ความหมายของโบราณคดี หลักฐานทางโบราณคดี คือ หลักฐานทางโบราณคดี มีอะไรบ้าง


931 ผู้ชม


ความหมายของโบราณคดี หลักฐานทางโบราณคดี คือ หลักฐานทางโบราณคดี มีอะไรบ้าง

 

 เบื้องลึกกระบวนการจ้างเหมางานโบราณคดี

การดำเนินงานทางโบราณคดีในปัจจุบัน ได้มีวงการต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากมายหนึ่งในจำนวนนั้นได้แก่ การทำธุรกิจภายใต้งานโบราณคดี ฟังดูผิวเผินอาจจะดูเหมือนเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไปในสังคมที่บทบาทเรื่องธุรกิจได้เข้ามาไปครอบงำและเป็นตัวชี้ชักในการทำงาน เช่น ธุรกิจการเมือง ที่มีนักการเมืองเป็นนักธุรกิจแล้วเข้ามาเล่นการเมือง หรือ ทำการเมืองให้เป็นเกมธุรกิจ มีการต่อรองเรื่องของผลประโยชน์ เช่นเดียวกันกับสังคมของโบราณคดี ซึ่งเป็นสังคมที่ทำงานทางด้านวิชาการ ที่อยู่มาได้เกิดการจัดการนำระบบธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง และใช้คำว่างานโบราณคดีมาเป็นข้ออ้างในการแบ่งบันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ที่มีอำนาจฝ่ายรัฐ และฝ่ายผู้รับจ้างเหมา?
ระบบจ้างเหมาซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ผ่าน ในเรื่องนี้เคยมีนักวิชาการด้านวัฒนธรรมหลายๆท่าน เคยตั้งข้อสังเกตและวิจารณ์การทำงานของกรมศิลปากรในเรื่องนี้ และก็ได้คำตอบมาว่า เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณและความรวดเร็วในการทำงาน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องในส่วนหนึ่ง ถ้าให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการ งานจะช้าและสิ้นเปลืองงบประมาณเนื่องจากขาดบุคลากรในการดำเนินงาน ซึ่งแตกต่างกันถ้ามีการนำเอาระบบประมูลรับจ้างเหมาเข้ามา เพราะจะมีการจำกัดวงเงินได้อย่างชัดเจน และกำหนดระยะเวลาในการทำงาน จึงทำให้งานดังกล่าวเสร็จสิ้นได้ตามแผนงานที่มีการระบุไว้
แต่ปัญหาสำคัญที่อยากจะกล่าวถึงซึ่งมีการอภิปรายในหมู่ผู้ที่ทำงานด้านโบราณคดีในขณะนี้ก็คือ กระบวนการประมูลงานและการควบคุมงานทางด้านโบราณคดีซึ่งมีข้อสงสัยที่มีความเคลือบแคลง คือ
หนึ่ง ทำไมระบบการประมูลงานในบางครั้งจึงมีบริษัทบางแห่งได้ล่วงรู้ถึงราคากลางแล้วสามารถประกวดราคาชนะได้ตลอด ถ้าไม่มีข้าราชการของกรมศิลปากรบางคนที่สามารถล่วงรู้ราคากลางในการประมูลและบอกกล่าวกับฝ่ายผู้รับเหมา?
ปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นนั้นมีการเปิดเผยราคากลางให้เอกชนที่จะเข้าประมูลรับทราบราคาเพื่อตัดราคากัน หรือเพื่อเปิดช่องทางให้เอกชนต่อรองราคากันเพื่อมาประมูลงาน? จึงทำให้เกิดมิติใหม่หรือวัฒนธรรมเก่าๆของระบบประมูลงานทั่วไปๆเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในงานโบราณคดี นั้น คือระบบการ ฮั้ว มีผู้จัดการฮั้วคอยวิ่งเต้นสอบถาม หาบริษัทมาซื้อซองประมูลไว้คอยต่อรองราคาเพื่อให้ฝ่ายของตนที่ต้องการชนะได้งานไป รายไหนยอมฮั้วก็จ่ายกันไป กี่พัน กี่หมื่น …..ก็แล้วแต่ตกลง ถ้ามีรายไหนไม่ยอมรับ การประมูลงานนั้นก็ต้องแตกวงกันไปศัพท์ในวงการเรียกว่า ฮั้วแตก บางครั้งถึงกับมีการล็อกตัวหรือกีดกันผู้ร่วมการประมูล หรือบางทีมีการเกณฑ์พวกพ้องของตนที่หน้าดุๆไปจำนวนมากไว้คอยคุมเชิง หรือแม้กระทั่งนำเอานักการเมืองในระดับต่างๆมาข่มขู่กันซึ่งๆหน้า
ในปัจจุบันนักการเมืองท้องถิ่นได้เข้ามามีบทบาทในการรับเหมางาน บางครั้งทำให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้นกรณีที่นักการเมืองคนนั้นๆไม่สามารถประมูลงานชนะ ส่วนตัวของข้าราชการกรมศิลปากรเองในฝ่ายต่างๆบางคน? บางที่? ที่เกี่ยวข้องกับการประมูลก็มีการเอาตัวเข้าแลกเพื่อที่จะให้บริษัทที่ตนเองจะได้รับผลประโยชน์ให้มีโอกาสชนะการประมูลให้ได้ ซึ่งบางครั้งทำให้เกิดความรู้สึกสมเพชในสิ่งที่เกิดขึ้นว่า นี่คือผลประโยชน์ไม่เท่าไร แต่มันคือเงิน เงินทำให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้นขนาดนี้เชียวหรือ แม้กระทั่งงานวิชาการอย่างโบราณคดี เงินก็ซื้อหาได้……
สอง การกำหนดรูปแบบงานทั้งเนื้องานและผู้ควบคุมงาน ยังรวมถึงการกำหนดราคา หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ในงานบางครั้งไม่มีความจำเป็น และรายงานการศึกษาที่นั้นๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่รู้ว่ากรมศิลปากรมีมาตรฐานอย่างไรเป็นตัวกำหนด สิ่งที่เป็นประเด็นและข้อสงสัยมากที่สุดก็คือ
ในส่วนของผู้ควบคุมงานด้านโบราณคดีของบริษัทที่ได้งาน คือมีทั้งกำหนดให้เป็นนักโบราณคดีที่จบสาขาโบราณคดีมาควบคุมงานหรือผู้ที่เคยผ่านงานเป็นผู้ช่วยนักโบราณคดีมา 3 งาน 5 งานจบอะไรมาก็ได้ สามารถมาคุมงานโบราณคดี ซึ่งเกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่าประสบการณ์ในการทำงานเพียง 3-5 ครั้ง ในการช่วยนักโบราณคดีมีค่าเทียบเท่ากับการเรียน 4 ปี ของนักโบราณคดีเทียวหรือ? และทำให้เกิดคำถามต่อไปว่าแล้วระหว่างมาตรฐานงานที่เกิดจากการทำงานของนักโบราณคดีและผู้ที่ขยับฐานะจากผู้ช่วยนักโบราณคดีจะมีค่าเท่าเทียมกันหรือไม่? หรือกระทั่งในการประมูลที่สามารถเอาชื่อคนเหล่านี้ที่จบอะไรก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าผมหรือฉันผ่านงานมา 3-5 ครั้ง