ขอบข่าย หน้าที่ของครูประจําชั้น หน้าที่ของครูภาษาอังกฤษ บทบาทหน้าที่ของครูในสถานศึกษา


1,692 ผู้ชม


ขอบข่าย หน้าที่ของครูประจําชั้น หน้าที่ของครูภาษาอังกฤษ บทบาทหน้าที่ของครูในสถานศึกษา

 

การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง

การพัฒนาสมรรถนะในการปฏิบัติงานในหน้าที่ครูชำนาญการพิเศษ 
 หน่วยการเรียนรู้ที่ 1   เทคนิคการออกแบบการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน
๑) การวิเคราะห์หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
 การวิเคราะห์หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เพื่อนำมาจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา  หลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือแนวการจัดการเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มสาระนั้น คุณครูต้องนำมาตรฐาน ตัวชี้วัด  สาระแกนกลาง กรอบสาระท้องถิ่นของเขตพื้นที่  สมรรถนะที่สำคัญ  และคุณลักษณะอันพึงประสงค์มาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อจัดทำคำอธิบายรายวิชา  โครงสร้างรายวิชา  การออกแบบหน่วยการเรียนรู้และแผนการจัดการเรียนรู้ 
๒) การออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับหลักสูตรและบริบทของสถานศึกษา
 การออกแบบการเรียนรู้แบบย้อนกลับ  Backward Design
          กระบวนการออกแบบแบบย้อนกลับ (Backward  Design) ของ Wiggins และMcTighc เริ่มจากคิดทุกอย่างให้จบสิ้นสุด  จากนั้นจึงเริ่มต้นจากปลายทางที่ผลผลิตที่ต้องการ (เป้าหมายหรือมาตรฐานการเรียนรู้) สิ่งนี้ได้มาจากหลักสูตร เป็นหลักฐานพยานแห่งการเรียนรู้  (Performances)  ซึ่งเรียกว่า มาตรฐานการเรียนรู้ แล้วจึงวางแผนการเรียนการสอนในสิ่งที่จำเป็นให้กับนักเรียนเพื่อเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การสร้างผลงานหลักฐานแห่งการเรียนรู้นั้นได้                
               การใช้หลักการออกแบบแบบย้อนกลับ  อันดับแรกครูผู้สอนควรทำคือการให้ความสำคัญที่เป้าหมายการเรียนรู้ (Learning  goals)  หรือเป้าหมายของความเข้าใจ ความเข้าใจที่ว่านี้คือ ความเข้าใจที่ฝังใจอย่างยั่งยืน (Enduring Understanding)  ที่ครูผู้สอนทุกคนต้องการให้นักเรียนของพวกเขาได้รับการพัฒนาไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง  ตามลำดับขั้นการเรียนรู้  บรรลุผลที่สำเร็จสมบูรณ์ที่สุด   สิ่งนี้ก็เป็นจุดเน้นสำคัญที่จะขาดเสียมิได้  รวมทั้งแนวทางดำเนินการ,  ชุดคำถาม  ที่สำคัญด้วยเช่นกัน ความเข้าใจที่ฝังใจอย่างยั่งยืนมีระดับที่เหนือกว่าสูงกว่าข้อเท็จจริงต่าง ๆ และทักษะต่างๆ ที่มุ่งไปสู่ความคิดรวบยอดใหญ่ๆ   หลักการต่าง ๆ  หรือกระบวนการต่าง 
 ขั้นตอนที่ 2     :   การกำหนดหลักฐานที่แสดงว่าผู้เรียนได้บรรลุเป้าหมายที่พึงประสงค์   (อะไรคือหลักฐานพยานของความเข้าใจ )                     
          ครูผู้สอนต้องตัดสินใจต่อไปว่า ความเข้าใจเหล่านี้  นักเรียนจะนำเสนอหรือสาธิต, แสดงออกให้เห็นได้อย่างไรว่านักเรียนได้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง  Wiggins and Mctighe ได้ให้รายละเอียดของความเข้าใจ 6  ประการ (Six  facets  of understanding)  โดยเชื่อว่านักเรียนจะมีความเข้าใจอย่างแท้จริง  
         ความเข้าใจสามารถช่วยสนับสนุน  ให้เกิดความเข้าใจตามธรรมชาติของความเข้าใจและมีหนทางหลากหลาย วิธีการ Backward Design กำหนดให้ครูคิดเหมือนนักประเมินผลครูจะเริ่มการวางแผนการเรียนรู้ด้วยการคิดถึงหลักฐานที่จะบ่งชี้ว่าผู้เรียนได้บรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ ด้วยวิธีการประเมินที่หลากหลายและต่อเนื่อง ขอเน้นถึงความสำคัญ   การประเมินผลเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ และควรจะมีอยู่ (มีการประเมินผลอยู่ตลอด) ตั้งแต่ต้น จนจบของลำดับขั้นตอน  มิใช่นำมาใช้เมื่อจบหน่วยหรือจบรายวิชาเท่านั้น 
 ขั้นตอนที่ 3     :   การวางแผนประสบการณ์การเรียนรู้และการสอน  ( อะไรคือประสบการณ์การเรียนรู้และจะสอนอย่างไร )
                 เมื่อมีความชัดเจนเกี่ยวกับเป้าหมายการเรียนรู้และหลักฐานที่เป็นรูปธรรมแล้ว ผู้สอนสามารถเริ่มวางแผนการเรียนการสอนได้ โดยอาจตั้งคำถามดังต่อไปนี้
1.  ความรู้และทักษะอะไรจะช่วยให้ผู้เรียนมีความสามารถตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
2.  กิจกรรมอะไรจะช่วยพัฒนาผู้เรียนไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
3.  สื่อการสอนอะไรจึงจะเหมาะสมสำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ข้างต้น
 4.  การออกแบบโดยรวมสอดคล้องและลงตัวหรือไม่  
 ๓) การออกแบบการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
 การวัดผล (Measurement / Assessment) และการประเมินผล (Evaluation)   เป็นองค์ประกอบหนึ่ง ของไตรยางค์ การศึกษา (Educational Trilogy) ซึ่งประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ วัตถุประสงค์การศึกษา (Educational Objectives) การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ (Learning Experiences) และ การวัดผลการประเมินผล (Evaluation) และรู้จักกันโดย ทั่วไปว่า OLE (O = Objectives; L = Learning experiences; E = Evaluation) 
