ประวัติศาสตร์ศิลปะ เบื้องต้น ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดีย
แนวทาง(ใหม่)ของการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ศิลปะ
ย่อมเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปแล้วว่าวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะนั้นค่อนข้างจำกัดอยู่ในวงแคบ ทั้งผู้ศึกษาค้นคว้าวิจัยสถาบันที่มีการเรียนการสอน รวมทั้งแหล่งงานเมื่อเรียนจบไปแล้ว ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตระหนักในข้อนี้ด้วยดีเสมอมา โดยได้ทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นกับนักศึกษาว่าเป็นวิชาเฉพาะ และหางานยาก แต่ความสำคัญของการศึกษาด้านนี้ควรจะเป็นพื้นฐานของคนทุกสาขาอาชีพ เพราะถ้าทุกคนมีความเข้าใจที่ดีในเรื่องงานศิลปกรรม อันเป็นภูมิปัญญาของช่างที่ได้สร้างไว้ อย่างน้อยส่วนหนึ่งก็คงจะทำให้เกิดความสบายใจ ไม่เคร่งเครียดกับชีวิตมากนัก อันเป็นพื้นฐานของชีวิต จากการที่ได้พูดคุยกับอาจารย์ผู้รับผิดชอบ สอนประวัติศาสตร์ศิลปะในด้านตะวันออก ทั้งประสบการณ์ในการสอนและวิจัยอันยาวนาน รวมทั้งแนวโน้มของการทำงานของนักศึกษาที่จบออกไปแล้ว ทำให้เราต้องปรับกระบวนการเรียนการสอนกันใหม่ เนื่องจากภาพพจน์ของภาควิชาฯ มักออกมาในรูปของการท่องจำ การเรียนที่เป็นแบบแผนตายตัว จำให้ได้ตามอาจารย์ผู้สอน แต่ถามว่าจำแม่นแล้วจะเกิดประโยชน์อะไร อาจเหมาะสำหรับผู้ไปประกอบอาชีพมัคคุเทศน์ แต่ถ้าผู้ที่จบออกไปแล้วไม่ได้ทำงานด้านที่เกี่ยวข้อง เชื่อได้เลยว่าภายใน 2 ปี ก็จะลืมหมด ดังนั้นกระบวนการเรียนการสอนใหม่เราจึงไม่เน้นให้นักศึกษาท่องจำ แต่ให้ความสำคัญในเรื่องของการทำความเข้าใจกับเนื้อหาวิชา รู้จักคิด ค้นคว้า และอ้างอิงเป็น จุดประสงค์ก็คือ การสร้างคนที่มีคุณภาพ เมื่อเขาคิดแก้ไขปัญหาในประเด็นเล็กๆได้ หาที่มาที่ไป และหาข้อยุติได้ หรือ การนำเสนอแนวความคิดใหม่ๆ เหล่านี้คือพื้นฐานของการสร้างคนที่มีวิธีการคิด การทำงานที่เป็นระบบ เมื่อเขาจบไปแล้วจะไปทำงานอะไรก็ได้ |
อย่างไรก็ตาม ผลจากการเรียนการสอนในระบบใหม่นี้ ทำให้นักศึกษาบางส่วนยังเกิดความไม่เข้าใจ จึงมักมีคำถามสะท้อนกลับมาอยู่เสมอว่าทำไมเรียนยาก ทำไมจึงมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีสูตร 2+2 เป็น 4 คือต้องมีการตื่นตัวหาข้อมูลใหม่ๆ ผลที่ตามมาก็คือนักศึกษาส่วนหนึ่งจึงหลีกเลี่ยงที่จะไม่ลงเรียน เหตุที่นักศึกษายังสับสนในเรื่องนี้ ทั้งที่น่าจะเป็นการเรียนที่สนุกและมีรสชาติ เพราะว่าแนวทางของการเรียนการสอนของอาจารย์ทั้งหมดยังไม่ไปในทิศทางเดียวกัน การจะสอนในแนวทางใหม่นี้ได้อาจารย์จะต้องทำวิจัยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้มีอะไรใหม่ๆมาให้นักศึกษาได้คิดได้ทำ รวมทั้งต้องมีเวลาอย่างมากให้กับนักศึกษา ทั้งการแนะนำเนื้อหา การค้นคว้าเพิ่มเติม รวมไปถึงขั้นตอนการตรวจงาน การเขียนรายงาน รวมถึงภาษาที่ใช้ในการเขียนด้วย ดังนั้นอาจารย์จึงต้องเป็นเหมือนกับพี่เลี้ยงอยู่ตลอดเวลา จากปัญหาที่ประสบอยู่ นอกเหนือจากนักศึกษาหลีกเลี่ยงที่จะมาลงทะเบียนเรียนแล้ว จากการประเมินผลจะพบว่ามีนักศึกษาประมาณ 20-30 % เท่านั้นที่สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจกับระบบการเรียนใหม่นี้ได้ดี ส่วนที่เหลือนั้นก็ยังติดอยู่กับการเรียนในรูปแบบเดิม ซึ่งถ้าต่อไปเราได้ใช้ความพยายามมากขึ้นอาจารย์ในภาควิชาหรือในคณะ ได้ทำงานในระบบเดียวกันมากขึ้นหรือทำงานเป็นทีม ระบบการเรียนการสอนหรือคุณภาพการศึกษาและนักศึกษาจะตามมา ในที่นี้จึงใคร่ย้อนกลับมาถามอาจารย์และผู้บริหารว่า ได้เล็งเห็นหรือได้ให้ความสำคัญของงานวิชาการมากน้อยเพียงใด และในคณะนี้มีอาจารย์กี่คนที่ทำงานวิจัย เพราะยุคนี้เป็นยุคของการประกันคุณภาพการศึกษาแล้ว มาคิดสร้างงานวิชาการเพื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพกันดีกว่า อย่ามัวแต่มานั่งคิดปรัชญา ปณิธาน และคำขวัญกันอยู่เลย (ผมว่ามันเชยนะ?) |
แหล่งที่มา : vcharkarn.com