจฉัยแยกโรคจึงมักเรียกรวมกันว่า COPD 1. โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (chronic bronchitis) เป็นโรคที่มีการวินิจฉัยจากอาการทางคลินิก จะมีการไอเรื้อรัง มีเสมหะแทบทุกวัน เป็น ๆ หาย ๆ ติดต่อกันอย่างน้อยปีละ 3 เดือนเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยไม่มีโรคอื่น ๆ ที่อาจทำให้มีอาการแบบนี้ เช่น วัณโรคปอด ฝีในปอด มะเร็งปอด 2. โรคถุงลมโป่งพอง (emphysema) เป็นโรคที่มีการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาเป็นโรคของถุงลมมีการขยายตัว พองโตผิดปกติ และมีการทำลายของ ผนังถุงลมร่วมด้วย ทำให้เนื้อที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซในปอดลดลงเกิดการคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์และออกซิเจนในเลือดลดต่ำลงโรคหลอดลม อักเสบเรื้อรังและโรคถุงลมโป่งพองที่มีการวินิจฉัยแยกกันได้แน่นอนไม่จัดอยู่ในโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือโรคปอดจากสาเหตุอื่นที่ทำให้หลอดลมตีบ เช่นโรคหลอดลมโป่งพอง โรคซิสทิคไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) ดังในภาพที่ 2
- พื้นที่บริเวณ 1, 2 และ 11 หมายถึง ผู้ป่วยที่เริ่มเป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และ/หรือโรคถุงลมปอดโป่งพอง โดยยังไม่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจ (Air flow obstruction) - พื้นที่บริเวณ 9 หมายถึง ผู้ป่วยโรคหอบหืด ที่มีทางเดินหายใจตีบแคบซึ่งสามารถแก้ไขคืนสู่สภาพปกติได้และไม่จัดอยู่ในกลุ่ม COPD - พื้นที่บริเวณ 6 หมายถึง ผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคหอบหืด ซึ่งทางเดินหายใจถูกกระตุ้นด้วยสาร บางอย่าง เช่น บุหรี่ตลอดเวลา ทำให้หลอดลมตีบและ ไม่สามารถรักษาให้กลับสู่สภาพปกติได้เกือบหมด มีลักษณะและอาการเหมือนโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง - พื้นที่บริเวณ 7 และ 8 หมายถึง ผู้ป่วยโรคหอบหืด ซึ่งมีทางเดินหายใจตีบแคบและไม่สามารถรักษาให้หายได้ทั้งหมดซึ่งแยกได้ยากจากผู้ป่วย ในกลุ่มโรคถุงลมปอดโป่งพองหรือโรคถุงลมปอดโป่งพองร่วมกับโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง - พื้นที่บริเวณ 3 และ 4 หมายถึง ผู้ป่วยในกลุ่มโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และผู้ป่วยในกลุ่มโรคถุงลมปอดโป่งพอง ซึ่งแยกโรคทั้งสองออก จากกกันชัดเจน โดยทั้งสองกลุ่มนี้มีการอุดกั้นทางเดินหายใจที่ไม่อาจกลับคืนสู่สภาพปกติได้ (irreversible air flow obstruction) - พื้นที่บริเวณ 5 หมายถึง ผู้ป่วยในกลุ่มโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และผู้ป่วยในกลุ่มโรค ถุงลมปอดโป่งพอง ซึ่งมีลักษณะทางคลินิกและ พยาธิวิทยาของทั้งสองโรคแยกกันไม่ได้ชัดเจน - พื้นที่บริเวณ 10 หมายถึง ผู้ป่วยในกลุ่มที่มีการอุดกั้นในทางเดินหายใจอื่น ๆ ซึ่งไม่จำกัดอยู่ในกลุ่มโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เช่น โรคหลอดลมโป่งพอง พื้นที่แรเงาทั้งหมด หมายถึง ผู้ป่วยที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งมีการอุดกั้นทางเดินหายใจและไม่สามารถรักษาให้กลับสู่สภาพปกติได้ | |
แหล่งที่มา : nkp-hospital.go.th