             ในการจัดการเรียนการสอนโดยทั่วไป ผู้สอนจะต้องตั้งวัตถุประสงค์การศึกษาว่า สิ่งที่ต้องการสอนคืออะไร เรื่องราวดังกล่าว เป็นองค์ความรู้ (Knowledge / Cognitive Domain) หรือเป็นทักษะ (Skill / Psychomotor Domain) หรือเป็นทัศน คติ/ เจตคติ (Attitude / Affective Domain) เพราะวัตถุประสงค์ที่จะสอนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดเลือกวิธีการสอน หรือ วิธีการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แก่ผู้เรียน ตัวอย่างเช่น หากสิ่งที่ต้องการสอนเป็นเนื้อหาวิชา หรือ เป็นองค์ความร ู้ ผู้สอนอาจเลือกวิธีการสอนแบบบรรยาย แต่ถ้าต้องการสอนทักษะ ผู้สอนอาจเลือกสอน โดยเริ่มต้นด้วย การบรรยายเพื่อปูพื้นฐานหลักการ ข้อจำกัด ข้อควรระวัง ของทักษะดังกล่าว จากนั้นคงต้องมีการฝึกปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เรียน ได้มีโอกาสลองทำ ฝึกทำ ให้เกิดทักษะดังที่ต้องการ และหากต้องการสอนเจตคติหรือทัศนคติ ผู้สอนอาจต้องพิจารณารูปแบบ การสอนเป็นการ อภิปราย กลุ่มย่อย การถกเถียงปัญหา การเล่นบทบาทสมมติ เป็นต้น ไม่ว่าวัตถุประสงค์การศึกษาจะเป็น Domain ใดก็ตามและ ผู้สอนคาดว่าได้จัดประสบการณ์ การเรียนร ู้แก่ผู้เรียนได้อย่างเหมาะสมตามชนิดของวัตถุประสงค์แล้ว ก็ควรจะต้องมีการวัดผลและประเมินผล เพื่อตรวจสอบว่าผู้เรียนได้เรียนรู้จริง ตามวัตถุประสงค์หรือ ไม่ 
             หน่วยการเรียนรู้ที่ ๒ ภาวะผู้นำทางวิชาการ
 ๑) การเป็นผู้นำทางวิชาการ
     ครู มีบทบาทสำคัญยิ่งในสถานศึกษาซึ่งเป็นองค์กรระดับการปฏิบัติ จากเอกสารและงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าผู้นำสูงสุดขององค์กรปฏิบัติที่ใช้ภาวะผู้นำทางวิชาการในการจัดการส่งผลต่อคุณภาพขององค์กรและผลงานที่ผลิตออกมา โดยเฉพาะในสถานศึกษาที่เป็นองค์กรเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆของสังคมสู่ผู้เรียนอันเป็นเยาวชนของชาติที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่เพื่อสร้างความเจริญให้กับสังคมและประเทศชาติ ต่อไป สถานศึกษาจึงต้องมีผู้นำที่มีความเหมาะสมเพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน ดังนั้น ผู้นำที่เหมาะสมที่สุดในสถานศึกษาปัจจุบัน คือ ผู้นำทางวิชาการ 
                 ผู้นำทางวิชาการ คือ ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในทฤษฎี ปรัชญาของหลักสูตรต่างๆที่ใช้ในสถานศึกษา มีความรู้ความเข้าใจในวิธีสอนแบบต่างๆ ใช้นวัตกรรมการสอนเป็นแบบอย่างที่ดีในเชิงวิชาการ พัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการของโรงเรียน  จัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จัดการเรียนรู้เป็นไปตามแผนการจัดการเรียนรู้ที่กำหนดไว้  
   การจะก้าวสู่ความเป็นผู้นำทางวิชาการได้นั้น จำเป็นจะต้องเรียนรู้ และปฏิบัติภารกิจในบทบาทต่างๆ อย่างหลากหลายทั้งนี้เพราะผู้นำทางวิชาการย่อมจะต้องเปี่ยมไปด้วยความรู้ ความสามารถ และความเท่าทันในองค์ความรู้ต่างๆ กล่าวคือ
                ๑. ผู้นำทางวิชาการจะต้องเป็นครูมืออาชีพนั่นคือ มีความรอบรู้ในหลักการ แนวคิด ทฤษฎี  และวิธีการจัดการเรียนรู้ มีความรอบรู้ในหลักการ แนวคิด ทฤษฎี  และวิธีการในการประยุกต์ใช้สื่อ นวัตกรรมเทคโนโลยีและสารสนเทศอย่างเหมาะสมและเกิดผลดีต่อผลการดำเนินงานการจัดการเรียนรู้ มีความรอบรู้ด้านวิชาการ หลักสูตร ปรัชญาการศึกษา หลักจิตวิทยาด้านต่างๆ ตลอดจนวิทยาการใหม่ๆ มีทักษะในการครองตน ครองคน และครองงาน   ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบของความรู้ความเข้าใจ 
                ๒. ผู้นำทางวิชาการจะต้องมีความสามารถในการบริหารความเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ      
                                ๒.๑ สร้างความรู้สึกจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลง
                                ๒.๒ สร้างทีมงาน แนวร่วมที่ทรงพลัง โน้มนำการเปลี่ยนแปลง
                                ๒.๓ สร้างวิสัยทัศน์ ชี้นำความพยายามในการปรับเปลี่ยน
                                ๒.๔ สื่อสาร สร้างความเข้าใจ ยึดมั่นในวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ผลักดัน
                                ๒.๕ เพิ่มอำนาจให้ผู้อื่นในการตัดสินใจ เพื่อให้วิสัยทัศน์เป็นจริง
                                ๒.๖ วางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อมุ่งสร้างความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น
                                ๒.๗ รวบรวมผลสำเร็จจากการปรับปรุง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น
                                ๒.๘ ปลูกฝังแนวทางใหม่ๆ ของความสำเร็จเข้าสู่ระบบการทำงานขององค์กร
                ๓. ผู้นำทางวิชาการจะต้องเป็นครูนักพัฒนาหลักสูตร โดยในการพัฒนาหลักสูตรนั้นจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆ เช่น                               
                                ๓.๑ มีเป้าหมายหรือมาตรฐานคุณภาพผู้เรียนกำหนดไว้ชัดเจนและยืดหยุ่นในการปฏิบัติ
                                ๓.๒ การพัฒนาหลักสูตรต้องทันต่อความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการ เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีแก่ผู้เรียน
                                ๓.๓. สิ่งที่กำหนดในการเรียนการสอนต้องช่วยเตรียมผู้เรียนเพื่อการดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพในโลกไร้พรมแดน
                                ๓.๔ หลักสูตรต้องส่งเสริมการพัฒนาผู้เรียนในองค์รวม
