ลักษณะและหน้าที่ของระบบหายใจ หน้าที่ของระบบหายใจ หน้าที่ของระบบหายใจ คือ


2,827 ผู้ชม


ลักษณะและหน้าที่ของระบบหายใจ หน้าที่ของระบบหายใจ หน้าที่ของระบบหายใจ คือ

 

 

อวัยวะที่สำคัญในระบบหายใจ

 

            อวัยวะที่สำคัญของระบบหายใจ มีดังนี้

1. จมูก (Nose) เป็นทางผ่านของอากาศด่านแรก ประกอบด้วยโครงสร้างรูปสามเหลี่ยมของกระดูกและกระดูกอ่อน ผิวด้านนอกปกคลุมด้วยผิวหนัง ส่วนผิวด้านในบุด้วยเยื่อเมือก (Mucous membrane) มีช่องเปิดของช่องจมูกอยู่ 2ช่อง แยกจากกันโดยผนังกั้น (Septum) ภายในเยื่อเมือกจะมีต่อมน้ำมันทำหน้าที่เป็นด่านป้องกันฝุ่นละอองไม่ให้ลงไปสู่ปอด ช่องจมูกในส่วนที่อยู่ลึกเข้าไปแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนบนจะเป็นพื้นที่เกี่ยวกับการดมกลิ่น ส่วนล่างจะเป็นทางผ่านของอากาศ โดยมีส่วนของกระดูกเอทมอยด์ (Ethmoid) และกระดูกคอนคีส่วนล่าง (Inferior conchae) ยื่นออกมา 3 อัน เพื่อให้อากาศผ่านเข้าไปได้มาก และระหว่างกระดูกที่ยื่นออกมานี้ จะมีร่องเนื้อแดง (Metus) ซึ่งเป็นทางผ่านของอากาศ และมีอยู่ข้างละ 3 อัน ภายในร่องเนื้อแดงจะมีช่องเปิดของโพรงอากาศ (Air sinus) ในกะโหลกศีรษะ ซึ่งมีอยู่ 4 แห่งด้วยกันคือ โพรงอากาศที่โหนกแก้ม (Maxilla sinus) ที่หน้าผาก (Forntal sinus) ที่ดั้งจมูก (Ethmoid sinus) และที่กระดูกสฟินอยด์(Sphenoid sinus) จมูกนอกจากทำหน้าที่เป็นทางผ่านของอากาศไปสู่ปอดแล้ว ยังทำหน้าที่รับกลิ่น ช่วยทำให้เสียงชัดเจน  อากาศชุ่มชื้นและกรอง   ฝุ่นละออง นอกจากนี้ยังมีท่อน้ำตา (Naso-lacrimal duct) มาเปิดที่หัวตาอีกด้วย

2.  คอหอย (Pharynx) เป็นส่วนที่อยู่ต่อจากจมูกและปาก มีลักษณะคล้ายกรวย แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

               1)  คอหอยส่วนที่อยู่ติดต่อกับจมูก (Naso-pharynx) เป็นทางผ่านของอากาศอย่างเดียว ที่ส่วนนี้จะมีช่องไปติดต่อกับหูส่วนกลาง เรียกช่องนี้ว่า หลอดยูสเตเชียน (Eustachian’s tube)

               2)  คอหอยส่วนที่อยู่ติดกับปาก (Oro-pharynx) เป็นทางผ่านของอาหารและอากาศ

   3)  คอหอยส่วนที่อยู่ติดกับกล่องเสียง (Laryngo-pharynx) เป็นทางผ่านของอากาศอย่างเดียว

            3.  กล่องเสียง (Larynx)เป็นอวัยวะพิเศษ ทำหน้าที่เป็นทางเดินอากาศ ตั้งอยู่ส่วนบนด้านหน้าคือบริเวณลูกกระเดือก (Adam’s apple) ด้านหน้าของหลอดอาหารประกอบด้วยกระดูกอ่อนทั้งชนิดใสและชนิดยืดหยุ่น 9 ชิ้นด้วยกัน ยึดติดกันด้วยเอ็นยึดข้อต่อและกล้ามเนื้อ กระดูกอ่อนต่างๆ ได้แก่

