คํานํารายงานวิชาภาษาไทย เรื่องชนิดและหน้าที่ของคำ บทเรียนสำเร็จรูปเรื่องชนิดและหน้าที่ของคำ แบบฝึก ชนิดและหน้าที่ของคำในประโยค
การเขียนคำนำรายงาน
นักเรียนหลายคนคงประสบกับปัญหาเวลาเขียนคำนำรายงานหรือโครงงานส่งคุณครูผู้สอนใช่ไหมครับ ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ต้องบอกกล่าวอะไรในคำนำรายงาน และจบอย่างไรดี ดังนั้น เรียนภาษาไทยในคอมกับครูปิยะฤกษ์ จึงนำเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องการเขียนคำนำรายงานหรือรายงานโครงงานมาฝากนักเรียน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้ถูกต้องหรือดียิ่งขึ้นต่อไปนะครับ
สิ่งสำคัญที่ควรเลี่ยงในการเขียนคำนำ ได้แก่
๑. ไม่เอาประวัติศาสตร์ที่รู้จักกันดีอยู่แล้วมาเป็นคำนำ
๒. ไม่เขียนอธิบายโดยหาจุดหมายของเรื่องไม่พบ
๓. ไม่เขียนคำนำด้วยคำบอกเล่าอันเกินควร
คำนำที่ดีควรมีลักษณะ ดังนี้
๑. เขียนคำนำด้วยคำพังเพยหรือสุภาษิตที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง
๒. เขียนคำนำโดยการอธิบายความหมายของเรื่อง
๓. เขียนคำนำโดยขึ้นต้นด้วยคำกล่าวของบุคคลสำคัญ
๔. เขียนคำนำด้วยการเล่าเรื่อง
๕. เขียนคำนำด้วยคำถามหรือปัญหาที่สนใจ
๖. เขียนคำนำด้วยการอธิบายชื่อเรื่อง
๗. เขียนคำนำด้วยคำกล่าวถึงจุดประสงค์ของเรื่องที่เขียน
๘. เขียนคำนำด้วยการกล่าวถึงใจความสำคัญของเรื่องที่เขียน
ดังนั้น คำนำที่ดีต้องเป็นความคิดใหม่ ความคิดแปลก หรือความคิดสนุก ต้องมีลักษณะนำ หรือเชิญชวนให้ผู้อ่าน อ่านเรื่องของเราให้จบให้ได้ คำนำจึงเป็นส่วนสำคัญในการเรียกร้องความสนใจของผู้อ่านตั้งแต่เริ่มต้นอ่าน เรื่อง และดึงดูดใจให้อ่านเรื่องไปตลอด
ที่มา : ราชบัณฑิตยสถาน
เทคนิควิธีการเขียนคำนำรายงานจากครูปิยะฤกษ์
ในการเขียนคำนำรายงานหรือโครงการของนักเรียนในขณะที่นักเรียนกำลังศึกษาอยู่ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานนี้ ครูขอแนะนำว่า “การเขียนคำนำส่วนใหญ่จะต้องขึ้นต้นด้วยที่มาของการศึกษาวิชานั้น ๆ หรือนำด้วยการอธิบายชื่อเรื่องในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนหรือการศึกษา จากนั้นต้องกล่าวถึงจุดประสงค์ของเรื่องที่เขียนมากกว่าส่วนอื่น ๆ ตามด้วยการกล่าวถึงใจความสำคัญของเรื่องที่เขียน วิธีการดำเนินการศึกษาค้นคว้าพอคร่าว ๆ และลงท้ายด้วยการกล่าวแสดงความรู้สึกส่วนตัวก่อนจบคำนำ” นะครับ
ทีนี้ มาว่าถึงคำนำของงานเขียนชิ้นสำคัญ ๆ สมมติว่าถ้าเราเขียนหนังสือขึ้นมาเองสักเล่มหนึ่ง ต้องระลึกเสมอว่าหนังสือหรือผลงานของเราจะขาดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้นั้นก็คือ “คำนำ” ครับ การเขียนคำนำนั้นถือว่าเป็นอุบายหรือวิธีแห่งการจูงใจให้ผู้อ่านหรือผู้หยิบหนังสือเล่มนั้น ๆ เมื่อเขาได้อ่านคำนำแล้วจะต้องมีความรู้สึกอยากจะอ่านหนังสือเล่มหรือเรื่องนั้น ๆ ที่เราเขียนจนจบ การเขียนคำนำที่ดีคนอ่านจะติดตามเรื่องของเรา ถ้าคำนำไม่ดีเขาอาจไม่อ่านเนื้อหาจากงานเขียนด้านในของเราเลยก็สามารถเป็นไปได้ นะครับ
อีกอย่างหนึ่ง เราต้องรักษาคุณภาพของงานเขียนของเรา เนื้อหาของงานเขียนเราต้องดีด้วย ไม่ใช่คำนำดี แต่คุณภาพงานเขียนสุดแย่
การเขียนคำนำรายงาน
หลักการเขียนคำนำรายงาน
ตัวอย่างการเขียนคำนำรายงาน
คำนำ
รายงานเรื่อง “วรรณกรรมไทย” ฉบับนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิชาภาษาไทย รหัสวิชา ท๓๒๑๐๑ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมไทย ซึ่งรายงานฉบับนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความหมายของวรรณกรรม ความสำคัญของวรรณกรรม ประเภทของวรรณกรรม วรรณกรรมไทยสมัยต่าง ๆ อิทธิพลของวรรณกรรมไทยสมัยต่าง ๆ ที่สะท้อนความคิด ความเชื่อ และค่านิยมของคนไทย และข้อคิดที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมไทย
การศึกษาค้นคว้าเรื่อง “วรรณกรรมไทย” เล่มนี้ ข้าพเจ้าได้วางแผนการดำเนินงานการศึกษาค้นคว้าเป็นระยะเวลา ๒ เดือน ศึกษาจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ อาทิ ตำรา หนังสือ หนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสาร และแหล่งความรู้จากเว็บไซต์ในห้องสมุดโรงเรียนโพนทันเจริญวิทย์และห้องสมุดประจำจังหวัดยโสธร
การจัดทำรายงานฉบับนี้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ไปด้วยดี ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณคุณครูปิยะฤกษ์ บุญโกศล ที่ท่านได้ให้คำแนะนำการเขียนรายงานจนทำให้รายงานฉบับนี้สมบูรณ์ในด้านแผนปฏิบัติศึกษาการทำรายงาน การเรียบเรียงเนื้อหา การเขียนบรรณานุกรมได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ขอขอบพระคุณห้องสมุดโรงเรียนโพนทันเจริญวิทย์และห้องสมุดประจำจังหวัดยโสธรเป็นอย่างสูงที่ให้โอกาสแก่ข้าพเจ้าเข้าไปศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้ ข้าพเจ้าหวังว่า เนื้อหาในรายงานฉบับนี้ที่ได้เรียบเรียงมาจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจเป็นอย่างดี หากมีสิ่งใดในรายงานฉบับนี้จะต้องปรับปรุง ข้าพเจ้าขอน้อมรับในข้อชี้แนะและจะนำไปแก้ไขหรือพัฒนาให้ถูกต้องสมบูรณ์ต่อไป
แหล่งที่มา : krupiyarerk.wordpress.com