                                ๓.๕ สิ่งที่กำหนดในหลักสูตรควรเชื่อมโยงและสอดคล้องกับชีวิตจริง
                                ๓.๖ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้เป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจสอบและพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้บรรลุตามเป้าหมายของหลักสูตร 
              ผู้นำทางวิชาการที่มีความรู้ ความสามารถและจัดการเรียนการสอนให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องมีทิศทางในการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโรงเรียน นั่นคือ วิสัยทัศน์ แรงบัลดาลใจสนับสนุนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และการสนับสนุนทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ในความต้องการพัฒนาโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งต้องพัฒนาผลงานของตนเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ และพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้โรงเรียนได้ก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ตลอดจนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะ มีความสามารถในการใช้ชีวิตในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุข
 ๒.การสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน 
          บรรยากาศในชั้นเรียนมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความสนใจใคร่รู้ใคร่เรียนให้แก่ผู้เรียน   ชั้นเรียนที่มีบรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น ความเห็นอกเห็นใจ และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันและกัน ย่อมเป็นแรงจูงใจภายนอกที่กระตุ้นให้ผู้เรียนรักการเรียน รักการอยู่ร่วมกันในชั้นเรียน และช่วยปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ความประพฤติอันดีงามให้แก่นักเรียน นอกจากนี้การมีห้องเรียนที่มีบรรยากาศแจ่มใส สะอาด สว่าง กว้างขวางพอเหมาะ มีโต๊ะเก้าอี้ที่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีมุมวิชาการส่งเสริมความรู้ มีการตกแต่งห้องให้สดใส ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งผลทำให้ผู้เรียนพอใจมาโรงเรียน เข้าห้องเรียนและพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน ดังนั้น ผู้เป็นครูจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมาย ความสำคัญ ประเภทของบรรยากาศ หลักการจัดบรรยากาศในชั้นเรียนและการจัดการเรียนรู้อย่างมีความสุขเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีลักษณะตามที่หลักสูตรได้กำหนดไว้
  ความหมายของการจัดบรรยากาศในชั้นเรียน
          การจัดบรรยากาศในชั้นเรียน   หมายถึง   การจัดสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอน เพื่อช่วยส่งเสริมให้กระบวน  การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยสร้างความสนใจใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาตลอดจนช่วยสร้างเสริมความมีระเบียบวินัยให้แก่ผู้เรียน
  ความสำคัญของการจัดบรรยากาศในชั้นเรียน
          จากการสำรวจเอกสารงานวิจัย (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน. ๒๕๓๑: ค) ได้ค้นพบว่าบรรยากาศในชั้นเรียนเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้นักเรียนเกิดความสนใจในบทเรียนและเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น การสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น ที่ครูให้ความเอื้ออาทรต่อนักเรียน ที่นักเรียนกับนักเรียนมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรต่อกันที่มีระเบียบ มีความสะอาด เหล่านี้เป็นบรรยากาศที่นักเรียนต้องการ ทำให้นักเรียนมีความสุขที่ได้มาโรงเรียนและในการเรียนร่วมกับเพื่อนๆ ถ้าครูผู้สอนสามารถสร้างความรู้สึกนี้ให้เกิดขึ้นต่อนักเรียนได้ ก็นับว่าครูได้ทำหน้าที่ในการพัฒนาเยาวชนของประเทศชาติให้เติบโตขึ้นอย่างสมบรูณ์ทั้งทางด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ และสังคม โดยแท้จริง ดังนั้น การสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งประมวลได้ดังนี้
          ๑.ช่วยส่งเสริมให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างราบรื่น เช่น ห้องเรียนที่ไม่คับแคบจรเกินไป ทำให้นักเรียนเกิดความคล่องตัวในการทำกิจกรรม
          ๒.ช่วยสร้างเสริมลักษณะนิสัยที่ดีงามและความมีระเบียบวินัยให้แก่ผู้เรียน เช่น ห้องเรียนที่สะอาด ที่จัดโต๊ะเก้าอี้ไว้อย่างเป็นระเบียบ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน นักเรียนจะซึมซับสิ่งเหล่านี้ไว้โดยไม่รู้ตัว
          ๓.ช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่ผู้เรียน เช่น มีแสงสว่างที่เหมาะสม มีที่นั่งไม่ใกล้กระดานดำมากเกินไป มีขนาดโต๊ะและเก้าอี้ที่เหมาะสมกับวัย รูปร่างของนักเรียนนักศึกษา ฯลฯ
          ๔.ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ และสร้างความสนใจในบทเรียนมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดมุมวิชาการต่าง ๆ การจัดป้ายนิเทศ การตกแต่งห้องเรียนด้วยผลงานของนักเรียน
          ๕.ช่วยส่งเสริมการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม เช่น การฝึกให้มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การฝึกให้มีอัธยาศัยไมตรีในการอยู่ร่วมกัน ฯลฯ