                1)  กระดูกอ่อนไทรอยด์ (Thyroid Cartilage) เป็นกระดูกอ่อนชิ้นใหญ่ที่สุด ประกอบด้วยกระดูกอ่อนแผ่นสี่เหลี่ยม 2 แผ่นมาประกบกันเป็นลูกกระเดือก

                2)  กระดูกอ่อนคริคอยด์ (Cricoid Cartilage) รูปร่างเหมือนวงแหวน ริมล่างจะติดต่อกับหลอดลม

                3)  ฝาปิดกล่องเสียง (Epiglottis) เป็นกระดูกอ่อนยืดหยุ่น มีรูปร่างคล้ายใบไม้ ยึดติดกับกระดูกอ่อนไทรอยด์ เมื่อเวลากลืนอาหารลงไป ฝาปิดกล่องเสียงจะปิด เพื่อไม่ให้อาหารตกลงไป

                4)  กระดูกอ่อนอาริทีนอยด์ (Arytenoid Cartilage) อยู่ส่วนบนของกระดูกอ่อนคริคอยด์ ซึ่งจะเป็นที่ยึดปลายข้างหนึ่งของสายเสียง (Vocal cord) ส่วนปลายอีกข้างหนึ่งจะยึดติดกับกระดูกอ่อนไทรอยด์

            4.  หลอดลม (Trachea) อยู่ด้านหน้าของหลอดอาหาร ตอนบนจะติดอยู่กับกระดูกอ่อนคริคอยด์ ปลายล่างจะอยู่ในระดับกระดูกสันหลังระดับอกชิ้นที่ 5 (T5) หลอดลมยาวประมาณ 4.5 นิ้ว ส่วนประกอบของหลอดลมประกอบด้วยกระดูกอ่อนรูปครึ่งวงกลม 16-20 ชิ้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้หลอดลมแฟบได้ง่าย และทำให้อากาศผ่านเข้าออกได้สะดวก ฝาปิดกล่องเสียงก็สามารถขยายตัวได้ สะดวกในการกลืนอาหาร ทั้งกล่องเสียงและหลอดลมภายในจะบุด้วยเยื่อเมือกและมีขน (Cilia) ซึ่งจะขับเมือกออกมาคอยดักฝุ่นละอองหรือสิ่งที่หายใจปนไปกับอากาศเอาไว้

            5.  หลอดลมขั้วปอด (Bronchi) เป็นส่วนที่อยู่ต่อจากหลอดลม แยกออกเป็น 2 ข้าง คือ ซ้ายและขวา โดยข้างขวาจะสั้นกว่า กว้างกว่า และอยู่ในแนวดิ่งมากกว่าข้างซ้าย โรคต่างๆ เช่น วัณโรค ปอดปวม จึงมักจะเกิดกับข้างขวามากกว่าข้างซ้าย หลอดลมขั้วปอดนี้จะทอดเข้าสู่ปอดข้างขวาและซ้าย แตกแขนงออกเป็นแขนงเล็กๆ เป็นหลอดลมในปอด (Bronchioles)

                หลอดลมขั้วปอดมีส่วนประกอบเหมือนหลอดลม แต่มีขนาดเล็กกว่าและผนังก็จะบางลงไปเรื่อยๆ จนถึงปลายและไม่มีกระดูกอ่อนเหลืออยู่ คงมีชั้นกล้ามเนื้อบางๆ ที่ปลายหลอดลมในปอดจะมีถุงลม (Alveoli) รวมกันอยู่เป็นพวงซึ่งเป็นที่แลกเปลี่ยนอากาศ ทั้งนี้เพราะที่ผนังถุงลมจะมีหลอดเลือดฝอยมาหล่อเลี้ยงมาก