แล้วมีใบผ่านงานมาประมูลงานได้ หรือบางที่ก็เกิดปัญหาพอให้คนเหล่านี้ชนะการประมูลได้ก็มาร้องขอไปยังบริษัทที่ชนะประมูลว่าฉันไม่เอาคนเหล่านั้นมาทำงานนะ ทั้งที่จริงแล้วในเมื่อคุณไม่ต้องการคนเหล่านั้น ก็น่าจะตัดสิทธิ์ในการประมูลงานแต่ทีแรกก็หมดปัญหาหรือมีแรงกดดัน? และสิ่งที่พบเป็นปัญหาบ่อยมากก็คือชื่อผู้ประมูลงานเป็นแค่เพียงมีแต่ชื่อ แต่พอทำงานจริงกลับกลายเป็นคนละชื่อกับที่ประมูลงานแล้วทำให้เกิดปัญหา ต้องเปลี่ยนชื่อคนที่มาทำงานกับชื่อคนประมูล ซึ่งน่าจะมีการแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ด้วย
ในส่วนคณะกรรมการควบคุมดูแลงานของกรมศิลปากรน่าจะเปิดกว้างที่จะเชิญนักวิชาการท้องถิ่นหรือผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆที่เป็นบุคคลภายนอกเข้าไปเป็นกรรมการในการตรวจสอบการทำงานในสถานที่ต่างๆ มิใช่อะไรก็เอาที่ปรึกษากรมฯ หรือคนของกรมศิลปากรเองเป็นกรรมการ และควรรับฟังข้อคิดเห็นในการทำงานจากบุคคลภายนอกด้วย เช่น เรื่องของรูปแบบโบราณสถาน หรือวิธีการอนุรักษ์ที่เหมาะสม แล้วทำประชาพิจารณ์ ซึ่งในองค์กรอื่นก็นำวิธีการนี้มาใช้แล้ว
ราคางานหรืออุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการทำงานที่มีการกำหนดโดยกรมศิลปากร เป็นไปได้อย่างไรที่มีการแข่งขันตัดราคากันถึง 20-30 % ของราคาเพื่อให้ได้มาซึ่งงาน แล้วถามว่าจะมีกำไรหรือในการทำงานครั้งนี้ ถ้าไม่ใช่เกิดจากการเพิ่มราคางานให้สูงกว่าความเป็นจริง ส่วนเรื่องอุปกรณ์บางอย่างไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ แต่กรมศิลปากรกำหนดให้ใช้และมีการกำหนดคุณสมบัติที่ผูกติดกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง(ล็อกสเป็ก) แล้วบริษัทที่เจ้าหน้าที่บางคนของกรมศิลป์ติดต่อไว้เหล่านั้นรู้ว่าบริษัทไหนที่ประมูลได้ ก็รีบมาเสนอตัวเลยว่าต้องใช้ของบริษัทของเขาเท่านั้น หนำซ้ำมีการอ้างว่าพูดคุยกับผู้ใหญ่ในกรมฯมาเรียบร้อยแล้ว อยากรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร …ถ้าไม่ใช้การหากินของเจ้าหน้าที่รัฐ
สาม รายงานการบูรณะหรือการศึกษาทางโบราณคดี ที่ได้จ้างเหมาหรือทำเองน่าที่จะมีการเผยแพร่มากกว่านี้ มิใช่ว่างานหนึ่งใช้เงิน 2-3 ล้านบาท แต่มีแค่รายงานเย็บเล่มธรรมดาเหมือนรายงานภาคสนามของนักศึกษาโบราณคดี จำนวน 20 เล่ม ทั้งที่คนที่ทำงานถึงระดับนี้แล้ว เป็นอาชีพน่าจะทำอะไรได้ดีกว่านี้ และน่าจะมีการวางแผนจัดเงินส่วนหนึ่งในการจัดพิมพ์รายงานต่างๆดังกล่าว ให้มีมาตรฐานสากล และควรตีพิมพ์ 400-500 เล่ม แล้วแจกจ่ายไปยังสถานศึกษาหรือหน่วยงานต่างๆที่ควรรับรู้ข้อมูลเหล่านั้น มิใช่ว่า 20 เล่ม ก็อยู่ในห้องสมุดของสำนักงานฯ หรือเกรงจะมีการจับผิดรายงานได้จึงไม่กล้าเปิดเผย? หรือกลัวเขาจะรู้ว่าบริษัทไม่ได้เขียนเองแต่จ้างคนอื่นเขียนที่ไม่ใช่พนักงานของตัวเอง?