          ๖.ช่วยสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนและการมาโรงเรียน เพราะในชั้นเรียนมีครูที่เข้าใจนักเรียน ให้ความเมตตาเอื้ออารีต่อนักเรียน และนักเรียนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
กล่าวโดยสรุปได้ว่า การจัดบรรยากาศในชั้นเรียนจะช่วยส่งเสริมและสร้างเสริมผู้เรียนใน
ด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ และสังคมได้เป็นอย่างดี ทำให้นักเรียนเรียนด้วยความสุข รักการเรียน และเป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้ในที่สุด
 บรรยากาศที่พึงปรารถนาในชั้นเรียน          
          ในการจัดการเรียนการสอน ผู้สอนต่างปรารถนาให้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนดำเนินไปอย่างราบรื่น และผู้เรียนเกิดพฤติกรรมตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร บรรยากาศในชั้นเรียนมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ความปรารถนานี้เป็นจริง พรรณี ชูทัย (๒๕๒๒ : ๒๖๑ – ๒๖๓)กล่าวถึงบรรยากาศในชั้นเรียนที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการสอน จัดแบ่งได้ ๖ ลักษณะ สรุปได้ดังนี้
          ๑.บรรยากาศที่ท้าทาย (Challenge)   เป็นบรรยากาศที่ครูกระตุ้นให้กำลังใจนักเรียนเพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการทำงาน นักเรียนจะเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและพยายามทำงานให้สำเร็จ
          ๒.บรรยากาศที่มีอิสระ (Freedom) เป็นบรรยากาศที่นักเรียนมีโอกาสได้คิด ได้ตัดสินใจเลือกสิ่งที่มีความหมายและมีคุณค่า รวมถึงโอกาสที่จะทำผิดด้วย โดยปราศจากความกลัวและวิตกกังวล บรรยากาศเช่นนี้จะส่งเสริมการเรียนรู้ ผู้เรียนจะปฏิบัติกิจกรรมด้วยความตั้งใจโดยไม่รู้สึกตึงเครียด
          ๓.บรรยากาศที่มีการยอมรับนับถือ (Respect) เป็นบรรยากาศที่ครูรู้สึกว่านักเรียนเป็นบุคคลสำคัญ มีคุณค่า และสามารถเรียนได้ อันส่งผลให้นักเรียนเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและเกิดความยอมรับนับถือตนเอง
          ๔.บรรยากาศที่มีความอบอุ่น (Warmth) เป็นบรรยากาศทางด้านจิตใจ ซึ่งมีผลต่อความสำเร็จในการเรียน การที่ครูมีความเข้าใจนักเรียน เป็นมิตร ยอมรับให้ความช่วยเหลือ จะทำให้นักเรียนเกิดความอบอุ่น สบายใจ รักครู รักโรงเรียน และรักการมาเรียน    
          ๕.บรรยากาศแห่งการควบคุม (Control) การควบคุมในที่นี้ หมายถึง การฝึกให้นักเรียนมีระเบียบวินัย มิใช่การควบคุม ไม่ให้มีอิสระ ครูต้องมีเทคนิคในการปกครองชั้นเรียนและฝึกให้นักเรียนรู้จักใช้สิทธิหน้าที่ของตนเองอย่างมีขอบเขต
          ๖.บรรยากาศแห่งความสำเร็จ (Success) เป็นบรรยากาศที่ผู้เรียนเกิดความรู้สึกประสบความสำเร็จในงานที่ทำ ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น ผู้สอนจึงควรพูดถึงสิ่งที่ผู้เรียนประสบความสำเร็จให้มากกว่าการพูดถึงความล้มเหลว  เพราะการที่คนเราคำนึงถึงแต่สิ่งที่ล้มเหลว เพราะการที่คนเราคำนึงถึงแต่ความล้มเหลวจะมีผลทำให้ความคาดหวังต่ำ ซึ่งไม่ส่งเสริมให้การเรียนรู้ดีขึ้น 
 ๓. การบริหารจัดการในชั้นเรียน
 การจัดสภาพและบรรยากาศของห้องเรียนให้เอื้อต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้      ห้องเรียนสะอาดเป็นระเบียบ      มีป้ายนิเทศ สื่อการเรียนรู้หรือมุมวิชาการสำหรับศึกษาค้นคว้าเป็นปัจจุบัน      บรรยากาศในห้องเรียนเน้นให้นักเรียนเกื้อกูลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน      การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับนักเรียน      นักเรียนกระตือรือร้นในการเรียนและมีความสุขในการเรียน คุณภาพของการจัดการเรียนการสอน 
 การจัดทำข้อมูลสารสนเทศและเอกสารประจำชั้นเรียน/ประจำวิชา      จัดทำข้อมูลสารสนเทศที่จำเป็นประจำห้องเรียน/วิชาได้ครบถ้วน  ถูกต้องเป็นปัจจุบัน      มีการนำข้อมูลสารสนเทศไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ
  ๔) จิตวิทยาการเรียนรู้
 จิตวิทยา ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Psychology มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก ๒ คำ คือ Phyche แปลว่า วิญญาณ กับ Logos แปลว่า การศึกษา   ตามรูปศัพท์ จิตวิทยาจึงแปลว่า วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับวิญญาณ  แต่ในปัจจุบันี้ จิตวิทยาได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป ความหมายของจิตวิทยาได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย นั่นคือ จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษากี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์
  การเรียนรู้  (Learning) ตามความหมายทางจิตวิทยา หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลอย่างค่อนข้างถาวร อันเป็นผลมาจากการฝึกฝนหรือการมีประสบการณ์  พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงที่ไม่จัดว่าเกิดจากการเรียนรู้  ได้แก่ ฤติกรรมที่เป็นการเปลี่ยนแปลงชั่วคราว และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เนื่องมาจากวุฒิภาวะ
  ธรรมชาติของการเรียนรู้มี๔ขั้นตอนคือ
  ๑. ความต้องการของผู้เรียน (Want) คือ ผู้เรียนอยากทราบอะไร เมื่อผู้เรียนมีความต้องการอยากรู้อยากเห็นในสิ่งใดก็ตาม จะเป็นสิ่งที่ยั่วยุให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้