            6.  ปอด (Lungs) เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่หายใจภายใน ตั้งอยู่ในช่องอก มีสองข้างคือ ซ้ายและขวา ระหว่างปอดทั้งสองข้างจะมีหัวใจ หลอดลม หลอดอาหาร หลอดเลือดขนาดใหญ่ หลอดน้ำเหลือง และต่อมน้ำเหลือง

                ปอดข้างขวาจะใหญ่กว่า หนักกว่า และกว้างกว่าปอดข้างซ้าย ปอดขวาจะมีกะบังลมดันนูนสูงขึ้นมามาก เนื่องจากตับหนุนอยู่ใต้กะบังลมอีกทีหนึ่ง ปอดขวามี 3 พู คือ พูบน พูกลาง และพูล่าง โดยมีรอยต่อซึ่งอยู่ระหว่างพูเรียกว่า ฟิสเชอร์ (Fissure) ส่วนปอดซ้ายจะมี 2 พู คือ พูบนและพูล่าง

                เนื้อปอดจะมีลักษณะโปร่งและหยุ่นคล้ายฟองน้ำ ลอยน้ำได้ ประกอบด้วยหลอดลมในปอด ถุงลม หลอดเลือด หลอดน้ำเหลือง และมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันยึดให้ติดกัน ปอดพูหนึ่ง ๆ จะประกอบด้วยพูเล็กๆ หลายพู และในพูเล็กๆ อันหนึ่ง จะประกอบด้วยหลอดลมในปอดอีกอันหนึ่งและถุงลมในปอดเป็นพวงๆ ซึ่งเป็นที่แลกเปลี่ยนก๊าซ

                ปอดแต่ละข้างจะมีเยื่อหุ้มปอด (Pleura) เป็นพวกเยื่อเซอรัสห่อหุ้มปอดเอาไว้เพื่อป้องกันอันตราย เยื่อหุ้มปอดแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นนอก (Parietal layer) และชั้นใน (Visceral layer) ระหว่างชั้นทั้งสองของเยื่อหุ้มปอดนี้ จะมีของเหลวบรรจุอยู่เรียกว่า น้ำหล่อเลี้ยงปอด (Pleural fluid) เพื่อทำให้ปอดชุ่มชื้น และป้องกันการเสียดสีขณะหายใจ เมื่อเกิดการอักเสบที่เรียกว่าน้ำท่วมปอด (Pleural effusion) จะทำให้ของไหลที่บรรจุอยู่เพิ่มปริมาณมากขึ้น

                ถุงลมที่อยู่ในปอดของมนุษย์มีประมาณ 700 ล้านถุงหรือมากกว่า ถุงลมแต่ละถุงจะคั่นด้วยหลอดเลือดฝอย เนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่างๆ และมีบริเวณที่มีการแพร่ของก๊าซประมาณ 70 ตารางเมตร หลอดเลือดที่มาสู่ปอดมี 2 ชุด คือ หลอดเลือดแดงปอด หลอดเลือดชุดนี้รับเลือดดำจากหัวใจ เมื่อรับออกซิเจนจากถุงลมจนกลายเป็นเลือดแดงแล้ว จะไหลออกจากปอดทางหลอดเลือดดำปอด กลับสู่หัวใจห้องบนซ้าย อีกชุดหนึ่งคือหลอดเลือดแดงบรอนเชียล (Bronchial arteries) จะไปเลี้ยงท่อลมในปอด หลอดเลือด หลอดน้ำเหลือง และเยื่อหุ้มปอด โดยนำอาหารไปให้ แต่ไม่ได้เกี่ยวกับการหายใจ

                เส้นประสาทที่มาสู่ปอด มีทั้งซิมพาเทติกและพาราซิมพาเทติก ได้แก่ เส้นประสาทเครนิโอซาครัล (Craniosacral nerves) จากเส้นประสาทเวกัสของสมอง และเส้นประสาททอราโคลัมบา (Thoracolumbar nerve) ซึ่งแยกจากไขสันหลังระดับอก

 

แหล่งที่มา : maceducation.com

อัพเดทล่าสุด