สี่ กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติงาน เป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่า การทำงานเสร็จเร็วเท่าไรบริษัทก็ได้กำไรมากเท่านั้น จึงทำให้เกิดความเสียหายต่องานที่ผ่านมาหลายต่อหลายงานของกรมศิลปากร มีการเร่งรีบทำงานจนมีผลให้เกิดการทำลายแหล่งข้อมูลอย่างไม่ได้เจตนา และมีการบิดเบือนข้อมูล หรือไม่มีความละเอียดรอบคอบในการทำงาน จนมีการทิ้งทำลายหลักฐาน ที่บางครั้งนักโบราณคดีผู้ควบคุมงานของกรมศิลปากรก็ไม่อาจที่จะทราบได้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะไม่สามารถที่จะควบคุมงานได้ตลอดระยะเวลาในการทำงาน
ห้า การให้ความสำคัญของแหล่งโบราณคดีประเภทต่างๆ ว่าทำไมจะต้องเจาะจงกระทำเพียงแต่แหล่งโบราณคดีที่มีโบราณสถานเท่านั้น แหล่งโบราณคดีประเภทอื่นๆที่มีความจำเป็นต้องขุดค้นศึกษาและเป็นสิ่งที่สร้างองค์ความรู้ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจของมนุษย์ในอดีต กรมศิลปากรถึงให้ความสำคัญที่น้อยเกินไป ทำไมไม่มีการเร่งรีบขุดค้นศึกษา ดั่งโบราณสถานต่างๆ หรือเป็นอย่างที่กล่าวมาแล้วว่าการบูรณะโบราณสถานเป็นรูปธรรมเห็นได้ชัดเจนสามารถขายได้? ซึ่งต่างกับแหล่งโบราณคดีประเภทอื่นที่ผลออกมาส่วนใหญ่เป็นนามธรรม หรือเพราะไม่สามารถนำไปหาผลประโยชน์ได้ แต่นี่ก็มิใช่เหตุผลที่ดีเพียงพอ เพราะข้อมูลต่างๆทางโบราณคดีถือเป็นสิ่งที่เท่าเทียมกันหมด เจดีย์ 1 องค์ กับเศษภาชนะดินเผา 1 ชิ้นก็มีความสำคัญเท่ากัน หรือแม้กระทั่งงานด้านอนุรักษ์ที่ควรทำการวิจัยอย่างลึกซึ้ง ก็มีการผ่านเลย ทำแค่ขอผ่านไปที หรือเพราะสิ่งเหล่านั้นทำแล้วบริษัทรับเหมาขาดทุน?
กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะอะไร ถ้าไม่ใช่เพราะทุกบริษัทพยายามที่จะสร้างฐานอำนาจ พยายามสร้างความสัมพันธ์ทั้งในระดับส่วนตัวกับผู้มีอำนาจหรือนักโบราณคดีในหน่วยงานกรมศิลปากรหรือนักการเมือง และในรูปแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างบริษัทกันเอง มีการกีดกัน มีการแบ่งพื้นที่ในการจัดสรรงาน มีการแข่งขันอย่างไม่ตรงไปตรงมา เป็นการสร้างวัฒนธรรมคอรัปชั่นแบบใหม่กับงานโบราณคดี
ทำไมบริษัทรับเหมางานเหล่านั้นไม่แข่งขันกันทางด้านวิชาการเพื่อยกระดับบริษัทตนเองให้มีความเป็นเลิศเป็นที่น่าเชื่อถือต่อการทำงาน หรือแม้กระทั่งร่วมมือกันระหว่างบริษัทจัดตั้งเป็นสมาคมฯ ปรึกษาหารือในงานด้านวิชาการ ถกเถียง จัดอบรมสัมมนาเกี่ยวกับการทำงานที่ได้ทำมา และควบคุมการทำงานของแต่ละบริษัท เพื่อให้งานวิชาการด้านโบราณคดีที่ทำอยู่มีความสมบูรณ์แบบในทางที่ควรจะเป็น มีการพัฒนาและช่วยกันผลิตนักโบราณคดีให้ทำงานอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาชีพ 
และสิ่งที่สำคัญในกรมศิลปากรเอง ก็มีนักโบราณคดีอยู่จำนวนหนึ่งที่กระจายอยู่ตามส่วนภูมิภาค ควรที่จะมีนโยบายให้นักโบราณคดีเหล่านี้ ยังคงดำเนินงานขุดค้นด้านโบราณคดีด้วยตนเอง โดยเฉพาะแหล่งโบราณคดีที่มีความสำคัญ ที่ตอบปัญหาทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี มิใช่เฉพาะแต่คอยควบคุมดูแลงานในส่วนจ้างเหมา เพราะมิเช่นนั้นนักโบราณคดีในอนาคตคงจะทำการขุดค้นไม่เป็น หรือในอนาคตกรมศิลปากรเองก็คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับนักโบราณคดีเข้าไปทำงานด้วย ซึ่งสามารถจ้างใครก็ได้ ดังเช่นผู้ควบคุมงานโบราณคดีที่เป็นอยู่ในปัจจุบันตามบริษัทรับเหมา?