 ๒. สิ่งเร้าที่น่าสนใจ (Stimulus) ก่อนที่จะเรียนรู้ได้ จะต้องมีสิ่งเร้าที่น่าสนใจ และน่าสัมผัสสำหรับมนุษย์ทำให้มนุษย์ดิ้นรนขวนขวายและใฝ่ใจที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่น่าสนใจนั้นๆ
 ๓. การตอบสนอง (Response) เมื่อมีสิ่งเร้าที่น่าสนใจและน่าสัมผัส มนุษย์จะทำการสัมผัสโดยใช้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น ตาดู หูฟัง ลิ้นชิม จมูกดม ผิวหนังสัมผัส และสัมผัสด้วยใจ เป็นต้น ทำให้มีการแปลความหมายจากการสัมผัสสิ่งเร้า เป็นการรับรู้ จำได้ ประสานความรู้เข้าด้วยกัน มีการเปรียบเทียบ และคิดอย่างมีเหตุผล
 ๔. การได้รับรางวัล (Reward) ภายหลังจากการตอบสนอง มนุษย์อาจเกิดความพึงพอใจ ซึ่งเป็นกำไรชีวิตอย่างหนึ่ง จะได้นำไปพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น การได้เรียนรู้ ในวิชาชีพชั้นสูง จนสามารถออกไปประกอบอาชีพชั้นสูง (Professional) ได้ นอกจากจะได้รับรางวัลทางเศรษฐกิจเป็นเงินตราแล้ว ยังจะได้รับเกียรติยศจากสังคมเป็นศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจทางสังคมได้ประการหนึ่งด้วย
  ลำดับขั้นของการเรียนรู้
ในกระบวนการเรียนรู้ของคนเรานั้น จะประกอบด้วยลำดับขั้นตอนพื้นฐานที่สำคัญ ๓ ขั้นตอนด้วยกัน คือ 
  ๑. ประสบการณ์ (experiences) ในบุคคลปกติทุกคนจะมีประสาทรับรู้อยู่ด้วยกันทั้งนั้น ส่วนใหญ่ที่เป็นที่เข้าใจก็คือ ประสาทสัมผัสทั้งห้า ซึ่งได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนัง ประสาทรับรู้เหล่านี้จะเป็นเสมือนช่องประตูที่จะให้บุคคลได้รับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ถ้าไม่มีประสาทรับรู้เหล่านี้แล้ว บุคคลจะไม่มีโอกาสรับรู้หรือมีประสบการณ์ใด ๆ เลย ซึ่งก็เท่ากับเขาไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใด ๆ ได้ด้วย
ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่บุคคลได้รับนั้นย่อมจะแตกต่างกัน บางชนิดก็เป็นประสบการณ์ตรง บางชนิดเป็นประสบการณ์แทน บางชนิดเป็นประสบการณ์รูปธรรม และบางชนิดเป็นประสบการณ์นามธรรม หรือเป็นสัญลักษณ์
  ๒. ความเข้าใจ (understanding) หลังจากบุคคลได้รับประสบการณ์แล้ว ขั้นต่อไปก็คือ ตีความหมายหรือสร้างมโนมติ (concept) ในประสบการณ์นั้น กระบวนการนี้เกิดขึ้นในสมองหรือจิตของบุคคล เพราะสมองจะเกิดสัญญาณ (percept) และมีความทรงจำ (retain) ขึ้น ซึ่งเราเรียกกระบวนการนี้ว่า "ความเข้าใจ"ในการเรียนรู้นั้น บุคคลจะเข้าใจประสบการณ์ที่เขาประสบได้ก็ต่อเมื่อเขาสามารถจัดระเบียบ (organize) วิเคราะห์ (analyze) และสังเคราะห์ (synthesis) ประสบการณ์ต่าง ๆ จนกระทั่งหาความหมายอันแท้จริงของประสบการณ์นั้นได้
  ๓. ความนึกคิด (thinking) ความนึกคิดถือว่าเป็นขั้นสุดท้ายของการเรียนรู้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในสมอง Crow (๑๙๔๘) ได้กล่าวว่า ความนึกคิดที่มีประสิทธิภาพนั้น ต้องเป็นความนึกคิดที่สามารถจัดระเบียบ (organize) ประสบการณ์เดิมกับประสบการณ์ใหม่ที่ได้รับให้เข้ากันได้ สามารถที่จะค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์ทั้งเก่าและใหม่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดบูรณาการการเรียนรู้อย่างแท้จริง       
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๓ ความเป็นครู
 ๑) พัฒนาจิตวิญญาณของความเป็นครู เพื่อสร้างเสริมคุณธรรมจริยธรรม
๑.  ทำการสอน  อบรมนักเรียน  ปฏิบัติตามกฎหมาย  ระเบียบ  คำสั่ง  ประกาศและนโยบายของทางราชการ
๒.  เอาใจใส่ในการสอน  ปรับปรุงการเรียนการสอนให้สม่ำเสมอ
๓.  ส่งเสริมและเผยแพร่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย  อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
๔.  อบรมสั่งสอนและเผยแพร่ความรู้   ปลูกฝังวัฒนธรรม  ค่านิยม  เอกลักษณ์ไทย
๕.  ส่งเสริมความสามัคคีในหมู่ครูและนักเรียน
๖.  เอาใจใส่ในการปฏิบัติงานในหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ  ไม่ทอดทิ้งหรือละทิ้งหน้าที่การงาน
๗.  ช่วยเหลือกิจการของโรงเรียนและรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย
๘. ศึกษาหาความรู้  วิธีการสอน  วิธีประเมินผล  การใช้หนังสือเรียนและคู่มือการเรียนการสอนตามหลักสูตร
 ๒)วินัยและจรรยาบรรณของวิชาชีพครู
 ๑.ครูต้องรักษาวินัยที่บัญญัติเป็นข้อห้ามและข้อปฏิบัติไว้ในหมวดนี้โดยเคร่งครัดอยู่เสมอ
 ๒.ครูต้องสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วยความบริสุทธ์ใจและมีหน้าที่วางรากฐานให้เกิดระบอบการปกครองเช่นว่านั้น
          ๓.ครูต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสมอภาคและเที่ยงธรรม มีความวิริยะ อุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร ดูแลเอาใจใส่รักษาประโยชน์ของทางราชการและต้องปฏิบัติตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเคร่งครัด
 ๔.ครูต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ และหน่วยงานการศึกษา มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาลโดยถืประโยชน์สูงสุดของผู้เรียนและไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
 ๕.ครูต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการโดยไม่ขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง
          ๖.ครูต้องตรงต่อเวลา อุทิศเวลาของตนให้แก่ทางราชการและผู้เรียนจะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรมิได้ การละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือโดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการเป็นความผิดวินัยร้ายแรง
          ๗.ครูต้องประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน ชุมชน สังคม มีความสุภาพเรียบร้อย รักษาความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อผู้เรียนและระหว่างข้าราชการด้วยกันหรือผู้ร่วมปฏิบัติราชการ ต้อนรับ ให้ความสะดวก ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เรียนและประชาชนผู้มาติดต่อราชการ
          ๘.ครูต้องไม่กลั่นแกล้ง กล่าวหาหรือร้องเรียนผู้อื่นโดยปราศจากความเป็นจริง
          ๙.ครูต้องไม่กระทำการหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาประโยชน์อันอาจทำให้เสื่อมเสียความเที่ยงธรรม หรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ในตำแหน่งหน้าที่รชการของตน
          ๑๐.ครูต้องไม่คัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่นโดยมิชอบหรือนำเอาผลงานทางวิชาการของผู้อื่นหรือจ้างวานให้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการเพื่อไปใช้ในการเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนในระดับที่สูงขี้น การฝ่าฝืนหลักการดังกล่าวนี้เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
          ๑๑.ครูต้องไม่เป็นกรรมการผู้จัดการหรือผู้จัดการหรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันนั้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
          ๑๒.ครูต้องวางตนเป็นกลางทางการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่และในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยต้องไม่อาศัยอำนาจและหน้าที่ราชการของตนแสดงการฝักใฝ่ ส่งเสริม เกื้อกูล สนับสนุนบุคคล กลุ่มบุคคล หรือพรรคการเมืองใด
          ๑๓.ครูต้องรักษาชื่อเสียงของตนและรักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสียโดยไม่กระทำการใดๆ อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว
          จรรยาบรรณของวิชาชีพครู
                  ๑.ครูต้องประพฤติตามจรรยาบรรณของวิชาชีพและแบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ
                  ๒.ครูต้องมีวินัยในตนเอง พัฒนาตนเองด้านวิชาชีพ บุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ
                  ๓.ครูต้องรัก ศรัทธา ซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อวิชาชีพ และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพ
                  ๔.ต้องรัก เมตตา เอาใจใส่ ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้กำลังใจแก่ศิษย์และผู้รับบริการตามบทบาทหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
                  ๕.ครูต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ
                  ๖.ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์ หรือผู้รับบริการ
                  ๗.ครูต้องให้บริการด้วยความจริงใจและเสมอภาคโดยไม่เรียกรับหรือยอมรับผลประโยชน์จากการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ
                  ๘.ครูต้องช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์ โดยยึดมั่นในระบบคุณธรรม สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ
                  ๙.ครูต้องประสงค์ปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมและยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 ๓)หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
 ปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง
                “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทาง การดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๒๕ ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำ แนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลง มีหลักพิจารณา ดังนี้
                กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็นโดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤติ เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา
                คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
                คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย ๓ คุณลักษณะพร้อม ๆ กัน ดังนี้
 ๑. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกิดไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
 ๒. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
 ๓. การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
          เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรุ้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ
 ๑. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
 ๒. เงื่อนไขความธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความชื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความพากเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
 แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมสิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๔  การวางแผนกลยุทธ์เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
1. การวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
 การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ     จะสำเร็จได้ก็ด้วยความเอาใจใส่ของผู้การจัดการเรียนรู้อย่างจริงจัง โดยต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแนวคิดในการบริหรจัดการเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้     พร้อม ๆ กับการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจให้กับครูผู้สอน   ทั้งนี้ เพราะการมีเจคตติที่ดีต่อการจัดการเรียนการสอนที่เน้นความสำคัญของผู้เรียนจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนได้ โดยที่ผู้บริหารจะต้องเป็นผู้ลงมือทำ แนะนำครูผู้สอน โดยการสร้างความตระหนัก  ในความสำคัญของการปฏิรูปการเรียนรู้ร่วมกันวางแผนปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนด้วยการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาร่วมกันกำหนดเป้าหมาย คุณภาพของผู้เรียนกำหนดมาตรฐานคุณภาพ  มีการวางแผนบริหารจัดการให้มีการกำหนดระบบงาน สร้างกลไกความรับผิดชอบที่ชัดเจนมีการปรึกษาหารือ   เพื่อให้บุคลากรทุกคนเห็นพ้องต้องกันแล้วจึงมอบหมายงานตามบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบของแต่ละคน     ขณะเดียวกันก็ร่วมกันคิดกลวิธีหรือกลยุทธ์ เพื่อหาทางพัฒนาการจัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาผู้เรียน เช่น การสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากสถานศึกษาอื่นจากผู้นำชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาครูผู้สอน        และดำเนินการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จัดระบบการประเมินผลอย่างครบวงจร พร้อมทั้งวางแผนการกำกับ ติดตาม       ประเมินผลการทำงานอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ การปฏิรูปการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญก็ย่อมจะสัมฤทธิ์ผล ดังนั้น ผู้การจัดการเรียนรู้จะต้องเป็นผู้เริ่มและเป็น ผู้นำทางวิชาการอย่างมีคุณภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน การที่จะเป็นผู้นำที่มีศักยภาพเช่นนี้ได้ผู้บริหารจะต้องมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเอง พัฒนาครู และผู้เรียน ให้ได้พัฒนาไปตามศักยภาพอย่างมีคุณภาพ  ด้วยการเป็นผู้วางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา และการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้บังเกิดผลสูงสุดแล้วผู้บริหารยังต้องมีบทบาทในการนิเทศ กำกับ ติดตาม ประเมินผลการจัดการสอนเพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพอีกด้วย ดังนั้น ถ้าผู้บริหารไม่ตระหนักในความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและละเลยไม่สนับสนุน ส่งเสริมให้ครูได้จัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร       เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน การปฏิรูปการเรียนรู้ก็จะไม่บังเกิดผลตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒
 ๒.การวางแผนกลยุทธ์เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
              ๑) ภาพรวมของสถานศึกษา (School Profile) เป็นการนำเสนอข้อมูลโดยสังเขป เพื่อแสดงความเป็นมา สภาพปัจจุบันเป็นการนำเสนอข้อมูลโดยสังเขป และทิศทางในอนาคตของสถานศึกษา
             ๒) ทิศทางการจัดการศึกษาของสถานศึกษา    ที่จะมุ่งมั่นสู่ความเป็นเสิศในการจัดการศึกษาให้แก่ชุมชน ซึ่งประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังนี้
                      ๒.๑) วิสัยทัศน์ (Vision) เป็นเจตนารมณ์หรือความตั้งใจที่กว้างๆ ครอบคลุมทุกภารกิจของสถานศึกษา มุ่งการคิดไปข้างหน้า แสดงถึงความคาดหวังในอนาคต ข้อความ วิสัยทัศน์ จะสื่อถึงอุดมการณ์ หลักการ ความเชื่อ และอนาคตที่พึงประสงค์ของสถานศึกษาและชุมชน ข้อความวิสัยทัศน์จะต้องมีความชัดเจน เป็นเอกลักษณ์ของสถานศึกษา การเขียนวิสัยทัศน์ที่ดีให้คำนึงว่าจะสามารถสร้างความศรัทธาและจุดประกายความคิดให้แก่ผู้ปฏิบัติได้
                      ๒.๒) ภารกิจหรือพันธกิจ (Mission) เป็นข้อความที่แสดงเจตนารมณ์และวิธีการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุถึงวิสัยทัศน์
                      ๒.๓) เป้าหมายของสถานศึกษา (School Goals) เป็นข้อความที่ระบุผลลัพธ์ปลายทางที่สถานศึกษาจะดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จ ในช่วงระยะเวลาของแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา
                การกำหนดเป้าหมายเพื่อให้ภารกิจที่กำหนดมีความเป็นไปได้และมีความชัดเจนยิ่งขึ้น สถานศึกษาจะต้องกำหนดเป้าหมายที่ครอบคลุมด้านต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของสถานศึกษา เช่น ในด้านผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ด้านหลักสูตร และการเรียนการสอน สิ่งแวดล้อม การเรียนรู้ การจัดองค์กร การพัฒนาวิชาชีพ และการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาของชุมชน เป็นต้น
                เป้าหมายที่กำหนดในระดับนี้ เป็นผลลัพธ์ปลายทางที่สถานศึกษาคาดหวังจะบรรลุภายในช่วงเวลาที่กำหนด ลักษณะการเขียนยังเป็นผลลัพธ์กว้างๆ  
               ๓) แผนปฏิบัติการ   เป็นแผนที่กำหนดกิจกรรมที่จะดำเนินการในแต่ละปี เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระยะที่กำหนด แผนปฏิบัติการประกอบด้วย สังเขป รายละเอียดของกิจกรรม หรือขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด ผู้รับผิดชอบแต่ละกิจกรรมหรือขั้นตอนการปฏิบัติ กรอบเวลา งบประมาณ และแหล่งงบประมาณ
               ๔) การระดมทรัพยากร   ในแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาจะต้องแสดงให้เห็นถึงแหล่งสนับสนุนงบประมาณและสรุปงบประมาณในแผนพัฒนาคุณภาพ ซึ่งจะต้องบอกจำนวนงบประมาณที่จะต้องใช้ในแต่ละปี และแหล่งที่สถานศึกษาจะสมารถระดมทรัพยากรและสนับสนุนงบประมาณได้
               ๕) การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่าย  การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่าย และแหล่งวิทยาการภายนอก  เพื่อสนับสนุนทางวิชาการ เพื่อการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา ซึ่งควรจะต้องเขียนไว้ในแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วย 
 ๓.การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
 การวิจัยในชั้นเรียน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Classroom Research คือกระบวนการหาความรู้หรือวิธีการใหม่ ๆ    รวมทั้งการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้ในการเรียนการสอนเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากการเรียนการสอนในชั้นเรียนของตนเอง หรือเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน ผลการวิจัยใช้ได้เฉพาะกลุ่มที่ทำการศึกษา บางทีเราเรียกว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน (Classroom Action Research) หรือการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ผู้ทำวิจัยในชั้นเรียนคือ ครูผู้สอน
การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้มีขั้นตอนดังนี้
1.  วิเคราะห์ปัญหา/การพัฒนา 
2.   วางแผนแก้ปัญหา/การพัฒนา 
3.   จัดกิจกรรมแก้ปัญหา/การพัฒนา 
4.   เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล 
5.   สรุปผลการแก้ปัญหา/การพัฒนา  
ครูผู้สอนจะเริ่มต้นทำวิจัยในชั้นเรียนอย่างไร 
           ครูผู้สอนจะเริ่มต้นด้วยวิธีง่าย ๆ คือ  สอนไปสังเกตไป ว่าผู้เรียนคนไหนมีจุดเด่น จุดด้อยตรงไหน แล้วพยายามบันทึกไว้ จากนั้นสรุปข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าเด็กในชั้นมีกลุ่มเก่งกี่คน  กลุ่มอ่อนกี่คน  ใครบ้างที่เรียนอ่อน  อ่อนในเรื่องอะไร  เพื่อจะได้คิดหานวัตกรรมที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มอ่อนต่อไป
ปัญหาหรือสิ่งที่ต้องการพัฒนา 
           ปัญหาหรือสิ่งที่ต้องการพัฒนาอาจเป็นด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติ หรือด้านความประพฤติ พฤติกรรม หรือบุคลิกภาพที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนก็ได้ 
การทำวิจัยในชั้นเรียน 
          การทำวิจัยในชั้นเรียนเป็นการวิจัยเล็ก ๆ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานจริง มุ่งแก้ปัญหาหรือพัฒนาผู้เรียน เป็นสำคัญ ไม่จำเป็นต้องค้นคว้าหรืออ้างอิงแบบวิทยานิพนธ์ รูปแบบการหาความรู้อาจได้มาจากการพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครูด้วยกัน จากเอกสารต่าง ๆ ที่ได้รับจากการประชุมอบรม สัมมนา จากรายการ โทรทัศน์ทางการศึกษา จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น Internet วิทยานิพนธ์ รายงานวิจัยต่าง ๆ ที่มีผู้ทำไว้ 
  รายงานผลการวิจัยในชั้นเรียน
           เขียนขึ้นเมื่อครูผู้สอนเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้ว   ครูผู้สอนต้องเขียนสรุปผลการวิจัย  หากพบว่าผู้เรียนไม่เกิดการเรียนรู้ และ/หรือมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ครูผู้สอนอาจต้องทำวิจัย ในชั้นเรียนซ้ำอีกครั้งหรือหลาย ๆ ครั้ง   จนกว่าผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ และ/หรือมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ตามเจตนารมณ์ตามหลักสูตรอย่างแท้จริง 
การเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียน
ประโยชน์ของการวิจัย
 นักเรียนแต่ละคนจะได้รับการพัฒนา หรือแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี 
 ครูมีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ ครูผู้สอนสามารถสรุปเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อรอรับการประเมินตามมาตรฐานวิชาชีพครู และ สามารถรวบรวมเป็นผลงานวิชาการเพื่อขอเลื่อนระดับให้สูงขึ้น
การวิจัยในชั้นเรียนและการวิจัยในโรงเรียนต่าง 
          การวิจัยในชั้นเรียน เป็นการวิจัยของครูที่ประจำอยู่ในห้องเรียน ซึ่งสังเกตพบว่า นักเรียนบางคนมีปัญหา และเมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาของนักเรียนบางคนดังกล่าว ระบุได้หลายสาเหตุ จึงเลือกสาเหตุที่ตนสามารถ แก้ไขได้ หาวิธีแก้ไข (ซึ่งไม่ใช่วิธีสอน) ดำเนินการแก้ไขไปพร้อม ๆ กับการสอนนักเรียนกลุ่มใหญ่ จนปัญหา ดังกล่าวได้รับการคลี่คลาย จึงเขียนรายงานการวิจัยซึ่งมีความยาว 2-3 หน้า
          การวิจัยในโรงเรียน เป็นการวิจัยของผู้บริหารโรงเรียน หรือศึกษานิเทศก์ ซึ่งสังเกตพบว่า ครูบางคนมีปัญหา ในงานครู และเมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุดังกล่าว ก็ระบุได้หลายสาเหตุ จึงเลือกสาเหตุที่ตนสามารถแก้ไขได้ หาวิธีการ แก้ไข ดำเนินการแก้ไข ไปพร้อม ๆ กับการปฏิบัติงานปกติของตน จนปัญหาดังกล่าวได้รับการคลี่คลาย จึงเขียน รายงานการวิจัยซึ่งมีความยาว 2-3 หน้า เช่นเดียวกัน


 


แหล่งที่มา : sobdai.com

อัพเดทล่าสุด