การแสดงความคิดเห็นนี้มีเจตนาดีที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของกรมศิลปากรและบริษัทผู้รับเหมาให้ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา บางอย่างเป็นสิ่งที่เหนือการควบคุมของกรมศิลปากร แต่เป็นจริยธรรม จรรยาบรรณของนักโบราณคดีและบริษัทเอกชนเหล่านั้นมากกว่า จึงอยากให้บริษัทเหล่านี้และนักโบราณคดีที่ทำงานให้เอกชนช่วยกันสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อการทำงาน ช่วยกันดูแลปกป้องโบราณวัตถุสถาน ทำงานให้ได้ดีสุดเพื่อความรู้ที่จะเกิดจากการศึกษาโบราณคดี และเป็นการเคารพต่อวิชาชีพของตนเอง
ภาคผนวก
รายชื่อบริษัทเอกชนที่ดำเนินงานโบราณคดี
1. บริษัทมรดกโลกจำกัด เจ้าของเป็นนักโบราณคดี
2. ห้างหุ้นส่วนจำกัดปุราณรักษ์ เจ้าของเป็นนักโบราณคดี
3. ห้างหุ้นส่วนจำกัดสุรศักดิ์ก่อสร้าง เจ้าของเป็นผู้รับเหมา
4. ห้างหุ้นส่วนจำกัดเญอกรีน เจ้าของเป็นผู้รับเหมา
5. บริษัทโบราณนุรักษ์จำกัด เจ้าของเป็นนักโบราณคดี
6. ห้างหุ้นส่วนจำกัดพรอนันต์ เจ้าของเป็นผู้รับเหมา
7. ห้างหุ้นส่วนจำกัดเหมรักษ์ เจ้าของเป็นผู้รับเหมา
8. ห้างหุ้นส่วนจำกัดไพรลดา เจ้าของเป็นผู้รับเหมา
9. ห้างหุ้นส่วนจำกัดสิรินยามาศก่อสร้าง เจ้าของเป็นผู้รับเหมา
10. ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามเพชร เจ้าของเป็นผู้รับเหมา
11. บริษัทภูมิไทยคอนสตัคชันจำกัด เจ้าของเป็นนักโบราณคดี
12. บริษัทบูรพคดีจำกัด เจ้าของเป็นนักโบราณคดี
13. ห้างหุ้นส่วนจำกัดนาคทัฑณ์ เจ้าของเป็นผู้รับเหมา
14. บริษัทศิวกรจำกัด เจ้าของเป็นผู้รับเหมา
15. ห้างหุ้นส่วนจำกัดพิษพงษ์ เจ้าของเป็นผู้รับเหมา
นอกจากนี้ยังมีบริษัทรับเหมางานโบราณคดีอีกเป็นจำนวนมากที่กระจายตัวทำงานตามส่วนภูมิภาค



แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด